‘ภาษามีตั้งเยอะ แต่เลือกที่จะพูดไปเรื่อย’ รับมืออย่างไรดี หากต้องโคจรมาพบกับคนช่างจ้อ เมื่อบทสนทนาที่ ‘ไหลข้างเดียว’ ทำให้เสียสุขภาพจิต

‘ภาษามีตั้งเยอะ แต่เลือกที่จะพูดไปเรื่อย’ รับมืออย่างไรดี หากต้องโคจรมาพบกับคนช่างจ้อ เมื่อบทสนทนาที่ ‘ไหลข้างเดียว’ ทำให้เสียสุขภาพจิต

หลายครั้งชีวิตก็เลือกไม่ได้ เช่นเดียวกับบางเวลาที่ต้องโคจรมาพบเจอกับ ‘คนช่างจ้อ’ ที่พร้อมจะสาธยายแบบน้ำไหลไฟดับ พรั่งพรูตลอด และพูดไปเรื่อย เหมือนไม่ได้เจอมนุษย์ด้วยกันมา 3 ปี พาลจะทำให้เรารู้สึกอึดอัดเพราะพี่เขาไม่มีช่องไฟให้คนอื่นได้พูดหรือออกความเห็นบ้างเลย

ถ้าเป็นคนที่พูดเยอะแต่ได้น้ำได้เนื้อก็พอจะทำใจอยู่บ้าง แต่หากต้องประสบกับคนพูดไปเรื่อยที่มีเนื้อ 10% ส่วนที่เหลืออีก 90% คือน้ำ คงลำบากใจ ครั้นจะบอกไปตรงๆ ก็ไม่กล้า แต่หากไม่พูดเลยก็อาจทำให้บทสนทนาในหัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจไม่ถูกพูดถึง เพราะยากที่จะโต้ตอบด้วย (หรือความจริงกูไม่ได้อยากโต้ตอบอะไรเลย อยากอยู่เฉยๆ มึงโผล่มาทำไม)

ตามปกติแล้ว บทสนทนามักเป็นเรื่องที่ ‘คาดเดา’ ได้ตามจังหวะ เช่น คนหนึ่งพูดและหยุดเพื่อให้คนอื่นได้พูดบ้าง ดังนั้นการต้องคุยกับคนที่ไม่ให้โอกาสได้เกิดการ ‘ผลัด’ กันพูดเลย อาจทำให้ผู้สนทนาคนอื่นๆ ต้องใช้พลังงานทางอารมณ์อย่างมากและทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า

จินตนาการถึงสถานที่ทำงานที่มี ‘นักจ้อ’ ที่พร้อมจะสละเวลามานั่ง ‘พูดไปเรื่อย’ ก็คงทำให้ช่วงเวลาที่เราอยากมีพื้นที่ส่วนตัวสงบๆ เพื่อมีสมาธินั่งทำงานหายไป ครั้นจะย้ายที่นั่งทำงานก็ดูจะเสียมารยาทอีก เลยต้องนั่งฟังแบบฝืนยิ้มเจื่อนๆ พยักหน้าตอบโต้พอเป็นพิธี แกล้งหัวเราะสักหน่อยกับมุกตลกที่ไม่เห็นจะฮา จนดูนาฬิกาอีกที อ้าว เลิกงานแล้วนี่หว่า มึงยังพูดไม่จบอีกเหรอเนี่ย

หากการ ‘พูดไปเรื่อย’ ของใครบางคนมาถึงจุดที่ทำให้เราต้องเหนื่อยและเสียเวลาบ่อยๆ หรือส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและอารมณ์ ก็ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหาทางรับมือ ไม่เช่นนั้นวันทั้งวันของเราอาจหมดไปกับการฟังเรื่องราวไร้สาระแน่ๆ แล้วจะทำยังไงดี?

กำหนดเวลาในการสนทนา

แท้จริงแล้ว หากสังเกตดีๆ ‘นักพูดไปเรื่อย’ ส่วนมากจะเคารพลิมิตของเรา หากเราตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนกับพวกเขา เราสามารถ ‘คุม’ บทสนทนาของตัวเองได้มากขึ้น โดยการบอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับ ‘เวลา’ ที่เรามีให้ เช่น “เฮ้ย อีก 10 นาทีกูจะไปกินข้าวแล้วนะ” หรือ “อีก 15 นาทีกูมีประชุมนะ” แต่หากนักพูดไปเรื่อยโผล่มาแบบไม่ตั้งตัว หรือในช่วงเวลาที่เรายังไม่สะดวก การกล้าขัดจังหวะและเสนอเวลาอื่นเพื่อพูดคุยแทนก็ไม่ใช่เรื่องเสียมารยาทแต่อย่างใด

