อายุ 22 หลังเรียนจบต้องรีบหางานทำให้ได้
อายุ 30 ต้องแต่งงาน สร้างครอบครัวกับใครสักคน
อายุ 40 ต้องประสบความสำเร็จและมีการงานที่มั่นคงได้แล้ว
ปกติแล้วทุกคนมักมีความคาดหวังต่อตัวเองซึ่งเราใช้เป็นเป้าหมายสำหรับดำเนินชีวิต แต่ทุกวันนี้สิ่งที่เพิ่มความกดดันไม่แพ้กันคือความคาดหวังจากสังคมที่มักเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น แม้จะรู้ว่าแต่ละคนมีช่วงเวลาประสบความสำเร็จไม่เท่ากัน แต่ก็อดไม่ได้ที่จะนำมาเปรียบเทียบกับตัวเอง และเมื่อไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง หลายคนรู้สึกผิดหวังจนอาจถึงขั้นโทษตัวเองว่าไม่เก่งพอ
แต่ก่อนที่จะโบยตีตัวเอง เราอยากให้คุณหยุดพักและลองสังเกตตัวเองสักนิดว่ามีสัญญาณว่าคุณกำลังกดดันตัวเองมากเกินไปไหม เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนให้เราหันกลับมาใจดีกับตัวเองอีกครั้ง
เสียงพูดในหัวมีแต่เรื่องเชิงลบ
วิเนย์ ซาแรงกา (Vinay Saranga) จิตแพทย์และผู้ก่อตั้ง Saranga Comprehensive Psychiatry กล่าวว่าสัญญาณแรกของคนที่กำลังกดดันตัวเองมากเกินไปคือเมื่อพวกเขาเริ่มใช้ภาษาเชิงลบและมองโลกในแง่ร้ายเพื่ออธิบายชีวิตของตัวเอง เช่น “ฉันไม่ดีพอ” “ฉันอยากจะดีให้ได้เท่ากับ…”, “อะไรก็ไม่เป็นไปตามที่ฉันคิด”
คุณรู้สึกผิดหวังและโกรธอย่างท่วมท้นเมื่อไม่เป็นตามที่คาดหวัง
เมื่อคุณไม่ได้เป็นตามที่คาดหวัง คุณจะโกรธและอารมณ์เสีย นอกจากนี้ยังต้องต่อสู้กับความผิดหวังและความเชื่อว่าไม่มีอะไรจะดีพอ ส่งผลให้คุณคาดหวังกับตัวเองน้อยลง เพราะคุณทำตามมาตรฐาน (ที่สูง) ของตัวเองไม่ได้ทำให้คุณรู้สึกล้มเหลว และคาดหวังในตัวเองน้อยลงในที่สุด
คุณทรุดตัวและจมจ่อมบนที่นั่งอยู่บ่อยครั้ง
เอมี คัดดี (Amy Cuddy) นักจิตวิทยาสังคมอธิบายว่าความรู้สึกของคุณส่งผลต่อท่าทางด้วย ถ้าคุณรู้สึกไร้พลังก็อาจจะงอตัวและทำตัวให้เล็กที่สุด แต่ถ้าคุณรู้สึกมีพลัง คุณก็มีแนวโน้มยืนตัวตรงด้วยใบหน้าเชิดขึ้น บางครั้งความเครียดก็อาจแสดงออกเป็นอาการทางร่างกาย เช่น ยิ่งเครียดมากเท่าไร่ก็ยิ่งปวดหัวมากเท่านั้น นอกจากนี้ความเครียดอาจส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง และทำให้ป่วยบ่อยขึ้นด้วย
การนอนและความเหนื่อยล้าผิดปกติ
การพยายามใช้ชีวิตตามความคาดหวังของใครก็ตาม ทั้งตัวเองและคนอื่น ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าได้ บางคนที่ฝืนตัวเองมากเกินไปอาจจะหลับสนิทในตอนกลางคืน ในขณะที่บางคนหากหมกมุ่นกับตัวเองมากเกินไปก็อาจทำให้กังวลและนอนไม่หลับไปเลย
คุณเริ่มตั้งคำถามว่าหรือจะไม่มีใครชอบคุณจริงๆ
การที่เราเอาแต่วิจารณ์ตัวเองส่งผลต่อความรู้สึกที่คุณมีต่อตัวเอง ซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อวิธีที่คนอื่นมองคุณไปด้วย เพราะเมื่อคุณเริ่มไม่ชอบตัวเอง คุณก็คาดหวังว่าคนอื่นจะไม่ชอบคุณ
หากคุณมีอาการด้านบน อาจเป็นสัญญาณให้คุณเริ่มหันมาดูแลตัวเองและหยุดกดดันตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้
ไม่ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ
สิ่งที่ทำให้หลายคนกดดันตัวเองมากเกินไปคือมักเป็นคนที่มีนิสัยชอบความสมบูรณ์ เชื่อว่าจุดบกพร่องคือความล้มเหลวและมักยึดติดกับข้อผิดพลาด ดังนั้นเพื่อลดความเครียด คำพูดที่ว่า “เราทำดีที่สุดแล้ว” ย่อมดีกว่า “เราทำดีได้อีก”
ใช้ชีวิตอย่างสมดุล
อาการกดดันตัวเองหมายถึงการที่คุณอยู่กับความเครียดมากเกินไป ดังนั้นคุณอาจเริ่มต้นด้วยการหันมาใส่ใจความรู้สึกในช่วงจบวัน และใช้เวลากับการออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ นอกจากนี้คุณควรตั้งเป้าหมายแบบที่คุณสามารถทำได้โดยไม่ต้องเหนื่อยเกินไป เพื่อไม่ให้รู้สึกผิดกับตัวเองด้วย
อนุญาตให้ตัวเองได้รู้สึกสิ่งต่างๆ แล้วจะรู้สึกดีขึ้น
การเก็บอารมณ์หรือไม่ยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า ไม่ต่างจากการซุกปัญหาไว้ใต้พรมและส่งผลเสียต่อสุขภาพได้มากกว่าที่คุณคิด ดังนั้นช่วงเวลาเครียดคุณอาจเริ่มสังเกตอารมณ์ตัวเองด้วยการจดบันทึก พูดคุยกับเพื่อนสนิทและนักบำบัด เพื่อให้คุณอารมณ์ดีขึ้นและก้าวต่อไป
ยอมรับจุดอ่อนของตัวเองและคนอื่น
พยายามอย่ายึดถือสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องส่วนตัว และทำความเข้าใจการกระทำในมุมมองของคนอื่นๆ เรียนรู้ที่จะให้อภัยตัวเองและผู้อื่นสำหรับความผิดพลาดในอดีต และเข้าใจว่าไม่ว่าใครก็ผิดพลาดกันได้
แน่นอนว่าความกดดันในระดับที่พอรับไหวทำให้เรามีแรงฮึดสู้กับปัญหา และเมื่อผ่านไปได้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับตัวเราด้วย แต่การตั้งมาตรฐานสูงเกินไปและแบกรับความความกดดันอยู่ตลอดย่อมส่งผลเสียต่อตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจ การยอมรับตัวเองและเข้าใจตัวเองทั้งข้อดีและข้อเสีย จึงอาจเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกดีกับสิ่งที่ตัวเองเป็นโดยไม่จำเป็นต้องกดดันตัวเองให้ใช้ชีวิตตามความคาดหวังของใคร ตามที่ใครบางคนมักพูดเสมอว่า “ดอกไม้มีเวลาบานเป็นของตัวเอง”
อ้างอิง