นิทรรศการ ‘เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม’ เล่าประวัติศาสตร์ไทย ผ่านบันทึกลายลักษณ์ ตั้งแต่ใบลาน กล่องไม้ขีดไฟ แผนที่ ไปจนถึงอาคาร

นิทรรศการ ‘เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม’ เล่าประวัติศาสตร์ไทย ผ่านบันทึกลายลักษณ์ ตั้งแต่ใบลาน กล่องไม้ขีดไฟ แผนที่ ไปจนถึงอาคาร

“รู้ว่ามันมีมากกว่าที่เห็น”

“สิ่งสำคัญไม่สามารถเห็นและรับรู้ด้วยตา”

“อย่าตัดสินหนังสือจากปก”

วลีเหล่านี้ล้วนพูดถึง ‘การมอง’ ซึ่งเป็นวิธีหลักในการรับข้อมูลและข่าวสารของมนุษย์ 

หากสิ่งเหล่านั้นมีรายละเอียดมากกว่าสิ่งที่สายตาสัมผัสได้

หากดวงตาของมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นในสิ่งที่เป็น…
เราจึงต้องทำความรู้จักเรื่องราวที่มาก่อนจะตัดสินใจจากภายนอกที่เห็น

สิ่งที่มองเห็นและสิ่งที่มองข้าม

สิ่งที่เรามองเห็น มักเป็นสิ่งที่เข้ามากระทบสายตา หรือไม่ก็มองหาจนเจอ สิ่งที่มองข้าม มักเป็นของไม่คุ้นตา สิ่งที่นึกไม่ถึงหรือแตกต่างจากคำตอบในใจ

วันก่อนเราไปชมนิทรรศการ ‘เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม’ ที่จัดขึ้นเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ปี 2567 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร บอกตามตรงว่านิทรรศการนี้เหนือความคาดหมายโดยสิ้นเชิง

เราเคยคิดว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นสถานที่จัดแสดงวัตถุโบราณเก่าๆ เศษซากความเจริญทางอารยธรรม และวัตถุต่างๆ ที่ไม่อยู่ในความสนใจเท่าไรนัก จะแวะไปก็ต่อเมื่อมีกิจกรรมทัศนศึกษาของโรงเรียนเท่านั้น

แต่เมื่อก้าวเข้าไปในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานครในตอนนั้น สิ่งที่พบเห็นเป็นอย่างแรกคือ ชาวต่างชาติต่อแถวซื้อบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์เป็นจำนวนมาก แล้วยังมีผู้สูงอายุและคนรุ่นใหม่เดินทางเข้ามาชมนิทรรศการจนแน่นขนัด

ส่วนเราตั้งใจไปชมนิทรรศการนี้ด้วยแว่นตาของคนเขียนหนังสือ ซึ่งมีความประสงค์ที่จะแชร์สิ่งดีๆ ให้กับผู้อ่าน และอยากรวบรวมเนื้อหา พร้อมเก็บภาพมาฝากทุกคน เราใช้เวลาในนิทรรศการเกือบสองชั่วโมง ขนาดสายตาฝ้าฟาง มองไม่ชัด ในที่มีแสงน้อย แล้วยังเพิ่งมีอาการเวียนศีรษะตอนก่อนหน้านี้

ต้องยอมรับว่าสิ่งของที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้ เป็นสิ่งที่เรา ‘มองข้าม’ เกือบทั้งหมด

เนื้อหานิทรรศการ

นิทรรศการ ‘เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม’ บอกเล่ารายละเอียดสิ่งของที่มีคุณค่าจากมุมมองของภัณฑารักษ์ นักประวัติศาสตร์และนิยามความเป็นมรดกไทย

ส่วนแรกของนิทรรศการนำเสนอเรื่องราวของศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งเก็บรักษาไว้ในสภาพดีมาก จนมองแวบแรก ไม่แน่ใจว่าเป็นศิลาจารึกจริงๆ แล้วยังมีตำนานพระธาตุพนมบนหนังสือใบลาน ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของพระพุทธเจ้า รอยพระพุทธบาท และพญานาคที่อยู่ในความเชื่อของผู้คนแถบตอนกลางลุ่มน้ำโขงโบราณ 

หนังสือใบลานพบมากในภาคอีสานของไทยและประเทศลาวเมื่อหลายร้อยปีก่อน ส่วนหนึ่งของนิทรรศการ จัดแสดงอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับจารใบลาน กว่าจะเป็นหนังสือใบลาน 1 เล่ม ต้องผ่านกรรมวิธีมากมาย ทั้งการตีเส้นหนังสือด้วยเส้นด้ายที่ทาด้วยเขม่าบางๆ การใช้เหล็กจารกรีดใบลานให้เป็นร่องอักษร การใช้ลูกประคบชุบเขม่าผสมน้ำมันยาง เพื่อฝังเขม่าลงไปในร่องอักษร ไปจนถึงการใช้ทรายละเอียดคั่วหรือตากแดดในการลบคราบเขม่าบนใบลาน 

เราลองนึกภาพตามจากมุมมองของคนเขียนและคนทำหนังสือ แต่ละขั้นตอนมีความละเอียดอ่อน ค่อยเป็นค่อยไป และใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก เลยอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หนังสือใบลานหายไปจากโลกที่ขับเคลื่อนทุกอย่างด้วยความรวดเร็วและปริมาณที่ได้จากการทำงานในแต่ละครั้ง

