SoFun Club เสียงเฮฮา น้ำตา และมิตรภาพ กับร้าน ‘เกมแนวสคริปต์’ แห่งแรกของไทย

บรรยากาศหน้าร้าน SoFun Club

ในวันที่มีฝนตกปรอยๆ ผมและเพื่อนๆ มายืนอยู่หน้าตึกสีแดงแห่งหนึ่งในย่าน RCA โดยที่หารู้ไม่ว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า พวกเราจะกลายเป็นมิจฉาชีพกัน…

แต่พวกเราไม่ได้จะมาเป็นมิจฉาชีพจริงๆ หรอกครับ ขอให้สบายใจได้ ที่จริงแล้วเรามาเล่นเกมแนวสคริปต์ที่ให้จำลองบทเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ชื่อเกมว่า ‘สายเรียกเข้า’ ที่ร้าน SoFun Club ต่างหาก

SoFun Club ตั้งอยู่ในย่าน RCA มีสีแดงโดดเด่น เป็นร้านเกมแห่งแรกในไทยที่ให้บริการเกมแนวสคริปต์ (aka ‘Script Murder’) ซึ่งเป็น ‘เกมเทเบิลท็อป’ (เกมจำพวกที่เล่นบนโต๊ะ) ที่ให้ผู้เล่นจำลองสวมบทบาทเล่นตามตัวละครที่ได้รับและทำการสืบสวนคดีในเรื่อง ซึ่งแต่ละเกมก็จะมีกิมมิกและวิธีเล่นที่แตกต่างกันไปตามเนื้อเรื่อง

โดยสิ่งที่ดึงดูดพวกเราให้มาที่ร้านนี้ก็คือ คลิปไวรัลที่ผู้คนมากหน้าหลายตามาเล่นเกมที่ร้านนี้แล้วต่างร้องไห้ไปตามๆ กัน พวกเราจึงเกิดความสงสัยว่าทำไมคนที่ไปต่างปล่อยน้ำตากันออกมาขนาดนั้น 

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เราสืบเสาะถึงที่ตั้งของสถานที่ดังกล่าว และนั่งพูดคุยกับ อาร์ม-เจตนิพัทธ์ พัฒนพีระกุล Brand Director ของทางร้าน และ ชิบะ-ณัฐศิษฏ์ ชูอำนาจ หนึ่งในผู้ดำเนินเกม หรือที่เราเรียกว่า DM (Dungeon Master) ของ SoFun Club เพื่อขุดคุ้ยเบื้องหลังของเสียงหัวเราะและหยาดน้ำตาในร้านเกมแนวสคริปต์นี้

เกม ‘สายเรียกเข้า’ ที่ให้ผู้เล่นรับบทเป็นมิจฉาชีพ

บทที่ 1: ประกอบร่างสร้าง SoFun Club

SoFun Club เริ่มมาจากเกมแนวสคริปต์ หรือ Script Murder ซึ่งเป็นเกมที่มีต้นกำเนิดมาจากทางยุโรปและสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นจึงได้เข้ามาในประเทศจีนและกลายเป็นกระแสโด่งดังขึ้นมา โดยทาง SoFun Club เล็งเห็นโอกาสจึงนำ Script Murder เข้ามาในไทย โดยเกมในร้านก็มีตั้งแต่แนวแฟนตาซี แนวสยองขวัญ แนวระทึกขวัญ และแนวสืบสวน 

นอกจากนี้ Script Murder ยังถือว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับคนไทย ถึงแม้ในไทยจะมีเกมอย่าง Dungeons & Dragons ที่ให้สวมบทเป็นอาชีพต่างๆ แต่เกมที่ต้องสวมบทบาทเป็นตัวละครนั้นๆ เลยในไทยยังไม่ค่อยมี

“เชื่อว่าตอนเด็กๆ เวลาเราอ่านการ์ตูนหรือนิยาย เราก็อยากสวมบทเป็นตัวละครต่างๆ กันทั้งนั้น พอมีเกมแนวนี้ขึ้นมา เราก็อยากสวมบทเป็นตัวละครต่างๆ บ้าง” ชิบะกล่าว

อาร์ม-เจตนิพัทธ์ พัฒนพีระกุล (ซ้าย) และชิบะ-ณัฐศิษฏ์ ชูอำนาจ (ขวา)

