นี่หรือคือฮ่องกง’ กับ 6 Unseen in Hong Kong ในมุมโลคอลที่ไม่เคยเห็น อันล็อกชีวิตเหี่ยวเฉาเพื่อขอปลุกไฟสู้อีกครั้ง

เราคือเฟิร์สจ็อบเบอร์ที่คลั่งไคล้การออกไปพบสิ่งใหม่ แต่ขณะนี้ค่อนข้างโรยรา เพราะงานและชีวิตสังคมเมืองเริ่มกัดเซาะพื้นที่ส่วนตัวจนเผลอหลงลืมการเป็นตัวเอง   

‘ขอได้ไหม ขอไปนั่งโง่ๆ นั่งชิลๆ ที่ไหนสักที่เป็นการพักใจก็คงจะดี’ 

บ่นในใจไม่ทันขาดคำ รอง บ.ก. ก็สานฝันด้วยการรีบเดินมาชวนเราไปทริปเที่ยวฮ่องกงของการท่องเที่ยวฮ่องกง (Hong Kong Tourism Board : HKTB) เขาเปิดตัวแคมเปญ ‘Hong Kong’s Hidden Gems’ เปิดประตูสู่ 12 แหล่งอัญมณีล้ำค่าสถานที่ท่องเที่ยวอันซีนฮ่องกงแบบค้างคืน เน้นพบปะใกล้ชิดฮ่องกงผ่าน หมู่บ้าน ทะเล ธรรชาติ อาหาร ที่บอกเล่าวัฒนธรรมความเป็นฮ่องกงแบบตีสนิทสุดๆ  

นอกจากฮ่องกงจะเป็นเขตบริหารพิเศษฮ่องกงที่มีเกาะเล็กๆ เชื่อมต่อกันถึง 263 เกาะ ฮ่องกงที่เราเคยเห็นผ่านตาตามสื่อ เลยหนีไม่พ้น กลิ่นอายวัฒนธรรมตะวันออกผสมเข้ากับตะวันตกที่มองเห็นได้ผ่านป้ายไฟสีแดง เขียว ม่วง น้ำเงินและร้านอาหาร ร้านค้า มีวัด ศาลเจ้ามากมายที่คนสายมูชื่นชอบ มีตึกสูงระฟ้าบอกความเป็นเมืองธุรกิจ และมีผู้คนแต่งตัวสไตล์เก๋ไก๋ เดินสวนกันไปมายิ่งทำให้ฮ่องกงกลายเป็นเกาะที่ไม่เคยหลับใหล และมีความเหงาจากที่นี่ในหนังของหว่อง กาไว ให้เราได้ดู

แต่การเที่ยวทริปนี้ตลอด 5 วัน เรียกว่า เปิดการรับรู้มุมมองใหม่ที่มีต่อฮ่องกงได้ดีมากๆ เราเลยขอคัด 6 สถานที่ที่ชอบ ที่ใครอยากหลบความวุ่นวายมาสัมผัสชีวิตเรียบง่ายเพื่อปลุกพลังชีวิต และเน้นมาถึงสุดมุมเกาะฮ่องกงสุดๆ ก็บอกเลยว่า รีบแพ็คกระเป๋าแล้วตามเรามาเลย! 

1

Tsz Shan Monastery 

ฝึกจิตทั้งที ขอเจอเจ้าแม่กวนอิมหน่อย  

ก่อนไปเที่ยว ขอมาเคลียร์ใจให้สงบสักหน่อย หมุดหมายแรกเลยมาทดสอบจิตใจ ทำสมาธิที่ ‘Tsz Shan Monastery’ หรือ อารามชีซ่านขนาดใหญ่ที่เป็นดั่งโอเอซิสแห่งจิตวิญญาณใจกลางฮ่องกง ตั้งอยู่ในย่านไท่โป (Tai Po) เขตดินแดนใหม่ (New Territories) ไฮไลต์สำคัญคือรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ตั้งอยู่บนฐานหินแกรนิต รวมความสูงทั้งหมด 76 เมตร และมีความใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก 

ก่อนใจเราจะรีบบุกไปหาท่าน ไกด์ก็รีบเบรกเราด้วยการเล่าถึงเบื้องหลังความมโหฬารของที่นี่ว่า ‘ลี กาชิง’ (Li Ka Shing) อภิมหาเศรษฐีชาวฮ่องกงคนนี้บริจาคทุนทรัพย์กว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างอารามแห่งนี้ให้เป็นสถานปฏิบัติธรรมและสถาบันสำหรับเรียนรู้ทางพุทธศาสนา โดยยึดสถาปัตยกรรมสไตล์ราชวงศ์ถัง 