ส่วนใครที่ชื่นชอบงานศิลปะ นิทรรศการนี้มีตัวอย่างวัตถุดิบจากธรรมชาติที่นำมาทำสี เขียนลงในสมุดไทยโบราณ หลายอย่างยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน เช่น ยางไม้สำหรับเชื่อมสีให้ติดกับกระดาษ ชาดที่ใช้ทำสีแดง และดินสอดำที่ทำจากผงถ่าน

Melting Pot ของโลกตะวันออก

อีกประเด็นสำคัญที่พบเห็นได้ตลอดนิทรรศการคือ การหล่อหลอมทางอารยธรรมและวัฒนธรรมของประเทศไทย

อย่างที่ทราบกันดี ไทยเราติดต่อสื่อสารกับนานาประเทศมาตั้งแต่หลายร้อยปีก่อน ในช่วงแรกๆ ไทยรับความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมมาจากอินเดีย ผ่านวรรณคดีเรื่องรามายณะ ขนบการเขียนตัวอักษรจากอารยธรรมขอม วิธีสื่อสารภาษาด้วยตัวอักษรของล้านนา ความเชื่อของศาสนาอิสลามผ่านคัมภีร์อัลกุรอาน และปรัชญาทางความคิดแบบจีนผ่านวรรณคดีเรื่องสามก๊ก 

การผสมผสานรายละเอียดทางวัฒนธรรมจากประเทศ ดินแดนและแคว้นต่างๆ ช่วยให้ไทยเป็น Melting Pot ของโลกตะวันออก เราจึงพบเห็นรายละเอียดจากต่างวัฒนธรรมได้แทบทุกที่ในประเทศไทย ตั้งแต่ในวัด ศาสนสถาน อาคาร และจารึกต่างๆ เป็นต้น

ในช่วงประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ไทยติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตกเพิ่มมากขึ้น จากโปรตุเกสและฝรั่งเศสในสมัยอยุธยา ไทยลงนามในสนธิสัญญากับมหาอำนาจในยุโรป เช่น อังกฤษ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกาเป็นต้น 

สนธิสัญญาเบาว์ริง สนธิสัญญาแวร์ซายส์ เอกสารของหมอบลัดเลย์ เครื่องส่งสัญญาณมอร์ส และอีกนับไม่ถ้วนที่พบเห็นในหนังสือเรียน ล้วนมีให้ชมในนิทรรศการนี้

ในขณะเดียวกัน ไทยก็เชื่อมสัมพันธ์ทางการฑูตจากการเสด็จประพาสยุโรปของร.5 พระบรมวงศ์สานุวงศ์และผู้ติดตามซึ่งเป็นตัวแทนคนไทยรุ่นแรกๆ ไปศึกษาวิทยาการในต่างประเทศ

นอกจากเป็นเรื่องทางการฑูตและการพาณิชย์แล้ว ไทยยังเรียนรู้และรับวิทยาการตะวันตกมาใช้ในด้านการออกแบบ สถาปัตยกรรม การวางผังเมือง การก่อสร้างถนน ฯลฯ กรมศิลปากรได้รับการถ่ายทอดวิชาทางด้านศิลปะจากอิตาลี สถาปนิกไทยเดินทางไปศึกษาศาสตร์การออกแบบก่อสร้างจากต่างประเทศ กรมโทรเลขและกรมไปรษณีย์เรียนรู้เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารทางไกล 

มุมมองเรียบๆ ในการถ่ายทอดลักษณะของบ้านเมืองบนแผนที่ซึ่งวาดขึ้นในสมัยอยุธยา ได้รับการพัฒนาให้ละเมียดละไม ตามศาสตร์การวาดแผนที่แบบตะวันตก 

แนวคิดด้านการสร้างความโดดเด่นประจำเมืองถูกการนำมาใช้ในการออกแบบตราประจำจังหวัด

ลักษณะของพระราชวังและอาคารสำคัญได้รับอิทธิพลจากรูปแบบสถาปัตยกรรมยุโรป การตกแต่งภายในพระราชวังมีกลิ่นไอตะวันตก

แล้วยังมีวัตถุจัดแสดงซึ่งบ่งบอกถึงลักษณะการใช้ชีวิตของผู้คนในอดีต เช่น ฉลากซองบุหรี่ซึ่งเคยแสดงถึงสปิริตความรักชาติในเวลานั้น ภาพวาดบนกลักไม้ขีดไฟซึ่งระยะแรกมาจากประเทศสวีเดนและญี่ปุ่น รวมถึงฉลากเครื่องหอมของชนชั้นสูง ซึ่งแพร่ขยายมายังคนในวงกว้างในเวลาต่อมา

แต่ละรายละเอียดของนิทรรศการ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับเรา หลายสิ่งเป็นเรื่องของบริบททางวัฒนธรรม และพัฒนาการจากอดีตที่ส่งต่อให้เกิดปัจจุบัน ทั้งหมดล้วนน่าค้นคว้าและศึกษาเพิ่มเติม จนนึกถึงการนำชมนิทรรศการจากภัณฑารักษ์และผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร จะได้สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้

นิทรรศการ ‘เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม’ จัดแสดงถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ยกเว้นวันจันทร์และวันอังคาร

อยากให้ทุกคนลองไปชมกัน เราเชื่อว่าแต่ละคนจะประทับใจนิทรรศการนี้ด้วยมุมมองที่แตกต่างกันอย่างแน่นอน!

AUTHOR