ใครๆ ก็รู้ว่าอารมณ์ขันเป็นเรื่องสำคัญ
มันเป็นสิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ระดับความฮาและธรรมชาติความฮาของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน อันมาจากบุคลิก นิสัย ทัศนคติ การมองโลก ประสบการณ์ และการเติบโต ความฮาของคนหนึ่ง อาจกริบสำหรับอีกคนหนึ่ง ดังนั้น ในแง่นี้ แม้ความฮาจะเป็นเรื่องสากล ก็ใช่ว่าทุกคนจะ ‘เก็ต’ และฮาในมุกเดียวกัน
ใครที่มีเพื่อนชอบ DM ส่ง Reels ตลกๆ หากัน หมั่นแชร์ข่าวสุดเหวอมาบนหน้าวอลล์ มีเพื่อนชอบดูรายการ ‘ก็มาดิคร้าบ’ หรือ ฮากับ Short Clip รายการ ชิงร้อยชิงล้าน เหมือนกัน โปรดจงรู้ไว้ว่า รักษาพวกเขาและเธอเหล่านั้นไว้ในชีวิตให้ดี เพราะนั่นคือตัวอย่างของ ‘ความสุข’ ในการพบใครสักคนที่ ‘เข้าใจ’ และ ‘มองโลก’ ในแบบเดียวกับเรา
นึกภาพง่ายๆ ถ้าเราต้องทำงานใกล้ชิดกับใครสักคนที่มีเซนส์ธรรมชาติของความฮาคนละแบบกับเรา แม้จะทำงานด้วยกันได้ แต่มันคงขาดเสน่ห์ของความสัมพันธ์บางอย่างไป เพราะเมื่อถึงคราวสถานการณ์ลำบาก คนที่มีเซนส์ความฮาแบบเดียวกับเรา จะสามารถหาความฮาเล็กๆ น้อยๆ มาช่วยคลายความเครียด ความกดดัน และทำให้รู้สึกดีขึ้นทั้งคู่ได้
แม้จะเป็นเรื่องของ ‘ความฮา’ แต่มันสามารถช่วยสร้างและเสริมมิตรภาพ และเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงมิตรภาพที่ดีอย่างหนึ่ง ที่สำคัญคือมันสามารถนำพาเราไปพบกับใครสักคนที่พร้อมจะหัวเราะร่วมกัน อันเป็นหนทางเดียวที่จะสร้างเส้นทางสู่สายสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่างมนุษย์ได้
เช่นนั้นแล้ว มาดูกันว่า ความฮาสามารถทำให้เราได้พบเพื่อนที่ ‘ศีล’ เสมอกันได้อย่างไร
มิตรภาพที่ดีเกิดขึ้นได้จากการเข้าใจความฮาเดียวกัน
ความฮานั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดย ‘สัญชาตญาณ’ มากกว่าสิ่งที่เรา ‘คิด’ บางคนอาจรู้สึกตลกกับบางเรื่อง ในขณะที่บางคนกลับรู้สึกตกใจ ไม่ชอบใจ หรือรู้สึกแย่ เช่นนั้นแล้ว บางคนอาจมองความตลกของ น้าค่อม ว่าคือระดับอาจารย์ที่แค่เห็นหน้าก็ฮาแล้ว ในขณะที่อีกคนกลับรู้สึกว่า ‘ไม่เห็นฮาเลย’
เช่นนั้น เมื่อเราใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ในสังคมที่อาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือที่ทำงาน หากเรารู้สึกฮากับบางสิ่งจากสัญชาตญาณหรือธรรมชาติของตัวเราจริงๆ จงแสดงความรู้สึกหรือเล่ามันออกมาอย่างจริงใจ และใครก็ตามที่มองเห็นความฮาในสิ่งเดียวกันก็จะเผยตัวออกมาเอง ซึ่งบุคคลนั้นแหละ มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็น ‘เพื่อนที่ดีที่มีศีลความฮาเสมอกัน’ เพราะพวกเขามี ‘สัญชาตญาณ’ เดียวกับเรานั่นเอง

