เราชอบเรียกตัวเองว่านักหลงทางอยู่บ่อยๆ นอกจากหลงทางตามความหมายตามตัวอักษรแล้ว ยังรวมไปถึงหลงทางในแง่ของการใช้ชีวิตด้วย นั่นเลยเป็นเหตุผลให้ลองเลือกหยิบหนังสือสักเล่มมาอ่าน เผื่อว่าพอจะมีคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้ของตัวเองได้บ้าง
Why Are You Here Cafe หรือเรียกย่อๆ ว่า The Why Cafe คาเฟ่สำหรับคนหลงทาง ของ จอห์น พี. สเตรเลกกี เป็นชื่อหนังสือที่เหมาะกับเราพอดี ในเล่มแรกมันถูกหยิบมาอ่านในช่วงเวลาที่ตั้งคำถามกับชีวิตว่าทุกวันนี้เราโอเคกับมันแล้วจริงไหม
เช่นเดียวกับตัวละคร จอห์น ผู้หลงทาง ซึ่งใช้ชีวิตทำงานไปวันๆ และบังเอิญได้ไปเจอกับคาเฟ่ลึกลับแห่งหนึ่ง หากเป็นคาเฟ่ปกติบนแผ่นเมนูคงเป็นสารพัดชื่อเครื่องดื่ม แต่สำหรับ The Why Cafe ไม่เพียงแต่เสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการเท่านั้น แต่ยังให้มากกว่าที่ผู้มาเยือนต้องการ ผ่านคำถาม 3 ข้อ
เหตุใดคุณจึงมาที่นี่
คุณกลัวตายไหม
คุณพึงพอใจกับชีวิตหรือยัง
คำถามเรียบง่ายแต่สำคัญที่เราไม่เคยหยุดและคิดถึงมันอย่างจริงจัง ทำให้ใครหลายคนได้รับแรงบันดาลใจและค้นพบเป้าหมายชีวิตจากการพูดคุยและถกถามของพ่อครัว สาวเสิร์ฟ และแขก ที่เกิดขึ้นที่คาเฟ่นี้ในเล่มที่แรก
จนมาถึงในเล่มที่ 2 Return to The Why Cafe เล่าเรื่องราวภาคต่อของจอห์นซึ่งค้นพบความต้องการของตัวเองและมีชีวิตที่เปลี่ยนไปนับตั้งแต่ออกจากคาเฟ่ เวลาผ่านไป 10 ปี วันหนึ่งขณะที่เขากำลังขี่จักรยานชมวิวไปรอบเกาะฮาวายอันสวยงาม คาเฟ่เล็กๆ แห่งเดิมก็โผล่ขึ้นตรงหน้าอีกครั้ง คราวนี้ต่างออกไปตรงที่เขาได้พบกับ เจสสิกา หญิงสาวที่กำลังหลงทางด้วย
ปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นมากมาย และชีวิตของใครหลายคนอาจเปลี่ยนไป เล่มนี้จึงเหมาะสำหรับใครที่อยากทบทวนเส้นทางของตัวเองอีกครั้งว่าอยู่ตรงไหนแล้ว และคุณค่าในตัวเรายังอยู่ดีเหมือนเดิมไหมไปพร้อมๆ กับบทสนทนาเรียบง่ายของเหล่าตัวละครที่คุ้นเคย
คำถาม 3 ข้อสำหรับนักหลงทาง
หลายครั้งที่เรารู้สึกเหมือนว่าต้องใช้ชีวิตไปวันๆ ตื่นแต่เช้า ออกไปทำงาน ทำงาน เดินทางกลับ นอนพัก เพื่อที่จะตื่นมาทำงานอีกครั้ง เราเคร่งเครียดไปกับการทำงานที่ลึกๆ แล้วอาจจะไม่ได้ชอบมันด้วยซ้ำ นานวันเข้าเราอาจลืมไปว่าทำสิ่งเหล่านี้ไปเพื่ออะไร และที่เราทำเป็นสิ่งที่ต้องการจริงๆ หรือเปล่า
ในหนังสือเราได้พบกับ เจสสิก้า หญิงสาวเวิร์กกิงวูเมน เธอมีรถยนต์หรูหรา การงานที่มั่นคง แต่เธอยังคงสับสนและหลงทางไม่ต่างจากจอห์นในอดีต จนกระทั่งได้มาเจอกับ The Why Cafe พร้อมกับคำถาม 3 ข้อที่ทำให้เธอกลับมาสำรวจตัวตนของตัวเองอีกครั้ง
เหตุใดคุณจึงมาที่นี่
คุณกำลังเล่นสนุกอยู่ในสนามเด็กเล่นของตัวเองหรือเปล่า
คุณมี บภล. หรือเปล่า
