“ถ้าไม่มีของเล่น ก็ไม่มีผม” จิตวิญญาณในของเล่นของ พงศธร ธรรมวัฒนะ ผู้ก่อตั้ง Thailand Toy Expo

จำได้ไหมว่า ของเล่นชิ้นโปรดคือชิ้นไหน?

เราเป็นคนหนึ่งที่ชอบสะสมของเล่นมาก ถ้ากลับไปค้นบ้านคงเจอของเล่นเป็นลังๆ พอมีงาน Thailand Toy Expo 2018 คนคลั่งไคล้ของเล่นและตัวการ์ตูนอย่างเราจึงตั้งใจว่าจะไม่พลาดเด็ดขาด และปีนี้เราไม่ได้ไปเดินงานคนเดียว เพราะผู้จัดงานอย่าง จิ๊บ-พงศธร ธรรมวัฒนะ ตัวแทนจำหน่ายของเล่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและนักสะสมของเล่นขบวนการ 5 สีเยอะที่สุดในภูมิภาคอาเซียน จะมาพาเราไปรู้จักงานนี้และโลกธุรกิจของเล่นมากขึ้น

ในยุคที่ของเล่นเริ่มมีบทบาทในชีวิตเด็กๆ น้อยลง โทรศัพท์สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องเล่นเกมต่างๆ เริ่มเข้าถึงคนทุกวัย การได้พักสายตาจากเทคโนโลยีมาเดินดูของเล่นที่จับต้องได้ถือเป็นประสบการณ์ที่เราห่างเหิน ของเล่นที่วางเรียงรายกินพื้นที่ถึง 4 ชั้นใน Central World เหมือนกำลังดึงความชื่นชอบในวัยเด็กให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

เราสังเกตว่า ของเล่นในงาน Thailand Toy Expo จะแตกต่างจากของเล่นในวัยเด็ก ของเล่นในงานนี้ไม่ได้มีไว้จับชนๆ กัน แต่เป็น designer toy ที่มีวิธี ‘เล่น’ แตกต่างออกไป

“ดีไซเนอร์ทอย คือ ของเล่นที่ศิลปินออกแบบเองโดยไม่อิงกับเรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น ออกแบบจากโลกจินตนาการของเขา” จิ๊บอธิบายให้เรารู้จักดีไซเนอร์ทอยระหว่างมองดูของเล่นในตู้กระจก มันเป็นของเล่นที่ลงรายละเอียดอย่างประณีต “ของเล่นสำหรับเขา คือ ศิลปะที่จับต้องได้และถ่ายทอดง่ายกว่า มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เช่น ทำจำนวนจำกัด ทำมือ และราคาก็ดีดสูงขึ้นทุกครั้งที่ทำ”

ดีไซเนอร์ทอยล้วนมีหน้าตาแปลกตา ในงาน Thailand Toy Expo ปีนี้มีทั้งของเล่นที่ออกแบบโดยตั้งต้นจากคน สัตว์ สิ่งของ อาหาร หรืออาจเป็นสัตว์ประหลาดไปเลยก็ได้ บางตัวก็ผลิตออกมาหลายสี เรียกร้องความสนใจจากเหล่านักสะสมให้ซื้อเก็บครบชุด แม้ความแปลกใหม่ ไม่คุ้นตา อาจเป็นจุดอ่อนของดีไซเนอร์ทอย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นจุดแข็งอีกด้วย ทำให้ภายในงานมีคนรุมล้อมตู้กระจกดูผลงานของเล่นกันเนืองแน่น

แน่น…จนเริ่มรู้สึกว่าต้องเบียดตัวเข้าไปดูของเล่น ผ่านทั้งหญิงชายมากหน้าหลายตาที่ดูแล้วอาจไม่ใช่คนเล่นของเล่น และนี่คือผลจากสถานที่จัดงานซึ่งจิ๊บวางแผนไว้

