ชีวิตในรอยสัก : To be alive, be loved and be myself

ในรอยสักมักมีเรื่องราวซ่อนอยู่ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ไม่เชื่อลองถามใครที่มีรอยสักสักคนก็ได้

ก่อนคุยกับพวกเขา เราคาดไม่ถึงว่ารอยสักสักรอยจะมีความหมายลึกซึ้งถึงขนาดที่มันเป็นสัญลักษณ์ของ ความต้องการจะมีชีวิตอยู่ สัญลักษณ์ของการทำสัญญาใจอยู่ร่วมกับใครสักคนจนวันสุดท้าย ที่อยู่คงกระพันยิ่งกว่ากระดาษทะเบียนสมรส สัญลักษณ์ของการเติบโตและเป็นตัวเองอย่างแท้จริง ซึ่งแลกมาด้วยการรอคอยนับสิบปี

เราเคยสงสัยว่าจะมีเรื่องราวอะไรที่สลักสำคัญถึงขนาดอยากให้ปรากฏบนเรือนร่างไม่เลือนหายไป แต่พอฟังคำตอบของพวกเขาแล้ว

เราก็เชื่อหมดใจว่าในรอยสักมี ‘ชีวิต’ ของพวกเขาซ่อนอยู่จริง


01

หญิงสาวผู้สักรายชื่อยาที่แพ้ไว้บนผิวหนัง

ศิริอร กาสุยะ / อาชีพ เจ้าของร้านทำผม / อายุ 32 ปี

“แอนเป็นคนนึงที่ชอบรอยสัก งานอันไหนที่เจ๋งๆ ก็ชอบดู แฟนก็สัก โดยส่วนตัวอยากสักมานานแล้ว แต่เอาเข้าจริงเราก็เป็นคนหวงผิวนิดนึง อะไรที่ต้องติดตัวไปตลอดก็ควรเป็นตัวตนเราจริงๆ ที่ผ่านมายังหาลายที่ใช่เราที่สุดจริงๆ ไม่ได้เลยปล่อยผ่าน แอนทำธุรกิจส่วนตัวเป็นร้านทำผม ชื่อร้านตัดเพลิน ช่างเก่าแก่ที่ร้านเขาก็สักโลโก้ร้านติดตัวแทบจะทุกคน แต่แอนเป็นเจ้าของร้านยังไม่สักเลย (หัวเราะ)”

“ลายแรกที่ได้มาติดตัวไว้เกิดจากความที่เป็นคนขี้แพ้ แพ้นู่นนี่อย่าง ฝุ่น เหงื่อตัวเอง ทำให้ผื่นขึ้นเรื่อย แต่มากสุดก็แค่แน่นหน้าอก ไปโรงพยาบาลฉีดยาแก้แพ้ทัน เลยไม่ได้สนใจอะไรกับมัน แพ้ก็ต่อสู้กันไป แอนแพ้กลุ่มยาเพนนิซิลลินทั้งหมด หลังๆ จากผื่นขึ้นเริ่มกลายเป็นหน้าบวม จากที่บวมแล้วได้ยาแก้แพ้ไม่กี่ชั่วโมงหาย กลายเป็นบวม 2-3 วัน แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก พอตัวยาไม่ซ้ำกัน อาการแพ้ก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ด้วย แต่ทั้งหมดคือแพ้กลุ่มโครงสร้างเดียวกัน”

“ล่าสุดเข้าโรงพยาบาลไปผ่าตัด บอกเรียบร้อยว่าแพ้ยาอะไรบ้าง เขาก็ให้ตัวยาฆ่าเชื้อคนละกลุ่มกับเพนิซิลลินแล้ว แต่มันมีโครงสร้างหลักตัวบนสุดอันเดียวกันเลยแพ้หนัก เป็นการแพ้ในภาวะ anaphylaxis หมายถึงการช็อกแบบหนึ่งจากการแพ้เฉียบพลัน ความดันลดจนเหลือ 50 ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับตอนพ่อใกล้จะเสีย ต้องฉีดอะดรีนาลีนสองเข็มเข้าง่ามขา อยู่ห้องไอซียู 2 วันซึ่งไม่คิดว่าชีวิตนี้จะต้องมาอยู่ หมอก็คาดไม่ถึงว่าจะแพ้ข้ามกลุ่มได้ มันหายากมาก และโอกาสจะแพ้ข้ามกลุ่มในครั้งต่อไปก็อาจเกิดขึ้นได้อีก”

