นายทุนนักทำหนัง หมวกสองใบของ จุมภฏ รวยเจริญทรัพย์ แห่งโก๋ฟิล์ม

หลายคนคงรู้จัก ‘ต้น-จุมภฏ รวยเจริญทรัพย์’ ในฐานะหนึ่งในทีมผู้บริหารแบรนด์ ‘โก๋แก่’ ขนมทานเล่นยอดนิยมบ้านเรา และเจ้าของค่ายหนัง ‘โก๋ฟิล์ม’ เบื้องหลังผู้สนับสนุนวงการหนังอิสระมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนังทางเลือก sub-culture อย่าง ‘ไทบ้านเดอะซีรีส์’ หรือ ‘หน่าฮ่าน’ รวมถึงเป็นทัพหลังให้กับโรงหนังและค่ายนำเข้าหนังอิสระต่างๆ อย่าง สกาลา, ลิโด้, Documentary Club และอื่นๆ อีกมากมาย 

แต่บางคนอาจไม่รู้ว่านอกจากต้นจะมีฐานะเป็นนักธุรกิจแล้ว เขาก็เป็นผู้กำกับภาพยนตร์อีกด้วย หลังจากที่เรียนจบด้านบริหารธุรกิจที่ปารีส ฝรั่งเศส สถานที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาหลงใหลในภาพยนตร์ฝรั่งเศส และอยากผลักดันให้วงการภาพยนตร์ไทยให้เกิดทางเลือกใหม่ๆ มากขึ้น

ย้อนหลับไปเมื่อถึงปี 2552 เขาได้กำกับหนังครั้งแรกชื่อว่า ‘มันส์ ทำเรื่อง’ และได้เข้าฉายที่ลิโด้ หลังจากนั้นในปี 2557 ก็ได้ทำหนังเรื่อง ‘เซอร์เรียล (SUR-REAL) เกมส์พลิก โชคชะตาเล่นตลก รักตาลปัตร’ หนังอินดี้เรื่องนี้ได้รับรางวัลมากมายและเป็นที่พูดถึงอย่างมากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

หลังจากที่ห่างหายไป 8 ปี ในที่สุดปีนี้เขาก็กลับมาพร้อมกับภาพยนตร์แนวไซ-ไฟและอีโรติก เรื่อง ‘ปรากฏการณ์ (Resemblance)’ หนังว่าด้วยเรื่องราวของช่วงเวลาปริศนาและโรคระบาดที่แพร่ไปยังคนหนุ่มสาวซึ่งทยอยกันหายตัวไปอย่างลึกลับ โดยมีนายแบบหนุ่มผู้ที่เป็นคนแพร่เชื้อโรคระบาด และเป็นสาเหตุของพฤติกรรมแปลกประหลาดของหลายๆ คน ไม่ว่าจะอาการหมกมุ่นต่อกามารมณ์ การเปลี่ยนคู่นอนไม่ซ้ำหน้า และโดยเฉพาะการหายตัวเข้าป่าไปโดยไม่มีเบาะแส

ผลงานล่าสุดของเขาที่ได้แรงบันดาลใจมาจากนวนิยายชื่อดัง ‘นอนใต้ละอองหนาว’ ของ ปราบดา หยุ่น และ ‘สนไซเปรส’ ของ จิรัฎฐ์ ประเสริฐทรัพย์ นอกจากนี้ยังได้มือตัดระดับเอเชียมากฝีมืออย่าง ‘ลี ชาตะเมธีกุล’ มาตัดต่อเรื่องนี้ให้อีกด้วย