“งานเราเกิดมาจากความโลภ ความบ้าของผมเอง ผมเกลียดงานที่ต้องอยู่ใน exhibition hall สี่เหลี่ยมแคบๆ ตลอดเวลา ผมรู้สึกอึดอัดและเบื่อ เจอแต่กับพื้นที่เดิมๆ คนหน้าเดิมๆ หรือเวลาผมไปงานของเล่นกับแฟน แฟนผมจะชวนให้รีบออก แต่พอมาอยู่ในห้างฯ ผู้ชายก็ไปเดินดูของเล่นผู้ชาย ผู้หญิงก็ไปเดินดูของเล่นผู้หญิง”

Thailand Toy Expo ไม่มีค่าเข้างาน ทำให้งานนี้พร้อมต้อนรับทุกคนไม่ว่าจะหญิงหรือชาย ชอบของเล่นหรือไม่ นับเป็นงานที่จัดขึ้นไม่ใช่แค่เพื่อคนรักของเล่น แต่ยังเผยแพร่ผลงานของเล่นของศิลปินมากหน้าจากทั้งไทยและต่างประเทศให้เข้าถึงคนนอกอุตสาหกรรมของเล่นมากขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายหลักในการจัดงานทุกๆ ปีของจิ๊บ รวมถึงธีมงานในปีนี้ที่ชื่อว่า ‘Rewrite History’

คำถามว่า ‘ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับของเล่นในบ้านเรามีอะไรให้ rewrite?’ ผุดขึ้นในใจ ก่อนจิ๊บจะเล่าให้ฟังว่า บ้านเราคิดภาษีนำเข้าของเล่นสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ต่างประเทศ หากจัดงานมหกรรมของเล่นแบบนี้ขึ้น เขาจะค่อยๆ ลดหย่อนภาษีให้เพื่อกระตุ้นการซื้อขายสินค้า นอกจากนี้ของเล่นยังถูกมองว่าเป็นของฟุ่มเฟือย ไร้สาระ ภาพลักษณ์แง่ลบนี้ทำให้คนซื้อของเล่นยิ่งน้อยไปใหญ่ ทางออกเพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ของของเล่นและการกระตุ้นวงการของเล่นไทยให้เติบโตต่อไปได้คือการจัดงานแบบนี้ขึ้น

“เราอยากจะเปลี่ยนมุมมองว่า ของเล่นคือขยะ ของฟุ่มเฟือย ของไร้สาระ ให้คนมองว่ามันไม่ใช่อย่างที่คิด คุณเลือกซื้อเสื้อสักตัวกับซื้อของเล่นในราคาเท่ากัน คนจะชอบเปรียบเทียบว่า เงินที่จะซื้อของเล่นไปซื้อเสื้อดีกว่า แต่สำหรับเรา ของเล่นเป็นสินค้ามูลค่าเพิ่ม ยกตัวอย่างของเล่นควายที่ผมขาย ผมขายตอนแรกอยู่ประมาณ 700-800 บาท ต่อมาคนปล่อยขายกัน 8,000-9,000 บาท มันสร้างอาชีพให้คนอีกกลุ่มได้ ทำให้คนที่ชอบของเล่นเห็นว่าทำงานกับของเล่นเป็นอาชีพได้”

“ที่สำคัญ การจัดงานในห้างทำให้เราได้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ คุณไม่รู้จักของเล่น แต่เดินมาดูแล้วเกิดอยากรู้ว่าคืออะไร ขอเข้าไปดูหน่อย ไม่แน่ คุณอาจไปเป็นลูกค้าของพวกเขาในอนาคตก็ได้ เพราะถ้าจัดที่ห้องโถงมันก็คือกลุ่มเดิมๆ ทุกวันทุกปี ไม่เปิดโลกกว้างให้ตลาด ไม่ตอบโจทย์ที่ว่าผมจะทำยังไงให้เปลี่ยนมุมมอง”