ยังไม่พอนะ ภายใต้รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมถูกออกแบบให้เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของฮ่องกงที่จัดแสดงเกี่ยวกับพุทธศิลป์และพระธาตุโดยเฉพาะด้วย ส่วนตำแหน่งที่ตั้งอารามตั้งตามฮวงจุ้ย ให้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ด้านหน้ามองเห็นทะเล ส่วนด้านหลังมองเห็นภูเขา และคลุมโทนสีอาคารวัดด้วยสีเขียว สีเทา สีน้ำตาลให้กลมกลืนไปกับทิวทัศน์โดยรอบมากที่สุด ‘เสียงลมธรรมชาติและความร่มเย็น’ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขีดเส้นกั้นระหว่างผู้คนภายในอาราม ให้ตัดขาดจากโลกวุ่นวายภายนอก ที่นี่จึงเรียกว่าเหมาะแก่การเสาะหาความสงบที่สุด

และแล้วก็ถึงเวลาที่รอคอย เพื่อนร่วมทริปเล่าให้ฟังว่า การจะเข้าไปสักการะเจ้าแม่กวนอิมได้นั้น จะต้องพิสูจน์ให้ท่านเห็นซะก่อนว่า เราใจนิ่งมากแค่ไหน โดยเครื่องวัดความท้าทายนี้ก็คือ ‘น้ำ’ ที่เราต้องตักใส่ขันแล้วค่อยๆ เดินประคองไปรินที่โอ่งตรงหน้าท่าน โดยห้ามทำน้ำหกจากขันเด็ดขาด และไม่ทันขาดคำเราก็ทำน้ำกระเด็นจากขันจนได้ แต่เอาเถอะนี่เป็นครั้งแรกเจ้าแม่กวนอิมจะต้องเข้าใจ เพราะยังไงเราก็เดินมาพบท่านแล้ว

วิธีการเดินทาง : รถบัส หรือ รถมินิบัสจากสถานี MTR Tai Po Market หรือแท็กซี่ อารามชีซ่านรองรับผู้เยี่ยมชมได้ถึง 400 คนต่อวัน ใครที่จะเข้ามาเยี่ยมชมก็ต้องกดจองรอบล่วงหน้า 1 เดือนได้ทางเว็บไซต์วัดชีซ่าน https://www.tszshan.org/home/new/en/visit.php  

2

Peng Chau

ขอติดเกาะ slowlife เผื่อได้พักใจเรียกไฟกลับมา

ตั้งแต่นั่งเรือเฟอร์รีข้ามจากท่าเรือเซ็นทรัลหมายเลข 6 จากเกาะฮ่องกงมาถึงเกาะเผิงเชา (Peng Chau)  แวบหนึ่งรู้สึกเหมือนอยู่ในมัลติเวิร์สหนังมาเวล เพราะไม่ถึงชั่วโมงก่อนหน้านี้ เรายังผจญเสียงโหวกเหวกของคนเมืองอยู่เลย แต่พอทิ้งห่างไม่ถึง 40 นาที เราก็มาสะดุดตาเข้ากับกองทัพจักรยานที่จอดเทียบท่าเรือกว่าร้อยคันบนเกาะเผิงเชา เราเห็นผู้คนปั่นจักรยาน วิ่งเล่น จูงน้องหมาเดินบนทางเดินถนนชิคๆ คูลๆ เคียงคู่ไปกับต้นไม้ใหญ่ใบเขียว ท่ามกลางอากาศช่วง 10 โมงที่คุณพระอาทิตย์ติดเครื่องทำงานแล้ว แต่ทุกการทำกิจกรรมของคนบนเกาะนี้แทบจะตรงข้ามกับคำว่า ‘รีบเร่ง’ ไปเลย 

วิถี Slow Life ของเกาะนี้ที่คนเมืองกรุงอย่างเราเฝ้าฝันอยู่ ในอดีตเกาะพื้นที่แค่ 1 ตารางเมตรเคยเป็นที่รู้จักในเรื่องของการทำอุตสาหกรรมที่มีโรงงานมากกว่า 100 แห่ง หนึ่งในโรงงานที่เคยรุ่งเรืองมากๆ ก็คือ  ‘Fook Yuen’ โรงงานเครื่องหนังเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 1930 และเคยเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องหนังจนกระทั่งความต้องการของเครื่องหนังลดลง ทำให้ที่นี่ปิดตัวลง นานวันเข้าก็เหลือทิ้งไว้แค่ซากโรงงานเก่าไร้ชีวิต ซึ่งชะตากรรมนี้ยังส่งผลกับโรงงานแห่งอื่นบนเกาะด้วย 