แน่นอนสิ่งที่เราคุยกันไม่ได้เจาะจงอยู่แค่เบื้องหลังการทำงานของหนังเรื่องนี้เท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงชีวิตของการทำงานธุรกิจที่ควบคู่ไปพร้อมกับงานผู้กำกับภาพยนตร์อิสระที่เขารัก ในวันที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไม่ได้เฟื่องฟูเทียบเท่ากับวันวาน และบริการสตรีมมิ่งกลายเป็นอีกโฉมหน้าหนึ่งของวงการภาพยนตร์ เขามีเป้าหมายอยากจะผลักดันวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยไปสู่ระดับโลกอย่างไร คำตอบอยู่ในบรรทัดถัดไป

คุณชอบดูหนังตั้งแต่เด็กเลยมั้ย

“มีหลายคนถามผมว่าทำไมผมถึงชอบภาพยนตร์ ต้องบอกเลยว่าจริงๆ มาจากคุณพ่อนะ เขาเป็นคนพาเราเข้าไปในโรงหนังตั้งแต่เด็กๆ ตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกว่าตัวเองชอบดูหนัง แต่รู้สึกว่าช่วงเวลาที่ได้ไปดูหนังกับคุณพ่อมันเป็นเวลาที่พิเศษมากเลย แกจะชอบเล่าอะไรไปเรื่อยๆ มันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างของผมกับคุณพ่อด้วย 

“แต่พอเราทำงาน แกก็อยากให้ภาพเราเป็นภาพของนักธุรกิจไม่ใช่ภาพของศิลปินทำหนัง แกก็จะถามงานการมึงทำบ้างปะเนี่ย จนกระทั่งหนังได้รางวัลเราก็บอกพ่อ แกก็รู้สึกดีใจภูมิใจนะ ตอนนั้นแกก็ยอมรับแล้วว่าเราเป็นคนทำหนัง ก็จะไปคุยกับเพื่อนๆ ว่าลูกทำหนัง ไปๆ มาๆ คุณพ่อกลับชอบหนังที่เราทำด้วย อย่างเรื่อง เซอร์เรียลแกก็แอบไปดูแล้วก็โทรศัพท์มาบอกเราว่า ชอบมาก หนังมันพูดได้ตรงใจแก ซึ่งต้องบอกก่อนว่าพ่อของผมนี่แกเป็นคนที่เลี้ยงลูกแบบไม่ค่อยอยู่ในกรอบเท่าไหร่ พวกหนังผี ละครน้ำเน่าก็จะไม่ค่อยให้ดู เขาเลี้ยงเรามาแบบนี้”

ในช่วงที่ให้ลูกน้องมาเล่นหนังตัวเองดูน่าสนุกมาก ทำไมเราถึงเลือกทำหนังที่บริษัทตัวเอง                  

“ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบ ช่วงที่ผมไปเรียนที่ปารีส คือยุค 90 ตอนนั้นหนังฝรั่งเศสก็เริ่มที่จะบูม เป็นยุคหนังอินดี้เข้ามาใหม่ๆ จำได้เลยว่าเราเจอหนังแบบสุดจริงๆ รู้สึกว่าหนังมันเจ๋งมากเลย มีผู้กำกับหนังอาร์ตๆ ฉายตามอาร์ตเฮาส์ที่ฝรั่งเศส รู้สึกว่ามันเปิดโลกเรามาก ฝรั่งเศสมันทำหนังที่เกี่ยวกับกินขี้ปี้นอน แล้วทุกเรื่องมันต้องมีเรื่องของเซ็กส์ ไม่เหมือนหนังแบบอเมริกันที่เราเคยดูสมัยเด็กๆ ประกอบกับช่วงที่เรียนตอนนั้นมันก็จะมีหนังแบบเควนติน ทารันติโน ที่เริ่มดังขึ้นมา มันมีความ independent ฉีกระบบระเบียบหนังเก่าๆ ออกไปเยอะเลย เรารู้สึกว่าแบบนี้มันทำหนังได้ง่าย

