ช่วงที่ผ่านมา ดิฉันเห็น ‘โชคุปัง’ (shokupan) หรือขนมปังปอนด์สไตล์ญี่ปุ่นเป็นที่นิยมอย่างมากในไทย วันนี้เลยอยากจะมาเล่าตำนานหนึ่งให้ฟัง
คุณผู้อ่าน (โดยเฉพาะคุณผู้อ่านที่รู้ภาษาญี่ปุ่น) เคยสงสัยไหมว่า ทำไมคนญี่ปุ่นถึงเรียกขนมปังปอนด์ว่า ‘โชคุปัง’ (食パン) หรือ ‘ขนมปังสำหรับกิน’ ทั้งที่ขนมปังก็มีไว้กินอยู่แล้ว
ชาวญี่ปุ่นหลายคนเชื่อว่าที่มาของชื่อนี้มาจากร้านขนมปังเล็กๆ ข้างรั้วโรงเรียนศิลปะแห่งหนึ่งในสมัยเอโดะ
เรื่องมีอยู่ว่า ย้อนไปในยุคปลายเอโดะ ในช่วงเวลานั้นญี่ปุ่นมีการติดต่อกับชาวยุโรปในการค้าขายมากขึ้น วัฒนธรรมยุโรปเริ่มหลั่งไหลเข้ามาในประเทศญี่ปุ่น มีการเผยแพร่ศาสนาคริสต์โดยชาวโปรตุเกส นอกไปจากศาสนาแล้ว ชาวโปรตุเกสยังได้พาขนมปังมาให้คนญี่ปุ่นรู้จักอย่างกว้างขวางอีกด้วย การรับประทานขนมปังจึงเริ่มเป็นที่นิยม และคนญี่ปุ่นในเวลานั้นเรียกขนมปังว่า パン (ออกเสียงว่า ปัง) ที่เพี้ยนมาจากคำว่า pao (เปา) ตามคำเรียกของชาวโปรตุเกสนั่นเอง
วัฒนธรรมของชาวยุโรปไม่ได้ทำให้วิถีการกินของคนญี่ปุ่นเปลี่ยนไปเท่านั้น แต่ยังได้นำพาศิลปะและการเขียนภาพแบบยุโรปเข้ามาในญี่ปุ่นอีกด้วย ซึ่งการเขียนภาพโดยใช้ถ่านชาร์โคลวาดภาพตามแบบฉบับชาวยุโรปนั้นจะใช้ขนมปังส่วนสีขาวมาบีบใช้แทนยางลบเพื่อสร้างแสงและเงาลงบนภาพ
หลายคนอาจสงสัยว่าในสมัยนั้นยังไม่มีการผลิตยางลบออกมาใช้เหรอ ถึงต้องใช้ขนมปัง ในปี 1770 ยางลบได้ถูกผลิตขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ประเทศอังกฤษ และในปี 1886 ญี่ปุ่นได้เริ่มผลิตยางลบใช้เป็นครั้งแรก แต่สมัยนั้นยางลบที่ทั้งทางยุโรปและญี่ปุ่นผลิตได้นั้นมีความแข็งเกินกว่าที่จะนำมาใช้ในงานศิลปะ การใช้ขนมปังในการลบซึ่งเป็นเทคนิคที่มีมาแต่โบราณจึงยังคงเป็นที่นิยม อีกทั้งขนมปังสามารถใช้ทำเทกซ์เจอร์ต่างๆ ได้มากมายและมีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการบิดเอาแค่ส่วนสีขาวมาซับลงบนชาร์โคลให้เกิดเทกซ์เจอร์ที่เบาบางลง หรือการบีบขนมปังให้มีเนื้อที่แน่นแล้วใช้กรีดปาดมุมให้เกิดแสงเงาที่เฉียบคมมากขึ้น เรียกได้ว่าการจะวาดรูปในสมัยนั้นจะต้องมีขนมปังวางเคียงข้างเป็นหนึ่งในอุปกรณ์วาดภาพเสมอ และการเรียนการสอนศิลปะญี่ปุ่น ณ เวลานั้น นักเรียนศิลปะทุกคนก็เรียนโดยการใช้ขนมปังแทนยางลบตามต้นฉบับของชาวยุโรปเลยล่ะ
ณ โรงเรียนศิลปะแห่งหนึ่ง ซึ่งหลายคนคิดว่าอาจเป็นมหาวิทยาลัยไกได (Tokyo University of the Arts) เพราะเป็นโรงเรียนสอนศิลปะแห่งแรกในญี่ปุ่น โรงเรียนศิลปะแห่งนั้นมีร้านขนมปังตั้งอยู่ใกล้ๆ ด้วยหวังว่าจะได้ลูกค้าเป็นนักเรียนที่มาซื้อขนมปังไปทานเป็นอาหารทุกวัน
ทุกวันคุณลุงร้านขนมปังมักจะแยกขนมปังออกเป็น 2 ตะกร้า ตะกร้าแรกเป็นขนมปังเก่าติดป้ายราคาไว้ว่าชิ้นละ 1 เซน อีกตะกร้าเป็นขนมปังอบสดใหม่ติดป้ายราคาไว้ว่าชิ้นละ 2 เซน คุณลุงเขียนบอกไว้แต่เพียงราคาที่ต่างกัน ไม่อยากเขียนว่าเก่า-ใหม่ เพราะจะทำให้ขนมปังเก่าดูไม่น่ารับประทาน ซึ่งโดยปกติคนทั่วไปก็คงเข้าใจได้ว่าขนมปังที่แข็งกว่าเป็นขนมปังเก่านะ