วิธีคัดเลือกเกมหลักๆ ของ SoFun Club คือ

1. เกมต้องมีเนื้อเรื่องที่ดีและแปลกใหม่ อย่างแนวแฟนตาซีต้องล้ำไปเลย หรือแนวสืบสวนก็อาจอิงมาจากเรื่องจริง เป็นต้น 

2. กลไกการเล่นของเกมที่โดดเด่น ซึ่งวิธีการเล่นของแต่ละตัวละครต้องต่างออกไป เช่น บางคนต้องทำแอ็กชันบางอย่างเพื่อให้ได้ของบางอย่าง 

พอเลือกเกมได้แล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการแปลเกมเพื่อมา Localized (การแปลพร้อมปรับเนื้อหาของตัวต้นฉบับให้เข้ากับสังคมผู้รับสาร) ให้เข้าบริบทสังคมไทย ซึ่งการ Localized เกมต้นฉบับภาษาจีนมาไทย หลักๆ จะเป็นการเปลี่ยนชื่อตัวละครหรือชื่อสถานที่ให้มีความเป็นไทย และอาจมีการปรับทัศนคติบางอย่างให้เหมาะกับสังคมไทยมากขึ้น ในจุดนี้ถ้าเกมนั้นๆ มีเนื้อหาประวัติศาสตร์หรือสังคมที่คนไทยอาจไม่เข้าใจและยากต่อการ Localized ก็อาจต้องทิ้งเกมนั้นไป

เมื่อแปลแล้วจะเป็นการเทสต์เกมเพื่อนทดสอบว่าเล่นแล้วสนุกหรือไม่ ซึ่งถ้าเทสต์แล้วเกมไม่สนุกก็อาจเสียการแปลไป หรือไม่ถ้าเกมยังพอใช้ได้ก็อาจนำมา Localized ใหม่ให้ดีขึ้น โดยเกมบางเกมอย่าง ‘บทกวีอำลา’ ที่คนคาดหวังมาก ก็อาจใช้เวลาถึงสี่ห้าเดือนในการทำเกมให้สมบูรณ์

บรรยากาศภายในร้าน SoFun Club

SoFun Club มีทีมงานแบ่งเป็นสองพาร์ตหลักๆ คือ พาร์ตหน้าบ้านและพาร์ตหลังบ้าน พาร์ตหน้าบ้านจะเป็น DM ที่รับลูกค้า ในขณะที่พาร์ตหลังบ้านจะมีหน้าที่ทำคอนเทนต์ ทำสคริปต์ และคุยกับลูกค้าในช่องทางออนไลน์

โดยพาร์ตที่ยากที่สุดในการจัดการร้าน SoFun Club ตามความเห็นของชิบะก็คือพาร์ตของงานบัญชี ด้วยค่าใช้จ่ายเบื้องหลังที่ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่า หรือค่าทำเกมที่รวมไปถึงการแปล การทำกล่อง ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นส่วนที่ลูกค้าไม่เห็น ทางร้านจึงพยายามหาจุดกึ่งกลางที่ผู้เล่นรับได้และทางร้านไม่เจ็บหนักเกินไป

ถึงแม้การทำร้าน SoFun Club จะมีอุปสรรคและความท้าทายสูง แต่คุณชิบะก็บอกว่าสิ่งที่ทำให้ยังคงทำต่อคือความสนุกและแพสชัน

“ความสุขล้วนๆ แพสชันล้วนๆ เพราะเราสนุกกับมันจริงๆ ผมเชื่อว่าทุกคนที่อยู่ตรงนี้นี่เหนื่อยนะ เบื้องหลังเราเหนื่อยมากๆ แต่เวลาผู้เล่นเขาเล่นเสร็จแล้วมาบอกกับเราว่า ‘เฮ้ยคุณ โคตรสนุกเลยว่ะ อยากซ้ำต่อ’ มันดีใจ ตรงนี้มันเป็นแรงดันให้เราทำต่อ ว่าผู้เล่นเขาชอบ แล้วเราก็อยากที่จะทำให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ”

บทที่ 2: สืบสาว(เล่า)เรื่อง

หลังจากชิบะปิดท้ายด้วยคำพูดที่ใครได้ยินก็ต้องบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘โคตรหล่อ’ พวกเราก็พบว่า เราได้ขุดคุ้ยความเป็นมาของ SoFun Club ได้ระดับหนึ่งแล้ว จึงเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะเรียนรู้กระบวนการในการเล่นเกมของร้านต่อ โดยเริ่มจากบทบาทที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือ DM หรือ Dungeon Master

