Raya and the Last Dragon : ความรัก ความหวัง และความไว้ใจใต้ขนมังกรสีฟ้า

เดือนสิงหาคม 2562 ในงาน D23 Expo อีเวนต์ที่ The Walt Disney Studios จัดขึ้นทุกๆ 2 ปีเพื่อประกาศโปรเจกต์ใหม่ที่กำลังสร้างอยู่ ดิสนีย์ได้สร้างความประหลาดใจให้กับแฟนๆ ชาวเอเชียเป็นอย่างมากเพราะการเปิดตัว Raya and the Last Dragon แอนิเมชั่นเรื่องใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมของผู้คนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมทั้งเผยตัวผู้กำกับอย่าง Don Hall ผู้เคยกำกับ Big Hero 6 แอนิเมชั่นฮีโร่จากมาร์เวลที่ทำเงินมหาศาลเมื่อปี 2557 และ Carlos López Estrada ผู้กำกับชาวเม็กซิกัน-อเมริกันที่เพิ่งมาร่วมกำกับแอนิเมชั่นดิสนีย์เป็นเรื่องแรก 

ในงานเดียวกันนี้เอง ดิสนีย์ยังเปิดตัวภาพมังกร Sisu ที่รูปลักษณ์ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับมังกรในวัฒนธรรมจีน ทำให้แฟนๆ หลายคนสงสัยว่าหรือจริงๆ แล้วการที่ดิสนีย์หยิบเอาวัฒนธรรมของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาใช้จะเป็นเพียงการฉกฉวยวัฒนธรรม (cultural appropriation) เพื่อสร้างผลงานที่มีความเป็นเอเชียหรือไม่? หรือที่เน้นหนักไปทางศิลปะของจีนเพราะต้องการจะขายให้กับชาวจีนมากกว่าหรือเปล่า?

สิ่งนี้เป็นคำถามที่อยู่ในใจเรานับตั้งแต่วันที่ประกาศเปิดตัวภาพยนตร์ จวบจนถึงวันที่ตัวอย่างของแอนิเมชั่นเรื่องนี้เผยแพร่ ถึงแม้ว่าทางค่ายจะมีการโปรโมตว่าหนึ่งในทีมงานของดิสนีย์มีคนไทยเป็น head of story ก็มิอาจคลายข้อข้องใจของเราลงได้

ยิ่งไปกว่านั้น ในฐานะคนที่เติบโตมาในภูมิภาคนี้ เรามองว่าวัฒนธรรมจากประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและแตกต่างกันมาก จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายทีมงานออกแบบของดิสนีย์ในการหยิบใช้ศิลปะจากประเทศต่างๆ มาใส่ในหนังอย่างลงตัวและทำให้ผู้คนไม่รู้สึกว่าถูกฉกฉวยวัฒนธรรม มากกว่านั้น ดิสนีย์ยังต้องหลีกเลี่ยงดราม่าที่อาจเกิดขึ้นเหมือนกับที่เคยหลีกเลี่ยงการใช้ตัวละคร ‘มังกร’ ตอนสร้าง Mulan ฉบับ live-action เพราะชาวจีนส่วนใหญ่มองว่าเป็นการนำสัตว์ในตำนานซึ่งเปรียบเสมือนเทพของชาวจีนไปทำให้เป็นตัวตลก

หากเปรียบเทียบความคลางแคลงใจทั้งหมดที่กล่าวมา มันคงเหมือนเวลาที่เราเดินเข้าร้านอาหารไทยในต่างประเทศแล้วมีเจ้าของร้านชาวต่างชาติออกมาต้อนรับ เรามักกังวลว่ารสชาติของอาหารจะไม่ถูกใจเหมือนเคยกิน แต่หลังจากกินหมดต้องบอกเลยล่ะว่าอาหารจานนี้กลับมีรสชาติที่ถูกใจเราอย่างน่าประหลาด แม้รสชาติจะไม่ใช่แบบดั้งเดิม แต่มันถูกยกระดับโดยที่ยังคงเอกลักษณ์โดดเด่นและชูความเป็นเลิศของไทย (และเอเชีย) ไว้ได้

