Persona of Things พื้นที่ที่อยากชวนมาซ่อมของเก่าด้วยเทคนิคงานคราฟต์ดั้งเดิมของช่างในเชียงใหม่

หากในโลกธุรกิจ การทำ Persona คือการโชว์คาแรกเตอร์ของลูกค้าว่าเป็นคนแบบไหน ใช้ชีวิตอย่างไร โปรเจกต์ Persona of Things ซึ่งเกิดขึ้นในงาน Chiang Mai Design Week ปีนี้ ทีมผู้จัดก็อยากฉายภาพให้เราเห็นชัดว่าสิ่งของแต่ละชิ้นมีเรื่องราวอย่างไร และผ่านอะไรมาบ้าง

ปู๊น-กวิสรา อนันต์ศฤงคาร และ ต้น-เฉลิมเกียรติ สมดุลยาวาทย์ ผู้ก่อตั้ง COTH studio เจ้าของโปรเจกต์นี้ คลั่งไคล้ในเรื่องงานคราฟต์ที่ไม่สมบูรณ์แบบ พวกเขาไม่ได้มองว่างานคราฟต์คือการสร้างงานใหม่เท่านั้น แต่งานคราฟต์ดีๆ ยังสามารถต่อยอดจากของเก่าชิ้นเดิมที่ดูผุพังผ่านการ ‘ซ่อม’ ได้เหมือนกัน

ประกอบกับความรักที่จะทำงานกับคนในชุมชน มองเห็นว่างานฝีมือของพวกเขานั้นมีค่าและไม่อยากปล่อยให้หายไปตามกาลเวลา ปู๊นกับต้นจึงทำโปรเจกต์ Persona of Things เป็น ‘จุดรวมพลซ่อม’ พื้นที่ชั่วคราวบนชั้น 2 ของ TCDC เชียงใหม่ที่ชวนทุกคนนำของเก่ามาซ่อมกัน แต่ไม่ได้ซ่อมด้วยวิธีธรรมดาทั่วไปเท่านั้น พวกเขาชวนพี่ๆ น้าๆ ที่มีภูมิปัญญาในการทำงานฝีมือ เช่น การซ่อมงานจักรสานด้วยเศษผ้าของชนเผ่า การซ่อมแซมเครื่องประดับชิ้นเก่าให้เหมือนใหม่ หรือการเย็บสมุดเล่มใหม่จากเศษกระดาษเหลือใช้ มาช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนทั่วไป เพื่อให้พวกเขามีความรู้ติดตัวไปซ่อมในอนาคต

ได้ซ่อมของเก่า แถมยังได้รักษ์โลกด้วยการไม่ซื้อของชิ้นใหม่ หากจะให้เรานิยาม งาน Persona of Things อาจบอกเราแบบนั้น

แต่เพราะอะไรล่ะ ปู๊นกับต้นถึงเชื่อศาสตร์ของการซ่อมนัก และงานคราฟต์จากการซ่อมทำให้พวกเขาได้เรียนรู้สิ่งใดบ้าง เราขอชวนไปฟังจากปากปู๊นพร้อมกันในบรรทัดถัดไป

COTH studio เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจแบบไหน

COTH studio มีเรากับต้นเป็นผู้ก่อตั้ง เราจบด้าน Interior มา ส่วนต้นจบด้าน Product Design เราพยายามมองหาจุดที่เราชอบเหมือนกัน แล้วก็มีโอกาสได้เข้าไปทำโปรเจกต์หนึ่งชื่อ ‘บัว’ ทำกับชุมชนบ้านบาตร เราใช้เทคนิคการทำบาตรด้วยมือ และด้วยการที่ชุมชนบ้านบาตรมาต่อยอดทำสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่บาตร จากจุดนั้นทำให้เรารู้สึกชอบและสนุกกับการทำงานร่วมกับชุมชน เราชอบสุนทรียะของการทำงานคราฟต์ของเขา ชอบการคุยกับคนที่ทำงานด้วยมือและใจ

หลังจากนั้น COTH studio จึงเป็นสตูดิโอที่เน้นนำเทคนิคงานคราฟต์ในชุมชนมาทำเป็นสิ่งของแนวใหม่ คงความคราฟต์อยู่ แต่ตีความให้ร่วมสมัยมากขึ้น ตั้งคำถามว่างานคราฟต์จะทำอะไรได้อีก นอกเหนือจากการทำงานกับชุมชนที่เน้นงานอาร์ตและสิ่งของ เราก็มีโปรเจกต์สร้างสรรค์ที่ทำกับ CEA เข้ามาด้วย เช่น What We’ve Learned from Our Grandparent เป็นโปรเจกต์ที่เราชวนผู้สนใจมาเวิร์กช็อปกับพ่อครูแม่ครูรุ่นเก่า เมื่อเขาต่อยอดออกมา เราก็นำสิ่งของนั้นมาจัดเป็นนิทรรศการ 