บรรยากาศการเล่นเกม ‘สายเรียกเข้า’ โดยมี DM (บุคคลตรงกลาง) เป็นผู้ดำเนินเกม

DM มีหน้าที่ดำเนินเกม ซึ่ง DM ก็สวมบทบาทเป็นหนึ่งในตัวละครเหมือนกัน โดยคนที่จะเป็น DM ได้ ต้องมีคุณสมบัติรอบด้าน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความกล้าแสดงออก นอกจากนั้น DM ต้องสามารถอธิบายเกมให้ผู้เล่นเข้าใจได้ง่าย ต้องมีความเป็นผู้นำสามารถควบคุมผู้เล่นได้ และต้องมีทักษะด้านการแสดงอีกด้วย 

หากเกมยากเกินไปหรือผู้เล่นไม่สามารถไปต่อได้ DM จะคอยไกด์ผู้เล่นให้ไปตามเนื้อเรื่องที่วางไว้ ดังนั้นจึงไม่เคยมีกรณีที่ผู้เล่นไม่สามารถจบเกมได้เพราะปัจจัยภายในเกม อย่างไรก็ตามชิบะได้กล่าวว่า ในกรณีที่เกมต้องตัดจบจริงๆ จะมาจากปัจจัยภายนอกมากกว่า อย่างผู้เล่นเล่นเกมสยองขวัญแล้วกลัวมากทำให้ไม่สามารถไปต่อได้ หรือเกมดราม่าที่ต้องอ่านเยอะแต่ผู้เล่นอ่านไม่เก่งทำให้ไม่สามารถตีความตัวละครได้ โดย DM จะพยายามหาทางออกที่เหมาะสมที่สุด และหากผู้เล่นไม่ไหวจริงๆ ถึงตัดจบ

ห้องสำหรับการเล่น Script Murder ในธีมต่างๆ

ในส่วนของตัวเกม Script Murder นั้น หากใครต่ำกว่าอายุ 16 และกำลังอ่านบทความนี้อยู่ ต้องขอเบรกไว้ก่อน (แต่อ่านต่อไปได้นะครับ อย่าเพิ่งปิดหนี) เพราะผู้ที่จะมาเล่น Script Murder ได้ต้องมีอายุขั้นต่ำ 16 ปี เนื่องจาก Script Murder มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรม ซึ่งบางช่วงอาจมีความรุนแรง แม้ผู้เล่นอาจมีวุฒิภาวะที่มากพอ แต่ทางร้านก็อยากป้องกันไว้ก่อน นอกจากนี้ยังมีเรื่องค่าใช้จ่ายที่อาจไม่เหมาะสมกับเด็กเท่าไหร่

พูดถึงเรื่องค่าใช้จ่าย ทาง SoFun Club ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า การตั้งราคาของแต่ละเกมนั้นขึ้นอยู่กับความยากของเกม เกมง่ายที่เหมาะกับผู้เล่นใหม่ราคาก็จะต่ำลงมา เกมที่มีความยากปานกลางราคาก็จะมากขึ้น ส่วนเกมที่ใช้เวลาเล่นเยอะ อ่านเยอะ มีการสวมบทเป็นตัวละครมากขึ้น ราคาก็จะขยับขึ้นไปอีก

ส่วนผู้ที่สนใจเล่น Script Murder และมีอายุขั้นต่ำถึงเกณฑ์ ทางร้านก็เปิดให้จองคิวเล่นเกมและตรวจเช็กตารางว่างได้ทางเว็บไซต์ https://www.sofunclub.co อย่างไรก็ตามทางร้านขอไม่รับ Walk-in เนื่องจากจะไม่สามารถจัดหา DM ให้ได้ 

ในหนึ่งวัน SoFun Club สามารถจัดรอบเกมได้เต็มที่ประมาณ 12 โต๊ะ โดยทางร้านมี 6 ห้องเล่นเกม แบ่งเป็น 2 ช่วงคือหลังบ่ายโมงและหลังหนึ่งทุ่ม แต่บางเกมอาจมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น เกมที่ยาวหน่อยอย่าง ‘บทกวีอำลา’ ก็อาจจะกินเวลาทั้งวัน ทำให้ไม่สามารถเปิดสองรอบได้ และด้วยความฮิตของเกม ทำให้ในบางครั้งก็มีการจองกันข้ามเดือนกันเลยทีเดียว 

