Peachful นักวาดภาพประกอบผู้โอบรับความเป็นตัวเองผ่านลายเส้นนิทานในวัยเด็ก

Peachful หรือ พีช—พัชณาพร วิมลสาระวงค์ คือศิลปินผู้เป็นเจ้าของลายเส้นสุดน่ารัก ที่มองเมื่อไหร่ก็ทำให้เราย้อนนึกไปถึงช่วงวัยเด็ก โดยมีแรงบันดาลใจมาจากภาพประกอบหนังสือนิทานที่นำมาดัดแปลงใหม่ในสไตล์ของตัวเองที่เข้าถึงง่าย สบายตา และแฝงความหมายไว้ด้านในอยู่เสมอ นอกจากนี้เธอยังสร้างเพจ ‘Peachful : Peace of mind’ ที่เป็นเหมือนพื้นที่แห่งความสบายใจสำหรับทุกคน

ด้วยผลงานที่มีเอกลักษณ์ของเธอ ทำให้เธอได้จัดแสดงงานครั้งแรกใน Bangkok Illustration Fair 2022 และได้รับรางวัลจาก Umbel Art Experience และ River City Bangkok ภายใต้ธีมภาพวาดชื่อ ‘Tell Your Tales’ รวมไปถึงนิทรรศการ ‘To the Moon and (never) back’ ที่ได้จัดแสดงร่วมกับศิลปินดังอีกหลายท่านที่ River City Bangkok ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอผันตัวเองมาเป็นนักวาดจริงๆ จังๆ และกล้าที่จะเป็นตัวเองมากขึ้น

ล่าสุดเธอได้จัดแสดงนิทรรศการ ‘The Story of Seasons : สีสันแห่งฤดูกาล’ ที่ TCDC ซึ่งเป็นนิทรรศการ Interactive ที่เกี่ยวกับ 4 ฤดูกาล ซึ่งสะท้อนถึงชีวิต อารมณ์ความรู้สึก และสอดแทรกประสบการณ์ใหม่ๆ โดยเล่าผ่านมุมมอง 8 นักเขียนชื่อดังได้แก่ Once, ไอ่เป็ด, คิ้วต่ำ, Imminimus, วันนี้เจอนั่น, Colorlesswolf, ความฝัน และ บันทึกนึกขึ้นได้ 

เธอเล่าว่าความท้าทายในนิทรรศการครั้งนี้คือการได้เป็นทั้งผู้จัดและผู้วาดครั้งแรก เราจึงอยากชวนเธอมาพูดคุยถึงเบื้องหลังการทำงาน รวมไปถึงการเดินทางบนเส้นทางศิลปะที่ผ่านมาของเธอด้วยเช่นกัน

คุณชอบวาดรูปตั้งแต่เมื่อไหร่

เราชอบวาดรูปตั้งแต่ตอน 7 ขวบ ก่อนหน้านั้นเราเป็นเด็กที่อยู่ไม่นิ่ง ไม่ค่อยมีสมาธิ แม่ก็คิดว่าลูกตัวเองเป็นไฮเปอร์หรือเปล่าก็เลยให้ไปเรียนศิลปะ พอเราได้ไปเรียนแม่ก็สังเกตเห็นว่าเราอยู่กับสิ่งนี้ได้นานมาก เราจะไม่ยอมลุกจนกว่างานจะเสร็จ แม่ก็เลยให้เรียนศิลปะต่อไปเพื่อให้เราได้โฟกัสกับสิ่งที่เราอยากทำ 

แต่พอเข้ามอปลายเราก็รู้ตัวว่าไม่ได้ชอบทั้งสายวิทย์สายศิลป์ แต่รู้ว่าอยากเรียนศิลปะ จนกระทั่งมีรุ่นพี่ที่รู้จักบอกว่ามีสายศิลปกรรมที่ศิลปากรเพิ่งเปิดใหม่ ตอนนั้นเราสอบเข้าได้ก็เลยมีโอกาสไปเรียนศิลปะที่สาธิตศิลปากร อาจารย์ที่สอนก็มาจากคณะจิตรกรรม ตอนนั้นเราได้เรียนศิลปะทุกแขนงเลย เราเอ็นจอยมาก