ศิลปินบางคนมองว่างานคราฟต์คือการสร้างสิ่งใหม่ แต่ทำไมคุณถึงมองว่างานคราฟต์สามารถสร้างจากสิ่งเก่าที่เอามาซ่อมได้

สุนทรียะที่เราอินคือ Beauty in Imperfection อยู่แล้ว สิ่งนี้อยู่ในงานคราฟต์อยู่แล้ว และมันสามารถเกิดขึ้นในการซ่อมได้เช่นกัน เราชอบร่องรอย รอยมือ ความไม่เนี้ยบ เรารู้สึกว่ารอยเหล่านั้นสวยงาม งานของเราก็จะเล่นกับสิ่งเหล่านี้มาตลอด เคยทำธีสิสเรื่องนี้ด้วยเราก็ยิ่งอิน

ความไม่สมบูรณ์แบบมีเสน่ห์อย่างไรในสายตาคุณ

มันก็เป็นความงามอย่างหนึ่งที่บริสุทธิ์และมีความเป็นมนุษย์สูง เพราะว่ามนุษย์เราไม่สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น งานคราฟต์ที่ไม่สมบูรณ์แบบจึงเป็นตัวแทนของมนุษย์ได้ดี 

กับงาน Persona of Things แนวคิดของการนำของเก่ามาซ่อมใหม่เริ่มต้นจากไหน 

       มันถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้งานคราฟต์เท่าที่ได้เห็น มันไม่ใช่การสร้างของใหม่อย่างเดียว แต่จะมีการนำบางสิ่งมาซ่อมด้วย ขณะเดียวกัน เราก็รู้สึกว่ายุคนี้เป็นยุคที่สิ่งของล้นโลกแล้ว เราจึงอยากมองบริบทงานคราฟต์ในมุมของการซ่อมมากขึ้น มันจึงมีโปรเจกต์นี้ขึ้นมา

เราเริ่มทำงานนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว (2023) ที่งาน Chiangmai Design Week แต่เราใช้ชื่อว่า สร้างผ่านซ่อม หมายถึง สร้างแต่ไม่ใช่การสร้างใหม่ ใช้เทคนิคการซ่อมทำให้เกิดของขึ้นมาใหม่ ซึ่งเราเลือกสรรสิ่งของที่โชว์เทคนิคการซ่อมที่น่าสนใจเอามาจัดแสดง เช่น ซ่อมเซรามิกด้วยการใช้ลวดถักโครเชต์ เชื่อมด้วยคริสตัล การเอาเก้าอี้เก่ามาทำเป็นโซฟาใหม่ การนำผ้าชนเผ่ามาซ่อมงานจักรสาน รวมถึงเทคนิคดั้งเดิมอย่างคินสึงิ 

แต่ปีนี้ เราอยากทำงานที่ทำให้คนเห็นว่าวิถีของการซ่อมแซมสามารถกลมกลืนไปกับชีวิตเขาได้ เพราะเรารู้สึกว่ายุคนี้ ด้วยความที่ของหลายอย่างซื้อง่าย ราคาถูก ทำให้เราใช้ของกันแบบเสียปุ๊บก็ทิ้ง เพราะคิดว่าซื้อใหม่ง่ายกว่า หลายคนจึงไม่คิดว่าการซ่อมแซมจะอยู่ในวิถีชีวิต และไม่ค่อยรู้จักเทคนิคการซ่อมแซมเท่าไหร่ เราจึงอยากทำให้พวกเขาเห็นว่าเขาก็ซ่อมได้นะ ถ้ามีของเสียก็อยากหยิบขึ้นมาซ่อม

ปีนี้เราไม่ได้ทำโชว์เคสแล้ว แต่เราทำพื้นที่แบบ Open Workshop ที่มีอุปกรณ์และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการซ่อมอยู่ ใครมีอะไรอยากซ่อมก็มาปรึกษาและมาซ่อมที่นี่ได้ เราเรียกมันว่าจุดรวมพลซ่อม 

ในพื้นที่นี้มีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นบ้าง

จากปีที่แล้วเรามีการใช้ผ้าชนเผ่ามาซ่อมงานจักรสานโดยคุณป้าแต๋น ปีนี้เราเลยชวนป้าแต๋นมาสอนด้วย นอกจากนี้ เรายังมีน้องป๊อป ศิลปินที่ชอบเอาของเล่นในความทรงจำที่เก่าหรือพังแล้วเอามาทำเป็นงานอาร์ตชิ้นใหม่ มีการสอนเทคนิคการดูแลซ่อมแซมเครื่องประดับโดย Apinova Jewery Art มีการซ่อมผ้าด้วยเทคนิคโบโระกับป้าหนิง สอนตั้งแต่การชุนผ้าไปจนถึงตกแต่งลายผ้าให้น่ารัก และสุดท้ายคือพี่แอ๊วจากร้าน Dibdee.Binder ที่จะสอนเย็บสมุดทำมือเล่มใหม่จากกระดาษที่เป็นไส้ในของสมุดโน้ตเล่มเก่า

