เสียงหัวเราะและสเต็ปแดนซ์น่ารักๆ สร้างความรื่นเริงให้ลานพระปฐมเจดีย์ในคืนวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพลงแจ๊สย้อนยุคจากศิลปินระดับโลกอย่าง The Shirt Tail Stompers จากลอนดอน ประเทศอังกฤษ และ Casey MacGill and Friends จากสหรัฐอเมริกา ทำเอาเราหวนนึกถึงบรรยากาศของยุค 40s ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดคลาสสิกที่เคยดูตอนเด็กๆ
ถึงแม้งาน Big Bang: Swing Dancing ครั้งที่ 3 ที่จัดที่นครปฐมจะจบลงไปแล้ว แต่กลิ่นอายและเสน่ห์ของการเต้นสวิงที่เราได้ทำความรู้จักผ่าน 2 เท้ายังคงติดอยู่ และพาให้เรามาพูดคุยกับกลุ่ม Bangkok Swing ผู้จัดงานครั้งนี้รวมถึงเป็นผู้บุกเบิกให้ปรากฏการณ์การเต้นสวิงกลายเป็นกระแสและความคลั่งไคล้ของชาวไทยให้ดีขึ้น
(อ้อ! อยากชวนให้ทุกคนเปิดเพลง Take the A Train ของ Duke Ellington ฟังเพลินๆ ระหว่างอ่านไปด้วยนะ)
Bangkok Swing คือการรวมตัวของกลุ่มคนที่หลงใหลในการเต้นสวิงด้วยใจรัก โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นความสนุกจากการเต้นตามจังหวะแจ๊สเพราะๆ โอ๊ต-ชยะพงส์ นะวิโรจน์ คือคนบุกเบิกการเต้นสวิงในไทยหลังจากเขาได้ไปเห็นมาที่สหรัฐอเมริกาและคิดว่าที่เมืองไทยน่าจะมีบรรยากาศความสนุกแบบนี้บ้าง เลยลงมือจัดคอร์สสอนเต้นที่ The Hop บนถนนสีลม จากที่คืนแรกมีคนเรียนแค่ 4 – 5 คน ตอนนี้คลาสเรียนที่ The Hop มีให้เลือกตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปจนถึงการเต้นรูปแบบต่างๆ เช่น Lindy Hop หรือ Balboa จากแคลิฟอร์เนียในยุค 40s ไปจนถึง Solo Blues ที่ตารางเรียนแน่นแทบทุกเดือน
นอกจากคอร์สสอนเต้นที่ชวนคนใหม่ๆ เข้ามารู้จักการเต้นสวิงมากยิ่งขึ้น ชาว Bangkok Swing ยังจัดอีเวนต์คึกคักชวนคนที่อาจไม่เคยเต้นสวิงมาก่อนได้ลองก้าวขาออกจากมุมเคอะเขิน อย่างงาน Diga Diga Doo! ปาร์ตี้สวิงแดนซ์ที่จัดต่อเนื่องมาแล้ว 3 ปีที่ Shanghai Mansion บนถนนเยาวราช และงาน Big Bang: Swing Dancing บนถนนหน้าลานพระปฐมเจดีย์ที่เกิดจากความคิดของสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มที่อาศัยอยู่ที่นี่ และชื่นชมความงานของพระปฐมเจดีย์จนอยากเห็นงานน่ารักนี้เกิดขึ้น จนกลายเป็นงานประจำปีที่เหล่านักเต้นสวิงหลายคนรอคอย ความเจ๋งคืองานล่าสุดที่เพิ่งจบเป็นส่วนหนึ่งของค่ายเต้นสวิงที่รวมนักเต้นสวิงทั่วโลกให้มาเต้นกันอย่างคึกคักไม่หยุดพักตลอด 3 วันที่อำเภอสามพรานอีกด้วย
ความสนุกของเพลงแจ๊สและการเต้นสวิงอยู่ที่การด้นสดตามอารมณ์ของผู้เล่นและการหยอกเย้าไปมา นักเต้นสวิงตามท่วงทำนองเช่นนี้จึงมักใส่หัวใจและความรู้สึกลงไปในฝีเท้าด้วย ทุกคนขยับร่างกายอย่างอิสระและจับคู่เต้นเพื่อเย้าแหย่กัน ราวกับบทสนทนาที่ถูกแลกเปลี่ยนระหว่างคนแปลกหน้า 2 คนที่ต่างก็ใช้ภาษากายแสดงตัวตนออกมา
“การอิมโพรไวส์เป็นจุดเด่นของการเต้นสวิง เราเต้นไปตามทำนองเพลงโดยธรรมชาติ ไม่ต้องคอยพะวงเรื่องเทคนิค ผมว่าความสุขจากการได้เป็นตัวของตัวเองบวกกับจังหวะสนุกสนานของเพลงนี่แหละที่ทำให้การเต้นสวิงดึงดูดผู้คนให้เข้ามา ผมเองก็เริ่มเต้นด้วยความสุขเหมือนกัน คิดแค่นั้นเลย แล้วก็แค่อยากเห็นคนไทยได้มาลองเต้นเป็นคอมมูนิตี้เหมือนประเทศอื่นบ้าง อยากให้บรรยากาศของความรื่นเริงเกิดขึ้นที่นี่ ไม่ต้องเต้นเป็นหรือเต้นเก่งก็เข้าร่วมได้”
