‘เมืองอุตสาหกรรมต้องไม่ลืมราก’ ผศ. ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ กับการขุดค้นทางโบราณคดีของเมืองระยอง

‘เมืองอุตสาหกรรมต้องไม่ลืมราก’ ผศ. ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ กับการขุดค้นทางโบราณคดีของเมืองระยอง

เมื่อได้ยินชื่อระยอง คุณนึกถึงอะไร? บ้างอาจบอกว่าสุนทรภู่ บ้างอาจบอกว่าพระเจ้าตากฯ และบ้างอาจบอกว่าเกาะเสม็ด แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่า ภายในจังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรมแห่งนี้ยังมีแง่มุมของประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมซุกซ่อนอยู่อีกมากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นมรดกที่มีชีวิต ผู้คนรุ่นใหม่ในจังหวัดต่างหันมาสนใจ พัฒนา และต่อยอด ให้คนทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมเชิงท่องเที่ยวให้ร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น 

“เราเข้ามาศึกษาเรื่องศิลปวัฒนธรรมในจังหวัดระยอง เพราะอยากให้เห็นว่าที่นี่ไม่ได้มีแค่โรงงานอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ โจทย์ของเราคือแม้ว่าระยองจะเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ทันสมัย แต่ก็ต้องไม่ลืมรากที่เป็นทางของตัวเอง” ผศ. ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ หัวหน้าโครงการวิจัยคลังข้อมูลสารสนเทศศิลปวัฒนธรรมระยอง ภายใต้การร่วมมือระหว่างคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC อธิบาย 

“ถ้าลองสังเกตเส้นทางเวลาคนมาเที่ยวฝั่งตะวันออก พวกเขาก็จะมาชลบุรีหรือจันทบุรี สามารถขับรถมาถึงจังหวัดเหล่านั้นได้โดยไม่ต้องผ่านระยองด้วยซ้ำ ที่นี่เหมือนเป็นเมืองผ่าน ในแง่ของประวัติศาสตร์โบราณคดีก็เช่นเดียวกัน เพราะหลักฐานก่อนประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เจอที่เมืองรอบๆ ทั้งนั้น แต่ที่ระยองพบอยู่แค่ 2 ที่ ระยองจึงกลายเป็นเมืองที่ไม่ค่อยมีคนศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม”

ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาประวัติศาสตร์ของเมืองไม่มากนัก แต่ก็ยังโชคดีที่มีนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นระยองอย่างคุณเฉลียว ราชบุรี ที่เขียนประวัติศาสตร์ระยอง กับมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ที่ได้ศึกษาเส้นทางการเดินทัพของพระเจ้าตากฯ จากเมืองแกลงสู่ธนบุรี 

“เมื่อเราเข้าไปศึกษา เราเลยพยายามรวบรวมทุกอย่าง เริ่มขุดค้นกันที่เมืองแกลงก่อน เอานักศึกษาภาควิชาโบราณคดีไปด้วยประมาณร้อยคน โดยให้ปีหนึ่งเป็นทีมสำรวจ ปีสองเป็นทีมขุดค้น ส่วนปีสามที่เป็นพี่สุดก็ให้คอยดูแลควบคุมทุกอย่าง รวมถึงการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ข้อมูลและหลักฐานที่พบ เรากินนอนกางเต็นท์กันอยู่ที่วัดราชบัลลังก์ประดิษฐาราม ซึ่งเป็นวัดสำคัญของระยอง พระแท่นราชบัลลังก์ของพระเจ้าตากฯ เคยตั้งอยู่ที่วัดนี้ และชาวบ้านเคยขุดพบดาบโบราณที่นี่

“พอมาอยู่วัด เราได้พูดคุยกับท่านเจ้าอาวาส มัคคุเทศก์ และคนในชุมชนรอบๆ ชาวบ้านน่ารักมาก ท่านเจ้าอาวาสก็ดูแลเป็นอย่างดี ท่านยังโทรไปบอกให้อนามัยมาตั้งศูนย์คอยบริการที่วัด เราเลยมีหมอมาตรวจอาการทุกๆ 2-3 วัน (หัวเราะ) มีครูโทรมาถามว่า อยากจะพานักเรียนมาให้เราสอน เผื่อเด็กๆ จะได้เป็นไกด์ท้องถิ่น เพราะสำหรับพวกเขามันคือการเปิดประวัติศาสตร์ เปิดความเป็นมาของพื้นที่ให้เห็น” ผศ. ดร.กรรณิการ์เล่าว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการขุดค้นทางโบราณคดีที่ระยอง เพราะก่อนหน้านี้ในช่วง พ.ศ. 2532-2533 กรมศิลปากรก็เคยมาขุดค้นหลักฐาน เพียงแต่ว่าตอนนั้นยังไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ในวงกว้างนักเมื่อเทียบกับครั้งนี้

