Political Graffiti : เหตุผลและผลลัพธ์ของกราฟฟิตี้การเมืองที่ไม่ใช่แค่ภาพวาดบนผนัง

ศิลปะคือการปลดปล่อยบางสิ่ง บางความคิดในตัว

บนกำแพงว่างเปล่าที่ไม่เคยมีใครเหลียวแล กลับได้รับความสนใจจากคนที่เดินผ่านไปมาในวันหนึ่ง สิ่งแปลกปลอมบนกำแพงดึงดูดสายตาคนให้จับจ้องและตระหนักถึงบางอย่าง เราเรียกสิ่งที่อยู่ตรงหน้าว่า ‘กราฟฟิตี้’

ถ้าจะให้จำแนกงานศิลปะที่เป็นกราฟฟิตี้ เราประหลาดใจกับข้อเท็จจริงที่ว่ามันมีความหมายกว้างพอสมควร เพราะคำนี้กินความหมายถึงรูปวาดคนบนผนังถ้ำในประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่สมัยโบราณกาล ไปจนถึงโมเดิร์นกราฟฟิตี้แบบที่เราพอจะคุ้นตากันในปัจจุบันซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมานี้เอง แต่จะผ่านมากี่ปี ฟังก์ชั่นของกราฟฟิตี้ก็ยังคงเหมือนเดิม นั่นคือการระบายออกของความคิดและจุดยืนในตัวมนุษย์

เรื่องหนึ่งที่งานศิลปะหรือกราฟฟิตี้มักถูกใช้เป็นเครื่องมือ (หรืออาวุธ) ในการระบายออกมากที่สุดคือเรื่องการเมือง ถ้าพูดถึงหมุดหมายแรก เราคงต้องย้อนไปถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในประเทศเยอรมนี ท่ามกลางการปกครองภายใต้ระบบเผด็จการทหารและนาซี ชาวเยอรมันกลุ่มหนึ่งที่เรารู้จักพวกเขาในนาม ‘The White Rose’ เลือกที่จะต่อต้านระบบเผด็จการที่ไร้ประสิทธิภาพนี้ เครื่องมือที่พวกเขาใช้คือใบปลิวปลุกระดมคนให้ขึ้นมาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม และการชี้นำให้คนออกมาทำ ‘Graffiti Campaign’ โดยการพ่นกราฟฟิตี้ที่แสดงออกถึงจุดยืนเพื่อต่อสู้กับความคิดของรัฐบาลที่กดขี่ประชาชน ข้อความง่ายๆ จากลายฉลุที่พวกเขาทำกันเองกระจายไปทั่วเมืองมิวนิคภายในเวลาไม่นานผ่านความรู้สึกอัดอั้นของคนในเมืองนี้

ข้อความนั้นเขียนว่า ‘Freiheit’ (Freedom) และ ‘mit Hitler runter’ (Down with Hitler)

ถึงสุดท้ายกลุ่ม The White Rose จะถูกจับกุมและประหารชีวิต แต่การต่อสู้ของพวกเขาก็เป็นการต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ที่ได้รับการจดจำมากที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ ข้อความบนผนังเหล่านั้นได้ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นหนึ่งในอาวุธที่ทรงพลังทางความคิดที่สุดในการต่อสู้ทางการเมืองและปลุกระดมประชาชนให้ออกมาสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง

หลังจากนั้น กราฟฟิตี้ค่อยๆ พัฒนารูปแบบและการแสดงออกตามกาลเวลา สีสันและลายมือบนผนังเหล่านี้ค่อยๆ กระจายไปอยู่ทั่วทุกมุมโลก แต่จุดสำคัญที่ทำให้กราฟฟิตี้กลายเป็นเครื่องมือแสดงออกทางความคิดและตัวตนทางการเมืองนั่นคือช่วงปี 1970s ที่นิวยอร์ก