แต่ในความมืดมิดยังมีแสงสว่าง เพราะในปี 2010 มีการฟื้นฟูโรงงานฟุกหยวนแล้วตั้งชื่อใหม่ว่า ‘My Secret Graden’ อาร์ตสเปซในสวนลับ โดยคนบนเกาะที่มีใจรักในศิลปะพากันรวบรวมเศษขยะและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่าๆ ทั้งหมดบนเกาะ มาสร้างเป็นชิ้นงานศิลปะจัดวางสีสันสดใส ช่วยเชื่อมโยงชีวิตคนเผิงเชาในอดีตและปัจจุบันได้ดี แถมยังมีกราฟิกตี้ตามตรอกและกำแพงที่นอกจากจะเรียกนักท่องเที่ยวมาเดินเที่ยวกันแบบฟรีๆ แล้ว ก็ยังชนะใจภาพยนตร์ Under Parallel Skies ของ วิน เมธวิน ที่เล่นคู่กับ จาเนลลา ซัลวาดอร์ นักแสดงชาวฟิลิปปินส์ ที่ถึงกลับต้องยกกองมาถ่ายทำที่นี่อีกด้วย ใครเป็นเอฟซีต้องมาตามล่าซีนหนังแล้ว 

ไม่ไกลเท่าไหร่มีหาดทุงวัน (Tung Wan Beach) หาดอันซีนที่เป็นฉากหลังให้พระนางเรื่องนี้นั่งสวีทหวานแข่งกับวิวได้สวยมากๆ ถ้าคนมีใจชวนคนนั้นมาเดตก็ขอแนะนำ ส่วนเราแม้จะนั่งคนเดียว หัวใจก็หวั่นไหวได้เหมือนกัน

วินาทีที่ต้องจากลาเกาะเผิงเชิงเผลอทำเราเศร้าใจ เพราะที่นี่มีครบทุกอย่าง ทั้งรวงร้านอาหารโลคอล คาเฟ่ ศาลเจ้า ทิวทัศน์จากชายฝั่งทะเลและบนยอดเขา ยังมีตึก อาคารแบบเก่าและใหม่อยู่ปะปนกัน สะท้อนความเรียบง่ายที่ทำให้เรานึกอิจฉาชุมชนบนเกาะเผิงเชาสุดๆ ไปเลย

วิธีการเดินทาง : วิธีการเดินทาง: ขึ้นเรือเฟอร์รีจากท่าเรือเซ็นทรัลหมายเลข 6  โดยสามารถเดินทางไปยังท่าเรือได้จากสถานี MTR Hong Kong 

3

Aberdeen

ขอได้ไหม มีเรือบ้านสักครั้งในชีวิต  

ณ อ่าวอเบอร์ดีน ชาวประมงที่นี่เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของฮ่องกง ซึ่งในอดีตไม่ได้มีบ้านบนบก แต่มีเรือเป็นบ้านและอยู่กันเป็นหมู่บ้านลอยน้ำกว่าหลายพันครอบครัวเลย

ได้ยินแบบนี้ แม้เราจะกลัวน้ำแต่ก็อยากจะมีเรือบ้านบ้าง เลยขอประโดดลงเรือไปทัวร์อ่าว ‘อเบอร์ดีน’ สักหน่อย ระหว่างนั่งเรือทัวร์ไกด์ก็ (ตะโกน) เล่าแข่งกับเสียงเครื่องจักรของเรือให้ฟังว่า อ่าวแห่งนี้ทั้งเคยเป็นฐานที่ตั้งสำคัญของประเทศอังกฤษในยุคอาณานิคม มีเรือไทปัก (Tai Pak Floating Restaurant) ภัตตคารอาหารลอยน้ำแห่งแรกของฮ่องกง ซึ่งควีนอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษเคยเสด็จมาเยือนด้วย กระทั่งการส่งฮ่องกงกลับคืนสู่จีน ไปจนถึงการย้ายถิ่นฐานของชาวประมงขึ้นมาอาศัยบนบก อเบอร์ดีนก็ยังคงฉายภาพวิถีชาวประมงดั้งเดิมอยู่เสมอ

