Virus : สเปซศิลปะริมทะเลของคู่สามีภรรยาศิลปิน

*ปัจจุบันคาเฟ่แห่งนี้ปิดตัวแล้ว แต่เรายังติดตามพื้นที่การทดลองทางกาแฟแห่งใหม่ของครอบครัวนี้ได้ที่ Ronin Capsule นะ

คาเฟ่และสถานที่ที่น่าสนใจมักกระจุกตัวในใจกลางกรุงเทพฯ ยังไม่นับเรื่องพื้นที่สำหรับคนสนใจศิลปะที่ยังไม่แพร่หลายมากนัก ตอนรู้ข่าวว่าศิลปินในดวงใจอย่าง โลเล-ทวีศักดิ์ ศรีทองดี กับภรรยาของเขา แพร นัดดา เปิด ‘พื้นที่ศิลปะ’ ที่หัวหินซึ่งเป็นบ้านของพวกเขา ภายใต้ชื่อ Virus Space and Café และ Virus Dr.Doon Studio ในโครงการ Seenspace คอมมูนิตี้มอลล์แห่งใหม่ริมทะเลในซอยหัวหิน 35 เรายังสงสัยว่ามันจะออกมาเป็นแบบไหน

แต่แค่มาถึงแล้วเจอวิวทะเลไกลสุดลูกหูลูกตา ที่นั่งในร้านสไตล์ปูนเปลือยแสนโปร่งสบาย เราก็หลงรักมันตั้งแต่ยังไม่รู้จักกัน

แพร นัดดา เล่าที่มาการเปิดคาเฟ่เป็นครั้งแรกในชีวิตว่ามาจากคำชักชวนของสถาปนิกเจ้าของโครงการ ซึ่งอยากให้คนหัวหินมาสร้างความเคลื่อนไหวและกิจกรรมทางศิลปะที่นี่ โลเล สามีของเธอเลือกทำกราฟฟิตี้เป็นนิทรรศการชั่วคราวและพบว่าผู้คนแค่แวะเวียนมาถ่ายรูปแล้วจากไป ไอเดียถัดมาจึงเป็นการสร้างพื้นที่ศิลปะที่มีนิทรรศการหมุนเวียนตลอดปี พร้อมเสนอให้โครงการหาร้านคาเฟ่มาเปิด แต่เมื่อสุดท้ายหาคนทำคาเฟ่ไม่ได้เธอกับสามีจึงตัดสินใจผสมผสานทั้งกิจกรรมศิลปะและคาเฟ่ให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เกิดเป็น Virus Space and Café ในที่สุด ซึ่งชื่อไวรัสนี้หมายถึงการแพรกระจายไปของความคิดดีๆ

“เราอยากให้มีที่หยุดเวลา ให้คนใช้เวลาที่นี่นานขึ้น ถ้าทำเป็นอาร์ตสเปซอย่างเดียวคนคงไม่เดินเข้ามาเพราะอาจจะรู้สึกเกร็งหรือเครียด เลยคิดว่าต้องทำคาเฟ่ในห้องนี้แหละ เพราะเราอยากให้ศิลปะเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนโดยละม่อม” แพรเล่าอย่างสดใส

ทั้งหมดทั้งมวลของร้านถ่ายทอดจากความชอบของทั้งสอง ตัวร้านเป็นสไตล์ปูนเปลือยตกแต่งเรียบง่าย เดิมทีห้องนี้เคยเป็นพื้นที่ใต้ถุนตึกสำหรับเก็บของ แต่ทั้งคู่ก็สร้างสรรค์มันได้อย่างลงตัวด้วยเฟอร์นิเจอร์ปูนน้อยชิ้น เท่ดิบแต่อบอุ่น

มุมคาเฟ่ที่โลเลออกแบบวางพิกัดอยู่โดดเด่นหน้าร้าน ทำสเต็ปที่นั่งรอบร้าน เหลือที่ว่างตรงกลางให้หายใจและทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ผนังปูนว่างเปล่าช่วยขับให้งานศิลปะที่ติดตั้งโดดเด่นยิ่งขึ้น มีมุมหนังสือเล็กๆ กลางห้องวางหนังสือมือสองที่แพรคัดสรรมาจากบ้านให้คนได้หยิบอ่าน

หญิงสาวใช้ ‘ความเป็นมิตร’ กับผู้มาเยือนเป็นเกณฑ์คัดสรรทุกอย่างมานำเสนอ ทั้งเครื่องดื่ม อาหาร และงานศิลปะ ทุกอย่างต้องไม่เข้าถึงยาก ทุกคนรู้สึกรื่นรมย์กับมันได้ อย่างเรื่องกาแฟ แพรออกตัวชัดเจนว่าเธอไม่ใช่เซียนกาแฟ แต่เป็นคนธรรมดาที่ชอบอยู่ในร้านกาแฟ จึงมองหากาแฟรสชาติมาตรฐานที่ทุกคนดื่มอร่อยเหมือนกัน และพบว่าเมล็ดกาแฟคั่วของ Brave Roaster คือคำตอบ ส่วนวิธีปรุงของที่นี่ แพรเลือกใช้ Moka Pot ที่ให้กาแฟรสชาติเข้มข้นกำลังดี