อารมณ์ขันเผยให้เห็นรูปแบบความคิดทางสังคม
อย่างที่กล่าวไปว่า ความฮาในแง่ของ ‘อารมณ์’ นั้นมีหลายระดับ หลายชั้นเชิง แต่การ ‘รู้สึกตลก’ หรือ ‘หัวเราะ’ ให้กับบางสิ่งนั้นอาจเข้าใจได้ง่ายกว่า เช่น หากมีใครสักคนลื่นล้มแล้วมีใครหัวเราะ เราก็อาจมองคนๆ นั้นในแบบหนึ่ง หรือหากมีใครสักคนฮากับเรื่อง ‘ตลกร้าย’ ก็อาจบ่งบอกความคิดเขาได้แบบหนึ่ง หากใครบางคนฮากับเรื่องใต้สะดือ ก็ย่อมบ่งบอกมุมมองของพวกเขาได้อีกแบบหนึ่ง หรือหากใครบางคนฮากับมุกพลิกแพลงเกี่ยวกับสถานการณ์ เราก็คงมองพวกเขาอีกแบบหนึ่ง
เช่นนั้นแล้ว เมื่อเรารู้แล้วว่า ใครบางคนตลกกับเรื่องอะไร ก็ย่อมทำให้เราเข้าใจคุณค่าที่คนอื่นปลูกฝังไว้ หรือบ่งบอกทัศนคติและตัวตนพวกเขาได้ และจะแสดงให้เห็นว่า เราจะสามารถเชื่อมโยง ‘เซนส์ความฮา’ กับคนเหล่านั้นได้หรือไม่ได้อย่างไร

ประหยัดพลังงานในการใช้ชีวิต
ธรรมชาติของความรู้สึกฮากับบางสิ่งของเราที่เกิดขึ้นซ้ำๆ และถูกแสดงออกผ่านบางสิ่งหรือบางรูปแบบ จะช่วยให้เราสังเกตเห็นคนที่ ‘มี’ และ ‘ไม่ได้มี’ เซนส์ของความฮาแบบเดียวกับเรา ซึ่งมันเกี่ยวโยงกับเรื่องของการประหยัด ‘เวลา’ และ ‘พลังงาน’ ในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันหรือระยะยาวในการเลือกคบคนได้ เพราะการเกี่ยวดองกับบางคนที่มีศีลความฮาไม่เสมอกัน ก็อาจทำให้ความสัมพันธ์จืดชืดแปลกๆ
นอกจากนี้ หากมองในมุมกลับ มันยังทำให้เราได้เข้าใจตัวเองด้วยว่า ทำไมบางครั้งเราถึงไม่สามารถเข้ากับบางคนได้ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ช่วยสร้างความภาคภูมิใจได้ในระดับหนึ่ง เพราะเราจะได้รู้ว่าจริงๆ แล้ว ตัวตนของเราเป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้เราตระหนักรู้ถึงพลังของ ‘ความฮา’ เมื่อต้องเข้าสังคม

สรุปแล้ว ความฮาคือสิ่งจำเป็น แม้อาจจะไม่ได้ถึงขั้นหล่อเลี้ยงชีวิตเท่าอาหารการกินหรือน้ำดื่ม แต่มันคือสิ่งที่ช่วยชุบชูใจจากชีวิตประจำวันอันแสนเข้มข้นได้
แน่นอนว่าคงไม่มีใครสามารถตลกได้ตลอดเวลา แต่การมี ‘ใครสักคน’ ที่มีศีลความฮาเสมอกันเคียงข้างในความสัมพันธ์ ย่อมไม่ต่างจากการเจอกัลยาณมิตรที่พร้อมจะช่วยประคองหัวใจและเพิ่มรอยยิ้มผ่านเสียงหัวเราะให้เรามีพลังใจในการเดินหน้าต่อไปได้ไม่มากก็น้อยล่ะ