“จากการลงพื้นที่วิจัยครั้งนี้ เราได้รับความรู้ใหม่ๆ ขุดพบหลักฐานใหม่ๆ ที่เราไม่เคยรู้เยอะมาก เราสามารถไล่เรียงประวัติความเป็นมาของระยองตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบันได้แล้ว โครงการนี้ไม่เพียงทำให้ความเป็นระยองชัดเจนขึ้น แต่ยังช่วยฝึกฝนกลุ่มนักวิจัยในการทำงานร่วมกันด้วย เราได้บ่มเพาะนักวิจัยน้อยผ่านนักศึกษาที่มาช่วยงาน” ผศ. ดร.กรรณิการ์ยิ้มกว้างระหว่างที่เล่า

“หลังจากการขุดค้นและรวบรวมข้อมูล ในปีที่ 2 ทางทีมงานได้ริเริ่มโครงการเผยแพร่ความรู้ขึ้นมา 2 โครงการหลักคือ โครงการคลังข้อมูลสารสนเทศ รวมข้อมูลทุกอย่างที่เราไปสำรวจมาขึ้นบนเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นในฐานะพิพิธภัณฑ์ดิจิทัลที่ทุกคนสามารถสัมผัสได้ อย่างที่สองคือ โครงการอบรมผู้เกี่ยวข้องที่สามารถสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้ นั่นคือครู ซึ่งได้รับความสนใจมาก เชื่อไหมว่าครูที่เราอบรมกว่า 50-60 คนน่ะ ที่เป็นคนระยองจริงๆ แทบจะไม่มีเลย ครูส่วนใหญ่เป็นคนที่ย้ายถิ่นมา รากความเป็นระยองเลยแทบจะไม่มี เราถามว่าแล้ววิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมีสอนไหม บางโรงเรียนก็บอกว่าไม่มี บางโรงเรียนก็บอกว่าให้เด็กๆ ไปถามจากชุมชนข้างๆ มันถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัย แต่มันไม่มีเลยที่จะตอบว่า ตกลงเราเป็นใคร ถ้าเราไม่ทำ เรื่องเหล่านี้ก็จะค่อยๆ หายไป เพราะมันไม่มีความทรงจำเหล่านี้อยู่” ผศ. ดร.กรรณิการ์เสริมว่า จริงๆ แล้วหัวใจของงานวิจัยครั้งนี้ไม่ใช่การตั้งคำถามจากความอยากรู้ของทีมนักวิจัย แต่เป็นการตั้งคำถามต่อสังคมว่า จะสร้างระยองยังไงให้เป็นที่รู้จักผ่านเครื่องมือ ความรู้ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ทีมนักวิจัยจะสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อจังหวัดระยอง

“นี่คืองานวิจัยรุ่นใหม่ เป็นงานวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ไม่ใช่การเดินเป็นเส้นตรงจากจุดเริ่มต้น แต่มองที่ปลายทางว่าเราจะสร้างจุดหมายอะไร มองว่าระยองต้องการอะไร แล้วเราจะไปตอบสนองความเป็นระยองตรงนั้นได้อย่างไรบ้าง นี่ไม่ใช่ยุคที่งานวิจัยหรือนักวิจัยจะเดินไปเรื่อยๆ วิจัยไปเรื่อยๆ แล้วผลลัพธ์สุดท้ายคืออยู่ในสมุดหนึ่งเล่ม ใครสนใจก็ค่อยไปค้นหาเอง ไม่ได้แล้ว มันหมดสมัยแล้ว มันเป็นเทรนด์ของต่างประเทศ และเป็นนโยบายของชาติด้วยซ้ำที่นักวิจัยจะต้องมองหาว่าสังคมต้องการอะไรแล้วเราถึงจะไปเสริมตรงนั้น”

กล่าวได้ว่า จุดมุ่งหมายของงานวิจัยครั้งนี้คือการทำให้งานวิชาการเข้าถึงคนทั่วไปได้ โดยผ่านความรู้ใหม่ๆ ทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม ที่ค้นพบจากการวิจัยครั้งนี้ ซึ่งจะถูกนำไปต่อยอดในโครงการ ‘เส้นทางแห่งความสุข’ ของทาง GC โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างแหล่งศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ รวมถึงส่งเสริมระยองให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และสถานที่เก่าแก่ในระยองที่จะถูกอนุรักษ์และขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ เรียกได้ว่าเป็น ‘มรดกที่มีชีวิต’ (Living Heritage)