คุณลุงเปิดร้านขายขนมปังไปตามปกติ จนนานวันเข้าขนมปังของคุณลุงเกิดขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่ที่น่าประหลาดใจคือขนมปังที่ขายดีกลับเป็นขนมปังเก่าชิ้นละ 1 เซน คุณลุงรู้สึกสงสัยเป็นอย่างมากว่าทำไมขนมปังเก่าที่แข็งกว่าถึงขายดีกว่าขนมปังที่อบสดใหม่ จนเมื่อคุณลุงแอบสังเกตว่าคนที่ซื้อขนมปังเก่ามักเป็นเด็กจากโรงเรียนศิลปะข้างๆ แต่เอ…เจ้าเด็กนักเรียนพวกนี้ชอบขนมปังแข็งกันเหรอ
จนเมื่อคุณลุงสอบถามนักเรียนศิลปะที่มาซื้อขนมปังเก่าเป็นประจำ จึงได้คำตอบว่าพวกเขาซื้อขนมปังเก่าเพื่อเอาไปใช้เป็นยางลบในการเรียนวาดภาพนั่นเอง แต่ด้วยความที่คุณลุงเขียนไว้เพียงแต่ราคาที่ต่างกัน ทำให้ลูกค้าที่ไม่ใช่นักเรียนศิลปะก็พากันซื้อขนมปังเก่าเพราะราคาถูกกว่าไปด้วย ทำให้ขนมปังอบใหม่ของคุณลุงยิ่งขายไม่ได้กว่าเดิม
คุณลุงเลยคิดหาทางแก้ไขว่าจะทำยังไงให้ขนมปังเก่าที่ลดราคาและขนมปังอบใหม่ขายได้ไปพร้อมๆ กัน เลยเขียนป้ายใหม่ที่แยกขนมปังตามฟังก์ชั่นการใช้งาน ซึ่งอ้างอิงจากพฤติกรรมของนักเรียนศิลปะ นั่นคือคุณลุงเปลี่ยนชื่อขนมปังเก่าราคา 1 เซน เป็นชื่อ ‘ขนมปังสำหรับลบ’ (消しパン = เคชิปัง) และขนมปังใหม่ราคา 2 เซน เป็น ‘ขนมปังสำหรับกิน’ (食パン = โชคุปัง)
จากนั้นเป็นต้นมา คนญี่ปุ่นจึงเรียกขนมปังว่า ‘โชคุปัง’ หรือ ‘ขนมปังสำหรับกิน’ มาจนถึงวันนี้นั่นเอง แต่ทั้งนี้ก็ต้องหมายเหตุไว้ว่าเรื่องเล่านี้เป็นเพียงทฤษฎีหนึ่งจากข้อสันนิษฐานที่มาของชื่อโชคุปัง ซึ่งยังมีอีกหลายแนวคิดเลยล่ะ
สามีของดิฉันซึ่งเป็นศิลปินและอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยไกได เล่าเรื่องสมัยตัวเองเป็นนักเรียนศิลปะว่า ต้องไปซื้อขนมปังร้านหนึ่งเป็นประจำ จนคุณป้าร้านขนมปังดีใจทุกครั้งที่เขาเข้าร้าน แต่คุณป้าร้านขนมปังจะรู้ไหมว่า ขนมปังที่เป็นยางลบที่ดีนั้นต้องเป็นขนมปังที่ไม่อร่อยเลย (โอ้…ฟังแล้วเจ็บแทนคุณป้า) เหตุเพราะขนมปังที่ไม่อร่อยจะใส่เนยน้อย เวลาลบจะไม่มีปัญหาใดๆ ในขณะที่ขนมปังที่อร่อยจะใส่เนยเยอะ ซึ่งยิ่งใส่เนยเยอะเท่าไหร่สีของเนยจะยิ่งออกมาตอนใช้ลบมากเท่านั้น ทำให้รูปวาดติดเป็นสีเหลืองของเนย และเนยยังเป็นไขมันที่จะไปเคลือบกระดาษเอาไว้ ทำให้เขียนรูปต่อไม่ได้อีก
หากถามว่าทุกวันนี้เด็กนักเรียนศิลปะในญี่ปุ่นยังคงใช้ขนมปังแทนยางลบอยู่ไหม จากที่ลองหาข้อมูลดูก็ยังมีใช้กันอย่างแพร่หลาย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เป็นช่วงที่ญี่ปุ่นมีการสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย ที่ทำงานดิฉันอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยศิลปะพอดีก็เลยได้เห็นนักเรียนศิลปะหลายคนหิ้วขนมปังเข้าไปสอบอยู่หลายคน เรียกได้ว่าขนมปังเป็นอาหารชนิดเดียวที่สามารถเอาเข้าไปในสนามสอบก็ว่าได้
อ่านมาถึงตรงนี้เพื่อนๆ แอบมีคำถามนิดๆ ในใจเหมือนดิฉันไหมว่า เอ…หรือขนมปังชาร์โคลจะเกิดขึ้นเพราะศิลปินวาดรูปแล้วเกิดหิว เผลอกินขนมปังที่ตัวเองใช้ลบชาร์โคลไปแล้วรู้สึกว่าอร่อยหรือเปล่านะ
ดูจากเรื่องเล่าของโชคุปังแล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้ จริงไหมคะ
อ้างอิง