เคยวิเคราะห์กับตัวเองไหมว่าทำไมถึงโฟกัสกับการวาดรูปได้นาน

เรารู้สึกว่าการวาดรูปมันสามารถเอาสิ่งที่อยู่ในหัวเราออกมาได้ บางคนอาจจะถนัดการเขียนไดอารี่หรืออาจจะถนัดเขียนเป็นตัวอักษร ซึ่งการวาดรูปมันเป็นวิธีการสื่อสารของเรา และการที่เราสามารถอยู่กับมันได้นานก็เพราะเราอยากที่จะเล่าสิ่งที่อยู่ในหัวให้จบ 

อีกอย่างที่ทำให้เรารู้สึกอยากจะวาดรูปต่อ คือแม่จะชมเราทุกครั้งว่าวาดรูปสวย ตอนเด็กๆ เราก็มีไปประกวดบ้างซึ่งก็ไม่ได้ที่ 1 ตลอด แต่เราเป็นที่ 1 ของแม่ วาดอะไรก็สวยหมด (หัวเราะ) เหมือนเขายอมรับในสิ่งที่เราทำ หรือเวลาเราเอางานไปให้ผู้ใหญ่ดูเขาก็จะบอกว่า โห วาดภาพใหญ่ขนาดนี้เลยเหรอ ซึ่งเขาไม่ได้ชมที่ความสวย แต่เขาชมที่เรากล้าที่จะทำในสิ่งที่มันใหญ่ มันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกอยากทำต่อไปเรื่อยๆ

นอกจากจะเป็นนักวาดภาพประกอบแล้ว คุณก็เป็นนักออกแบบประสบการณ์ด้วย จุดเริ่มต้นเกิดจากอะไร

ย้อนกลับไปช่วงเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้นเหมือนช่วงเปลี่ยนผ่านอีกรอบหนึ่ง เรารู้สึกว่าการวาดรูปไม่ได้จบอยู่ที่กระดาษ เราชอบโมเมนต์ที่ได้สร้างอะไรอย่างหนึ่งขึ้นมา ก็เลยเลือกเรียนสถาปัตยฯ ภายในที่จุฬา ซึ่งนอกจากงานวาดแล้ว สถาปัตยฯ มันมีเรื่องของประสบการณ์ของผู้ใช้งานด้วยไม่ใช่แค่ความสวยงามอย่างเดียว เราก็เลยได้พื้นฐานจากการเรียนและวิธีคิดจากสถาปัตยฯ มา

พอเรียนจบสถาปัตยฯ มาก็รู้สึกว่าอยากลองสายเทคดูบ้าง เราก็เลยไปทำ UX/UI (User Experience/User Interface) ออกแบบแอปพลิเคชัน ออกแบบเว็บไซต์ ซึ่งจริงๆ การทำ UX/UI ก็คือสถาปัตยฯ เพราะว่าสุดท้ายแล้วมันก็คือการออกแบบประสบการณ์ของคน แค่เปลี่ยนจากบ้านเป็นเว็บ แต่ระหว่างนั้นเรายังคงวาดรูปมาเสมอเลย

คิดว่าสองอย่างนี้มีอะไรที่เหมือนกันไหม

จริงๆ มันก็ใกล้เคียงกัน เพราะมันเป็นการคอนเนกต์กับคนเหมือนกัน เพราะรูปวาดมันคือไฟนอลโปรดักต์ แต่การออกแบบประสบการณ์มันคือกระบวนการก่อนที่เขาจะมาเห็นโปรดักต์ว่าเขาสัมผัสอะไรมาก่อน เขามีการเดินทางแบบไหน มันคือดีเทลที่ทำให้คนรู้สึกอินเข้าไปในใจมากขึ้น

จุดเริ่มต้นของเพจ Peachful เกิดขึ้นได้ยังไง

เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นเป็ดที่ทำหลายอย่าง แต่สิ่งเดียวที่เราไม่เคยทิ้งเลยคือการวาดรูป เวลาที่กลับมาจากที่ทำงานเราก็ยังนั่งวาดรูป เพจ Peachful ตั้งขึ้นมาตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว จุดประสงค์คือเราอยากมีพื้นที่เก็บผลงานของตัวเอง พอเริ่มตั้งเพจขึ้นมาสักพักก็มีคนมาคอมเมนต์รูป ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันมีคุณค่า มีความหมายกับใครบางคน