“พอเราเรียนจบปุ๊บเราก็รู้สึกว่าอยากทำหนัง เรื่องแรกได้ inspire มาจากหนังอินดี้ชื่อ ‘Night On Earth’ ที่ถ่ายอยู่ในรถแท็กซี่ เรารู้สึกว่ามันทำง่ายจังเลยว่ะ มีกล้องตัวนึงก็น่าจะถ่ายได้ ช่วงเริ่มต้นใหม่ๆ ก็ทำโปรดักชั่นง่ายๆ ซื้อกล้องง่ายๆ มาถ่ายแล้วก็ส่งประกวด เอาพนักงานที่บริษัทมาเล่น มี รปภ. บ้าง มีเซลส์บ้าง เราก็เริ่มต้นจากตรงนั้น”

ด้วยความที่หนังมีหลายสัญชาติ แล้วคุณก็น่าจะดูหนังมาเยอะมาก เคยสงสัยมั้ยว่าทำไมถึงชอบหนังฝรั่งเศสเป็นพิเศษ

“เรารู้สึกว่าหนังฝรั่งเศสมันปลดปล่อย มันถ่ายโฟลว์ไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องราวชีวิตแบบปกติ ซึ่งเป็นหนังที่ไม่ได้เล่าตามพล็อต a b c d เหมือนอเมริกัน บางทีตัวละครก็ไม่จำเป็นต้องมีพระเอกหรือนางเอกเสมอไป แล้วมันก็เล่าเรื่องกินขี้ปี้นอน ทำอะไรที่มันง่ายๆ ที่แฝงความเป็นศิลปะอยู่ข้างใน ซึ่งมันเล่าได้เยอะ เราชอบอะไรแบบนี้”

หนังเรื่องนี้ ‘ปรากฏการณ์’ มีความกามารมณ์ ความอีโรติกสูงมากเลย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของหนังฝรั่งเศส นี่เป็นครั้งแรกเลยรึเปล่าที่เอาความอีโรติกเข้ามาใส่ในหนังของตัวเอง 

“จริงๆ เรื่องที่แล้วก็มีอะไรแนวๆ นี้อยู่แล้วนะ เราไม่ได้คิดถึงเรื่องเซ็กส์หรืออะไรหรอก เราชอบหนังที่มันพูดอะไรตรงๆ แต่ที่ผ่านมาหนังไทยมันเล่าแบบอีหลักอีเหลื่อยังไงก็ไม่รู้ ไม่เคยรู้สึกอะไรกับหนังอีโรติกไทยมากเท่าไหร่ รู้สึกว่าทำแบบเก็บๆ เอาไว้ไม่ปล่อยเต็มที่ เราชอบดูหนังแนวอีโรติก คนมีอะไรกัน หรือความสัมพันธ์ที่มันสลับซับซ้อน ความสัมพันธ์ต้องห้าม รู้สึกว่าชีวิตคนเราจริงๆ มันก็ต้องผ่านเรื่องแบบนี้มาทุกคน มันเป็นเรื่องปกติในชีวิต เราก็เลยอยากจะเอามาเล่าแค่นั้นเอง”

ที่ผ่านมาหนังไทยไม่ค่อยมีเรื่องอีโรติกมากเท่าไหร่ คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร

“ผมคิดว่ามันมาจากหลายๆ อย่างนะ พอมาเริ่มทำเองแล้วก็จะรู้ ตั้งแต่เขียนบท ภาษาอะไรก็ค่อนข้างจะเขียนยาก จะให้ใช้คำสุภาพก็คงไม่ได้ เราก็เลยต้องใช้คำแบบบ้านๆ สุดท้ายในบทที่เขียนก็มีคำ ค ห ย ใส่ไปเต็มๆ ส่วนนักแสดงก็หายาก นักแสดงที่เบอร์ดังๆ แล้วเขาก็ไม่มาเล่น มันก็มีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง แต่อีกส่วนนึงที่เขาไม่อยากจะมาทำคือเรื่องของค่านิยมหรือรางวัลอะไรอย่างนี้ มันไม่มีใครคาดหวังจากหนังอีโรติกว่าหนังมันจะได้รางวัลรึเปล่า 

