เคยมีประโยคที่กล่าวว่า “สิ่งหนึ่งที่เป็นอิสระที่สุดที่เราได้เรียนรู้ในชีวิต คือ เราไม่จำเป็นต้องชอบทุกคน ทุกคนไม่จำเป็นต้องชอบเรา และมันก็โอเคอย่างสมบูรณ์แบบ”
เคยไหมที่หลายครั้งเราต้องคอยเปลี่ยนตัวเองเพื่อ ‘เข้า’ กับคนอื่นให้ได้ ในหลายสังคมรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน ที่ทำงาน กลุ่มเพื่อน หรือชุมชนแยกย่อยต่างๆ ที่เราสังกัดอยู่ เพียงเพื่อจะถูกยอมรับเท่านั้น
ไม่ใช่แค่กับเพื่อนหรือคนรู้จัก แต่บางครั้งกับคนรัก หลายครั้งเราพบว่าต้องแสดงออกกับความรู้สึกอีกแบบที่ขัดแย้งกับธรรมชาติในตัวเองเพื่อให้เข้ากับอีกฝ่ายได้
ในจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ในรูปแบบใดๆ ก็ตาม อาจเป็นเรื่องปกติที่เราเป็นตัวเองได้อย่างน่าอัศจรรย์และรู้สึกดีกับเวลาที่ได้ใช้กับอีกฝ่าย หลายครั้งเรารักช่วงเวลาเริ่มต้นนี้มาก (บางคนผ่านไปหลายปีแล้วก็ยังไม่เคยลืมช่วงเวลานี้) แต่เมื่อความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างจริงจังขึ้น เราจะเริ่มรู้สึกกลัวว่าอีกฝ่ายจะปฏิเสธ และเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น เราจึงตัดสินใจ ‘ชอบ’ สิ่งที่คล้ายกับอีกฝ่าย หรือ ‘ทำ’ ในสิ่งที่คิดว่าอีกฝ่ายจะชอบ จนบางครั้งก็เลือกที่จะไม่แสดงบางสิ่งที่ขัดแย้งกับสิ่งต่างๆ ของอีกฝ่าย เพื่อเลี่ยงความไม่ลงรอย
แต่แน่นอนว่า ไม่มีใครหลีกหนีแก่นหรือความเป็น ‘ธรรมชาติ’ ของตัวเองได้ เมื่อเวลาผ่านไป ธรรมชาติของเราเริ่มเผยตัวออกมาทีละนิด จนบางครั้งไม่สามารถกดเก็บมันไว้ได้อีกต่อไป หลายครั้งความสัมพันธ์จึงต้องลงเอยด้วยการแยกจาก เพราะคำว่า ‘ไม่เข้ากันแล้ว’
ถึงแม้มันจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับหลายคนที่จะรักษาความเป็นตัวเองหรือความเป็นธรรมชาติเช่นในจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ไว้โดยไม่ ‘เปลี่ยน’ บางสิ่งที่ขัดแย้งกับธรรมชาติของตนเองเพื่อให้อีกฝ่ายยอมรับ แต่อย่าลืมว่า หากเราประนีประนอมกับความเป็นตัวเองมากจนเกินไป และเปลี่ยนทุกอย่างเพียงเพื่อให้อีกฝ่ายชื่นชอบ มันอาจนำพาไปสู่ผลลัพธ์ที่แสนเปราะบางได้
แล้วการเปลี่ยนตัวเองเพื่อ ‘ให้คนอื่นชอบ’ นำมาซึ่งอะไรบ้าง?
มันคือการบิดเบือน
การเปลี่ยนตัวตนของเราให้เข้ากับ ‘อุดมคติ’ ของคนอื่น ไม่ต่างอะไรกับการบิดเบือน หรือหากใช้คำแรงๆ ก็คือการเสแสร้ง แม้เราอาจจะแย้งว่าแล้วยังไง? มันก็ไม่ได้ทำให้อีกฝ่ายเสียหายนี่นา และเรากลับรู้สึกว่าดีราวกับได้ ‘ให้บริการ’ บางสิ่งที่สุดยอดแก่อีกฝ่ายด้วยซ้ำ แต่มันก็หลีกหนีความจริงที่ว่า การ ‘แกล้ง’ ทำเป็นอีกคนที่ไม่ใช่เราก็คือการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ว่า เราไม่ได้ให้โอกาสอีกฝ่ายรู้จักเราในฐานะปัจเจกบุคคล และตัดสินใจเองว่าจะมีความสัมพันธ์กับเราหรือไม่ ซึ่งมันเสี่ยงอย่างมากเมื่อเวลาผ่านไป โดยที่เรายังสวมบทบาทเป็นคนที่ไม่ใช่ตัวเองเพื่อรักษาความสัมพันธ์นั้น

