‘อิจฉา’ น่าจะเป็นคำบรรยายความรู้สึกเราเมื่อเห็น The Burrow (แปลว่าโพรงกระต่าย) บ้านใหม่ของชาว Rabbit Digital Group แถวถนนบรรทัดทอง หลังสามย่านได้ดีที่สุด
ก็ที่นี่ไม่ใช่ออฟฟิศในอาคารแบบที่มนุษย์เงินเดือนคุ้นชิน แต่เป็นออฟฟิศในโกดังแสนสวย
มีจุดเด่นเป็นต้นไม้เขียวสบายตายืนต้นอยู่ในอาคาร
จริงๆ แล้ว ชาวกระต่ายก็เคยทำงานอยู่ในออฟฟิศบนตึกเหมือนคนอื่น
แต่เนื่องจาก Rabbit Digital Group กำลังอยู่ในช่วงขยายตัว จึงมีการมองหาบ้านใหม่ที่รองรับการเติบโตได้ โดยไม่ต้องให้ทีมงานนั่งแยกชั้นกันแบบอาคารออฟฟิศทั่วไปซึ่งทำให้ติดต่องานกันยาก
บวกกับ เล็ก-รุ่งโรจน์ ตันเจริญ ผู้บริหาร Rabbit Digital Group ชอบโกดังเก่าเป็นทุนเดิม เลยลองเสิร์ชหาจนเจอโกดังเก็บอะลูมิเนียมในทำเลดีกลางเมืองประกาศให้เช่า
ผู้บริหารหนุ่มเลยตัดสินใจเลือกที่นี่เป็นบ้านใหม่ของชาวกระต่าย
The Burrow
ที่จุคนประมาณร้อยชีวิตนี้ออกแบบโดย MUN Architects มีพจนฤทธิ นิมิตรกุล ดีไซเนอร์หนุ่มเป็นผู้ควบคุม เมื่อมองไปรอบๆ จะเห็นโครงสร้างที่ยังบ่งบอกความเป็นโกดังอยู่ โดยโครงสร้างเหล็กสีดำที่เห็นของเดิมเป็นสีเทาอ่อน แต่สถาปนิกอยากเน้นให้ตัวโครงสร้างแสดงเส้นสายที่สวยงามออกมาชัดขึ้น เลยแต้มสีดำเข้าไปเหมือนการเขียนคิ้วเวลาแต่งหน้า ส่วนพื้นปูนสีเขียวก็เป็นของเดิมเพราะทางฝั่งสถาปนิกเห็นว่าเป็นสิ่งที่สวยอยู่แล้ว
เลยคงไว้แล้วแต่งเพิ่มด้วยวัสดุอย่างไม้ที่เข้ากันและมีความเป็นธรรมชาติ พร้อมเบรกด้วยส่วนสีขาวเป็นระยะเพื่อให้ดูสะอาดตาและไม่ดิบเกินไป
ด้านหน้าสุดมีต้นมั่งมี ตัวกรองอากาศชั้นดีสีเขียวสวย
เป็นจุดศูนย์กลางของออฟฟิศที่ดูแล้วไม่แข็งกระด้าง
เพราะโกดังนี้มีความเป็นโรงงานมากพออยู่แล้ว สูงขึ้นไปเหนือยอดไม้คือช่องกรุกระจกที่เปิดให้แสงธรรมชาติส่องผ่านเข้ามา
เมื่อบวกกับช่องแสงด้านข้างโกดัง ก็เรียกได้ว่าตอนกลางวันแทบไม่ต้องเปิดไฟกันเลย และทั้งต้นไม้
แสงธรรมชาติ รวมถึงความสูงโปร่งของตัวโกดังนี้ ก็รวมเป็นตัวช่วยชั้นดีให้พนักงานทำงานได้อย่างไม่อึดอัดเหมือนนั่งในตึกทั่วไป
พื้นที่ในโกดังแบ่งเป็นโซนทำงานของชาวกระต่ายซึ่งกินพื้นที่ทั้ง
2 ชั้น
โซนทำงานนี้แม้จะมีบริษัทย่อยอยู่รวมกันถึง 3 บริษัทคือ Rabbit’s Tale เอเจนซี่ด้าน Digital Marketing, Moonshot เอเจนซี่ที่ดูแลด้าน Digital PR และ Content รวมถึง Code & Crafts บริษัทที่ดูแลด้านการผลิตเว็บไซต์และแอพพลิเคชัน นอกจากนี้ยังมีแผนกหลากหลาย
พื้นที่ทำงานก็แทบไม่มีการกั้นห้อง แต่ใช้วิธีแบ่งโดยชั้นหนังสือหรือพาร์ทิชันเตี้ยๆ
แทน เพื่อไม่ให้แต่ละฝ่ายตัดขาดจากกันเกินไป
ถัดจากโซนทำงาน คือพื้นที่ส่วนกลางหรือ
common area ที่เรียกได้ว่าเป็นส่วนสำคัญมากของบริษัท
เริ่มจากชั้นบนที่มีส่วน Cat Walk หรือทางเดินยาวที่ฝั่งหนึ่งของชั้น
2 ซึ่งมีโซฟาวางให้ชาวกระต่ายมานั่งๆ นอนๆ คิดงานกันตามสบาย แล้วเมื่อเดินลงบันไดมาชั้นล่าง
ก็จะเจอกลุ่มโต๊ะ เก้าอี้สำหรับนั่งคิด นั่งคุยงานตั้งอยู่ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เล่นสนุก
ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะปิงปอง โต๊ะพูล หรือลานสเก็ตบอร์ดซึ่งปรับฟังก์ชันเป็นเวทีให้คนขึ้นไปยืนพูดเวลามีสัมมนาได้
(ยังไม่นับสไลด์เดอร์ที่ลื่นไถลลงมาจากชั้น 2 เครื่องเพลย์สเตย์ชัน
และโซนทำเล็บของพวกผู้หญิงที่กำลังจะเปิดในอนาคต)
พื้นที่ครัวซึ่งมีขนมให้หยิบไปกินฟรี ห้องประชุม ห้องน้ำ
ห้องนอนสำหรับชาวกระต่ายผู้ปั่นงานข้ามคืน และสตูดิโอสำหรับถ่ายงานต่างๆ
พื้นที่ส่วนกลางเหล่านี้ถูกคิดขึ้นมาเพื่อเน้นตอบโจทย์ความเป็น
Rabbit Digital Group อย่างแรกคือตอบโจทย์ชาวกระต่ายที่เป็นเด็กรุ่นใหม่เจนวายผู้นิยมความยืดหยุ่น
ให้ย้ายที่ทำงานกันได้ตามชอบใจ อย่างที่สองคือกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในการทำงานของดิจิทัล
เอเจนซี่ ใครคิดไม่ออกลองไปนั่งทำงานแถว Cat Walk หรือพักไปตีปิงปองเล่นสักหน่อย
ไม่แน่ว่าอาจนึกไอเดียดีๆ ออกก็ได้
อย่างสุดท้ายคือส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ร่วมออฟฟิศเดียวกัน
จากที่เคยนั่งทำชั้นใครชั้นมัน ที่นี่การพบปะคนใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอด เช่น
ฝ่ายแพลนเนอร์กับโปรแกรมเมอร์อาจโคจรมาเจอกันที่ลานสเก็ตบอร์ดได้
แม้ว่าถ้าพูดถึงเนื้องานแล้ว บางฝ่ายอาจไม่จำเป็นต้องเจอหน้ากัน แต่การพบปะก็สำคัญในแง่วัฒนธรรมองค์กร
เพราะ Rabbit Digital Group ไม่ได้ขายผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปธรรม แต่ขายไอเดีย
ความสามารถของผู้คนในโพรงกระต่าย บริษัทจึงตั้งใจให้พนักงานได้เจอหน้าฝ่ายอื่นๆ พูดคุยแลกเปลี่ยน
(ซึ่งจะว่าไปก็ช่วยกระตุ้นไอเดียสร้างสรรค์อีกทาง) และทำงานสนุกๆ ในบรรยากาศที่ดี
มีความรู้สึกของความเป็นทีม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยในการสร้างสรรค์งานดีๆ ให้บริษัทเติบโตต่อไปอย่างมั่นคง
และนี่จึงเป็นเหตุผลที่นอกจากจัดสรรพื้นที่ให้เอื้อต่อการพบเจอ ฝ่ายบุคคลยังจัดกิจกรรมให้ทุกคนได้มาสนุกร่วมกัน
โดยอาศัยความได้เปรียบของพื้นที่โกดังแสนกว้างขวาง เช่น เอารถเข็นขายโตเกียวมาให้พนักงานต่อแถวกินกัน
จัดปาร์ตี้ใหญ่แบบมีดนตรีสดจริงจัง หรือเร็วๆ นี้ก็จะจัดตลาดขายของมือสองให้ทุกคนหอบของมาขาย
โพรงกระต่ายของชาว Rabbit Digital Group จึงไม่ใช่พื้นที่อะไรก็ได้ที่จับคนมานั่งทำงานรวมกัน
แต่เป็นพื้นที่ที่ออกแบบเพื่อองค์กรและผู้คนที่ร่วมกันขับเคลื่อนมันอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อชาวกระต่ายได้ทำงานในสถานที่ดี
บริษัทก็จะได้ผลงานดีๆ และเติบโตต่อไปได้
“ถ้าถามว่าออฟฟิศคือปัจจัยสำคัญที่สุดในการทำงานของ
Rabbit Digital
Group มั้ย คำตอบคือไม่ใช่ ปัจจัยสำคัญที่สุดของเราคือคน แต่ออฟฟิศคือสิ่งที่จะมาปลดล็อกศักยภาพของคน
เป็นส่วนช่วยเร่งสิ่งที่เขามีอยู่ในตัว” เล็กเอ่ยทิ้งท้ายกับเราในโพรงกระต่ายชั้นดีที่เขาตั้งใจสร้างขึ้นมา
ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์