คุณคิดยังไงกับการเป็นเป็ดที่ทำอะไรหลายๆ อย่าง

จริงๆ เป็นเป็ดสำหรับพีชมันไม่ใช่จุดอ่อนขนาดนั้น มันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกไม่มั่นใจ กลับกันเรารู้สึกว่าเราทำได้หลายอย่าง เราสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาสร้างอะไรใหม่ๆ ได้เสมอ

ทำไมถึงใช้ชื่อว่า Peachful

Peachful มาจากคำว่า Peach ซึ่งพ้องกับคำว่า Peace ที่แปลว่าสงบสุข ตอนแรกที่ตั้งเพจเราอยากให้คนดูแล้วรู้สึกสงบ สบายใจ แต่ในแง่หนึ่งของ Peachful คือการที่เราอยากกล้าที่จะเป็นตัวเอง อยากให้ตัวเองยอมรับ เราก็เลยใส่ความเป็นตัวเองลงไปด้วย

แรงบันดาลใจในการวาดรูปคืออะไร

น่าจะเป็นสิ่งที่เราอยากสื่อสารออกไป หรือความรู้สึกที่เราอยากจะบอกกับตัวเอง เพราะบางครั้งที่รู้สึกเศร้า เราก็คุยกับตัวเองผ่านรูป ถึงแม้ว่าบางรูปอาจจะดูแล้วรู้สึกเศร้าแต่เราก็จะบอกตัวเองว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป การวาดรูปเหมือนทำให้เราได้บันทึกไดอารี่ในสิ่งที่เราอยากคุยกับตัวเอง 

ซึ่งส่วนใหญ่คนก็มักจะบอกว่างานเราดูแล้วสบายใจ สบายตา ดูเรียบง่าย แต่มีความหมายอยู่ในรูป มันคงเป็นสิ่งที่เราตั้งใจที่จะสื่อสารไป แม้ว่าตอนแรกเราจะไม่ได้มีโจทย์ว่าต้องวาดรูปที่มันสบายใจ แต่พอวาดไปเรื่อยๆ เราก็เห็นว่าคนรู้สึกกับมันเยอะ

ลายเส้นของคุณทำให้เราย้อนนึกไปถึงช่วงวัยเด็ก คุณได้แรงบันดาลใจมาจากไหน

เราชอบลายเส้นนิทาน ตอนเด็กๆ เวลาเข้าห้องสมุดก็จะชอบเปิดดูหนังสือภาพนิทาน พอโตมาเราก็ยังชอบหนังสือภาพอยู่ ทำให้เรารู้สึกว่าอยากเอาเรื่องที่เราชอบมาเล่าผ่านลายเส้น ถึงแม้ว่ามุมมองนิทานในวัยที่เราโตแล้วมันอาจจะไม่สวยงามเหมือนเดิม แต่มันก็เป็นเรื่องราวจริงๆ ของเราที่เกิดขึ้นตอนนี้ 

เรารู้สึกว่าทุกคนมีความเป็นเด็กอยู่ในตัว ความเป็นเด็กคือการที่เราสามารถที่จะเป็นตัวเอง สามารถ express อะไรบางอย่างออกมาได้เยอะ ตอนเด็กๆ เราเจ็บก็ร้องไห้ หรือเวลาหัวเราะก็หัวเราะแบบเด็ก เรารู้สึกว่ามันคือความเป็นเด็กที่ถูกซ่อนอยู่ในพวกเขาเหล่านั้นที่ทำให้เขารู้สึกกับงานเรา เพราะความทรงจำในวัยเด็กเป็นสิ่งที่ทุกคนมี

อีกอย่างคือเราเป็นคนที่สนใจเรื่องจิตวิทยาอยู่แล้ว เราชอบคุยกับคน เวลาคุยก็จะพยายามมีความเห็นอกเห็นใจ พยายามเข้าใจว่าคนๆ นี้มี Background แบบไหน เขารู้สึกยังไง นอกจากตัวลายเส้นที่เราชอบแล้วมันก็คือเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก หรือ Mental Heath ต่างๆ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เรานำมาใช้ในงานค่อนข้างเยอะ