หากกำลังหลงทาง คำถาม เหตุใดคุณจึงมาที่นี่ ก็อาจทำให้เราได้มาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่าทางที่ตัวเองต้องการจะมุ่งหน้าไปจริงๆ คือที่ใด แล้วตอนนี้เป็นทางที่ถูกต้องแล้วหรือยัง เพราะบางครั้งเราอาจถูกเสียงต่างๆ รบกวนจนทำให้ลืมไปว่าทำไมเราจึงมาอยู่ตรงนี้ ไม่ต่างจากเจสสิกาที่เธอพบว่าชีวิตในตอนนี้ช่างไม่มีความสุข และจริงๆ แล้วชีวิตควรสนุกสนานและมีความหมายมากกว่านี้หรือเปล่า
คุณกำลังเล่นสนุกอยู่ในสนามเด็กเล่นของตัวเองหรือเปล่า คำถามที่ชวนย้อนกลับไปถามตัวเองว่าคุณกำลังสนุกกับสิ่งที่ทำอยู่ไหม ยิ่งอายุมากขึ้น ความรับผิดชอบก็มากขึ้นตาม แถมยังต้องฝืนใจทำแต่เรื่องที่ไม่ชอบ จนลืมไปแล้วว่าเราเคยชอบทำอะไร ต่างจากเด็กๆ ที่รู้ว่าตัวเองชอบสิ่งไหนก็มักจะทำสิ่งนั้นอยู่เรื่อยๆ ในวัยผู้ใหญ่จึงมักมีคำจำกัดขอบเขตของตัวเอง เช่น ทำไม่ได้ แก่เกินไป ไม่เก่งพอ หรือไม่ฉลาดพอ คำเหล่านี้กลายเป็นกำแพงที่ทำให้เราไม่กล้าเข้าไปเล่นในสนามเด็กเล่น หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึงสิ่งที่เราสนุกที่จะทำจนทำให้เราไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขได้
คุณมี บภล. หรือเปล่า หลายครั้งในชีวิตเราอาจยึดติดอยู่เพียงบทบาทเดียว จนอาจทำให้เรารู้สึกกดดันตัวเองมากเกินไป แต่ชีวิตมนุษย์มีหลากหลายด้าน ยอมรับความจริงว่าชีวิตมีหลายแง่มุม จะทำให้เราเป็นตัวเองอย่างแท้จริง และเปิดโอกาสให้เราได้ลองทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างมั่นใจมากขึ้น (ส่วนใครอยากรู้ บภล. หมายถึงอะไร ติดตามอ่านต่อได้ในเล่ม)
จักรวาลทำงานเหมือนจีพีเอส
ความน่าสนใจอีกอย่างของหนังสือเล่มนี้คือการเปรียบเทียบเส้นทางชีวิต เหมือนกับการทำงานของระบบนำทางในกูเกิลแมพ ที่ไม่ว่าจะผิดพลาดกี่ครั้ง เสียงของระบบนำทางจะบอกว่า “กำลังคำนวณเส้นทางใหม่” โดยไม่ตัดสิน เพื่อให้เราได้ไปถึงสถานที่ต้องการ อย่างที่ เคซีย์ สาวเสิร์ฟของคาเฟ่บอกกับเจสสิกาว่า
“คุณมาที่นี่เพื่อสิ่งสำคัญบางอย่าง ชีวิตคุณไม่ใช่ความผิดพลาด หรืออุบัติเหตุ หรือความบังเอิญแบบสุ่ม คุณมีเป้าหมาย ไม่อย่างนั้นคงไม่มาที่นี่ ถึงแม้บางครั้งคุณอาจรู้สึกเหมือนหลงทางอย่างสิ้นหวัง และหาทางออกไม่เจอ แต่คุณจะได้รับความช่วยเหลือเสมอ”
เราชอบประโยคนี้เป็นพิเศษ หลายครั้งที่เราไม่แน่ใจว่าเรากำลังมาถูกทางแล้วหรือเปล่า ขอเพียงเราแน่ใจว่ามีจุดหมายหรือเป้าหมายชีวิตอยู่ในใจ แม้ต้องเลี้ยวผิดกี่ครั้งจักรวาลก็จะนำทางเราไปถึงเป้าหมายได้อยู่ดี แม้ต้องเสียเวลาเลี้ยวผิดบ้างก็ไม่เป็นไร
หลักการทำงานของจักรวาลอีกอย่างคือหากเราให้เวลากับสิ่งใดมากๆ เราจะมีโอกาสได้ทำสิ่งนั้นมากขึ้น เช่นเดียวกัน แม้เราจะไม่ชอบชีวิตที่เป็นอยู่ตอนนี้ แต่ถ้าเราไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง เราก็จะยังคงได้ทำสิ่งนั้นอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นงาน การเรียน ความสัมพันธ์ หรือพฤติกรรมและความคิด ในทางกลับกันเรามีโอกาสได้ทำสิ่งที่ตัวเองต้องการได้หากเราเปลี่ยนไปให้เวลากับสิ่งเหล่านั้นให้มากขึ้น