Raya and the Last Dragon ก็เป็นเช่นนั้น หลังจาก end credit ขึ้นบนจอภาพยนตร์เบื้องหน้า ทุกข้อสงสัยของเราได้ถูกกะเทาะออก และแทนที่ด้วยความรู้สึกประทับใจปนปลาบปลื้ม แม้พล็อต ‘เจ้าหญิงของเผ่ามีภารกิจตามหาอัญมณีเพื่อช่วยคนที่เธอรัก’ จะฟังดูสุดแสนธรรมดา แต่ Raya and the Last Dragon มีอะไรมากกว่านั้น

สิ่งที่เราชอบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องของการหยิบศิลปวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาประยุกต์ใช้ได้อย่างลงตัว ดิสนีย์ทำให้รู้สึกว่าสตูดิโอมีความเข้าใจจนสามารถถ่ายทอดมันให้แตกต่างจากวัฒนธรรมของชาวเอเชียภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะ ‘จีน’ ซึ่งมักเป็นภาพที่ชาวตะวันตกมองชาวตะวันออกแบบเหมารวม

สัตว์มหัศจรรย์และแม่น้ำที่อยู่ Raya and The Last Dragon

ทีมงานเลือกที่จะสร้างโลกขึ้นมาใหม่โดยไม่ต้องยึดโยงกับโลกของความเป็นจริง โดยตั้งใจผสมผสานศิลปวัฒนธรรมของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกๆ ประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องเจาะจงว่าเป็นวัฒนธรรมจากที่ไหน ด้วยเหตุนี้ Kumandra–นครแห่งสายน้ำ จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นจากแรงบันดาลใจของแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของชาวอาเซียน

หนังสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตที่ยึดโยงกับแม่น้ำ แม้ภายหลังที่อาณาจักรเกิดความขัดแย้งจนทำให้ผู้คนทำสงครามและแยกตัวออกเป็นเผ่า 5 เผ่าตามอวัยวะของมังกร ได้แก่ Fang (เผ่าเขี้ยว), Heart (เผ่าหัวใจ), Spine (เผ่าสันหลัง), Talon (เผ่ากรงเล็บ) และ Tail (เผ่าหาง) ซึ่งสถานที่ตั้งของชนเผ่าต่างๆ ยังสะท้อนถึงสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่หลากหลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ทะเลทรายที่คล้ายทะเลทรายมุยเน่ ประเทศเวียดนาม, ป่าไม้เขตร้อนที่มีอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, พื้นที่ราบเหมาะแก่การเพาะปลูก ซึ่งเห็นได้หลายที่ในไทย ไปจนถึงพื้นที่ที่มีภูมิอากาศหนาวเย็นที่คล้ายกับบริเวณตอนเหนือของประเทศพม่าและเวียดนาม  

นอกจากพื้นที่และลักษณะภูมิอากาศที่หลากหลาย ดิสนีย์ยังตั้งใจให้คูมันตราเป็นดินแดนที่ผสมผสานความแฟนตาซีแบบที่เด็กๆ ชอบ เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นสัตว์วิเศษมากมายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสัตว์ที่เราคุ้นตา ไม่ว่าจะเป็น Tuk Tuk (ตุ๊กตุ๊ก) สัตว์เลี้ยงและพาหนะของรายาซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘กิ้งกือกระสุนพระอินทร์’ สัตว์ที่สามารถม้วนตัวเป็นก้อนกลมๆ คล้ายลูกบอล, ‘ลิ่น’ หรือ ‘ตัวนิ่ม’ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งที่ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ด หรือ Onkis เพื่อนตัวเล็กของ Noi (น้อย) ที่มีรูปร่างคล้าย ‘ลิงแสม’ แต่มีหนวดและหูเหมือนครีบของ ‘ปลาดุก’