จำได้ไหมว่าตัวเองเริ่มสนใจเรื่องจิตวิทยาตั้งแต่เมื่อไหร่

ตั้งแต่เด็กเลย คือเราชอบคุยกับเพื่อน เราเป็นคนที่เพื่อนมักจะมาปรึกษาเวลามีปัญหา แต่เราก็รู้สึกดีทุกครั้งที่เราได้เป็นเพื่อนเขาในมุมนี้ เพราะการที่คนเราฟังกันมันเป็นสิ่งที่มีค่า เรารู้สึกว่ามันคือความรักที่เรามีให้กับคนอื่นๆ จริงๆ เราก็สนใจเรื่อง Art Therapy ด้วย แต่ยังไม่เคยได้ไปลองเรียน ถ้าไม่เข้าสถาปัตยฯ ก็น่าจะเข้าจิตวิทยา (หัวเราะ)

เวลาเศร้าเคยกลับมาดูงานตัวเองบ้างไหม แล้วมีงานไหนไหมที่สามารถฮีลใจเราได้

จริงๆ มีหลายงานเลย แต่ถ้าให้เลือกก็น่าจะเป็นรูปที่ชื่อว่า Heavy-Empty เป็นรูปหนูน้อยหมวกแดงนั่งอยู่บนม้าโยก ตอนที่ม้าโยกมันกระดกขึ้นแล้วความว่างเปล่ามันหนักมาก ม้าโยกก็เลยทำให้หนูน้อยหมวกแดงลอยขึ้น ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่เหง๊าเหงา แต่ไม่รู้ทำไมดูรูปนั้นถึงรู้สึกมีกำลังใจ คือเรารู้สึกว่าเวลาที่ดูรูปที่เศร้า มันก็ทำให้เราคิดว่าทำไมตอนนั้นถึงเศร้าขนาดนั้น แต่ตอนนี้ก็ไม่ได้เศร้าขนาดนั้นแล้วเพราะมันผ่านมาแล้ว

ปกติเวลาวาดรูป คุณจะให้ความสำคัญกับอะไรมากที่สุด

เราให้ความสำคัญกับความหมายของภาพมากที่สุด เพราะเราอยากให้สารที่ลูกค้าหรือคนที่ทำงานร่วมกับเราต้องการจะสื่อมันถูกสื่อสารออกไปให้ถึงใจคนมากที่สุด สิ่งสำคัญเลยคือคอนเซ็ปต์และไอเดีย เพราะถ้าสิ่งนี้ไม่ตอบโจทย์ตั้งแต่แรกมันก็จะยาก เราทำไปก็อาจจะไม่ได้เกิดเอฟเฟกต์อะไร

เวลาวาดรูปเคยรู้สึกตันบ้างไหม แล้วเรามีวิธีแก้ยังไง

ถ้าเป็นงานลูกค้าก็เดดไลน์เลย (หัวเราะ) บางครั้งเราก็คิดไม่ออกนะ แต่เราเชื่อว่าถ้าเราวาดได้รูปหนึ่งแล้วเราจะสบายใจขึ้น สามารถวาดรูปที่ 2 3 ต่อไปได้แล้วค่อยมาดูอีกทีว่าอยากเลือกชิ้นไหน เรารู้สึกว่าถ้าเป็นงานคือต้องเสร็จ เราต้องรับผิดชอบกับงานที่เรารับมา แต่ถ้าเป็นงานที่เราวาดเองก็จะตามใจตัวเองบ้าง ถ้าเรารู้สึกตันหรือคิดไม่ออกช่วงนั้นก็อาจจะไม่ค่อยวาด เพราะถ้าไม่มีสิ่งที่จะอธิบายออกมามันก็ยาก เราก็อาจจะลองทำอะไรใหม่ๆ เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง หรือดูงานสร้างสรรค์ของคนอื่นๆ