“จนกระทั่งมาเจอน้องไพลิน (ไพลินธิรา โคลเล็ค) ที่เขารับเล่น ช่วงที่เริ่มทำเราได้ reference มาจากเรื่อง SHAME ก็เปิดให้ดูว่าจะเป็นประมาณนี้นะ เซ็กส์มันก็แบบเถื่อนๆ หน่อย มีตบอะไรอย่างนี้ แนวอีโรติกแบบแรงนิดนึง เขารับได้มั้ย คราวนี้พอมานักแสดงนำหลักๆ อย่างอนันดา (อนันดา  เอฟเวอริ่งแฮม) เอง เราถามเลยว่ามีฉากจูบ มีฉากเซ็กส์ เขาเล่นได้มั้ย ซึ่งอนันดาเขาเป็นคนที่คุยง่ายมากไม่ติดพวกนี้เลย เล่นจนจบยังถามเลยพี่ว่าแค่นี้เองเหรอมากกว่านี้ก็ยังได้ ส่วนอีกคนนึงคือแทค (​​ภรัณยู โรจนวุฒิธรรม) คิดว่าน่าจะเป็นคนเดียวในประเทศไทยแล้วมั้งที่เล่นได้ขนาดนี้ เป็นฉากเซ็กส์ที่รุนแรงแล้วก็ agressive ระดับนึง ซึ่งเขาก็เล่นได้ดีทั้งคู่” 

วงการหนังไทยไม่ค่อยมีหนังอีโรติกให้ดู โดยเฉพาะหนังอีโรติกที่มีความเป็นศิลปะ ซึ่งเวลาที่มีหนังแบบนี้ออกมาทำให้ดูเหมือนเป็นหนังโป๊ ในฐานะผู้กำกับเอง คุณมีวิธีการทำหนังอีโรติกยังไงให้มีศิลปะในการเล่าเรื่อง     

“ต้องบอกก่อนว่าความเป็นอีโรติกในเรื่องนี้เราเอามาจากหนังสือ คือช่วงที่เพิ่งทำเรื่อง เซอร์เรียล จบ ตอนนั้นก็ยังไม่มี inspire ยังคิดไม่ออกว่าจะไปทางไหนดี เราก็หาหนังสืออะไรอ่านไปเรื่อยๆ คราวนี้ก็มาเจอนิยายของพี่คุ่น-ปราบดา หยุ่น ซึ่งเราก็รู้จักแกมาก่อน ได้อ่านหนังสือของแกมาหลายๆ เรื่องรู้สึกชอบงานเขียนแก พอได้มาอ่านเรื่องนี้ก็รู้สึกตั้งแต่บทแรกแล้วว่า เห้ยมันแปลกว่ะ ไม่เคยเห็นแกเขียนหนังสือแนวอีโรติก ด้วยความที่แกเป็นคนสุภาพ แต่นี่แกใช้ศัพท์อีโรติกแบบเป็นไปได้หรือเนี่ย อ่านแล้วรู้สึกว่าเราชอบ ตอนนั้นก็เลยอ่านจนจบเล่มเลย คิดอยู่ไม่นานก็โทรศัพท์ถามแกว่าขอเอามาทำหนังได้มั้ย 

“เรารู้สึกว่าถ้าเอามาจากนิยายก็อยากจะเล่าอะไรที่มันแตกต่างด้วย นิยายเรื่องนี้ตอนที่อ่านจบก็รู้สึกว่ามันเป็นนิยายที่เอามาทำเป็นหนังไม่ได้ เพราะมันไม่มีพล็อตอะไรที่วางตรงๆ เลย มันต้องหาอย่างอื่นมาใส่ ก็เลยเอาหนังสืออีกเล่มคือ ‘สวนไซเปรส’ มาประกอบไปด้วย ซึ่งเรารู้สึกว่าการเปรียบเทียบพรรณนาในหนังสือมันจะออกมาได้ดีกว่าถ้ามันเป็นซีจี ก็เลยเอาทั้งสองอย่างมารวมกัน”

