ในบ้านเราชื่อของนักแสดงสาว ยูกิโนะ คิชิอิ (Yukino Kishii) อาจจะไม่โด่งดังเท่า ยูอิ อารางากิ, ซึสึ ฮิโรเสะ หรือ นานะ โคมัตสึ แต่บอกได้เลยว่าเธอคือคนที่น่าจับตาอย่างยิ่ง เมื่อช่วงต้นปีเธอเดินสายรับรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมจาก Small, Slow but Steady (2022) ที่เธอรับบทเป็นนักมวยหูหนวก รวมถึงได้รางวัลจากเวทีใหญ่อย่าง Japan Academy Prize (เทียบได้ประมาณออสการ์ของญี่ปุ่น) เอาชนะคู่แข่งตัวเป้งอย่าง ชิเอโกะ ไบโช (Plan 75) และ ฮิโรเสะ (Wandering) ไปได้
ด้วยความที่คิชิอิเป็นสาวร่างเล็ก 149 ซม. และหน้าตาออกไปทางน่ารักมากกว่าสวยคม ในช่วงแรกของอาชีพเธอจึงมักได้รับบทเพื่อนนางเอกหรือไม่ก็บทนำในหนังอินดี้เล็กๆ แต่เธอก็รับบทที่หลากหลาย ไม่ว่าจะสาวคลั่งรัก คนท้อง เลสเบี้ยน และบทที่ทำให้ชาวไทยเริ่มคุ้นหน้าเธอน่าจะเป็นละครโทรทัศน์ Koisenu Futari (2022) ที่เธอสวมบทบาทเป็นหญิงสาวที่ไม่สนใจในความรักและเซ็กซ์ (Aromantic & Asexual)
ส่วน โช มิยาเกะ (Sho Miyake) ผู้กำกับ Small, Slow but Steady ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีเครดิตเป็นที่จดจำมากนัก เขาเคยทำหนังอินดี้คุณภาพพอใช้อย่าง And Your Bird Can Sing (2018) ว่าด้วยความสัมพันธ์สามเส้าของหนุ่มสาว และซีรีส์ Ju-on: Origins (2020) ทาง Netflix ที่เสียงวิจารณ์ไม่ดี หากแต่ Small, Slow but Steady กลับได้รับคำชมอย่างล้นหลาม ส่วนหนึ่งคงเพราะมันมีวัตถุดิบตั้งต้นที่ดี โดยหนังดัดแปลงจาก Makenaide! หนังสือชีวประวัติของ เคโกะ โอกาซาวาระ หญิงหูหนวกที่เป็นนักกีฬาชกมวยอาชีพคนแรกของญี่ปุ่น
การรับบทเป็น เคโกะ ถือเป็นบทบาทที่ยากและท้าทายที่สุดสำหรับคิชิอิ เธอต้องสลัดภาพสาวสดใสร่าเริงจากหนังเรื่องก่อนๆ มาเป็นหญิงสาวเงียบขรึมอมทุกข์ เธอยังต้องเพิ่มน้ำหนักตัว ไปเรียนต่อยมวยและภาษามือเป็นเวลาถึงสามเดือน แน่นอนว่าการที่ตัวละครหูหนวก เธอจึงต้องสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกออกมาทางภาษามือ ภาษากาย และการแสดงทางสีหน้า ซึ่งมันยิ่งซับซ้อนไปอีกที่หลายพฤติกรรมหรือการตัดสินใจของเคโกะเป็นสิ่งที่ผู้ชมอาจไม่เข้าใจนัก แต่คิชิอิก็ถ่ายทอดมันออกมาได้ชวนติดตามอย่างยิ่ง
ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่คนดูจะรู้สึกงงงวยในตัวเคโกะ เพราะกระทั่งตัวเธอก็ยังไม่เข้าใจตัวเองด้วยซ้ำ เคโกะไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจนหรือยิ่งใหญ่สำหรับการขึ้นชก ซึ่งนี่เป็นการ ‘ล้างสูตร’ หนังกีฬาทั่วไปที่มัก romanticize ให้กีฬาเป็นความฝันสูงสุด เราได้เห็นว่าการต่อยมวยไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิตเคโกะ ตอนกลางวันเธอไปทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดในโรงแรม และการขึ้นสังเวียนแต่ละครั้ง เธอเต็มไปด้วยความกลัวที่จะเจ็บ อาการหูหนวกยังทำให้การชกมวยยิ่งน่ากลัวขึ้นไปอีก เพราะเธอจะไม่ได้ยินทั้งเสียงของกรรมการหรือการให้สัญญาณจากพี่เลี้ยง
นอกจากต่อต้านขนบหนังกีฬาในเชิงบทแล้ว องค์ประกอบทางภาพยนตร์ใน Small, Slow but Steady ก็ยังน่าสนใจ แทบทุกอย่างถูกนำเสนอแบบสงบนิ่ง (หรือจะเรียกว่าแห้งแล้งก็ยังได้) หนังไม่มีการใส่ดนตรีประกอบแม้แต่ฉากเดียว เลือกถ่ายด้วยฟิล์ม 16 มม. เพื่อให้ได้ภาพเกรนแตก รวมถึงฉากชกมวยทั้งหลายในหนังก็ไม่ได้ตัดต่อฉึบฉับเร้าอารมณ์แต่อย่างใด มันถูกนำเสนอเหมือนกิจวัตรอย่างหนึ่งของนางเอกเสียมากกว่า
อีกสิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือการเลือกถ่ายทำที่ชานเมืองโตเกียวเป็นส่วนใหญ่ หนังเต็มไปด้วยแม่น้ำ ทางหลวง และทางรถไฟที่ดูอึมครึม ไม่ได้ชวนหลงใหลแบบโตเกียวฉบับนักท่องเที่ยว นี่คือหนังญี่ปุ่นอีกเรื่องที่บอกเล่าถึงความโหดร้ายเย็นชาของเมืองหลวง และยังเพิ่มความโหดขึ้นไปอีกเมื่อฉากหลังของหนังคือช่วงโควิด-19 ระบาด จนโรงยิมเก่าโทรมที่เคโกะไปซ้อมเป็นประจำจะต้องปิดตัวลง ทำให้เธอยิ่งสับสนว่าจะชกมวยต่อหรือไม่
น่าแปลกดีที่หนังนักมวยอย่าง Small, Slow but Steady ไม่ได้เล่าถึงความแข็งแกร่งดุดันของตัวเอก แต่กลับเล่าถึงความเปราะบางของมนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง แม้กระทั่งฉากสุดท้ายของหนัง เคโกะก็ยังดูไม่แน่ใจกับทิศทางของชีวิตนัก การแสดงสีหน้าอันผสมปนเปของคิชิอิในฉากนี้แทบจะทำให้มันกลายเป็นฉากจบแบบคลาสสิกในทันที ภายใต้สีหน้าที่เหมือนจะร้องไห้ มันกลับมีรอยยิ้มเล็กๆ ผุดขึ้น เหมือนกำลังสื่อว่าเธอยังไม่รู้หรอกว่าจะเดินต่อไปทางไหน แต่พร้อมจะก้าวเดินต่อไป เป็นก้าวเล็กๆ ที่เชื่องช้า แต่ก็มั่นคง