วิ่งเพื่อเอาชนะร่างกายหลังโดนระเบิด

ผมถูกคุณแม่สอนมาตั้งแต่เด็กว่า การวิ่งนั้นเป็นพื้นฐานของกีฬาทุกประเภท ซึ่งก็จริงตามนั้น ใครที่วิ่งได้เร็วหรือวิ่งได้ไกลก็มักจะเล่นกีฬาชนิดอื่นดีไปด้วย เพราะการวิ่งนั้นเสริมสร้างทั้งกล้ามเนื้อ และระบบการหายใจ

การวิ่งเปลี่ยนชีวิตผมครั้งแรกเมื่อปี 2540 คือเปลี่ยนเด็กชายธรรมดาให้เป็นนักกีฬา เมื่อครั้งเรียนมัธยมที่โรงเรียนนครนายกวิทยาคม ได้ซ้อมวิ่ง เป็นตัวแทนของโรงเรียนลงแข่งขันกรีฑาระหว่างโรงเรียน ต่อมาก็ได้เป็นนักกรีฑาตัวแทนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เข้าแข่งขันกีฬาโรงเรียนทหาร-ตำรวจ จนจบการศึกษา การเป็นนักกรีฑาสอนให้รู้จักอดทนในการซ้อม เก็บตัวเวลานานหลายสัปดาห์เพื่อลงแข่งวิ่งในเวลาแค่ไม่ถึง 1 นาทีด้วยซ้ำไป อีกทั้งสมรรถภาพร่างกายของผมยังดีกว่าเพื่อนๆ ในรุ่นเดียวกันอีกด้วย ทั้งหมดนี้ได้มาจากการวิ่งนั่นเอง

หลังจากจบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเมื่อปี 2548 ผมก็ไม่ได้ซ้อมวิ่งเพื่อแข่งขันแล้ว แต่การวิ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกทหารอยู่แล้ว มีการทดสอบสมรรถภาพร่างกายด้วยการวิ่ง และเดินทางไกลเป็นประจำ ทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่ตลอดเวลา

ปี 2551 ผมมีโอกาสได้ลงไปทำงานที่จังหวัดปัตตานี และ 2 ปีถัดมา ก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นกับผม ในวันที่ 23 กันยายน 2553 รถลาดตระเวนของผม พร้อมกำลังพลรวม 5 นายถูกลอบวางระเบิดจนทำให้ทุกนายได้รับบาดเจ็บ แต่ยังโชคดีที่ไม่มีใครเสียชีวิต

อาการของผมตอนนั้น หัวแตก กระดูกสันหลังแตก กระดูกซี่โครงร้าว ขาขวาหัก กระดูกเท้าขวาแตก เลือดออกในสมอง ปอด หัวใจ ต้องรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู นานถึง 2 สัปดาห์

ช่วง 2 เดือนแรกของการรักษาตัว หมอห้ามผมลุกขึ้นจากเตียง เนื่องจากต้องรอให้กระดูกสันหลังประสานกันดีเสียก่อน หากลุกขึ้นนั่งมีโอกาสเป็นอัมพาตได้ แผลที่ส้นเท้าก็อักเสบรุนแรง ต้องใช้เครื่องดูดหนองออกตลอดเวลา ตอนนั้นไม่มีใครบอกได้เลยว่าผมจะกลับมาเดินได้อีกครั้งไหม แต่ผมไม่เคยหมดหวัง ด้วยกำลังใจจากครอบครัวและเพื่อนๆที่มาเยี่ยม ดูแลตลอดเวลา

ผ่านไป 2 เดือน กับการเข้า-ออกห้องผ่าตัดไม่รู้กี่ครั้ง และก็มีข่าวดีคือกระดูกสันหลังและกระดูกซี่โครงที่แตกประสานกันดีแล้ว ส่วนแผลที่ส้นเท้าที่อักเสบก็ไม่มีหนองแล้ว หมออนุญาตให้ลุกขึ้นนั่งวีลแชร์ได้ ผมรู้สึกดีและมีความหวังขึ้นมาก

เวลารักษาตัวผ่านไปเรื่อยๆ กระดูกทุกชิ้นที่แตกก็แข็งแรงขึ้น สิ่งแปลกปลอมที่ถูกผ่าตัดเข้าไปในร่างกายของผมคือ เหล็กในขาขวาและเท้าซ้าย

