Unilever House : กรีนออฟฟิศสุดเจ๋งที่คนรุ่นใหม่ต้องหลงรัก

ใครเดินทางผ่านย่านพระรามเก้า คงเคยเห็นอาคารดีไซน์สวยแปลกตาที่ข้างหน้าแปะตัวอักษรไว้ว่า
Unilever House อาคารนี้เป็นบ้านใหม่ของบริษัทยูนิลีเวอร์
ไทย เทรดดิ้ง
จำกัดซึ่งถูกออกแบบมาอย่างดีเพื่อให้เป็นบ้านหลังใหม่ที่ตอบโจทย์บริษัทที่สุด

เวลาประมาณบ่ายสองโมง
เราผลักประตูเดินเข้าไปในตึก Unilever House ขึ้นลิฟต์ไปยังส่วนออฟฟิศด้านบน
แล้วเริ่มต้นพูดคุยกับพี่จุ๋ม-สุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ประธานกรรมการบริหารของยูนิลีเวอร์
เกี่ยวกับเรื่องราวของออฟฟิศแห่งนี้ อธิบายแบบเข้าใจง่าย Unilever
House เกิดขึ้นจากแนวคิดรากฐานสองอย่างคือ
วิสัยทัศน์ของบริษัทที่อยากทำธุรกิจไปบนเป้าหมายการมีชีวิตแบบยั่งยืน ไม่ทำลายโลก
อีกอย่างคือทางบริษัทเองไม่ได้อยากย้ายบ้านบ่อยๆ ดังนั้น บ้านหลังนี้เลยถูกวางเป็นออฟฟิศแห่งอนาคต
ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์พนักงานรุ่นใหม่เจนวาย เจนแซดผู้ชอบวิธีการทำงานแบบยืดหยุ่น
ทันสมัย ทุกอย่างจัดการได้เสร็จสรรพบนออนไลน์

จากแนวคิดหลักสองข้อด้านบนถูกนำมาถ่ายทอดสู่คอนเซปต์การดีไซน์
ขอเริ่มด้วยสิ่งที่ถูกใจเด็กเจนวายอย่างเราก่อน นั่นคือคอนเซปต์ Agile
หรือความคล่องตัว เมื่อลองเดินสำรวจไปตามชั้นต่างๆ
เราได้เห็นพื้นที่น่านั่งทำงานกระจายอยู่ทั่ว เพราะพนักงานที่นี่ไม่ต้องนั่งติดโต๊ะตัวเดิมในแผนกตลอดเวลา
(ยกเว้นบางตำแหน่งที่ยังจำเป็นต้องมีโต๊ะประจำ เช่น ฝ่ายบัญชีและชาวเลขา) วันนี้อยากนั่งคาเฟ่ก็ไป
เบื่อก็ย้ายไปที่อื่น โดยเน้นทำงานกับทีมแบบ paperless ผ่านช่องทางออนไลน์ในโน๊ตบุ๊กและมือถือที่บริษัทจัดหามาให้เรียบร้อยโรงเรียนยูนิลีเวอร์
พื้นที่นั่งทำงานยังเน้นให้คนหันมองออกไปข้างนอกเพื่อกระตุ้นต่อมครีเอทีฟและเตือนว่าโลกข้างนอกเคลื่อนไหวตลอดเวลา
ไม่รีบคิดใหม่ทำใหม่ระวังจะโดนความเปลี่ยนแปลงน็อกเอา นอกจากนี้ พื้นที่ในตึกยังถูกดีไซน์ให้มีความยืดหยุ่นสูง
เช่น Town Hall หรือโถงใหญ่ตรงกลางออฟฟิศก็เป็นได้ตั้งแต่ที่รับแขกยันการจัดอีเวนต์
เพื่อให้ทุกอย่างคล่องตัว ปรับเปลี่ยนตามโจทย์ที่ต้องการได้ตลอด

ไม่ใช่แค่พื้นที่ยืดหยุ่น
น่านั่งทำงานไปหมด ความดีงามของตึกนี้ยังอยู่ที่คอนเซปต์
Green หรือการออกแบบให้บ้านของชาวยูนิลิเวอร์เป็นบ้านที่ยั่งยืน
ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

“เราพยายามจะดีไซน์ Unilever
House ให้กรีนที่สุดในหลายด้าน
อย่างแรกคือสเปซที่นี่น้อยกว่าที่เก่าประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ แต่จุคนได้มากกว่าเดิม
เรามีทางเดินกว้างขึ้น ห้องประชุมเยอะขึ้น นี่คือพลังของงานดีไซน์” พี่จุ๋มเล่า
แล้วอธิบายต่อว่าอาคารนี้สร้างโดยใช้วัสดุที่ไม่มีเศษเหลือทิ้ง และ 20% ของวัสดุที่ใช้นำกลับมาใช้ได้ แนวคิดความกรีนนี้ยังขยายไปถึงการเลือกเฟอร์นิเจอร์
พี่จุ๋มบอกว่าโต๊ะทำงานไม้สวยๆ ที่เราเห็นอยู่ทำจากไม้ไผ่ที่เป็นพืชล้มลุกแทนไม้เนื้อแข็งเติบโตช้า
รวมถึงเป็นวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้