หนังเรื่องที่แล้ว ‘เซอร์เรียล (SUR-REAL)’ ตั้งแต่ปี 2014 ก็ห่างไปหลายปีอยู่เหมือนกัน ชีวิตคุณช่วงที่หายไปเป็นยังไงบ้าง

“เราก็ยุ่งกับหนังนี่แหละ เรารู้สึกว่าคนดูหลักๆ ที่เคยดู เซอร์เรียล มาแล้ว แล้วมาดูเรื่องนี้ก็จะรู้สึกว่าหนังมันดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เรานิ่งขึ้น แล้วก็รู้สึกว่ามันไม่โฉ่งฉ่างเหมือนช่วงที่ทำ เซอร์เรียล พอได้ทำโปรดักชั่นใหญ่ๆ แบบนี้งานมันกลับง่ายขึ้นด้วย จริงๆ หนังเรื่องนี้เสร็จหลังจาก เซอร์เรียล ประมาณ 3-4 ปี แต่ช่วงตัดต่อมันจะนานนิดนึง พอดีตอนนั้นไปเจอรุ่นพี่คนนึงก็แนะนำว่าลองเอาหนังเนี่ยให้พี่ลี (ลี ชาตะเมธีกุล) ตัดดูมั้ย ซึ่งพี่ลีนี่เรียกได้เลยว่าเป็นมือตัดชั้นยอดระดับเอเชีย 

“ตอนนั้นเราก็เลยลองดู อาจจะมีอะไรใหม่ๆ ใช้คำว่าลองให้คนอื่นตัดดู ตัดด้วยตาคนอื่นที่เขาไม่ได้มองเหมือนเรา แต่เราก็บอกแกนะว่าอยากให้หนังออกมาเป็นแนวแมส แต่มีความอาร์ตแฝงในตัวด้วย ที่สำคัญคือไม่อยากให้คนดูนั่งหลับนะพี่ ไม่อยากให้มันอาร์ตมาก ก็กลัวๆ อยู่เหมือนกัน

“ซึ่งแกก็คิวทองมาก เรื่องนี้รอพี่ลีอยู่ประมาณปีครึ่ง แต่ตอนที่ได้ดูตัวดราฟต์แรกเนี่ย โอ้โห มันเปลี่ยนโลกเลย มันไม่ได้เล่าแบบที่เราคิดเลย ตัดออกมาดูแล้วเราชอบมาก ทำให้รู้ว่าหนึ่งบวกหนึ่งมันไม่ใช่สอง แต่แกเอาอันนั้นอันนี้มาต่อกันแล้วหนังมันดูมีพลังมาก รู้สึกว่าตัดแล้วคุ้มค่ากับการรอคอยจริงๆ”

ช่วงที่คุณเริ่มเข้าสู่วงการหนังอยู่ในช่วงที่ ‘เจ้ย อภิชาติพงศ์’ กำลังทำหนังทดลองเหมือนกัน บรรยากาศในยุคนั้นเป็นยังไงบ้างเล่าให้ฟังหน่อย

“ช่วงนั้นเป็นยุคหนังอินดี้ หนังสั้นกำลังดัง ใครที่มีกล้องก็ทำหนังสั้นกัน เป็นช่วงที่ต้องอัดหนังไปในแผ่นดีวีดีแล้วก็ส่งประกวด เราก็เอากับเขาบ้าง ตอนนั้นเป็นช่วงที่พี่เจ้ยไม่ได้มีชื่อเสียงแบบทุกวันนี้ แต่เราก็เห็นชื่อของพี่เจ้ยแกชนะเลิศประกวดหนังสั้นมาเรื่อยๆ ดูแล้วก็รู้สึกว่าเป็นหนังอาร์ต เป็นหนังเฉพาะตัวของผู้กำกับคนใดคนนึง รู้สึกว่าแกมีทาเลนต์ แกมีสไตล์ของแก เพียงแต่ว่าแนวทางของแกไม่ใช่แนวทางที่ตรงกับของเรา