“เวลาคนถามกาแฟที่ร้านรสชาติเป็นยังไง เราจะบอกรสชาติเป็นมิตร ชอบหรือไม่ชอบกาแฟก็กินได้ มาตรฐานของร้านเราคือเรารู้สึกชอบสิ่งนั้น ถ้าเราไม่ชอบ เราจะไม่สามารถนำเสนอของที่เราไม่ชอบออกไปได้ เราเลยต้องทำให้มันชอบให้หมดเลย” คุณแม่ลูกหนึ่งผู้ทดลองปรุงและชิมกาแฟในห้องนอนลูกชายเล่า

เมนูเครื่องดื่มน่าอร่อยอื่นๆ มีเช่น กาแฟนมวานิลลารสกลมกล่อม ช็อกโกแลตเย็นที่แพรใช้นมสดราดด้วยช็อกโกแลต Hershey’s เข้มข้น โซดาน้ำผลไม้ที่ใช้น้ำผลไม้จริงเป็นส่วนผสม ไม่ซ่าหรือหวานจนบาดคอ เมนูทุกอย่างแพรได้ทดลองเองและคัดสรรมาแล้วอย่างดี บนแก้วกาแฟยังมีลายเส้นปากกาวาดรูปมาสคอตแห่ง Virus เป็นลายเซ็น ในอนาคตพวกเขาก็จะทำประติมากรรมมาสคอตมาตั้งไว้หน้าร้านด้วย (แน่นอนว่ามาสคอตเป็นฝีมือออกแบบของโลเล แต่แพรมองขำๆ ว่ามันเหมือนตัววอลรัสมากกว่า)

ในส่วนงานนิทรรศการศิลปะ แพรอธิบายว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของที่นี่คือคนที่ไม่เคยมีความรู้เรื่องศิลปะมาก่อน เธอจึงต้องคัดสรรงานที่เป็นมิตรและไม่เข้าถึงยากเกินไป โดยนิทรรศการจะหมุนเวียนไปทุกๆ 1 เดือน งานแรกคืองานชุด ‘ธุลีจักรวาล particle of the universe’ ของช่างภาพ Peduckk ชุดภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นความเล็กจ้อยของมนุษย์เมื่อเทียบกับธรรมชาติ ตัวอย่างงานอื่นที่รอจัดแสดงมีเช่น ภาพวาดเส้นผมของศิลปินประติมากรรมเส้นผม อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ ภาพวาดอาหารแสนสวยจากสีไม้ของศิลปินรุ่นใหม่เจ้าของเพจ FAI ระหว่างจัดแสดงแต่ละงานก็จะมีกิจกรรมเสวนาหรือเวิร์กช็อปซึ่งเชื่อมโยงกันจัดให้คนร่วมสนุกด้วย

เมื่อมองข้ามสนามหญ้าไปอีกฝั่งจะเห็น Virus Dr.Doon Studio ห้องที่สร้างขึ้นเป็นพื้นที่ทางดนตรี ภาพยนตร์ และวรรณกรรม มีกิจกรรมแสดงดนตรีสด เปิดพื้นที่ให้นักดนตรีได้แสดงไอเดียผ่านเสียงเพลง มีกูรูเรื่องแผ่นเสียงที่โลเลและแพรเรียกว่า ‘Dr.doon’ (ชื่อมาจากตัวละครของโลเล) เป็นผู้ดูแลและให้คำแนะนำแก่ทุกคน ที่นี่จะมีแผ่นเสียงไวนิลคัดสรรมาอย่างดีจำหน่ายและมีบริการรับสั่งซื้อ มีหนังสือศิลปะทั้งมือหนึ่งมือสองและนิตยสารวางขาย ยังไม่นับกิจกรรมจัดฉายภาพยนตร์ ใครหลงเข้าไปมีได้อยู่กันยาวๆ

“เราอยากเปิดให้ที่นี่เป็นพื้นที่ของใครก็ได้ที่สนใจ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นศิลปิน” โลเลอธิบาย “ตอนเด็กๆ เราก็มีที่ที่เราชอบ ตอนเราอยู่เชียงคาน ที่นั่นมีห้องสมุดประชาชน ถึงจะโทรมหน่อยแต่ก็มีหนังสือให้อ่าน เราชอบไปขลุกนั่งอ่านหนังสือ อ่านนิทาน เราเชื่อว่ามันน่าจะมีที่แบบนั้นให้คนมาใช้ชีวิต ทุกสถานที่มันจะเป็นที่สิงของคน ที่นี่ก็น่าจะมีคนชอบแผ่นเสียงหรือชอบคุยกันมาสิง พอเปิดที่นี่ได้สักสัปดาห์ก็เริ่มมีแล้วนะ ตำรวจคนหนึ่งที่ชอบศิลปะก็มาสิงที่นี่ทั้งวัน พอเราเผลอก็ชวนคุยเรื่องวาดรูป” คุณพ่อลูกหนึ่งเล่ายิ้มๆ

facebook | VIRUS

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ และจิรณรงค์ วงษ์สุนทร

AUTHOR