คำว่าไม่ต้องเต้นเป็นหรือเต้นเก่งที่โอ๊ตว่าหมายความตามนั้นจริงๆ เพราะทุกอีเวนต์ที่ชาว Bangkok Swing จัด พวกเขายินดีที่จะสอนสเต็ปเท้าเบื้องต้นให้ทุกคนก่อนเริ่มงานทุกครั้งแบบฟรีๆ พร้อมกับเหล่าอาสาสมัครนักเต้นที่กระจายตัวไปจับคู่กับนักเต้นหน้าใหม่ให้ลองปลดปล่อยความสนุกออกมา ก่อนจะเปิดเพลงแจ๊สจังหวะชวนแดนซ์ให้ได้ลองเต้นตามกัน เมื่อเต้นไปได้สักพัก เราก็เริ่มเห็นแต่ละคนด้นสด พลิกแพลงท่าทางไปตามความรู้สึกของเพลง และยังจับคู่ใหม่ๆ เพื่อผลัดกันโชว์ลีลาเฉพาะตัว ซึ่งภายหลังได้นำไปสู่มิตรภาพในคนกลุ่มที่มีใจรักในการเต้นสวิง และเพลงแดนซ์เป็นสายใยเชื่อมโยงเข้าหากัน
โน้ต-มาลียา โชติสกุลรัตน์ หนึ่งในหัวเรือคนสำคัญของ Bangkok Swing บอกว่าสายใยนี้เป็นเสน่ห์อีกอย่างของการเต้นสวิง “ตอนแรกทุกคนอาจจะไม่รู้จักกัน มาจากคนละพื้นที่เลย บางคนก็มาจากจังหวัดใกล้เคียงในภาคกลาง บางคนก็มาไกลจากสงขลา แถมยังมีคนต่างชาติที่สนใจการเต้นสวิงอีก สิ่งที่น่าสนใจคือเมื่อเราสอนพื้นฐานให้พวกเขาลองเต้นเองแล้ว คนของเราก็เลือกที่จะกระจายตัวไปเต้นกับเหล่านักเต้นมือใหม่โดยไม่ต้องมีใครบอก ที่จริงเราจะเต้นอยู่แค่ในวงคนคุ้นเคยแคบๆ ก็ได้ แต่เราไปได้ไกลกว่านั้น เราสามารถทำความรู้จักกับผู้คนใหม่ๆ ผ่านการเต้นสวิง ผ่านการจับคู่แล้วใส่ลีลากันไม่อั้น พอเต้นเสร็จแล้วมันว้าวมาก ทำไมคนที่ไม่รู้จักกันถึงเต้นเข้ากันได้ดีขนาดนี้ จากนั้นเราก็จะเริ่มจับกลุ่มคุย อย่างน้อยเรามีความรักในการเต้นสวิงเหมือนกันอย่างหนึ่งแหละ”
ซึ่งจริงอย่างที่โน้ตบอก ภายในงานเราพบผู้คนหลากหลายมากแถมแต่ละคนก็มาด้วยจุดประสงค์ต่างกัน บ้างก็มาเพื่ออยากสนุกกับการเต้นสวิงและดนตรีแจ๊ส บ้างก็อยากมาลองทำสิ่งใหม่ๆ บ้างก็อยากมาออกสเต็ปให้ลืมทุกข์ เช่น กลุ่มสาวๆ ที่เพิ่งผ่านประสบการณ์อกหักมากหมาดๆ ก็ได้เสียงเพลงและการเต้นเป็นตัวช่วยเสริมให้จิตใจกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม นับเป็นอีกทางเลือกในการบำบัดจิตใจที่สนุกดีทีเดียว เมื่อเห็นว่าตัวงานได้รับความสนใจทั้งจากคนที่เต้นเป็นและไม่เป็น ชาว Bangkok Swing เองก็มีกำลังใจที่จะสานฝันถักทอความสุขของการเต้นสวิงต่อไปด้วย
นอกจากกิจกรรมที่จัดโดยกลุ่ม Bangkok Swing เองแล้ว ก็ยังมีสื่ออื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศให้ความสนใจกับการเต้นสวิงในไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็น Documentary Club ที่ได้นำภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Alive and Kicking มาฉายและชวนโอ๊ตและโน้ตรวมถึงชาว Bangkok Swing มาพูดคุยพร้อมเปิดฟลอร์สวิงท้ายงาน หรือเร็วๆ นี้ที่เพจ Thaiconsent ได้ทำวิดีโอน่ารักเข้าใจง่ายเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศผ่านการเต้นสวิงออกมาแล้ว ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างฝรั่งเศส จีน อินเดีย และมาเลเซีย ก็พร้อมใจกันเขียนถึงปรากฏการณ์การเต้นสวิงในไทยที่กำลังเกิดขึ้นนี้ด้วย
เราเชื่อว่าการเติบโตก้าวเล็กๆ แต่มั่นคงนี้จะทำให้การเต้นสวิงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และยังสามารถสัมผัสเข้าถึงจิตใจของคนรักเสียงเพลงและการเต้นได้ด้วย หวังว่าการเต้นสวิงจะเป็นกิจกรรมทางเลือกใหม่ที่ได้รับทั้งความรักและความสนใจจากคนไทย มาร่วมสร้างประสบการณ์ความสนุกกันเถอะ เผื่อเราจะได้รู้จักและได้มาเต้นคู่กันในงาน Swing Dance ครั้งหน้า
อย่างไรก็ตาม ทั้งโอ๊ตและโน้ตยืนยันว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงความคิดเห็นและความรู้สึกของผู้เข้าร่วมกับกลุ่ม Bangkok Swing เท่านั้น พวกเขาไม่สามารถตอบแทนนักเต้นกลุ่มอื่นๆ ในไทยได้ เพราะแต่ละกลุ่มก็มีนิยาม ความหลงใหลและแรงบันดาลใจในการเต้นสวิงต่างกันไป ซึ่งความหลากหลายนี้ ก็นับเป็นความงามอีกอย่างของการเต้นสวิงก็ว่าได้
Facebook | Bangkok Swing
ภาพ ธนวัฒน์ อัศวชุติพงศ์