ขั้นตอนต่อมาคือการกายภาพบำบัด เริ่มจากหัดเดินด้วยไม้เท้า 2 ข้าง ต่อมาก็เหลือไม้เท้าข้างเดียว สุดท้ายก็หัดเดินโดยไม่ต้องใช้ไม้เท้า ออกกำลังกายด้วยจักรยานในร่ม และว่ายน้ำ

16 เดือน หลังจากโดนระเบิด หมอบอกผมว่า “ร่างกายคุณแข็งแรงอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งจิตใจก็เข้มแข็ง ปฏิบัติตามคำสั่งของหมออย่างเคร่งครัด ครั้งแรกผมประเมินว่ากว่าคุณจะเดินได้ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี แต่คุณใช้เวลาเพียงปีกว่าๆ เท่านั้นเอง ผมอนุญาตให้คุณกลับไปพักฟื้นและทำงานได้”

ผมดีใจที่สุดครับ เชื่อว่าเป็นเพราะพื้นฐานการเป็นนักวิ่งทำให้ร่างกายแข็งแรง ฟื้นตัวได้รวดเร็ว สัปดาห์ต่อมาผมกลับบ้านที่ขอนแก่น และไปทำงานได้อีกครั้งในเดือนมีนาคม 2555 แต่สิ่งที่ผมยังต้องระวังคือการวิ่งและกระโดด หมอบอกว่าให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรงก่อนจึงจะกลับมาวิ่งได้อีกครั้ง อาจต้องใช้เวลาหลายปี การเดินของผมจะกะเผลกๆ ตลอดเวลา เนื่องจากข้อเท้าขวามันผิดรูปไปแล้ว ผมต้องควบคุมน้ำหนักตัว ถ้าหนักเกินไปจะลงน้ำหนักเดินไม่ได้ ต้องออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานและว่ายน้ำเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เสริมสร้างมวลกระดูก

ปี 2556 ผมได้รู้จักกับชมรมจักรยานบึงทุ่งสร้าง และทีมไตรกีฬา Snail ขอนแก่น ผมรู้สึกอยากไปร่วมแข่งขันกับพวกเขามากเพราะเป็นกีฬาที่ท้าทาย แข่งกับตัวเอง ไม่ต้องกระทบกระทั่งกับใคร ผมว่ายน้ำได้ไกลขึ้น ปั่นจักรยานได้เร็วขึ้น ขาดเพียงอย่างเดียวคือการวิ่ง ผมทดลองวิ่งดูเพียงกิโลเดียว ก็รู้สึกปวดข้อเท้ามาก และเจ็บบริเวณเหล็กในขาขวา รู้เลยว่าร่างกายยังไม่พร้อม อย่าฝืนวิ่งเลย

แต่ทำยังไงล่ะ ก็มันอยากลงแข่งนี่นา ผมตัดสินใจสมัครลงแข่งขันประเภททีม ทีมอื่นมี 3 คน แต่ทีมผมยอมเสียเปรียบเทียบมีเพียง 2 คน ผมว่ายน้ำ 1,500 เมตร แล้วขึ้นมาปั่นจักรยานต่ออีก 40 กิโลเมตร ก่อนจะแตะมือกับรุ่นน้องนักวิ่งระยะไกล ทีมกรีฑาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ผลการแข่งขันวันนั้นทีมผมได้อันดับที่ 6 จาก 14 ทีมที่สมัครเข้าแข่งขัน ทำสำเร็จไป 1 ก้าวแล้ว ไตรกีฬาแรกของผม หัวหินไตรกีฬา ปี 2556

หลังจากนั้นมา ผมก็พักฟื้นร่างกาย และด้วยภาระงานที่เยอะขึ้น ผมก็ออกกำลังกายน้อยลง จนกระทั่งต้นปี 2560 น้ำหนักตัวที่ขึ้นไปถึง 95 กิโลกรัม แต่คิดว่ากระดูกและกล้ามเนื้อน่าจะแข็งแรงพอก็รู้สึกว่าอยากกลับมาวิ่งอีกครั้งเพราะไม่อยากให้ใครมองว่าอ่อนแอ ทดสอบร่างกายท่าวิ่งไม่ได้ ทำเหมือนทหารคนอื่นไม่ได้ คติพจน์ใหม่ของผมเกิดขึ้นทันที “รู้ขีดจำกัดของตนเอง ไม่ฝืน แต่ไม่ยอมแพ้”