เราจะเห็นภาพชีวิตพวกเขาอย่างชัดเจนเลยถ้ามาที่เฮาส์โบ๊ต (Houseboat) หรือพิพิธภัณฑ์เชิงวัฒนธรรมขนาดเล็กที่ท่าเรือ ซึ่งจำลองเรือนแพของจริงตั้งแต่ ห้องทำงาน ห้องนอนซึ่งเน้นพื้นที่แคบ ครัวทำอาหาร ภาพถ่ายบอกเล่าประวัติศาสตร์ชุมชนเรือในอเบอร์ดีน อุปกรณ์การหาปลาทะเล และน้ำเต้า ที่ต้องมีติดเรือบ้านทุกหลัง เพื่อช่วยพยุงเด็กจากการจมน้ำนั่นเอง 

ปัจจุบันอ่าวอเบอร์ดีนกลายมาเป็นที่จอดเรือยอร์ชจำนวนมาก และยังคงเป็นแหล่งตลาดค้าส่งอาหารทะเลและปลาในท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกงมาตั้งแต่ปี 1950 ที่หากเข้าร้านอาหารร้านไหนในฮ่องกง ก็ขอให้มั่นใจไว้เลยว่า อาหารทะเลที่กินอยู่ 90% มาจากอ่าวอเบอร์ดีนแน่นอน อย่างไรก็ตามแม้เราจะไม่มีเรือบ้าน แต่การมาที่นี่ก็ทำให้เห็นว่า ไม่ว่าฮ่องกงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ไปในทิศทางไหน อเบอร์ดีนก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่พร้อมจะรักษารากฐานทางวัฒนธรรมเพื่อบอกความเป็นของฮ่องกงต่อไป

วิธีเดินทาง : รถบัสหรือรถมินิบัส จากสถานี MTR Tai Po Market หรือเท็กซี่ 

4

Lai Chi Wo 

 ขอรีเฟรชชีวิตด้วยไอติมดอกไม้ชาวฮักกา  

สัมผัสชีวิตชาวประมงบนเรือมาแล้วก็ขอมาตามหาความเป็นฮ่องกงกันต่อที่ Lai Chi Wo หมู่บ้านลี่ชือวอเก่าแก่ของชาวจีนฮักกา หรือ ชาวจีนแคะ ซึ่งอยู่มาตั้งแต่ปี 1670 ตั้งอยู่ระหว่างพื้นที่ป่า ‘Fung Shui’ และป่าชายเลน ใกล้กับชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของเขตดินแดนใหม่ (New Territories)

ดังนั้นเราจะสัมผัสความเขียวขจีที่รอบล้อมหมู่บ้านบนเนินเขากว่า 200 หลังนี้กันตั้งแต่ทางเดินเข้าหมู่บ้านเลย บวกกับการจัดวางบ้านเรียงบนไหล่เขาเป็นแถวอย่างสวยงามตามหลักฮวงจุ้ยและยังคงรักษาความเป็นชุมชนเก่าแก่จนได้รับรางวัล ‘Special Recognition for Sustainable Development Award อันทรงเกียรติประจำปี 2020 จาก UNESCO ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมไปครอบครองด้วย ใครสายอินธรรมชาติ ที่นี่จัดว่ามีจุดเช็กอินให้เซลฟีเพียบ!  

ส่วนสายเนิร์ดประวัติศาสตร์ถูกใจแน่นอน เราจะได้สัมผัสอีกหนึ่งวิถีชีวิตพื้นบ้านของคนฮ่องกงด้วย เพราะหนึ่งในอาชีพหลักของฮ่องกงไม่ได้มีแค่ประมงเท่านั้น  แต่ยังมีชาวสวน ชาวนาซึ่งชาวฮักกามักประกอบอาชีพนี้เป็นส่วนใหญ่ ที่นี่เลยเต็มไปด้วยพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ทุกวันหยุดคนในหมู่บ้านจะตั้งแผงขายผัก วัตถุดิบต่างๆ และอาหารท้องถิ่นเสิร์ฟให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลองกันด้วย

 เราเดินผ่านพิพิธภัณฑ์ของหมู่บ้านมาเจอบ้านพ่อค้าขายไอศกรีมดอกไม้ พอถามว่ามีรสอะไรบ้าง พ่อค้าก็ดีใจรีบเดินไปหยิบไอติมทุกรสมาให้ลองชิม (หรือเอาจริงๆ ตั้งใจจะให้เรากินจนอ้วนกันไปข้างแน่ๆ เลย) แม้รสชาติจะไม่ได้เข้มข้นมาก แต่สัมผัสได้ถึงความเฟรช รสชาตินี้แหละเรียกว่า มาถึงแล้วนะ หมู่บ้านลี่ซือวอ!