“อาจารย์เราจะสอนว่า เวลาเข้าไปในชุมชน เราไม่ได้เข้าไปในฐานะผู้รู้หรืออาจารย์ แต่ต้องรู้ว่าจะเข้าไปในระดับไหน อย่างการวางตัวเราก็แต่งบ้านๆ ไป พูดภาษาชาวบ้าน หน้าตาผมเผ้าไม่ต้องดีมาก (หัวเราะ) อีกอย่างคือคนรู้จัก เรามีคนที่รู้จักในพื้นที่หรือยัง อย่างที่ GC ด้วยความที่บริษัทเขาอยู่ที่นั่น เขาเลยแนะนำคนในพื้นที่ให้เราได้ ไม่อย่างนั้นเราจะเข้าไม่ถึงเลย บางทีคนในพื้นที่เขาก็มีเหตุผลที่จะกลัว ไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลให้คนแปลกหน้านะ เราไม่เคยบอกชาวบ้านว่าเป็นนักโบราณคดี บอกเขาว่าเป็นนักเรียนมาศึกษาข้อมูล กระทั่งว่ามีโครงการขุดค้นนั่นแหละเขาถึงรู้ว่าเราเป็นนักโบราณคดี แต่ปกติเราก็แค่บอกว่ามาจากคณะโบราณคดีนะ อยากมาศึกษาเรื่องวิถีชีวิต เรื่องความเก่าแก่ของชุมชน ใช้ภาษาง่ายๆ อยู่ๆ มาบอกว่า เราเป็นนักโบราณคดีนะ เป็นนักธรณีวิทยานะ เขาก็จะงงๆ ส่วนเราก็จะดูคงแก่เรียนนิดหนึ่ง (หัวเราะ)”

ไม่ใช่เข้าไปในฐานะผู้เผยแพร่ความรู้ แต่ในฐานะผู้ที่พร้อมจะเปิดรับความรู้ใหม่ๆ คือสิ่งที่นักวิจัยต้องตระหนักอยู่เสมอเมื่อต้องลงศึกษาพื้นที่ใดๆ

“เราเข้าไปด้วยความน้อมรับ เพราะความอยากรู้ อยากเข้าใจว่าชาวระยองเป็นยังไง แต่ถ้าอยู่ๆ เราอัดข้อมูลใส่เขาเลย แน่นอนว่าต้องโดนต่อต้านแน่ๆ อย่างคุณเฉลียวท่านก็รับฟังนะ ยังชื่นชมเราด้วยซ้ำว่า เราค้นข้อมูลได้ละเอียดมากเลย มีบางเรื่องที่เขาไม่เคยรู้ คนที่รักท้องถิ่นจริงๆ เขาไม่หวงข้อมูลหรอก เขาจะเปิดกว้าง แล้วถ้าช่วยกันทำงาน ช่วยกันเติมเต็ม มันก็จะดีกับสังคมและประวัติศาสตร์ของระยอง

“เวลาพูดคุยกับชาวบ้าน บางครั้งเราจะเลือกคนที่อายุมากๆ เพื่อจะเล่าเรื่องได้ไกลที่สุด เพียงแต่มนุษย์ก็ไม่ได้เดินทางด้วยความเป็นกลางเสมอไป เราจะถูกใส่ข้อมูลอะไรมาอยู่ตลอด เพียงแต่ในทางมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เราจะให้เกียรติคนในสิ่งที่เขาเล่า เพราะสิ่งที่เขาเล่านั่นแหละคือประวัติศาสตร์ของเขาเอง ตัวเขานั่นแหละคือหลักฐานประเภทหนึ่ง ดังนั้นอคติที่จะไปบอกว่าเขาผิดน่ะ มันคือตัวนักวิชาการเอง เพราะฉะนั้นเวลาชาวบ้านเขาเล่าอะไรมา เราเลยให้เขาเล่าอย่างเต็มที่ ประโยชน์ที่ได้ไม่ใช่แค่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขาดีขึ้น แต่เขายังเชื่อเรามากขึ้นด้วย ส่วนเรื่องหลักฐานทางโบราณทางคดีจะเป็นยังไงไว้คุยกันอีกเรื่อง เพียงแต่เราต้องแจงให้หมดว่า หลักฐานว่าอย่างนั้น เอกสารว่าอย่างนี้ ก็แค่นั้นเอง เราก็แค่เล่าไปตามหลักฐานที่มีอยู่ ไม่จำเป็นต้องใส่อคติหรือฟันธงว่าจะต้องเป็นหนึ่งเท่านั้น แล้วซึ่งสุดท้ายคุณไม่จำเป็นว่าต้องเชื่อก็ได้ เราแค่อยากให้รู้ว่ามี เพราะถ้ามีแต่คนเชื่อนักวิชาการ แล้วอย่างนั้นงานวิชาการจะก้าวไกลได้อย่างไร”


Rayong Time Ago คือซีรีส์คอลัมน์เล่าคอนเซปต์มรดกที่มีชีวิต (Living Heritage) ของจังหวัดระยอง ผ่านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และสถานที่เก่าแก่ ซึ่งขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ โดยมีจุดตั้งต้นจากโปรเจกต์ที่ร่วมมือกันระหว่างคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ติดตามบทความต่อไปในเดือนสิงหาคม 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นิติพงษ์ การดี

ช่างภาพเจ้าของเพจ Rename. ที่ลงงานปีละครั้ง และมีความคิดว่า ถ้าได้กินกาแฟในตอนเช้าหนึ่งแก้ว ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ดี