“รอยสักนี้เลยเกิดขึ้นจากการที่กลัวตาย หนึ่งคือเวลาไปหาหมอแล้วต้องบอกว่าแพ้ยาอะไรก็ต้องพูดชื่อยายากๆ ยาวๆ เยอะมาก สองคือ ถ้าแอนหมดสติไปแล้วไม่สามารถตื่นมาบอกได้ว่าแพ้ยาอะไรจะทำยังไง บัตรแพ้ยานี่ผู้หญิงก็ไม่เหมือนผู้ชายที่จะพกกระเป๋าสตางค์ไว้ในกางเกง ถ้าเราเป็นอะไรไปเขาก็หิ้วไปแต่ตัว ไม่หิ้วกระเป๋าไปด้วย (หัวเราะ) เป็นที่มาว่างั้นสักติดแขนท่อนล่างไปเลยแล้วกัน”

“แอนขึ้นประโยคแรกเลยว่า Attention please ให้เขาสนใจ จากนั้นก็บอกว่าฉันแพ้ยาดังนี้นะ เว้นช่องว่างข้างล่างไว้ด้วย เผื่อมีแพ้เพิ่มจะได้มาเติม อีกฝั่งบอกอาการหลังได้รับยา เขาจะได้รู้ว่าแพ้ระดับไหน ด้านล่างสุดบอกว่าขอความกรุณาระมัดระวังในการใช้ยากับร่างกายฉันด้วย พยายามใช้ภาษาง่ายๆ และใช้ภาษาอังกฤษ เผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันตอนไม่อยู่ไทย ทีนี้เราเป็นผู้หญิงก็ไม่อยากได้ฟอนต์ตัวใหญ่ๆ แต่พอสักตัวเล็กก็กลัวว่าเขารีบๆ แล้วจะไม่อ่านเพราะตัวหนังสือมันเยอะ เลยไปหาสัญลักษณ์ Bowl of Hygeia ที่เป็นรูปถ้วยมีงูพันที่วงการเภสัชทั่วโลกรู้จัก ถ้าเห็นแล้วน่าจะรู้ว่าเกี่ยวข้องกับการใช้ยาและอ่านมันบ้างแหละ และด้วยความที่เป็นคนกลัวงูก็เลยบอกให้ช่างช่วยทำให้งูหน้าใจดีๆ ยิ้มๆ ด้วย”

“เมื่อก่อนก็แอบชะล่าใจนะเพราะเราแพ้จนเคยชิน ไม่คิดว่าจะหนักและทรมานถึงขั้นที่คิดว่าตัวเองจะรอดไหม คราวนั้นรอดชีวิตมาได้เลยไม่เอาแล้ว อนาคตถ้าแอนไม่ต้องใช้รอยสักนี้ให้เป็นประโยชน์มันคงจะเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ถ้าเกิดต้องใช้ขึ้นมา แค่ครั้งเดียวมันก็คุ้มแล้วกับการช่วยชีวิตเราไว้ได้”


02

สามีภรรยาผู้สักวันครบรอบแต่งงานไว้บนนิ้วนางข้างซ้าย

อติชาต ลี / อาชีพ นักดนตรี วง DOSE / อายุ 28 ปี

สุธยา ลี / อาชีพ สไตลิสต์ / อายุ 28 ปี

“สมัยก่อน แทน (สามี) จะชอบโดนแซวว่าเหมือนผู้หญิงเพราะเป็นคนตัวผอม หน้าหวาน มีรูปร่างดูอ่อนแอ เลยรู้สึกว่าถ้ามีรอยสักจะดูเท่และแมนขึ้น นี่คือที่มาของการสักครั้งแรก ส่วนกะจิ๊บ (ภรรยา) มองว่าการสักจะเกี่ยวกับความชอบศิลปะ เพราะชอบวาดรูป วาดภาพประกอบอยู่แล้ว เลยอยากได้งานบางอย่างที่สร้างขึ้นเองมาอยู่บนตัว มองเป็นเรื่องความสวยงามและการจดบันทึกเรื่องราวในชีวิต เหมือนเป็น journal book”

“พวกเราเลือกมีรอยสักคู่กันแทนแหวนแต่งงาน เพราะเราไม่ได้มีแหวนแต่งงานเป็นแหวนเพชรราคาแพง มองว่าไม่จำเป็น เป็นของนอกกาย เราสองคนลืมเก่งมากด้วย เลยสักคำว่า MARRIED และวันครบรอบไว้บนนิ้วเลย จะได้ไม่ลืม ฟอนต์ที่สักก็เป็นแบบที่ชอบซึ่งกะจิ๊บเป็นคนออกแบบเอง พอใช้รอยสักต่างแหวน มันก็จะอยู่ไปตลอดชีวิต เราไม่ได้คิดที่จะลบอยู่แล้ว แหวนยังถอดได้ แต่อันนี้ถอดไม่ได้ เราแยกกันสักโดยแทนสักก่อน ตอนที่ปวดหัวคือตอนช่างสักวันที่ของแทนผิด เราเลยต้องแก้โดยหาสัญลักษณ์มาใส่ให้ตัวเลขกลับเป็นวันที่ 11 เดือน 12 ปี 2014 อยากเตือนคนอยากสักว่าต้องรีเช็กดีๆ ด้วย โดยเฉพาะพวกตัวเขียนตัวเลข”