วิธีการเดินทาง : ขึ้นรถบัสสาย 272K จากรถไฟฟ้า MTR สถานีมหาวิทยาลัย ทางออก B ลงป้ายแรกที่ท่าเรือหม่าหลิวจุ้ย (Ma Liu Shui) จากนั้นเดิน 100 เมตรไปยังท่าเรือหม่าหลิวจุ้ยหมายเลข 3 เพื่อขึ้นเรือเฟอร์รี Kaito ไปยัง Lai Chi Wo หรือ ขึ้นเรือเฟอร์รี Kaito จากท่าเรือ Sha Tau Kok ไปยัง Lai Chi Wo ผู้โดยสารจะต้องได้รับใบอนุญาตเข้าพื้นที่ปิด Sha Tau Kok ที่ถูกต้องจึงจะเข้าถึงท่าเรือได้

5

 ‘Sham Shui Po’

ขอกินของโลคอล เพื่อตีซี้อาม่าในย่านเก่าแก่

ถ้าอยากรู้ว่าวิถีชีวิตของคนฮ่องกงแท้ๆ เป็นอย่างไร ต้องมาย่านเก่าแก่ซึ่งอยู่ทางฝั่งเกาลูน อย่าง ‘ซัมซุยโป’ (Sham Shui Po) ประโยคนี้ยืนยันแล้วจากไกด์ฮ่องกง พอมาถึงถิ่นเราจะได้จ๊ะเอ๋ร่องรอยอดีตกันตั้งแต่อาคารที่เผยสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก ตึกราม บ้านเรือนเรียงชิดเป็นแถวแบบจีนดั้งเดิม ซึ่งเขาเริ่มก่อสร้างกันตั้งแต่ปี 1950 ให้เป็นย่านศูนย์กลางโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอผ้าของชาวฮ่องกงท้องถิ่นในช่วงยุค 1950 – 1960

ส่วนตอนนี้ซัมซุยโปเป็นอย่างไรน่ะหรอ ขอให้นึกถึงไวบ์สำเพ็ง ประตูน้ำ และตลาดคลองถมบ้านเรา หากเทียบ 3 แห่งนี้เป็นย่านที่สะท้อนวิถีชีวิตคนไทยขนานใด ซัมซุยโปก็เป็นย่านที่สืบทอดความเป็นฮ่องกงขนานนั้น เราได้เดินบนถนนอัพหลิว (Apliu Street) ซึ่งเต็มไปด้วยพ่อค้า แม่ค้า อาม่า อาแปะตั้งแผงขายอะไหล่เก่า-ใหม่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ราคาถูกเต็มถนนเลย  ส่วนชาวฮ่องกงที่นี่เน้นแต่งตัวธรรมดาทั่วไปเดินขวักไขว่จับจ่ายสินค้า สะท้อนวิถีชีวิตบ้านๆ ที่เข้าถึงง่ายดี  

ย่านนี้ยังคงมีแหล่งเสื้อผ้าแฟชั่นโนแบรนด์ราคาย่อมเยาว์ เครื่องประดับ อุปกรณ์ตัดเย็บที่เรียกว่าช่างฝีมือ ดีไซเนอร์มองหากระดุมเม็ดไหน ก็รับประกันเลยว่าที่นี่มีของแน่นอนด้วย ส่วนใครมีลูกมีหลาน มีน้องหรือเป็นผู้ใหญ่หัวใจเด็กลองมาเดินถนนฟุกวิง (Fuk Wing Street) หรือถนนของเล่นกันดูนะ เพราะที่นี่เต็มไปด้วยร้านขายของเล่นเด็กมากมาย สวรรค์ของเด็กชัดๆ  

กลิ่นอายวิถีชีวิตของผู้คนซัมซุยโปยังสะท้อนผ่านรวงร้านอาหารท้องถิ่นที่ถ้าคุณมาถึงทีนี่แล้ว ก็ต้องไปกินให้ถึงถิ่น ประเดิมร้านแรก โรงงานเต้าหู้ก๊งหว่อ (Kung Wo Beancurd Factory) เปิดกิจการมาตั้งแต่ปี 1960 หน้าร้านขายผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบเน้นถั่วเหลืองหลายชนิด แต่ถ้าจะนั่งกินก็เข้ามานั่งในร้านเลย เมนูยอดฮิตคือ ‘พุดดิ้งฟองเต้าหู้’ ใช้ถั่วเหลืองสดใหม่ล้วนๆ มาบดให้ได้เนื้อเนียนนุ่น สาวกคนชอบกินน้ำเต้าหู้อย่างเราตักน้องเข้าปากก็ได้แต่ฟินไปกับรสเข้มข้นของถั่ว แอบใส่น้ำตาลทรายแดงหน่อยเพิ่มความหอมๆ นัวๆ ไปอีก