เคยส่งผลงานประกวดอะไรมาบ้าง

จุดที่เริ่มพลิกมาทำนักวาดจริงๆ จังๆ ก็คือตอนที่เราตัดสินใจเข้าประกวด Bangkok Illustration Fair 2022 ตอนแรกก็ไม่มั่นใจว่าตัวเองจะติด เพราะเรารู้สึกว่าทุกคนดูเป็นนักวาดอาชีพ แต่เรายังวาดเป็นงานอดิเรกอยู่เลย ตอนนั้นก็มีคนบอกว่าถ้าเรารอทุกอย่างเพอร์เฟกต์มันก็จะไม่มีทางได้ทำ เราต้องยอมรับความไม่เพอร์เฟกต์บ้างเราก็เลยลองดู สุดท้ายเราติด 150 คน ก็เลยได้จัด Exhibition ครั้งแรก เป็นที่ BACC เป็นบูทเล็กๆ 1 เมตร แต่เป็น 1 เมตรที่มีความหมายกับเรามากเลย ซึ่งคอนเซ็ปต์ของงานครั้งนั้นชื่อว่า ‘Tell Your Tales’ ที่เป็นการนำนิทานเรื่องต่างๆ มาตีความใหม่ เรารู้สึกสนุกและมีความสุขมากเลย เมื่อก่อนเราไม่มั่นใจว่าการเป็นตัวเองของเรามันจะโอเคแล้วหรือเปล่า แต่นิทรรศการครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เรากล้าที่จะเป็นตัวเองมากขึ้น

หลังที่เราได้ไปออกงาน Bangkok Illustration Fair 2022 ที่ BACC ตอนนั้นทาง River City Bangkok ก็ให้รางวัลโดยการให้ไปจัดแสดงนิทรรศากรที่ River City Bangkok เป็นนิทรรศการกลุ่มชื่องานว่า ‘To the moon and (never) back’ ก็ได้เจอศิลปินที่เราประทับใจมาตั้งแต่เด็กๆ ตอนนั้นเราก็กดดันนะ เพราะเป็นการกลับมาเพนต์อีกครั้งหลังจากไม่ได้ทำมา 5-6 ปี แต่ว่าก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่อยากลองทำ

เล่าที่มาที่ไปของนิทรรศการนี้ให้ฟังหน่อย

งานนี้เริ่มมาจากที่เราไปเข้าโครงการ Space ของทาง TCDC ให้จัดนิทรรศการ ซึ่งเป็นนิทรรศการแรกที่เราเป็นเหมือนผู้จัดและผู้วาด ซึ่งพื้นที่ที่เราได้มาเป็นชั้นหนังสือ ตอนนั้นก็คิดว่าไหนๆ ก็เป็นชั้นหนังสือแล้วเราก็อยากออกแบบประสบการณ์ อยากให้คนได้หยิบจับหนังสือเหมือนกัน 

พอได้โจทย์มาเราก็อยากจะเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจเล็กๆ ให้กับคนที่ทำงานสร้างสรรค์ เรารู้สึกว่าคนที่เข้ามาทำงานในห้องสมุดเป็นคนที่อาจจะอยากได้แรงบันดาลใจอะไรใหม่ๆ เหมือนกัน เรามองว่าหลายครั้งที่ภาพประกอบมันมาจากงานเขียน เราก็เลยคิดกลับกันบ้างว่าถ้าเราวาดรูปขึ้นมาแล้วให้คนดู เขาจะเล่าออกมาแบบไหน ก็เลยติดต่อนักเขียนไป ซึ่งก็มีคนที่สนใจเข้ามาร่วมกับเราทั้งหมด 8 คน

ทำไมถึงเลือกที่จะเล่าคอนเซ็ปต์เป็นฤดูกาล

เรารู้สึกว่าอารมณ์กับฤดูกาลมันมีผลกับความรู้สึกของคน ฤดูเป็นสิ่งที่เข้าถึงคนได้ง่ายแล้วมันก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญ เราก็เลยเอาเรื่องนี้มาจับกับเรื่องอารมณ์ความรู้สึก โดยรวบรวมงานของตัวเองมาทั้งหมด 4 รูป แล้วก็ส่งให้นักเขียน ซึ่งมีโจทย์ว่าให้นักเขียนแต่งชื่อเรื่องเองแล้วก็เขียนมาใน 1 หน้า A4 ซึ่งก็จะมีทั้ง 32 เรื่องราว ซึ่งนักเขียน 8 คนก็จะมีมุมมองของที่แตกต่างกัน เรารู้สึกว่าเป็นโปรเจกต์ที่เราสนุก เพราะการที่เอานักเขียนมารวมกันทำให้มันมีหลายสไตล์ให้คนอ่านหลายๆ แบบ ทำให้มันเข้าถึงคนอ่านได้มากขึ้น