 “ช่วงที่เราทำหนังประกวดในเวทีเดียวกันกับแกเนี่ยก็ตกตั้งแต่รอบแรกเลย แต่คนดูก็กรี๊ดสนุก เราทำหนังสนุกๆ คนดูก็ชอบ ก็หงุดหงิดว่าทำไมหนังเราคนดูชอบทำไมแม่งไม่ได้รางวัลเลยวะ ช่วงที่ทำ เซอร์เรียล ก็เอาหนังมาฉายในไทย พอฉายจนจบปุ๊บก็เริ่มรู้สึกว่าเฮ้ยหนังมันน่าจะมีที่ของมันเอง เราก็ไปส่งประกวดต่างประเทศ ปรากฏว่า โห ได้รางวัลมาเยอะมาก แต่ก็ไม่ได้เป็นรางวัลแบบคานส์ เวนิส เบอร์ลิน หรืออะไรอย่างที่เขานิยมกันนะ ก็เป็นรางวัลแบบจัดตามเมืองตามเขตของทางต่างประเทศ แค่นี้เราก็รู้สึกดีใจ ภูมิใจในสิ่งที่เราได้แล้ว ถ้าเกิดจะไปถึงในระดับหนังอาร์ตก็จะต้องเลิกขายถั่วนะ

เวลาทำหนังจบผู้กำกับบางคนก็จะมีเรื่องดีใจกับเสียใจต่างกัน บางคนหนังทำรายได้ดีก็ดีใจแล้ว บางคนนักวิจารณ์ชอบ คนดูชอบก็ดีใจแล้วรายได้ช่างมัน สำหรับคุณเป็นแบบไหน

 “ผมทำหนังนี่ไม่เคยคิดเรื่องเงินเลย ไม่เคยคิดว่ามันจะต้องเจ๊งหรือมันจะได้อะไร เรียกว่าทำเอามัน ทำเอาสนุกดีกว่า สมัยช่วงที่มีหนังสือ แมกกาซีนต่างๆ เราอ่านก็เห็นอยู่ว่านักวิจารณ์สิบคนชอบหนังสิบแบบ ก็เหมือนกับเราที่เห็นค้านกับหลายๆ คน รู้สึกว่าหนังเป็นเรื่องของรสนิยมของคน ก็ไม่ได้เอาเรื่องพวกนี้มาใส่ใจ เราก็ทำงานที่เราอยากทำ หนังเรื่องนี้ออกมาเราก็ดีใจแล้ว เราภูมิใจกับมันแล้ว คิดอยู่แค่นี้ คนดูจะชอบหรือไม่ชอบก็ไม่ได้เอามาใส่ใจเท่าไหร่”

คนมักจะมองคุณว่าเป็นนายทุนมาทำหนัง ไม่ได้มองว่าเป็น flim maker ถึงแม้ว่าคุณจะทำหนังมาหลายเรื่อง หรือดูหนังดีๆ มามากมายก็ตาม มีความรู้สึกน้อยใจบ้างมั้ย

“มีบ้างครับ คำว่า flim maker จริงๆ เราไม่ค่อยได้โดนตราหน้าว่าเป็นแบบนี้สักเท่าไหร่ เพราะทางเราไม่เคยต้องไปขอเงินจากนายทุน แต่จริงๆ ตอนช่วงเริ่มใหม่ๆ ก็เคยนะ เคยไปขอทางค่ายหนังลงทุนทำด้วยกัน แต่ปรากฏว่าขั้นตอนการได้เงินของเขามันซับซ้อนมาก ต้องไปนั่งประชุม มาดูบท แล้วต้องเอาดาราของเขา รู้สึกขั้นตอนเยอะก็เลยออกจากวงตรงนั้นมา ก็เลยใช้วิธีอย่างนี้มาเรื่อยๆ ไม่ค่อยได้สนใจตรงนี้ เขาจะเรียกเราเป็น flim maker หรือนายทุนก็ตาม มันก็เป็นหนังของเรา เราทำออกมาแฮปปี้ก็จบแค่นั้น”