ยังไม่หมดแค่นั้น Unilever House ยังโดดเด่นเรื่องประหยัดพลังงาน
หลังคาอาคารถูกออกแบบให้เก็บน้ำฝนได้เพื่อนำมาใช้ในโอกาสต่างๆ เช่น รดน้ำต้นไม้
มีการติดตั้งก็อกน้ำที่ประหยัดน้ำและนำน้ำบางส่วนมารีไซเคิลใช้ใหม่
ส่วนเรื่องการประหยัดไฟ ตึกนี้ใช้สีสว่างเพื่อลดการใช้พลังงาน กระจกรอบตัวตึกก็เป็นกระจกหนาพิเศษที่ช่วยป้องกันความร้อนแต่เก็บแสงธรรมชาติ
ช่วยให้ไม่เปลืองแอร์เปลืองไฟในคราวเดียวกัน (เย็นดีและสว่างมาก-เราขอยืนยัน) สิริรวมแล้ว
ออฟฟิศใหม่นี้ลดการใช้น้ำไป 49 % และลดการใช้ไฟไป 30
% เมื่อเทียบกับที่เก่า นี่ยังไม่นับการเลือกทำเลที่ตั้งให้อยู่ใกล้ขนส่งมวลชนแสนสะดวกอย่างรถไฟฟ้าใต้ดิน
และมีการจัด No Car Day ที่ห้ามทุกคนขับรถส่วนตัวมาทำงาน ถึงเป็นผู้บริหารระดับสูงก็ไม่มีข้อยกเว้น

หลังจากนั้น
พี่จุ๋มก็ชี้ให้เราดูที่ล้ำๆ อย่างห้องประชุมแบบลอยตัว ซึ่งเป็นตัวอย่างอีกคอนเซปต์ของการดีไซน์นั่นคือ
Modern หรือความทันสมัย ห้องนี้เป็นแหล่งจุดประกายความครีเอทีฟของพนักงาน
ภายในห้องตกแต่งด้วยดีไซน์เด่นๆ ของแต่ละภาค เพื่อเตือนชาวยูนิลีเวอร์ว่ากรุงเทพฯ
ไม่ใช่ประเทศไทย ให้ทำงานโดยคิดถึงผู้บริโภคที่อยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ Unilever
House ยังออกแบบโดยคิดถึง Connectivity หรือการเชื่อมต่อ เราเลยเดินดูออฟฟิศแห่งนี้ด้วยการขึ้นลงบันไดกว้างที่เชื่อมแต่ละชั้นเข้าด้วยกัน
ซึ่งทำให้เดินสบาย ดีต่อสุขภาพ แถมยังช่วยลดปริมาณการใช้ลิฟต์ไปในตัว และในส่วนพื้นที่ทำงานที่พี่จุ๋มให้เราแอบเดินไปดูเป็นกรณีพิเศษก็มีหน้าตาเป็นห้องทำงานกว้างโล่ง
เพราะผู้บริหารที่นี่จะนั่งรวมกับพนักงานคนอื่นๆ
ไม่มีการแยกห้องส่วนตัวตัดขาดจากทีม

ทั้งหมดนี้รวมกันกลายเป็น Unilever House ออฟฟิศสวยที่เป็นมิตรกับโลกและเป็นมิตรกับพนักงานโดยเฉพาะเหล่าเด็กรุ่นใหม่อย่างเราที่อาจมีความต้องการต่างไปจากผู้ใหญ่รุ่นก่อน

“การสร้างออฟฟิศไม่ใช่แค่การสร้างอาคาร
แต่เป็นส่วนหนึ่งในการทำวิสัยทัศน์ของบริษัทให้มีชีวิต พอย้ายมาบ้านหลังใหม่หลังนี้
เรารู้เลยว่าพนักงานมีความสุขขึ้น ที่จริงแล้ว ไม่มีคำตอบหรอกว่าออฟฟิศแบบไหนดีที่สุด
ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรของคุณมีวัฒนธรรมองค์กรอย่างไร การทำงานเป็นอย่างไร
ต้องการเป็นองค์กรแบบไหน แล้วใช้ดีไซน์มาตอบโจทย์นั้น” พี่จุ๋มทิ้งท้ายกับเราด้วยรอยยิ้ม

Unilever House ออกแบบโครงสร้างอาคารโดย
AECOM ตกแต่งภายในโดย IA49

ภาพ: Unilever Thailand และ ชนพัฒน์
เศรษฐโสรัถ

AUTHOR