“เวลาไปสัก เราต้องสลับกันดูลูก เพราะพวกเราจะอยู่ด้วยกันตลอดเวลา ไลฟ์สไตล์เราสามคนจะเหมือนกัน นอกจากนี้เราก็กำลังเรียนสักกันอยู่ เฮนดริกซ์ (ลูก) เลยจะชินกับเสียงเครื่องสักมาก”

“นอกจากรอยสักที่นิ้ว เรามีรอยสักคู่กันที่หมายถึง พ่อแม่ลูก แทนคือหมาป่า คนสวมหมวกหมาป่าคือกะจิ๊บ ด้านล่างเป็นชื่อลูกคือ Hendrix Lee เขาแพะก็มาจากว่าเฮนดริกซ์เกิดปีแพะ ส่วนใหญ่เราจะสักอะไรที่ลูกชอบ อย่างรอยสักรูปนกที่คอกะจิ๊บก็เกิดจากช่วงนึงที่ลูกชอบดูนกมาก ต้องอุ้มไปดูตอนเช้าทุกวัน เลยอยากเอานกที่ลูกชอบมาไว้ที่คอ ลูกจะได้เล่นได้ แต่ตอนนี้เลิกชอบแล้วนะ (หัวเราะ) ลายอื่นๆ ที่จะสักเกี่ยวกับลูกก็มีอีกเยอะ เช่น อุลตร้าแมน ตอนแรกก็ไม่ได้ชอบหรอกนะ แต่พอลูกชอบ เราเริ่มศึกษาติดตามเรียนรู้เพื่อมาคุยกับลูกก็เลยชอบตาม”

“ส่วนใหญ่คนที่พูดถึงรอยสักทางลบจะเป็นพ่อแม่ เขาไม่อยากให้ลูกดูไม่ดี สังคมไม่ยอมรับ แต่อย่างกะจิ๊บก็จะคิดอย่างที่พ่อคิดว่า ร่างกายเป็นของลูก เราแค่ให้กำเนิดเขาออกมา เขาสามารถเลือกเองได้ แค่มันต้องอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ก็แล้วแต่เขา เขาอาจจะโตขึ้นมาเป็นเด็กที่ไม่มีรอยสักเลยก็ได้ เพราะแต่ละคนเกิดมามีความคิดเป็นของตัวเอง”


03

หญิงผู้สักข้อคิดเตือนใจในวันที่ยังมีลมหายใจ

พิณ นัคราบัณฑิตย์ / อาชีพ แม่บ้าน, ฟรีแลนซ์โฆษณา / อายุ 43 ปี

“สมัยเรียนไฮสคูลที่ออสเตรเลีย พ่อแม่ถูกเรียกกลับมาทำงานที่เมืองไทย ยังไม่ทันเข้ามหาวิทยาลัยเราก็ต้องอยู่คนเดียวแล้ว ตอนนั้นพ่อขอไว้อย่างเดียวว่าอย่าสักกับเจาะหู เดี๋ยวโตขึ้นมาจะเสียใจ ถ้าอายุ 30 เป็นผู้ใหญ่แล้วค่อยว่ากัน แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยที่เป็น art school นี่เป็นโลกแห่งรอยสักเลย เพื่อนที่เรียนด้วยกันจะมีความพังก์ มีรอยสักและ body piercing เต็มไปหมด เวลาเดินในย่านที่เรียนก็ผ่านร้านสักเรื่อยๆ ทุกครั้งจะแอบมองๆ รอยสักเมืองนอกมันมีแบบ tribal เป็นเส้นดำๆ มีความกราฟิกมาก เราเรียนกราฟิกดีไซน์ก็เลยชอบ”

“ทีนี้ตอนอายุประมาณ 38 มันคงเป็น midlife crisis เราเริ่มดาวน์ เศร้า ชีวิตไม่สนุกเลย เริ่มอ่านหนังสือธรรมะ ฟังเพลงโมเดิร์นด็อกช่วงที่มาทางธรรมะๆ เรื่องสุขเรื่องทุกข์ วันนึงก็ทนไม่ไหว จะไปสัก ขอให้แฟนเพื่อน (สหัธชัย ปิ่นมณี @djfunkydog) ช่วยออกแบบ calligraphy ให้ เป็นคำในคอนเซปต์ว่าความสุขความทุกข์มันผูกพันกัน แยกจากกันไม่ได้ ลายนี้อยู่ที่ข้อเท้า เพราะการเดินคือการไปทำอะไรสักอย่าง และทุกที่ก็มีสุขและทุกข์พันผูกอยู่ เช่น กินข้าวแล้วอร่อย อยากกินอีกก็ทุกข์ได้แล้ว ส่วนอีกลายที่หน้าอกเป็นลายที่เราเห็นมาจากคนอื่น เป็นลายเส้นคำว่าสุขกับทุกข์ที่แล้วแต่จะอ่านว่าอะไร แต่เราไม่อยากได้ลายซ้ำเลยกลับด้านมันซะ ต้องไปส่องกระจกถึงจะอ่านออก เอาไว้เตือนตัวเองว่าสุขหรือทุกข์มันอยู่ที่ใจ”