ถ้าจะมีตัวไหนที่คล้ายกับสัตว์ในโลกความจริงก็คงจะมีเพียงแค่ ‘กุ้ง’ หนึ่งในวัตถุดิบอาหารของ Boun (บุญ) เด็กชายผู้เปิดร้านขายโจ๊กบนเรือของตัวเองเท่านั้น

Raya and The Last Dragon

ความเชื่อใต้ขนมังกรสีฟ้า Raya and The Last Dragon

ตัวละคร ‘มังกร’ ในเรื่องเปรียบเสมือนเทพของชาวคูมันตรา ซึ่งเป็นทั้งผู้ให้กำเนิดสายน้ำและคอยปกป้องประชาชนจากอันตรายต่างๆ จุดนี้สะท้อนความเชื่อดั้งเดิมของชาวอาเซียนก่อนที่ศาสนาต่างๆ จะเข้ามาเผยแพร่ เพราะพวกเขานับถือสิ่งสมมติที่เป็นตัวแทนของธรรมชาติ

ยังไงก็ตาม ‘มังกร’ ใน Raya and the Last Dragon ถือเป็นมังกรสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในตำนานความเชื่อไหน ถึงแม้ทางสตูดิโอจะระบุว่าได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘พญานาค’ ทว่าในแง่ดีไซน์ก็จะเห็นได้ว่ามีการจับนู่นผสมนี่ ทั้งลำตัวที่ประดับด้วยขนแทนที่จะเป็นเกล็ดเหมือนพญานาค และขาแบบตัว ‘เหรา’ สิ่งมีชีวิตในดินแดนหิมพานต์ที่มีลักษณะคล้ายพญานาคแต่มีขา ซึ่งเราเชื่อว่านอกจากพญานาคของไทย ทีมงานอาจได้แรงบันดาลใจมาจากตำนานที่เกี่ยวกับงูในสายน้ำของประเทศอื่น เช่นตำนานของ Bakunawa งูทะเลขนาดใหญ่ตามความเชื่อของชาวฟิลิปปินส์

Raya and The Last Dragon

นอกจากนี้ เราสังเกตว่าทีมงานพยายามใส่สัญลักษณ์ของศาสนาที่ชาวอาเซียนนับถือเข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพนมมือไหว้ของชาวพุทธ หรือแม้แต่ท่าทางของรูปปั้นหินยังมีลักษณะคล้ายกับท่าขอพรในศาสนาอิสลาม รวมทั้งสัญลักษณ์ที่ปรากฏในฉากอัญเชิญซิซุก็มีลักษณะคล้ายกับยันต์โบราณของไทยอีกด้วย

Raya and The Last Dragon

ภาพที่คุ้นตา ชื่อที่คุ้นเคย Raya and The Last Dragon

แม้หลายคนที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้จะรู้สึกว่าเนื้อเรื่องอาจจะไม่ได้แปลกใหม่หรือแตกต่างไปจากหนังแนวผจญภัยทั่วๆ ไปที่เคยมีมา แม้ไม่อาจกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าเป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดหรือสนุกที่สุด แต่ก็นับว่าทีมเขียนบทและทีม visual story หรือ storyboard ร่วมกันถ่ายทอดความเป็นอาเซียนออกมาได้เป็นอย่างดี นอกจากส่วนของเส้นเรื่องหลักแล้ว มุกตลก เส้นเรื่องรอง รวมถึงวิชวลต่างๆ ล้วนถูกออกแบบมาให้ถูกจริตชาวอาเซียนซึ่งมีความคุ้นชินกับการดูอนิเมะ เช่น การทำภาพเอฟเฟกต์โดยใช้เทคนิค 2.5D แบบเรื่อง Spider-Man: Into the Spider-Verse ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับอนิเมะ 2D ของญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งการ parody อนิเมะในตำนานอย่าง Dragon Ball เป็นต้น