หลักสูตรชีวิตจากการเล่นเซิร์ฟ
ในเล่มนอกจากจะเราจะได้อ่านบทสนทนาระหว่าง เจสสิกา หญิงสาวผู้หลงทาง, เคซีย์ สาวเสิร์ฟ และ ไมค์ พ่อครัวสามีของเคซีย์ ในเล่มสองเรายังได้บทเรียนจาก เอ็มม่า ลูกสาวตัวน้อยของเคซีย์และไมค์ ที่มาบอกเล่าบทเรียนชีวิตผ่านสายตาการเล่นสนุกของเด็กๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอาจมองข้ามไป ทั้งพลัง ความฝัน และความกล้าหาญที่เราอาจเคยมี แต่เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งเหล่านี้ก็ค่อยๆ หายไปจากตัวเราด้วย
ในขณะที่เอ็มมากำลังสอนเจสสิกาเกี่ยวกับการเล่นเซิร์ฟ จอห์นก็ตระหนักได้ว่าการเล่นเซิร์ฟอาจจะเป็นหลักสูตรของชีวิตได้ด้วย โดยมีการเปรียบเทียบกับการเล่นเซิร์ฟได้ดังนี้
เลือกคลื่น เหมือนกับการเลือกที่ที่เราอยากไป มันคือเป้าหมายของการมีชีวิต
หาตำแหน่งของตัวเองและบอร์ดเพื่อจะเกาะคลื่น หมายถึงการกำหนดตำแหน่งของตัวเองสำหรับการใช้ชีวิต แบบที่เราต้องการสำหรับสิ่งต่างๆ เช่น การปรับความคิด อารมณ์ความรู้สึก และการกระทำ ให้สอดคล้องกับความตั้งใจของเรา และทุ่มให้กับการปรับตัวให้สอดคล้องกับชีวิตที่เราอยากมี แม้แต่การพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่เหมาะสม
เริ่มพาย ลงมือทำ เริ่มออกผจญภัย ลองทำ!
เมื่อรู้สึกถึงกำลังคลื่นอย่าเพิ่งหยุด ให้พายต่อไปอีกสองสามกรรเชียงเพื่อเข้าไปในการไหลล่อง เหมือนคนที่ล้มเลิกความฝันตอนที่กำลังจะได้สัมผัสกับจุดเปลี่ยนอยู่บ่อยครั้ง แต่ความกลัวหรือความเกียจคร้านจะเข้ามาขัดขวางเป้าหมายทั้งๆ ที่อยู่แค่เอื้อม ทำให้ต้องใช้พลังงานมากมายในการเริ่มต้นใหม่
โต้คลื่น หมายถึงการมีความสุขกับมันจริงๆ ถ้าเราเอาแต่พาย พาย พาย ชีวิตเราจะเริ่มน่าเบื่อ จะทำให้ตัวเองหมดเรี่ยวแรง
สำหรับเราหนังสือซีรีส์ The Why Cafe เป็นเหมือนหนังสือที่โตตามวัยไปพร้อมกับคนอ่าน เพราะตั้งแต่เล่มแรกหลายอย่างในชีวิตของเราเปลี่ยนไป จนกระทั่งมาถึง Return to The Why Cafe ในเล่มที่สอง แม้มันไม่ได้ให้ความรู้สึกอยากออกเดินทางอย่างแรงกล้าเหมือนเล่มแรก แต่ในเล่มสองก็ยังมีคำถามที่ชวนให้เรากลับมาทบทวนถึงสิ่งที่ต้องการอีกครั้ง เพราะในแต่ละวันเราเผชิญเสียงรบกวนมากมายจนอาจบดบังสิ่งสำคัญในชีวิตไป การระลึกถึงเป้าหมายของตัวเองอยู่เสมอจึงช่วยให้เรารู้สึกเบาสบาย และมั่นใจที่จะออกไปใช้ชีวิตอีกครั้ง เหมือนความเชื่อของนักผจญภัยโปลินีเซียน
“นำสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต
ใส่เรือไปตั้งแต่แรก
ไม่อย่างนั้นชีวิตจะมีข้าวของมากมาย
แต่เราจะไม่ได้ผจญภัย ซึ่งเติมเต็มหัวใจเรา”