ก่อนจะเริ่มวิ่ง ภรรยาของผมบอกให้ผมไปปรึกษาหมอกระดูก เอ็กซเรย์ให้มั่นใจก่อน ผมก็ไปหาหมออีกครั้ง และหมอก็ออกใบรับรองแพทย์ให้ว่า “คุณสามารถวิ่งมินิมาราธอนได้” และนี่คือการเริ่มต้นวิ่งเปลี่ยนชีวิตครั้งที่สองของผมเอง

การลงสมัครวิ่งมินิมาราธอนรายการแรกคือ ขอนแก่นมาราธอน ปี 2560 ระยะมินิมาราธอน ภรรยาของผมขอวิ่งไปกับผมด้วยในทุกรายการที่ผมลงวิ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่าหากผมวิ่งต่อไม่ไหวหรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับผม เธอจะได้ช่วยเหลือผมได้ทันเวลา และรายการนั้นเราวิ่งเข้าเส้นชัยไปพร้อมกัน ผมทำได้ เริ่มสนุกแล้วสิ ผมเริ่มตั้งเป้าหมายอีกครั้ง “ปีนี้ ผมต้องจบการแข่งขันไตรกีฬา ระยะโอลิมปิกให้ได้”

ผมเริ่มซ้อมวิ่ง ว่ายน้ำ และปั่นจักรยานอีกครั้ง ผลจากการออกกำลังกายทำให้น้ำหนักตัวลดลง การเดินคล่องแคล่วขึ้น ขากะเผลกน้อยลง บุคลิกภาพดีขึ้น ไม่ใช่แค่นั้น เมื่อภรรยา น้องสาว และแม่ของผม เห็นผมวิ่งก็เริ่มออกมาวิ่งด้วย กลายเป็นครอบครัวนักวิ่งไปแล้ว เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ผมรู้จัก ผมก็จะชักชวนให้เขามาวิ่ง มาออกกำลังกายด้วย เป็นสิ่งดีๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ตัวผมเอง แต่ดีกับคนรอบข้างด้วย

กลางปี 2560 ผมลงแข่งไตรกีฬาระยะ sprint ประเภทเดี่ยวครั้งแรก ในรายการไตรกีฬาเอราวัณ 2560 ว่ายน้ำ 750 เมตร ปั่นจักรยาน 20 กิโลเมตร และวิ่ง 5 กิโลเมตร เข้าเส้นชัยได้สำเร็จ

ปลายปี 2560 ผมลงแข่งไตรกีฬาร๊อคแมน ห้วยไม้เต็ง ประเภทเดี่ยว ระยะโอลิมปิก ว่ายน้ำ 1,500 เมตร ปั่นจักรยาน 40 กิโลเมตร และวิ่ง 10 กิโลเมตร เข้าเส้นชัยได้สำเร็จ

เมื่อผมทำเป้าหมายของปี 2560 ได้สำเร็จแล้ว ก็สนุกขึ้นเรื่อยๆ จึงตั้งเป้าหมายของตัวเองให้สูงขึ้นอีก นั่นคือ “ผมต้องเข้าเส้นชัยไตรกีฬาระยะ Half Ironman 70.3 miles ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต” นั่นคือ ว่ายน้ำ 1,900 เมตร ปั่นจักรยาน 90 กิโลเมตร และวิ่ง 21 กิโลเมตร

สิ่งที่ผมถูกสอนมาตลอดเวลาที่เป็นนายทหารนักเรียน โรงเรียนเสนาธิการทหารบก นั่นคือ “การวางแผน เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายอย่างปลอดภัย” ผมวางเป้าหมายระยะสั้นในปี 2561 คือต้องลดน้ำหนักตัวให้ต่ำกว่า 80 กิโลกรัมเพื่อให้วิ่งระยะ Half marathon 21 กิโลเมตรให้สำเร็จ มาร่วมวิ่งไปด้วยกันนะครับ

7 ปี ที่ผมวิ่งไม่ได้ การที่มองเห็นคนอื่นทำได้ในสิ่งที่ตัวเองเคยทำได้และไม่รู้ว่าตัวเองจะทำได้อีกไป เป็นช่วงเวลาที่ผมอึดอัดและทรมานมากนะ “วันไหนที่คุณวิ่งไม่ได้แล้ว คุณจะคิดถึงการวิ่ง อย่ารอให้ถึงวันนั้น เพราะคุณเองก็ไม่รู้หรอกว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อไร อาจจะเร็วกว่าที่คุณคิดก็ได้”