คุณเป็นสปอนเซอร์ให้กับหนังไทยหลายๆ เรื่อง บทบาทนี้เริ่มต้นขึ้นได้ยังไง

“พอเราไปอยู่ต่างประเทศ เรารู้สึกว่าหนังในต่างประเทศมันมีหลากหลายมาก ทั้งหนังอาร์ต กึ่งอาร์ต แมส ทุกอย่างมีหมด แล้วโรงก็จะจำแนกแต่ละประเทศของมัน ก็รู้สึกว่าทำไมหนังไทยมันมีแค่ไม่กี่เรื่อง มีชอยส์แค่ไม่เท่าไหร่ พอหนังซูเปอร์ฮีโร่เข้ามาปุ๊บทำไมต้องมีแต่หนังซูเปอร์ฮีโร่เต็มโรงหนังเลยวะ ไม่มีอย่างอื่นให้คนเลือกเลย รู้สึกว่ามันไม่แฟร์รึเปล่าวะ 

“เราก็รู้สึกว่าน่าจะมีคนคิดแบบเราเยอะเหมือนกัน มีพวกน้องๆ ที่มีความคิดเหมือนเราเขาก็ซื้อหนังต่างประเทศเข้ามา เราก็รู้สึกว่าต้องลองดูว่ะ แต่ก็ไม่ใช่หนังทุกเรื่องที่เราจะสนับสนุนนะ บางเรื่องที่มันไม่ตรงสเปก ดูแล้วไม่ใช่เราก็ไม่เอา แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าทำไปแล้วจะเป็นที่ฮือฮา ไม่ได้คิดว่าคนจะมาชื่นชมเราที่สนับสนุนภาพยนตร์อย่างนี้ เราแค่อยากให้คนดูมีชอยส์เยอะๆ เราก็บอกคนที่เอาหนังเข้ามาหรือคนที่เราสนับสนุนหนังว่าไม่ต้อง tie in โก๋แก่ ไม่ต้องมีเขียนติดอะไรก็ได้ ก็เอาที่เขาสะดวกไม่ได้คิดอะไร แต่คนเขาก็ไปเขียนกันเองว่าเรา offer มีชอยส์หลายๆ อย่างให้คนดู อันนี้ก็เป็นผลตอบรับที่ดีที่มันกลับมาให้เรา”

อย่างเรื่อง ‘ไทบ้าน’ กับ ‘หน่าฮ่าน’ ก็เป็นหนังที่สำคัญมากกับภูมิภาคของไทย เพราะเหมือนเปิดประตูไปสู่โซนภาคอีสานค่อนข้างเยอะเหมือนกัน ตอนที่เห็นโปรเจกต์นี้ครั้งแรกคุณคิดยังไง 

“เรื่อง ไทบ้าน กับ หน่าฮ่าน เรียกว่าเป็นหมุดหมายเลยดีกว่า คือเราเป็นคนที่ชอบภาคอีสาน ชอบคนอีสาน แล้วเราก็มีไร่ปลูกถั่วที่สกลนครด้วย เรื่อง ไทบ้าน ตอนนั้นเราก็ไปเห็นว่าเขาทำหนังแล้วมีกลุ่มคนดูอีสาน ซึ่ง culture ที่เป็นเหมือนกับ Neo อีสาน New อีสาน ไม่ใช่ลูกทุ่งเหมือนแต่ก่อน แต่เป็นอีสานรุ่นใหม่ๆ รู้สึกว่าความบันเทิงของแนวไทบ้าน เขามี culture มีภาษา มีดนตรีของเขา เรารู้สึกว่ามันน่าจะสร้าง sub culture แบบนี้ขึ้นมาได้ก็เลยช่วย ส่วนเรื่องของ หน่าฮ่าน เขาก็ทำเฉพาะกลุ่ม culture ไทยๆ ที่ไม่มีใครยกขึ้นมาพูด พอเขาพูดปุ๊บเราก็รู้สึกว่ามันน่าจะทำ เขาประสบความสำเร็จเราก็รู้สึกดีใจด้วย