ไปต่อกับอีกร้านที่มีดีกรีระดับมิชลินแต่มาในแบบสตรีทฟู้ดข้างทาง ‘Hop Yik Tai’ ร้านก๋วยเตี๋ยวหลอดในตำนานของฮ่องกงซึ่งแปลกตามากสำหรับเรา เพราะตัวเส้นไม่มีเครื่องอย่างที่คุ้นตา แต่เป็นเส้นเหนียวนุ่นเพียวๆ ราดด้วยซอสหวานสูตรลับสูตรเด็ด รสชาติหวานๆ เค็มๆ กินแล้วดันติดใจจนต้องแย่งเพื่อนร่วมทริปกิน (เขากินไม่หมด เราเสียดาย) 

อิ่มท้องแล้ว ไกด์ชวนมาอิ่มใจปิดท้ายย่านนี้กันที่วัดสองแห่งในที่เดียว เริ่มจากวัดซ่านไทชี (Sam Tai Tsz) หรือ วัดของเทพเจ้านาจา สร้างขึ้นในปี 1989 เพื่อช่วยปกปักษ์รักษาบ้านเมือง และปัดเป่าโรคระบาดที่แพร่เข้ามาในซัมซุยโปทั่วทั้งเมืองในช่วงนั้น นอกจากนี้ภายในวัดมีเทพเจ้านาจาเป็นเด็กที่มีความฉลาดหลักแหลม ทำให้ชาวอ่องกงที่กำลังริเริ่มธุรกิจกิจการ หรืออยากเรียนเก่งๆ ก็จะพากันมาไหว้ขอพรกับท่าน ที่นี่ยังมีเทพเจ้าหลายองค์ ถ้าใครอยากได้ลูก หรืออยากรวยก็ต้องมาที่นี่เลย ข้างๆ กันคือวัดปักไต (Pak Tai) ของเทพเจ้าดาวเหนือ สร้างขึ้นเมื่อปี 1920 ใครที่กำลังหลงทางกลับบ้านหรือหลงทางทางใจ ท่านสามารถปักหมุดเข็มทิศนำทางให้ชีวิตเรากลับมาคงเส้นคงวาได้ 

วิธีการเดินทาง : รถไฟใต้ดิน MTRลงทสถานีซัมซุยโป

6

Cheung Chau 

ขอปีนเก็บซาลาเปาแล้วเอาไปกินที่โรงละครเก่าเฉิ่งเจ้า 

ถ้าพูดถึงเฉิ่งเจ้า เราก็จะนึกถึงเกาะที่ชอบจัดการแข่งขันปีนซาลาเปาใน ‘Cheung Chau Bun Festival’  เทศกาลท้องถิ่นประจำทุกต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี แต่ถ้าเพื่อนๆ ยังไม่คุ้นที่มา เราจะเล่าให้ฟังเอง 

เกาะขนาดเกือบ 3 ตารางกิโลเมตรนี้ ในสมัยก่อนเคยประสบทั้งการแพร่ระบาดของโรคร้าย ทั้งเผชิญกับการรุกรานของโจรสลัด บวกความเชื่อเรื่องผีสางทำให้ชาวบ้านทำซาลาเปานำโชค ปั๊มด้วยตัวอักษรจีนสีแดง อ่านว่า Ping On แปลว่า ความปลอดภัย มาถวายเทพเจ้าปักไท ที่ช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้ายและอาการป่วยไข้ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน รวมไปถึงเซ็นไหว้ผีสางด้วย หลังจากนั้นชาวบ้านจะนำซาลาเปานำโชคมากองเป็นภูเขาสูงเพื่อให้ผู้คนปีนขึ้นไปแย่งเก็บมากินกับคนในครอบครัว เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงและเพื่อความเป็นสิริมงคล 

ปัจจุบันการนำซาลาเปานับหมื่นลูกมาแขวนบนโครงไม้ไผ่สูงไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อกิน แต่เพื่อแข่งเก็บซะมากกว่า ยิ่งเก็บลูกที่อยู่สูงยิ่งได้แต้มเยอะ กลายเป็นจุดเรียกนักท่องเที่ยวให้แห่มาจนเกือบล้นเกาะเลยล่ะ 