“ต้องเข้าใจว่าคอนดิชันเกมเราเยอะหน่อย ไม่ว่าจะเรื่องผู้เล่นต้องครบ เรื่องระยะเวลาเอย เรื่องจำนวนห้องเอย แต่เราก็พยายามดูแลผู้เล่นให้ได้เล่นอย่างเท่าเทียม” ชิบะเสริม 

ห้องสำหรับการเล่น Script Murder ในธีมยุโรป

นอกจากนี้ทางร้านยังแนะนำเกมมา 2 เกม ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 พาร์ต คือ

1) พาร์ตเกมดราม่า กับเกม ‘บทกวีอำลา’ (aka ‘ด้ายแดง’) ที่ชิบะบอกว่า อยากให้เล่นให้ได้เพราะเกมดีมาก แต่อาจไม่เหมาะกับมือใหม่เพราะมีจำนวนหน้าเยอะ ผู้เล่นใหม่จึงอาจเริ่มจากเกมง่ายๆ ก่อน แล้วค่อยพัฒนามาเป็นเกมนี้ 

2) พาร์ตเกมสืบสวน กับเกม ‘นักโทษเจ็ดวัน’ ที่ชิบะบอกว่าชอบมาก เป็นเกมที่เล่นแล้วว้าวมากทั้งในเรื่องคดีหรือตัวเนื้อเรื่อง จึงอยากให้ทุกคนได้สัมผัสเกมนี้

บทที่ 3: ตกตะกอนหลังการเล่น

หลังจากขุดคุ้ยเบื้องหลังกระบวนการดำเนินการเกมกันไปแล้ว ในพาร์ตนี้เราจะมาพูดถึงความรู้สึกและสิ่งที่ได้จากการเล่นเกมแนวสคริปต์ ไม่ว่าจะทั้งในมุมมองของผู้เล่นหรือมุมมองของทาง SoFun Club เองก็ตาม

แน่นอนว่าหลังเล่นเกมจบไปแล้ว ลูกค้าหลายคนก็กลับมาเล่นซ้ำอีก พวกเราจึงเกิดความสงสัยว่าอะไรใน Script Murder ที่ทำให้ผู้คนต่างติดใจพากันกลับมาเล่นตลอด ซึ่งชิบะตอบว่า เป็นเพราะเนื้อเรื่องของตัวเกมที่หลากหลาย และระดับความยากที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ผู้เล่นที่เข้าใจคอนเซ็ปต์และเนื้อหาของเกม ก็จะอินกับเกมมากขึ้นและอยากกลับมาเล่นเกมที่ยากขึ้น เหมือนเป็นการท้าทายตัวเองไปเรื่อยๆ

ผมถามคุณชิบะว่าสิ่งที่อยากให้คนมาเล่นได้กลับไปคืออะไร คุณชิบะตอบทันทีแทบไม่ต้องคิดว่า ประสบการณ์และการได้หาเพื่อนใหม่ 

“หลายๆ ครั้งมีผู้เล่นหลายๆ คนที่อายุ 30 เกือบ 40 ที่อยู่ที่ทำงานไม่มีเพื่อน แต่เขาถือว่าที่นี่เป็นบ้านของเขา ร้านเราเหมือนเป็นคอมมูนิตี้แห่งหนึ่ง มีคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน อยากทำอะไรเหมือนกัน มารวมกันที่นี่” ชิบะเสริม

ห้องสำหรับการเล่นเกม ‘สายเรียกเข้า’

ซึ่งจุดนี้อาร์มและชิบะบอกว่าเป็นความประทับใจในการทำร้าน SoFun Club เพราะลูกค้าบางคนได้เจอเพื่อนที่ร้านนี้ที่สนิทกว่าเพื่อนที่ทำงานเสียอีก หรือบางครั้งลูกค้ามาเล่นเกมแล้วกลับไปคิดต่อว่าถ้าเป็นตัวละครนั้นจริงๆ ชีวิตจะเป็นแบบไหน นอกจากนี้ลูกค้าบางคนยังบอกว่าการเล่นเกม Script Murder ที่ชีวิตตัวละครตรงกับชีวิตเขา ก็ทำให้เขาได้ระบายความในใจออกมา และทำให้เข้าใจมุมมองคนอื่นมากขึ้น