Raya and The Last Dragon

สิ่งที่เราชอบที่สุดในการดูภาพยนตร์เรื่องนี้คือดูวิธีการผสมผสานศิลปะจากชาติต่างๆ รวมเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว สถาปัตยกรรมต่างๆ ล้วนมีการหยิบยืมองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ จากหลายๆ ชาติ เช่น ปราสาทของเมือง Heart ก็เป็นการผสมผสานหลังคาโดมแบบมัสยิดเข้ากับสถาปัตยกรรมการตกแต่งภายในที่คล้ายคลึงกับวัดของศาสนาพุทธ หรือตลาดน้ำในเมือง Talon ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากตลาดน้ำในประเทศเวียดนาม ลาว และไทย และแต่งเติมโคมไฟซึ่งเป็นศิลปะของทางล้านนาและฟิลิปปินส์อีกด้วย  

ความพิเศษยังถูกซ่อนอยู่ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างการตั้งชื่อตัวละครที่หยิบยืมชื่อจากหลายๆ ภาษา เช่น Raya เป็นชื่อที่มีความหมายทั้งในภาษาบาฮาซาและภาษาไทย หรือ Noi, Boun, Thong, Benja, Arthittaya และ Chai ล้วนเป็นภาษาที่ทั้งคนไทยและคนลาวคุ้นเคย และยังมีตัวละครในภาษาอื่นๆ เช่น Namari, Dang Hai เป็นต้น นอกจากชื่อตัวละครแล้ว ทีมงานยังใช้คำในภาษาต่างๆ ในบทพูด เช่น ป๊า, บินตุรี และเดบ ลี รวมถึงบทสวดที่ใช้อัญเชิญซิซุก็เป็นการใช้ภาษาเก่าแก่หลายๆ ตระกูลมาผสมผสานกัน

Raya and The Last Dragon

คนที่ใช่ทำอะไรก็(ได้)เป็นเจ้าหญิง

ทุกครั้งที่เราเห็นตัวละครหญิงในหนังดิสนีย์เรื่องใหม่ เรามักคิดว่านี่คือเจ้าหญิงดิสนีย์ต่อไป แต่จริงๆ มันไม่ได้เป็นแบบนั้น

กลุ่มเจ้าหญิงดิสนีย์ (Disney Princess) ถือเป็น Trade Mark หรือเครื่องหมายการค้าที่ทำเงินให้ดิสนีย์ได้อย่างมหาศาล และต้องได้รับการสถาปณา ย้อนกลับไปในปี 2543 Andy Mooney อดีตประธานของบริษัท Disney Consumer Products ได้สังเกตเห็นเด็กๆ ที่มาชม Disney On Ice แต่งตัวและสวมเครื่องประดับเป็นเจ้าหญิงคนต่างๆ เขาจึงปิ๊งไอเดียอยากจะก่อตั้ง ‘กลุ่มเจ้าหญิงดิสนีย์’ ขึ้นให้เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งไม่ใช่ทุกตัวละครที่เป็นเจ้าหญิงจะได้รับการสถาปณา

ในปัจจุบันสมาชิกในกลุ่มเจ้าหญิงดิสนีย์ประกอบด้วย Snow White, Cinderella, Aurora, Ariel, Belle, Jasmine, Pocahontas, Mulan, Tiana, Rapunzel, Merida, และ Moana (ส่วน Anna และ Elsa ไม่ถูกนับรวมอยู่ในเจ้าหญิงดิสนีย์ เนื่องจากพวกเธอมี Trademark หรือ เครื่องหมายการค้าแยกเป็นของตัวเอง)