ทำให้นักพูดไปเรื่อยรู้ว่าเราฟังอยู่

นักพูดไปเรื่อยหลายคนเป็น ‘Born to be’ คือมีลักษณะเช่นนี้เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว แม้เราจะพยายามปิดสนทนาอย่างรวดเร็วด้วยการแกล้งเนียนว่าจะไปอึ แต่มันอาจส่งผลตรงกันข้ามได้ เพราะพวกเขาอาจพูดมากขึ้น เนื่องจากรู้สึกว่าไม่ได้รับบทสนทนาที่จริงใจ ดังนั้น หากเรากำหนดกรอบเวลาสำหรับการสนทนาแล้ว ก็ควรจะ ‘อดทน’ เท่าที่ทำได้ เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่ามีคนรับฟังอยู่น้า โต้ตอบบ้างเท่าที่จะมีช่องไฟ ยิ้ม หัวเราะ หรือแชร์ความคิดของเรา สิ่งนี้อาจทำให้พวกเขาเห็นว่าเราให้ความสำคัญกับพวกเขา แทนที่จะพยายามหาทางตัดตอนบทสนทนา ที่สำคัญมันอาจส่งผลต่อการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีในภายหลังก็ได้

อย่ากลัวที่จะกล้าแสดงออกและบังคับใช้ขอบเขต

อย่างที่กล่าวไปว่า หลายครั้งเป็นเรื่องยากที่จะบอกให้นักพูดไปเรื่อยรู้ว่าพวกเขาใช้เวลามากเกินไปแล้ว แต่อย่าลืมว่า เรามีสิทธิ์ที่จะปกป้องลิมิตของตนเอง และการกล้าบอกไม่ได้แปลว่าเรากำลังหยาบคาย หากรู้สึกว่าเรื่องราวชัก ‘ไหล’ ไปเรื่อยแล้ว จงกล้าที่จะขัดจังหวะโดยการพูดว่า “หมดเวลาแล้ว… เธอคงต้องไป แต่สิ่งที่เหลือในใจ… ยังอยู่” สิ่งนี้จะทำให้พวกเขาที่กำลังไหลไปเพราะธรรมชาติของตัวเองได้รับรู้ว่า ถึงเวลาที่ต้องหยุดแล้ว

ต้องหาเวลาผ่อนคลายให้ตัวเองบ้าง

หากนักพูดไปเรื่อยในชีวิตของเรา คือ บุคคลที่แวดล้อมใกล้ชิดที่ต้องพบเจอเป็นประจำ เช่น เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมโรงเรียน หรือเพื่อนบ้าน เราอาจต้องใช้พลังงานมากขึ้นจากการหลีกเลี่ยงบทสนทนาไม่ได้ การพยายามมองหาพื้นที่ส่วนตัวเพื่อทำบางสิ่งที่ผ่อนคลายเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เช่น นั่งสมาธิ เดินเล่น ใช้เวลากับงานอดิเรกที่ทำให้มีความสุข หรือใช้เวลากับเพื่อนคนอื่นๆ

รับรู้เจตนาที่แท้จริง

แม้จะเป็นเรื่องที่เหนื่อยหน่ายในการรับมือ แต่จำไว้ว่านักพูดไปเรื่อยอาจไม่ได้มีเจตนาสร้างความรำคาญให้แก่เรา พวกเขาเพียงแค่ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและเอนจอยกับการแบ่งปันประสบการณ์หรือมุมมองของตนเอง เป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจเหงาหรือขาดความตระหนักรู้ทางสังคมเพียงเท่านั้น ที่สำคัญ พวกเขาอาจมองเราเป็นคนที่สบายใจจะพูดคุยด้วยจริงๆ ก็ได้

แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่กินพลังงานและเวลาไม่ใช่น้อย หากต้องคอยรับมือกับนักพูดไปเรื่อย แต่ไม่ว่าจะเหนื่อยหน่ายแค่ไหนก็ตาม การปฏิบัติต่อพวกเขาแบบ ‘ใจเขาใจเรา’ เป็นเรื่องสำคัญ เผลอๆ บางครั้งนักพูดไปเรื่อยเหล่านี้ก็มีเรื่องฮาๆ ที่ทำให้เราคลายเครียดได้เหมือนกัน

แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะมั่นคงกับขอบเขตของเราเองด้วย

AUTHOR