เดินตามไกด์จนมาหยุดที่หน้าร้าน ‘ก๊อกกั๋มเก๋’ (Kwok Kam Kee) ร้านเบเกอร์รีอายุกว่า 40 ปี และเป็นเจ้าแรกที่ทำซาลาเปานำโชคนับหมื่นลูกให้กับเทศกาลนี้ มาถึงทั้งทีขอซื้อเจ้าก้อนซาลาเปาสีขาวนวลนิ่มไส้ลูกบัวจากคุณตาเจ้าของร้านมาชิมสักหน่อยละกัน 

แต่…ที่นี่ไม่ได้มีดีแค่เทศกาลปีนซาลาเปาน่ะสิ

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ห่างจากร้านก๊อกกั๋มเก๋สัก 300 เมตรจะพบกับ ‘สวนความหลากหลายทางวัฒนธรรมแห่งโรงภาพยนตร์เฉิ่งเจ้า’ (Cheung Chau Cinema Multicultural Park หรือ C.C.C. Multicultural Park) ตัวชูโรงสำคัญคือ ซากโรงละครเฉิ่งเจ้าที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1930 ต้องขอเล่าอีกนิดว่าเฉิ่งเจ้าอาจไม่ได้โดดเด่นหรือเกี่ยวพันกับภาพยนตร์มากเท่าไหร่ แต่การหลงเหลือเศษซากโรงละครเก่าแก่ก่อนสงครามโลกเพียงที่เดียวบนเกาะนี้ก็ทำให้ทางรัฐบาลฮ่องกงและบริษัทเอกชนเห็นพ้องกันว่าควรค่าแก่การอนุรักษ์สถานที่ทางประวัติศาสตร์นี้ไว้

แม้ว่าวันนี้ยังอยู่ในช่วงของการบูรณะเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่เราก็มีโอกาสเดินเข้าไปข้างใน เห็นกองเก้าอี้สภาพเก่า สำรวจดูโครงสร้างตึกสภาพพุพังที่ไม่ได้ทำให้เสน่ห์ไวบ์เก่าๆ ของที่นี่เลือนหายไปเลย หันไปอีกฝั่งก็เห็นจัตุรัส C.C.C. พื้นที่ฉายหนังกลางแจ้งให้ชาวเมืองและนักท่องเที่ยวได้สัมผัสวันวานสมัยโรงภาพยนตร์เฉิ่งเจ้ายังมีชีวิต  

จู่ๆ ก็หัวใจเต้นขึ้นมาซะงั้น อาจเพราะเราหลงใหลโลกภาพยนตร์มากๆ ซึ่งก็ดูเหมือนจะมาถูกจังหวะเพราะข้างๆ มีสตูดิโอ 1931 Studio ที่จำลองฉากจากหนังดังฮ่องกง เช่น Tang Bohu, Qiuxiang และ Legal Situation ให้เราได้ลองแต่งตัว สวมบทบาทเป็นตัวละครในฉากนั้นๆ พร้อมอุปกรณ์จำลองการถ่ายทำหนังให้เราได้ลองเป็นผู้กำกับด้วย คนรักภาพยนตร์และอยากลองทำหนังถูกใจสิ่งนี้แน่นอน

และด้วยพื้นที่บริเวณนี้มีมากกว่า 38,000 ตารางฟุต เขาก็ตั้งใจจะเนรมิตให้เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์สะท้อนวิถีชีวิตของคนเฉิ่งเจ้าที่มีพื้นเพมาจากการทำประมง  ซึ่งนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ จะสัมผัสได้ผ่านการทำเวิร์กชอป เข้าชมพิพิธภัณฑ์ หรือขึ้นไปยังชั้นบนสุดของตึก 1931 Studio ที่ออกแบบดาดฟ้าให้เป็นเรือสำเภาไม้ที่สามารถชมทิวทัศน์ของชุมชนเฉิ่งเจ้าแบบ 360 องศากันไปเลย 

วิธีการเดินทาง : ขึ้นเรือเฟอร์รีจากท่าเรือเซ็นทรัลหมายเลข 5 จากเกาะฮ่องกง 

7

ยังอยู่ที่เฉิ่งเชา

ขอให้ธรรมชาติที่นี่เยียวยาใจและพาฉันบอกลาฮ่องกง

เรายังอยู่กันที่เกาะเฉิ่งเชา และตอนนี้เป็นเวลา 6 โมงเย็นที่พระอาทิตย์กำลังเคลื่อนตัวสู่พื้นดิน บรรยากาศเงียบๆ สงบๆ ตรงนี้จึงยิ่งสวยงามกว่าเดิม “แต่ถ้าอยากเห็นเฉิ่นเจ้าในมุมที่สวยกว่านี้ ก็ต้องลองปีนเขาไปจุดชมวิวของเกาะนี้นะ” ไกด์บอกกับเราแบบนั้น ด้วยความที่ยังไม่เคยปีนเขาเลยสักครั้ง ตอนนี้มีโอกาสทั้งนี้ใครล่ะจะปฏิเสธ 