หากพิจารณาถึงคุณสมบัติต่างๆ ของการเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์ อย่างการเป็นตัวละครเอกผู้หญิงของเรื่อง, เป็นเชื้อพระวงศ์โดยสายเลือดหรือจากการอภิเษกสมรส หรือเป็นบุคคลที่ทำความดีให้กับประเทศของตัวเอง นับว่า Raya เป็นตัวละครที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเพียงพอแก่การเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์และสามารถร่วมกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มได้

ยังไงก็ตาม มีปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งข้อที่แอบแฝงอยู่ภายในคุณสมบัติทั้งปวง นั่นคือความป๊อปปูลาร์หรือความชอบจากแฟนๆ เพราะกลุ่มเจ้าหญิงดิสนีย์มีความใกล้เคียงกับโมเดลธุรกิจไอดอลเกาหลีที่หากใครได้รับความนิยมน้อยก็จะไม่ได้เข้าร่วมวงด้วย เหมือนกรณีของ Keda จากเรื่อง Atlantis ผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนเหมาะกับการเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์ แต่เนื่องจากภาพยนตร์ไม่ทำรายได้เท่าที่ควร และตัวเธอเองก็ไม่ได้คะแนนนิยมมากเท่าไหร่ เจ้าหญิง Keda จึงเป็นเหมือนเจ้าหญิงดิสนีย์ที่ถูกลืม

แต่หาก Raya ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์จริง (ซึ่งมีโอกาสค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นตัวแทนของชาวอาเซียน) จะถือว่าเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์ที่แหกขนบการเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์ในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เธอมีคู่หูเป็นมังกรเพศหญิง เพราะที่ผ่านมาเจ้าหญิงทุกคนจะต้องมีลิ่วล้อ (Side Kicks) เป็นตัวละครเพศชายทั้งหมด การผจญภัยที่มีตัวละครหลักเป็นเพื่อนซี้ผู้หญิงสองคนจึงถือเป็นสิ่งใหม่และแตกต่าง

Raya and The Last Dragon

หากมองในมุมของธุรกิจแอนิเมชั่น การที่ดิสนีย์หยิบเอาศิลปวัฒนธรรมของบ้านเรามานำเสนอนับว่าเป็นการเผยแพร่และช่วยโปรโมตแบบเนียนๆ และหากภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้ประสบความสำเร็จก็อาจทำให้คอนเทนต์ที่มาจากภูมิภาคนี้สามารถเข้าถึงผู้ชมในระดับสากลได้ง่ายขึ้น ยังไงก็ตาม ถ้าแปลตามความหมายในพจนานุกรมไทย คำว่า Raya หมายถึง ผู้นำ หรือจริงๆ แล้วทางสตูดิโอดิสนีย์อาจต้องการผู้นำในการเข้าสู่ตลาดแห่งใหม่อย่างอาเซียน ซึ่งมีประชากรรวมทุกประเทศสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ท้ายที่สุดนี้ ท่ามกลางกระแสความเกลียดชังคนเอเชียที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในอเมริกา น่าสนใจว่า Raya and the Last Dragon จะสามารถเป็น ‘ผู้นำ’ ที่สร้างมุมมองใหม่ๆ และผลักดันชาวเอเชียให้เท่าเทียมกับชนชาติอื่นๆ ได้หรือไม่ หรือบางทีคำถามที่น่าสนใจกว่านั้นอาจคือคำถามที่ว่า เราจะอยู่ร่วมกับคนที่แตกต่างกับเราในสังคมเดียวกันได้ยังไง

“มันอาจฟังดูเป็นไปไม่ได้ แต่บางครั้งคุณต้องเป็นคนเริ่ม แม้ว่าคุณจะไม่พร้อมที่จะเริ่มก็ตาม” รายาว่าไว้อย่างนั้น

บางทีมันอาจเริ่มที่ความเชื่อใจ แม้แต่ในสถานการณ์ที่ไม่น่าเชื่อใจที่สุดก็ตาม


อ้างอิง

movieweb.com

time.com

AUTHOR