ในตอนนั้นวัฒนธรรมกราฟฟิตี้เติบโตอย่างรวดเร็วในฐานะส่วนหนึ่งของความนิยมดนตรีฮิปฮอป เหล่าศิลปินกราฟฟิตี้ต่างเกิดขึ้นที่นี่มากมาย แต่ท่ามกลางความนิยมนี้เองกลับสร้างภาพลักษณ์ให้ศิลปะกราฟฟิตี้ถูกมองเป็นวัฒนธรรมรุนแรงและถูกแปะป้ายให้เป็นวัฒนธรรมของคนผิวสีจากการทับซ้อนของกระแสนิยมในตอนนั้น จนกระทั่งช่วงปี 1980s Ed Koch รัฐมนตรีประจำรัฐนิวยอร์กได้ประกาศนโยบายการกำจัดกราฟฟิตี้ออกจากเมืองทั้งหมด ด้วยเหตุผลที่เขากล่าวว่า “กราฟฟิตี้ทำลายวิถีชีวิตของพวกเรา (‘graffiti destroyed our lifestyle’)”

นโยบายนี้เริ่มต้นด้วยความรุนแรงและแนวคิดที่ถูกมองว่าเหยียดสีผิว ทั้งการปรักปรำโทษแก่คนผิวสี ลามไปถึงการจับกุมโดยที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าทำผิด ลวดลายต่างๆ ตามกำแพงหรือผนังรถไฟถูกลบพร้อมกับปัญหาการเหยียดสีผิวที่ค่อยๆ แผ่ขยายวงกว้างไป

สุดท้ายเรื่องราวมาถึงจุดแตกหักเมื่อ Michael Stewart ศิลปินกราฟฟิตี้คนหนึ่งในนิวยอร์กเสียชีวิตจากการถูกทำร้ายร่างกายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างกำลังพ่นกราฟฟิตี้บนผนังในสถานีรถไฟ แรงกระเพื่อมของการสูญเสียนี้ทำให้เกิดการต่อต้านจากชาวผิวสีในนิวยอร์กจำนวนมาก กราฟฟิตี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ (และความรุนแรง) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ศิลปะนี้กลายเป็นทางผ่านของการขัดขืนและต่อต้านระบบ กราฟฟิตี้ที่ผิดกฎหมายโผล่ขึ้นมากมายทั่วนิวยอร์ก สุดท้ายด้วยปัญหาอื่นๆ ที่เข้ามาผสม ทำให้ในการเลือกตั้งรัฐมนตรีครั้งถัดมา โคชก็พ่ายแพ้การเลือกตั้ง และสัญลักษณ์การต่อสู้ในครั้งนั้นก็ได้กลายเป็นภาพจำของใครหลายคน

แนวคิดการใช้งานศิลปะเพื่อต่อสู้เรื่องการเมืองค่อยๆ แพร่กระจายไปพร้อมกับนวัตกรรมสื่อที่กระตุ้นให้เรื่องราวเดินทางได้ไวขึ้นจนทั่วโลกรับรู้การมาถึงของกราฟฟิตี้ในช่วงนี้นั่นเอง ลวดลายบนกำแพงกลายเป็นตัวเลือกสำหรับอาวุธทางความคิดที่ทั่วโลกมักใช้แสดงออกทางการเมือง เช่นในปี 2011 ที่ประเทศอียิปต์เกิดการปฏิวัติที่สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ การปฏิวัติครั้งนั้นถูกนำโดยประชาชนระดับรากหญ้าที่ต้องการจะต่อต้านและโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค จุดศูนย์กลางของการลุกฮือครั้งนี้อยู่ที่กรุงไคโรโดยวิธีการที่พวกเขาใช้มีทั้งการเดินขบวน การดื้อแพ่ง การประท้วงจากแรงงาน และการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ กราฟิตี้เป็นอย่างหนึ่งที่ถูกใช้เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกคับแค้นในการถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบ ส่วนใหญ่แล้วงานศิลปะในครั้งนั้นจะเป็นรูปภาพเชิงล้อเลียนหรือเป็นศิลปะที่เราเรียกว่า ‘ตลกร้าย’ ภาพเหล่านี้ถูกพ่นไปบนผนังทั่วกรุงไคโร เพื่อทำหน้าที่คอยกระตุ้นคนที่พบเห็นให้ได้ตระหนักถึงปัญหาที่พวกเขาควรจะแก้และต่อสู้

จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายที่และหลายประเทศในโลกที่กราฟฟิตี้ได้เข้าไปอยู่ในเกมการเมืองและการเรียกร้องความเป็นธรรมให้อะไรบางอย่าง เช่น เมืองเซา เปาโลในบราซิลที่ปัจจุบันเราจะยังคงเห็นกราฟฟิตี้ได้ทั่วเมืองไม่ว่าจะตึกรามบ้านช่องไปจนถึงบันไดทางเท้า ข้อความและรูปเหล่านี้มีทั้งการออกแบบเพื่อความสวยงามและออกแบบเพื่อสื่อนัยยะทางการเมืองบางอย่าง หรือกำแพงเบอร์ลินและกำแพงกั้นฉนวนกาซ่าที่เขตเวสต์แบงค์ แม้จะตั้งอยู่ในพื้นที่ของความไม่สงบแต่งานกราฟฟิตี้ก็ยังไปปรากฏตัวและทำหน้าที่ในการสื่อความหมายต่อใครที่มาพบเห็น

มีการถกเถียงกันหลายครั้งและหลายมุมมองที่มีต่อศิลปะทางการเมืองบนผนังนี้ หลายประเทศต่างระบุว่ากราฟฟิตี้เป็นสิ่งผิดกฎหมายและต้องอยู่ในการควบคุม ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่งานลวดลายชั้นดีหลายๆ งานในหน้าประวัติศาสตร์จะถูกลบออกไปด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่เพราะเหตุนั้นเองที่กราฟฟิตี้ยังคงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการพูดเรื่องราวที่ไม่ควรจะพูด ความเป็นสีเทาของมันกลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้หลายคนเลือกจะถ่ายทอดความคิดในหัวออกมาลงบนกำแพงโล่งนี้ แม้ภาพเหล่านั้นจะไม่มีเสียง แต่มันกลับถูกพิสูจน์มาแล้วหลายครั้งว่าสามารถสร้างผลกระทบอะไรบางอย่างได้เสมอ

ศิลปะมันเป็นเช่นนั้นเอง เกิดขึ้นมาเพื่อปลดปล่อยบางสิ่งและบางความคิด

ดังนั้นคงไม่แปลกเลย ถ้าจะพูดแนวคิดทางการเมืองหรือความโกรธแค้นที่มีต่อสังคมจากตัวเรา และยิ่งถ้าอยู่ในที่ที่เต็มไปด้วยการกดขี่ การเอารัดเอาเปรียบที่ไม่เป็นธรรม งานวิจัยของ Gleaton เมื่อปี 2012 ยังบอกเราว่าในสถานการณ์แบบนี้ กราฟฟิตี้ที่พูดเรื่องแนวคิดทางการเมืองก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นมากเข้าไปอีก หรือพูดง่ายๆ ว่ายิ่งห้ามให้เกิดศิลปะ ยิ่งห้ามการแสดงออก ศิลปะยิ่งจะเกิดขึ้นเพื่อพูดเรื่องที่ “_งไม่อยากให้_พูด”

จากหนึ่งกลายเป็นสอง จากสองกลายเป็นสี่และขยายไปไม่สิ้นสุด

อ้างอิงและภาพ executetoday.com, nyc.gov, vintag.es, modernghana.com, lorenamjz.com, screameverywhere.com, cdlib.org

ภาพประกอบ ฟาน.ปีติ

AUTHOR