ไกด์พาเราเดินจากวัดปักไท เดินลัดเลาะผ่านหมู่บ้าน ป่าไม้เพื่อไปยังยอดเขาทางด้านเหนือของเกาะ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20 นาทีนิดๆ กระทั่งเดินมาถึงศาลาชมวิวทิศเหนือ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของเกาะ  และจุดนี้เองที่เราสามารถดื่มด่ำวิวธรรมชาติได้แบบ 360 องศาเลย เราชอบเมฆที่นี่มากๆ เพราะมาทันช่วงพระอาทิตย์กำลังตกดิน กลายเป็นว่าทิวทัศน์ตรงหน้าสวยมากราวกับหลุดออกมาจากภาพวาดเลย  

 ไม่น่าเชื่อว่าการทุ่มแรงกาย (แทบตาย) เพื่อมาพบปะวิวธรรมชาติอย่างใกล้ชิด จะทำให้เราลืมเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง ความรู้สึกภูมิใจอยู่เล็กๆ จนเผลอกางแขนโอบรับลมธรรมชาติด้วยรอยยิ้มไปเลย 

 เราอยากขอบคุณการท่องเที่ยวฮ่องกงที่ให้โอกาส  และอยากขอบคุณตัวเองที่ตอบตกลงมาทริปเที่ยวในแคมเปญ ‘Hong Kong’s Hidden Gems’ ครั้งนี้ เพราะตลอด 5 วัน การได้พบปะเรื่องราวใหม่ๆ ผู้คนใหม่ๆ ได้ใกล้ชิดธรรมชาติตลอดทริปที่ชวนเติมเต็มพลังชีวิต และนอกจากทริปนี้จะทำให้เราใกล้ชิดความเป็นฮ่องกงแล้ว เรายังได้กลับมาใกล้ชิดกับตัวเอมมากขึ้นด้วย 

นี่สินะ ที่เขาเรียกว่า การใช้ชีวิต เราต้องออกการเดินมองหาสิ่งใหม่  🙂

พิเศษมากๆ สำหรับใครที่อยากมาทริปนี้ที่เที่ยวฮ่องกง เพราะตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม – 15 กันยายน 2567 ทางการท่องเที่ยวฮ่องกงจะแจกเวาเชอร์ ‘Summer Triple Rewards’  จำนวน 500,000 ชุด ภายใต้แคมเปญ ‘Summer Chill Hong Kong’  ให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางแบบค้างคืนฟรี (โดยต้องแสดงเอกสารการเดินทางตัวจริงที่มีประวัติการจองที่พักในฮ่องกง 1 คืนขึ้นไป หรือ ประวัติการจองตั๋วขากลับสำหรับเครื่องบิน รถไฟ รถบัส หรือเรือเฟอร์รี จึงจะสามารถรับสิทธิ์ได้) 

เวาเชอร์แต่ละชุดประกอบไปด้วยคูปองใช้จ่ายใช้กับ การเดินทาง/การเที่ยวชม ร้านอาหาร และช็อปปิง อย่างละหนึ่งใบ พร้อมส่วนลดรวมมูลค่ากว่า 500 ดอลลาร์ฮ่องกง นักท่องเที่ยวสามารถรับเวาเชอร์ Summer Triple Rewards ได้ฟรีเมื่อเช็กอินกับโรงแรมที่ร่วมรายการกว่า 200 แห่ง หรือที่เคาน์เตอร์ HKTB ที่กำหนด โดยจะได้รับเวาเชอร์หนึ่งใบต่อนักท่องเที่ยวหนึ่งคนเท่านั้น โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.discoverhongkong.com/eng/what-s-new/events/summer-chill.html 

เครดิตรูปภาพบางส่วนจาก การท่องเที่ยวฮ่องกง (Hong Kong Tourism Board : HKTB)

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สุธาสินี สุทธะโส

ขอลาเต้ หนังสือ คุกกี้หน่อย เราจะไปนั่งเขียนอ่านนั่งฝันบนดวงจันทร์