ศิลปะบนผืนผ้าของ นพเก้า เนตรบุตร

ถ้าหากใครชวนปักผ้า เราคงส่ายหน้า ยิ้มแหยๆ เพราะหลับตานึกในหัวก็มีแต่ภาพหญิงสาวสวมอินเนอร์แม่พลอย
ปักงานเนี้ยบ งดงามจนจับต้องได้ยาก แต่งานปักสวยเก๋ไม่ซ้ำใครของ นพเก้า เนตรบุตร
หรือครูอ๋ายของนักเรียนปักผ้า ทำให้ภาพนั้นเลือนรางลง แถมยังชวนให้คันไม้คันมืออยากหยิบเข็มมาปักผ้าสักผืน

ครูสอนปักผ้าผู้มีผลงานโดดเด่นสะดุดตาเล่าว่า
เธอคลุกคลีอยู่ในวงการโฆษณามาตั้งแต่เรียนจบนิเทศศาสตร์ ทำงานในตำแหน่งอย่างทราฟฟิกและโปรดิวเซอร์ของบริษัทชื่อดัง
แต่ภายหลังกลับรู้สึกเบื่องานที่ทำอยู่ จนไม่ค่อยอยากตื่นมาทำงานในแต่ละวัน
เธอจึงเริ่มหันไปทำสิ่งอื่นนอกจากงานประจำ เข้าเวิร์กช็อปงานฝีมือหลากหลายแขนงเพื่อค้นหาตัวเอง
จนมาหลงรักงานปักผ้าที่ช่วยเยียวยาความเครียดและความทุกข์ใจที่มีอยู่ จากงานอดิเรก กลายมาเป็นงานสอนปักผ้าแบบพาร์ตไทม์
จนสุดท้ายนพเก้าก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาเป็นครูสอนปักผ้าเต็มตัวถึงปัจจุบันเป็นเวลา
2 ปีแล้ว

สำหรับนพเก้า งานปักผ้าในสายตาของเธอคืองานศิลปะมากกว่างานฝีมือ
มันคือการวาดภาพสื่อสารเรื่องราวด้วยเข็มแทนดินสอ ลงบนผืนผ้าแทนกระดาษ โดยเน้นฟังเสียงจากใจมากกว่าเรื่องเทคนิคตามตำรา
นพเก้าชอบปักผ้าเป็นรูปผู้คน เลือกใช้สีสันละลานตา ผสมผสานวัสดุอื่นอย่างลูกปัดและขนนกเข้ากับเส้นด้าย
ผลงานแต่ละชิ้นของเธอเกิดจากความรู้สึกที่อยากเล่าเรื่องแล้วเริ่มวาดภาพ
ออกแบบลายคร่าวๆ ลงกระดาษลอกลาย (tracing paper) ถอดลายจากกระดาษลงบนผืนผ้า
แล้วลงมือปักโดยเน้นการด้นสดมากกว่าปักตามภาพจริง งาน 1 ผืนใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม นพเก้าไม่ได้รับงานปักตามสั่ง
ยกเว้นงานปักผ้าเป็นปกหนังสือที่เธออยากทำ รวมถึงผ้าที่ปักแล้วก็ไม่ได้นำมาทำเป็นสิ่งของที่ขายได้อย่างเสื้อและกระเป๋า
(ทั้งที่เรามั่นใจมากว่าถ้าทำขายต้องมีคนอยากซื้อแน่) แต่ปล่อยให้เป็นผืนผ้าดังเดิม
สะสมไว้เรื่อยๆ เพื่อจัดนิทรรศการในอนาคต

“เวลาเราทำงานกราฟิก
วาดรูปในคอมพิวเตอร์ ความเป็นดิจิทัลมันหยาบมาก ไฟดับสักครั้งก็หายไปแล้ว อันไหนไม่ชอบก็กดย้อนกลับได้ทุกอย่าง
เรารู้สึกว่ามันไม่จริง แต่การปักผ้ามันคือความจริง ต้องทำถึงจะได้
อยากได้เท่าไหร่ก็ต้องแทงเข็มเท่านั้น มันไม่มีคำสั่งอัตโนมัติ
ไม่มีคำสั่งเพิ่มจำนวนคูณสอง สิ่งนี้ช่วยให้เรายอมรับความจริง
เพราะไม่มีอะไรมาช่วยเราได้เลย ก็ต้องนั่งปักไป แล้วพอเรายอมรับได้
ไม่โมโหกับความช้า เราก็ไม่โมโหกับอย่างอื่น เจอคนอื่นทำอะไรมา เราก็พยายามหาเหตุผลเพื่อมาเข้าใจ
ช่วยให้เราปล่อยวางได้มากขึ้น และเมื่อทำเสร็จ เราก็จะได้ชิ้นงาน
ได้ความนับถือตัวเอง” นพเก้ากล่าว

ในอนาคต
นอกจากตั้งใจจะจัดนิทรรศการของตัวเอง นพเก้ายังอยากเปิดคอร์สเรียนให้คนมาปักผ้าเพื่อบำบัดความทุกข์ในจิตใจ
และหวังจะยกระดับการปักผ้าให้เป็นที่ยอมรับในฐานะงานศิลปะ

แต่ไม่ว่าเป้าหมายเหล่านี้จะเป็นจริงหรือไม่
เราเชื่อว่าแค่ได้ทำสิ่งที่รักในทุกๆ วัน นพเก้าก็มีความสุขแล้ว

facebook.com l Doknommeaw Play

ภาพ ช่อไพลิน ไพรบึง และ นพเก้า เนตรบุตร

AUTHOR