ชิบะเสริมว่าสิ่งที่สนุกในการทำ SoFun Club นอกจากความสนุกของเนื้อหาเกมแล้ว หลักๆ คือการได้เจอผู้คนที่หลากหลาย ผู้คนที่ชอบอะไรคล้ายกันและมีประเด็นมาคุยกัน หรือเวลาที่ลูกค้าเล่นเกมแล้วประทับใจ อยากกลับมาซ้ำ อยากลองเกมแนวอื่นๆ

การทำ SoFun Club ได้เปลี่ยนมุมมองต่อคนของทั้งสองอย่างชัดเจน ทำให้พวกเขาได้เห็นความจริงมากขึ้น ได้รู้จักมนุษย์คนอื่นเยอะขึ้น รู้สึกเข้าใจโลก เข้าใจมนุษย์ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์มากขึ้น 

“จริงๆ เรารู้สึกอยากเป็นเพื่อนกับทุกคนที่ไม่รู้จัก อยากให้ที่นี่เป็นแหล่งพักพิงของพวกเขา เพราะที่เราได้ฟังจากเพื่อนหลายๆ คน เขารู้สึกว่าบางทีที่ทำงานหรือที่บ้านเขาไม่ได้แฮปปี้ แต่เขามาอยู่ที่นี่รู้สึกว่าที่นี่เหมือนกันบ้านเขาจริงๆ มีคนที่รู้จักเขา มีคนที่เขาอยากแบ่งปันอะไรหลายๆ อย่างให้ ก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นงานที่เราได้ประสบการณ์หลายๆ อย่างที่น่าจะหาได้ยาก”

บทที่ 4: อนาคตของ SoFun Club และวงการเกมเทเบิลท็อป

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา ปาร์ตี้ Script Murder ก็เช่นกัน พวกเราได้สอบถามเพิ่มเติมถึงกรณีที่ถ้าลูกค้ามาเล่นเกมในร้านจนหมดแล้ว ทาง SoFun Club จะมีแผนการรับมืออย่างไร ซึ่งทางร้านก็บอกว่า พยายามจะจัดตารางให้มีการนำเกมใหม่เข้ามาทุกๆ เดือน แต่ด้วยงานหลังบ้านที่ค่อนข้างหนัก อาจจะทำให้มีล่าช้าไปบ้าง 

นอกจากนี้ ทางร้านยังมีแผนพัฒนา Script Murder ที่เป็นของคนไทยโดยเฉพาะ โดยให้ข้อมูลไว้ว่า ลูกค้าที่มาเล่นหลายๆ ท่านมีอาชีพเป็นนักเขียนหรืออยู่แวดวงใกล้เคียง ซึ่งสนใจอยากทำสคริปต์ของตัวเอง โดยทางร้านจะนำตัวสคริปต์มาทดลองเล่นกันก่อน ถ้าออกมาดีทางร้านก็อยากสร้าง Script murder ที่เป็นของคนไทยจริงๆ โดยชิบะให้ความเห็นว่า การที่มีสคริปต์ที่เป็นของคนไทยจริงๆ มีเนื้อหาเกี่ยวกับคนไทยมากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มความอินในตัวเกมไปอีกระดับ

มาถึงคำถามสุดท้ายที่ท้ายที่สุดของการสัมภาษณ์ในวันนี้ เราเลือกปิดการสัมภาษณ์ด้วยความเห็นของทาง SoFun Club ต่ออุตสาหกรรมของวงการเทเบิลท็อปในไทยตอนนี้

ชิบะกล่าวว่า แม้ตอนนี้วงการเทเบิลท็อปในไทยจะเริ่มเติบโต แต่โดยรวมยังเป็นตลาดที่ Niche อยู่ เพราะยังมีเกมเทเบิลท็อปอีกหลายประเภทที่คนไทยไม่เคยสัมผัส โดยชิบะได้ให้เหตุผลที่วงการเทเบิลท็อปยังไม่เติบโตในไทยเป็นเพราะ ผู้เล่นใหม่ยังไม่กล้าที่จะก้าวเข้ามาเล่น เพราะอาจจะรู้สึกว่าขอแทรกซึมเข้าไปในกลุ่มได้ยาก แต่ที่จริง ผู้เล่นที่อยู่ในวงการก็พร้อมจะต้อนรับผู้เล่นใหม่ๆ อยู่แล้ว สามารถเข้าไปเล่นได้เลย