ในวงการหนังไทยทุกวันนี้ มีเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหามากคือคนทำหนังไทยไม่มีโอกาสฉายหนังในโรงมากนัก และธุรกิจโรงหนังก็แย่ลงทุกวัน ในฐานะที่คุณเป็นคนทำหนังแล้วก็ทำธุรกิจด้วย คุณคิดว่าทางออกของปัญหานี้คืออะไร

“ต้องบอกเลยนะว่าคนที่ทำหนังทุกๆ คนอยากจะเอาหนังตัวเองเข้าโรง อยากเห็นหนังตัวเองฉายอยู่บนโรงใหญ่ๆ ตอนที่เราไปช่วยเรื่องลิโด้มันมีฟีลลิ่งนึงที่รู้สึกว่า คนดูที่เข้าโรงไปดูหนังในลิโด้หรือในต่างประเทศที่เป็นหนังอาร์ต เขาจะรู้สึกว่าหนังมันถูกยกย่อง ถูกให้เกียรติ เหมือนกับที่เราชอบผู้กำกับหนัง เขาเหมือนเป็นซูเปอร์สตาร์ของเรา พอทำหนังแล้วฉายโรงเรารู้สึกชื่นชม เราชอบ หนังมันมีพลังพอถูกฉายบนโรงภาพยนตร์ แต่พอคนมาเปิดดูในจอมือถือเนี่ยมันเฟลเลยนะ มันเป็นสิ่งที่คนทำหนังต้องรู้สึก แต่สุดท้ายมันก็เป็นไปตามโลกนะ ตอนนี้คนชอบเสพอะไรง่ายๆ ไวๆ อันนี้มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ มีผู้กำกับหลายๆ คนที่รู้จักกัน วันนี้เขาอยู่ได้ มีเงิน ก็เพราะว่าทำหนังเพื่อป้อนสตรีมมิ่ง โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว”

ปีนี้คุณอายุ 50 ปีแล้ว รู้สึกว่าการทำหนังในวัยนี้ต่างจากการทำหนังตอนวัยรุ่นยังไงบ้าง

“พออายุเข้า 50 แล้วในชีวิตมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากเลย เราไม่อยากเป็นคนแก่แต่มันก็หนีสังขารไม่พ้น ตอนนี้รู้สึกว่าตัวเองมีความนิ่งขึ้น แต่ก่อนเป็นคนพูดจาเร็ว ส่วนนึงที่เปลี่ยนแปลงไปเยอะคือทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยคิดว่าจะทำ เช่น ฟังธรรม นั่งสมาธิ รู้สึกว่ามันก็นิ่งขึ้น อารมณ์ฉุนเฉียวน้อยลงในเรื่องของการใช้ชีวิต แต่ว่าพลังการทำหนังของเรามันก็ยังมีขับเคลื่อนอยู่เหมือนเดิม ยังมีความรู้สึกท้าทาย ตอนนี้เราดูหนังก็ต้องการความแปลกใหม่ อยากจะทำหนังที่ไม่เคยทำมาก่อน ทำหนังทางเลือกใหม่ๆ ให้กับวงการภาพยนตร์ไทย นี่คือสิ่งที่ตัวเองยังต้องการอยู่ ยังไม่แก่ตามอายุในเรื่องของการทำภาพยนตร์”

AUTHOR