คนทำงานคราฟต์ในเชียงใหม่ก็มีมากมาย คุณมีเกณฑ์ในการเลือกวิทยากรที่จะมาสอนในงานไหม

เราอยากให้งานมีความหลากหลาย มากกว่านั้นคือเราอยากให้พวกเขาสอนซ่อมสิ่งของที่มักจะอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้า เครื่องประดับ สมุด หลังจากนั้นเราก็พยายามมองหาคนทำกิจการในเชียงใหม่ แล้วก็ไปเจอหลายๆ คนที่น่าสนใจ เช่นพี่แอ๊วจาก Dibdee.Binder ที่เย็บสมุด หรือป้าแต๋นที่ทำงานจักรสานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยสรุปคือเราพยายามมององค์รวมให้มีงานซ่อมที่หลากหลาย

ความสนุกของการทำงานกับช่างฝีมือคืออะไร

ไม่รู้เพราะเราโชคดีหรือเปล่า แต่คนที่เราทำงานด้วยเขาน่ารักและมีความกระตือรือร้นในการร่วมงานกันมากๆ ดูเขาอยากทดลองไปกับเรา ตัวเขาเองก็มีความเป็น Craftman ที่อยากพัฒนาเทคนิคของตัวเองตลอดเวลาเหมือนกัน ไม่ใช่แค่คนทำงานที่ทำงานเป็นแพตเทิร์น แต่เขามีมุมศิลปินที่อยากพัฒนาไปเรื่อยๆ ทำให้เราเข้ากันได้ดี 

ในกระบวนการซ่อมของสักชิ้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอยู่เสมอคืออะไร

เท่าที่คุยกับหลายคน แต่ละคนจะมีมุมมองในการซ่อมไม่เหมือนกัน เราเคยทำงานกับช่างที่มองว่าซ่อมของโบราณ แล้วให้คงความโบราณไว้ ไม่ต้องซ่อมให้ดูใหม่กริบ แค่ซ่อมให้พอใช้งานได้ แต่คงร่องรอยความเก่าไว้ เทคนิคของเขาก็จะมีความละเมียดละไมมาก ถึงขนาดว่าคงคราบสีหรือรอยสนิมเอาไว้ นี่คือมุมมองการซ่อมแบบหนึ่ง

ช่างฝีมืออีกคน เช่น พี่แอ๊วจาก Dibdee.Binder เขาซ่อมสมุดจากกระดาษ เขามองว่ารอยขาดบนกระดาษไม่ใช่สิ่งที่ต้องพยายามปกปิด แต่พยายามโชว์รอยขาดนั้น เขามองว่าการโชว์รอยขาดคือเสน่ห์และความสวยงาม คล้ายๆ คินสึงิที่มองว่าเส้นสายที่เกิดจากการเชื่อมเซรามิกด้วยทองนั้นสวยมากกว่าของใหม่เสียอีก  

แน่นอนว่าคนที่เข้าร่วมจะได้ซ่อมของ แล้วช่างที่สอน รวมถึง COTH studio จะได้อะไรจากงานนี้

ช่างทุกคนเขามีเทคนิคของเขาที่เขาอยากถ่ายทอดอยู่แล้ว เขาอยากมาคุยกับคนที่มีมุมมองเหมือนกัน ส่วนเราเอง จริงๆ ไม่เคยคิดเหมือนกันว่าเราจะได้อะไร (หัวเราะ) เพราะความตั้งใจแรกเริ่มของโปรเจกต์คือ เราอยากให้การซ่อมแซมสามารถกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตของคนได้มากขึ้น และอยากให้บริการการซ่อมในงานนี้เกิดขึ้นจริง 

เชียงใหม่เป็นเมืองของงานคราฟต์อยู่แล้ว เทคนิคงานคราฟต์ที่เราหยิบมานำเสนอก็ค่อนข้างแตกต่างจากเทคนิคการซ่อมทั่วไป เพราะแต่ละเทคนิคก็จะมีคาแรกเตอร์ของตัวเอง เรารู้สึกว่าถ้ามันเกิดบริการแบบนี้ขึ้นได้จริง มันน่าจะเป็นอีกบทบาทของงานคราฟต์ในเชียงใหม่ที่น่าสนใจ ที่สำคัญคือเข้ากับบริบทของโลกยุคนี้ด้วย ก็น่าจะทำให้จุดยืนของเมืองยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีก

การได้ทำโปรเจกต์ Persona of Things สำคัญกับคุณอย่างไร

ด้วยความที่เราเป็นคนที่ชอบทำงานกับชุมชนอยู่แล้ว เราเห็นเลยว่างานบางอย่าง ถ้าผ่านคนเจนนี้ไป เราคิดว่าอาจจะยากที่จะมีคนสืบต่อ เทคนิคภูมิปัญญาเหล่านี้อาจจะหายไป แต่ถ้าเราทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่างานคราฟต์พวกนี้น่าสนใจ หลายคนก็อาจจะอยากกลับมาเรียนรู้และต่อยอดเทคนิคเหล่านี้ต่อไปเรื่อยๆ

AUTHOR