เหนื่อยหน่ายทั้งกายและใจ
การต้องคอย ‘อ่าน’ อีกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียนรู้สิ่งที่เขาชอบและไม่ชอบต้องใช้แรงและความพยายามอย่างมาก ความสนใจของเราก็จะโฟกัสไปแค่สิ่งเหล่านั้น จนพลังงานของตัวเองลดลงจนใกล้หมดหลอดเมื่อถึงเวลาแยกจากในแต่ละวัน อีกข้อคือการต่อสู้ภายในกับตัวเองในบางสถานการณ์ เช่น เราไม่เห็นด้วยกับบางเรื่อง แต่ก็เลือกที่จะไม่พูดออกมาหรือปล่อยมันไป เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่การคอยเพิกเฉยต่อสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อของตัวเองอยู่บ่อยๆ จะนำมาซึ่งจิตใจและอารมณ์ที่เหนื่อยหน่ายอ่อนแรงในที่สุด

ได้พัฒนาตัวเองน้อยลง
เมื่อถึงจุดที่เราเลือกเปลี่ยนตัวเองไปตามความชอบหรือความพอใจของอีกฝ่าย เส้นทางของการเรียนรู้ว่าเราเป็นใคร เราชอบหรือไม่ชอบอะไร ก็จะถูกแยกออก เพราะเราได้รับเอา ‘ตัวตน’ ของอีกฝ่ายมาสวมทับแล้ว จนเมื่อถึงวันหนึ่งที่ต้องมีเวลาอยู่กับตัวเองจริงๆ เราอาจพบว่าเหลือเพียงไม่กี่สิ่งเท่านั้นที่เรายัง ‘มั่นใจ’ กับมัน ซึ่งแน่นอนว่ามันส่งผลต่อความมั่นใจในตัวเองด้วย

ทำให้ความสัมพันธ์ไม่ยั่งยืน
แม้เราอาจคิดว่าสามารถ ‘แกล้ง’ เป็นอีกคนที่อีกฝ่ายชอบต่อไปได้เรื่อยๆ แต่ไม่ช้าก็เร็ว ความเหนื่อยล้าทั้งหมด รวมถึงธรรมชาติของตัวเราก็จะตามทันในที่สุด เมื่อถึงเวลานั้น มันอาจเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ หรือ ‘จุดแตกหัก’ ได้ทั้งสองแบบ ดังนั้น การนั่งอยู่ในความสัมพันธ์บางรูปแบบและเป็นอีกคนที่ไม่ใช่ตัวเองเพียงเพื่อไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อยากอยู่คนเดียว ย่อมไม่ยั่งยืน และเป็นการเสียเวลา เสียพลังงานไปกับการเป็นสิ่งที่ ‘ไม่ใช่เรา’ ที่สำคัญ ย่อมไม่ยุติธรรมต่อทั้งสองฝ่ายอย่างสิ้นเชิง

แน่นอน เราไม่ได้บอกว่าการยึดมั่นถือมั่นความเป็นตัวเองโดยไม่ยอมเปลี่ยนสิ่งใดเลยคือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะนั่นก็ไม่ต่างอะไรกับการมีอีโก้ คนเราล้วนต่างกัน และไม่มีความสัมพันธ์ไหนที่ไม่มีฝ่ายใดต้องเปลี่ยนอะไรเลย
แต่จะดีกว่าไหม หากเราเลือก ‘ปรับ’ มากกว่า ‘เปลี่ยน’
ไม่มีใครหลีกหนีธรรมชาติของตัวเองไปได้ นั่นคือหัวใจสำคัญ แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาใครสักคนที่จะเข้าใจและยอมรับความเป็นธรรมชาติของเรา แต่หากเราไม่ต้องคอยหลอกตัวเองเพื่อให้คนอื่นยอมรับ ผลลัพธ์อาจจะเป็นสิ่งที่ยั่งยืนกว่า
จะมีสิ่งที่ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้างในตัวเรา ก็เป็นเรื่องปกติมากกว่าจะต้องอยากให้อีกฝ่ายชอบทุกอย่างในตัวเรา ทั้งที่เราไม่ได้เป็น
ทุกอย่างมีวาระเวลาของมันเอง วันหนึ่งคนที่พร้อมรักในความเป็นตัวเราที่ไม่สมบูรณ์แบบจริงๆ ย่อมมาถึงอย่างแน่นอน