“ต่อมาวันนึงน้องสาวก็มาชวนสัก sister tattoo ให้มีเหมือนกัน ประโยคว่า ‘รู้จักพอก่อสุขทุกสถาน’ เป็นคำที่คุณย่าชอบพูด และเป็นลายมือคุณย่าที่อยู่บนหนังสืองานศพ เราเลือกสักลายนี้ที่แขนเพราะอยากเอาไว้เตือนตัวเอง เวลาบ้าช็อปปิ้งขึ้นมาแล้วยื่นแขนไปหยิบของจะได้หยุดก่อน (หัวเราะ)”

“ส่วนรอยสักตรงข้างตัวมาจากที่เราชอบดอกจำปีอยู่แล้ว ฟอร์มมันสวยและเอาไว้บูชาพระด้วย อยากเอาคำว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย มาใช้เป็นคอนเซปต์ เกิดเป็นภาพกิ่งจำปีที่มีดอกตูมไปจนถึงดอกโรย เราอยากให้ธรรมะอยู่กับตัวเราและอยู่ในชีวิตประจำวัน ลายนี้เป็นฝีมือของช่างชาวออสเตรเลีย (@kozik_tattooer) เราอยากได้งานเขาเพราะเราเคยอยู่ที่นั่น แต่ปกติเขาจะสักพันธุ์ไม้ในออสเตรเลีย ก่อนสักเราเลยส่งรูปดอกจำปีไปให้เยอะมาก วันสักก็ซื้อดอกจำปีไป (หัวเราะ) เขาก็แก้ให้ว่าต้องเป็นแบบนี้ๆ จริงๆ เราเป็นลูกค้านรกเหมือนกัน แต่เขายินดีจะทำงานร่วมกัน เขารู้ว่ารอยสักมันอยู่กับเราไปจนตาย”

“เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นมินิแกลเลอรีที่เอางานอาร์ตคนอื่นมาแปะไว้ แต่กำหนดไว้ว่าทั้งชีวิตจะสักแค่ 8 เพราะมีคนเตือนไว้ว่าสักแล้วมันจะติดเข็มและจะไม่หยุด เราก็อยากสักแต่พองาม เลข 8 เป็นเลขที่ชอบ เราเกิดวันที่ 8 เลข 8 เลข 4 มันก็ดี มันเชื่อมโยงถึงเกิดแก่เจ็บตายเอย พรหมวิหาร 4 เอย ตอนนี้มีรอยสัก 6 ลายแล้ว เหลืออีก 2 ตำแหน่ง เรามีรอยสักรูปเสือที่หลังซึ่งหมายถึงนามสกุลฝั่งพ่อ อนาคตก็เลยคิดอยากสักให้ฝั่งแม่บ้าง”

“สำหรับเรารอยสักเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลมากๆ ลายอาจไม่โดนใจคนอื่น แต่เก็บไว้ดูเอง เตือนใจตัวเอง หลักพุทธศาสนาถ้าไม่ได้ปฏิบัติบ่อยๆ ก็ต้องมีการเตือนเหมือนกัน มองรอยสักนิดนึงก็จะนึกได้ สมมติวันไหนซึมๆ เศร้าๆ อาบน้ำเสร็จมาส่องกระจกก็คิดว่า เออ สุขทุกข์มันอยู่ที่ตัวเราเองแหละ”

“เอาจริงมันก็ดีนะที่พ่อแม่ห้ามไว้ตอนนั้น เพราะตอนเด็กเราก็ชอบหลายอย่าง ลายยากูซ่าก็ชอบ ลาย tribal ก็ชอบ ดีใจที่รอดมาจนอายุ 30 กว่าแล้วค่อยเลือกสิ่งที่เป็นตัวแทนของเราจริงๆ”


อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับรอยสักเพิ่มเติมได้ใน a day 212 ฉบับรอยสัก วางแผงแล้วตามร้านหนังสือทั่วไปหรือสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ http://godaypoets.com/a-day-212

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ และ มนันยา เรือนรักเรา

AUTHOR