นอกจากนี้ จิ๊บยังมีบูธส่วนหนึ่งที่เปิดให้ศิลปินไทยสมัครเข้ามาฟรี เพียงแต่ต้องผ่านการคัดเลือกจากทางผู้จัดงานและศิลปินคนอื่นๆ ด้วย ทำให้ศิลปินไทยเองก็มีพื้นที่เผยแพร่ผลงานตัวเองเพิ่มขึ้น

ฟังดูแล้วอาจคิดว่า ธุรกิจของเล่นเป็นธุรกิจที่อยู่ง่าย มีโอกาสมากมาย แต่หากใครเคยหาข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและปล่อยขายของเล่น จะพบว่าธุรกิจของเล่นเป็นธุรกิจที่มีโอกาสได้ส่วนต่างน้อย กำไรที่ได้คืนอาจไม่คุ้มค่าเหนื่อยนัก หรือถ้าอยากเป็นคนทำดีไซเนอร์ทอยไปเลยก็ต้องลองผิดลองถูกอยู่นาน เราเคยคุยกับนักเขียนการ์ตูนเรื่อง มีดที่ 13 พวกเขาต้องใช้เวลากว่า 3 ปีถึงจะตั้งตัวบนเส้นทางนี้ได้

สำหรับจิ๊บ วงการของเล่นก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เขาเคยต้องบินไปสหรัฐอเมริกา ยืนรอแลกนามบัตรอยู่หน้าบริษัทของเล่นแห่งหนึ่งถึง 6 ชั่วโมงเพื่อขอให้นำของเล่นมาวางในงาน Thailand Toy Expo ปีแรกๆ เป็นงานใหญ่ ขายของชิ้นเล็กที่ต้องลงทุนลงแรงไปมาก

ในโลกธุรกิจของเล่นที่ยังไม่เป็นมิตรนัก จิ๊บกลับเลือกที่จะเป็นมิตรกับโลกธุรกิจของเล่น

“คนส่วนใหญ่เอาเงินเป็นตัวตั้งแล้วเครียด น้อยคนจะมีความสุขในสิ่งที่ทำ ผมเอาเงินเป็นตัวรองเพราะคิดว่าการเอาเงินเป็นตัวตั้งมันแย่ สู้ค่อยๆ สร้างฐานตัวเองให้แข็งแรง ให้ลูกค้าอุดหนุนเราเรื่อยๆ เราจะมีมูลค่ามากขึ้น ดีกว่าไปเอากำไรเจ็ดบาท สิบสองบาท มันดูแย่ไปหน่อย แม่ผมบอกเองว่า เราต้องเอาคนที่เป็นลูกค้าให้อยู่กับเรานานๆ เราสามารถค่อยๆ หาเงินมาเติมได้ แต่คนที่เป็นพาร์ตเนอร์ดีๆ กับเรามันหายาก”

“เคยมีคนดูถูกเราด้วยว่าวันๆ เอาแต่เล่นของเล่น จะเจริญไหม คำพูดที่คนด่าทำให้เราอยากทำอะไรตรงข้าม อยากทำให้เขารู้ว่าเราทำได้ เราซื้อของเล่นก็ไม่ใช่ว่าเราจะมีไว้อวด รู้สึกว่าชอบอันนี้ ทำเป็นอาชีพได้ แล้วมันผูกพันกับเรา ถ้าไม่มีของเล่น ก็ไม่มีผม”

เราเดินดูงานของเล่นที่จัดทั้งในห้างและนอกห้าง ของเล่นมากมายปลุกจินตนาการสนุกๆ ในวัยเด็กให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง แม้เราจะไม่ได้เป็นคนในวงการของเล่น แต่เราก็มองเห็นงานมหกรรมใหญ่โตที่จัดโชว์ของชิ้นเล็กๆ มากมายที่อัดแน่นด้วยความฝัน ความทรงจำ และความรัก

ของชิ้นเล็กๆ ที่สร้างชีวิตและอาชีพให้กับคนมากมาย

ภาพ ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

AUTHOR