บรรยากาศภายในร้าน SoFun Club

“ผมเชื่อว่าทุกคนในห้องนี้น่าจะรู้จักบอร์ดเกมล่ามนุษย์หมาป่าที่ชื่อว่า แวร์วูฟ ซึ่งมันเป็นเกมที่เล่นง่ายและทุกคนรู้จักกันดี แต่มันมีเกมอีกมากมายที่ดีกว่าและเจ๋งกว่านั้นเยอะแยะมากๆ และเราเชื่อว่าเกมเทเบิลท็อปเหล่านี้จะทำให้รู้จักผู้คนมากขึ้น” ชิบะพูดต่อก่อนจะปิดท้ายว่า

“ผมยังคิดว่าอนาคตวงการเทเบิลท็อปอาจจะแมสกว่านี้ คิดว่ามันจะพัฒนาต่อไปได้ ผมเชื่อว่าตอนนี้คนอาจจะเริ่มเบื่อกับการอยู่หน้าจอคอมและอยากจะมาหากิจกรรมทำ ‘เทเบิลท็อป’ ก็อาจจะเป็นหนึ่งในกิจกรรมนั้นที่เขาอยากลองก็ได้” 

หลังการสัมภาษณ์จบ พร้อมกับการตอบคำถามอย่างเต็มแพสชันของอาร์มและชิบะ พวกเราก็เนื้อเต้นแทบรอไปสัมผัสกับเกมสคริปต์ของจริงไม่ไหวแล้ว จึงทำการขอบคุณพร้อมกล่าวลาทั้งสองคน และยกขบวนกันไปสู่ชั้นบนเพื่อเล่นเกม ‘สายเรียกเข้า’ 

หลังจากผ่านไปกว่า 5 ชั่วโมง เกมก็จบลง อารมณ์และความรู้สึกของพวกเราพรั่งพรูออกมาอย่างมากมาย บางคนรู้สึกตราตรึงกับ DM ที่อินกับบทจนพวกเราคล้อยตาม บางคนประทับใจในการตกแต่งห้องและของประกอบฉากอันจัดเต็มที่สร้างบรรยากาศให้กับการเล่น บางคนตื่นตาตื่นใจกับความคิดสร้างสรรค์ของระบบการเล่นและการเล่าเรื่องอย่างชาญฉลาดของตัวเกม บางคนได้เห็นตัวเองสะท้อนในตัวละครและได้เรียนรู้ไปพร้อมกับตัวละครที่สวมบทบาท แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าเกม Script Murder นั้นเป็นประสบการณ์การเล่นเกมเทเบิลท็อปที่ดีที่สุดที่เคยเจอมา

พวกเรากล่าวลาทุกคนที่ร้าน SoFun Club และออกมาจากร้าน ข้างนอกเป็นเวลาหกโมงกว่าๆ ร่องรอยฝนจางหายไปแล้ว ทิ้งไว้เพียงท้องฟ้าเปิดที่สาดแสงยามเย็นแผดจ้าไปทั่วย่าน RCA สมองพวกเรายังประมวลผลถึงประสบการณ์การเล่นเกมสคริปต์ครั้งแรกนี้ ด้วยการเล่าเรื่องอันแปลกใหม่ของเกมแนวสคริปต์ที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ไม่ว่าจะหนังหรือนิยาย ที่ออกมาสนุกเกินที่คาด ว้าวเกินที่คิด และถ้าคิดว่าสิ่งที่ผมพูดมานั้นดูเกินจริง ก็อยากชวนให้ทุกคนมาสัมผัสด้วยตัวเอง กับประสบการณ์เกม Script Murder ที่อบอวลไปด้วยเสียงหัวเราะ เคล้าไปด้วยหยดน้ำตา และเต็มไปด้วยมิตรภาพ ในร้านสีแดงย่าน RCA นาม ‘SoFun Club’ แห่งนี้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐนิชา หมั่นหาดี

บอกกับตัวเอง รักงานให้เหมือนกับที่รักเธอ

ชัชชัญญา หาญอุดมลาภ

ช่างภาพสายกิน ที่ถ่ายรูปได้นิดหน่อย แต่กินได้เยอะมาก