ตอนที่นักเขียนส่งกลับมาเราอ่านครั้งแรกก็รู้สึกเซอร์ไพรส์นะ เพราะมีบางมุมที่เราไม่ได้คิด มีบางเรื่องที่เราอ่านแล้วน้ำตาซึมเลยเพราะรู้สึกว่ามันทัชใจมาก ด้วยความที่นักเขียนที่เลือกมาก็เป็นคนที่เราติดตามอยู่แล้ว พอเราได้มาอ่านที่เป็นภาพที่เราวาดด้วยก็ยิ่งรู้สึกกับมันมากขึ้น

อุปสรรคหรือความท้าทายของงานนี้คืออะไร

การเป็นผู้จัดครั้งแรก เพราะมันมีหลายเรื่องต้องจัดการมากกว่าแค่สิ่งที่เราเคยทำ ปกติเราทำเราก็จะเอาคอนเซ็ปต์มาดีไซน์แล้วก็ทำโปรดักชัน เราต้องเรียนรู้ที่จะคุยกับคน แต่การเป็นผู้จัดมันทำให้เราได้สร้างคอมมูนิตี้ เพราะเราต้องเรียนรู้ที่จะคุยกับคน เรารู้สึกว่ามันคือคอมมูนิตี้ของการสร้างจริงๆ

ถ้าให้เปรียบเทียบฤดูกาลกับชีวิตการทำงานศิลปะ คิดว่าตอนนี้ Peachful กำลังอยู่ในฤดูกาลไหน

เราคิดว่าฤดูใบไม้ร่วง เพราะเป็นฤดูแห่งการเปลี่ยนผ่าน ตอนนี้เราเพิ่งลาออกจากงานประจำจากการทำ UX/UI เปลี่ยนมาเป็นนักวาดเต็มตัว ถ้าดูรูปมันจะเป็นเด็กที่ปั่นจักรยานออกจากบ้าน บ้านที่เป็นเหมือนเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเรา แต่เราต้องเดินทางออกมาเพื่อลองค้นหาอะไรบางอย่าง ฤดูใบไม้ร่วงสำหรับเรามันคือชาเลนจ์ที่เราต้องออกไปค้นหา เพื่อกำลังจะเข้าสู่อีกพาร์ตหนึ่งของชีวิต

เป้าหมายการเดินทางที่เราอยากจะไปคืออะไร

เราอยากทำ Solo Exhibition อยากลองทำสิ่งใหม่เยอะๆ เราจะหาคำตอบอะไรบางอย่างได้ก็ต่อเมื่อเราลองทำ เราอยากลองงานในสายวาดให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นงานวาดปกหนังสือ นิทรรศการ งานคอลแลบกับแบรนด์ งานเวิร์กช็อป เราอยากรู้ว่าเราจะสนุกกับการทำแบบไหน เราอาจจะไม่ได้ชัดว่าจะเดินไปทางไหน แต่ที่ชัดแน่ๆ คือเราอยากจะลอง

เราก็ยังเชื่อตลอดว่าชีวิตตัวเองเป็นจุด เพราะเราก็ไม่ได้รู้เหมือนกันว่าเราจะเป็นยังไง ถ้าเปรียบจุดกับงานวาดก็เหมือนกัน จุดแล้วเวลาเราวาดก็จะเป็นเส้น เป็นเส้นแล้วถึงจะเป็นภาพ กว่าเราจะได้ภาพที่เรารู้สึกว่ามันใช่มันก็ต้องผ่านจุดหนึ่งมาก่อน ชีวิตก็คงเป็นเหมือนจุด เราก็ต้องตามหาต่อไปเรื่อยๆ ก็แค่ทำจุดนั้นของชีวิตในสิ่งที่เราอยากทำ ทำแล้วมีความสุขก็พอแล้ว

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream