สร้างชิ้นงานสีสดใสและใส่ใจโลก ด้วย ‘เจสโมไนต์’ แมตทีเรียลสายกรีน จาก Not too Virgin Design Lab

ทุกวันนี้มีวัสดุใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นทางเลือก ขณะเดียวกันก็ยังเพิ่มความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใส่เข้าไปด้วย เพื่อให้การออกแบบผลงานสร้างสรรค์ไม่เป็นภาระกับโลกมากจนเกินไป

วัสดุหนึ่งที่น่าจะถูกใจสำหรับสายนักออกแบบคือ ‘เจสโมไนต์ (Jesmonite)’ วัสดุคุณภาพดีที่นอกจากเป็นมิตรกับโลกแล้ว ข้อดีอีกอย่างคือสามารถสร้างสีได้หลายเฉดด้วย มันจึงกลายเป็นวัสดุที่มีสีสันสดใสดึงดูดใจให้ผู้คนรู้สึกอยากทำความรู้จักวัสดุชนิดนี้ให้มากขึ้น

‘เก้–ขวัญจันทร์ สงขกุล’ และ ‘ไอซ์–ศิรดา กุลไพศาล’ 2 สาวผู้ก่อตั้ง Not too Virgin Design Lab แล็บด้านดีไซน์ที่ทดลองใช้เจสโมไนต์ เริ่มจากการเป็นสตูดิโอที่ปล่อยโปรดักต์จากเจสโมไนต์หลากหลายชนิด และกลายเป็นผู้จำหน่ายเจสโมไนต์อย่างเป็นทางการเพียงแห่งแรกและแห่งเดียวของไทย

ในวันที่เรื่องกรีนไม่ใช่เรื่องไกลตัวของทุกคนอีกต่อไป วันนี้เราเลยอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักเจสโมไนต์จากปากของเจ้าของ Not too Virgin Design Lab กันให้มากขึ้น

จุดเริ่มต้นเกิดจากการที่เก้และไอซ์เรียนด้าน Communication design ทั้งคู่ ก่อนได้ไปเจอกันระหว่างเรียนที่ประเทศอังกฤษ ประเทศต้นกำเนิดของเจสโมไนต์ ซึ่งเกิดจากการทดลองเทคโนโลยีคอนกรีต จนได้มาเป็นวัสดุที่มีส่วนผสมของยิปซัม อะคริลิก และเรซิน ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นวัสดุ eco-friendly อีกด้วย เนื่องจากมีความทนทาน อายุการใช้งานยาวนาน และไม่ปล่อยสารอันตรายสู่ชั้นบรรยากาศ

“เราอยากทำให้เจสโมไนต์เป็นที่รู้จักจริงๆ

“เจสโมไนต์เป็นวัสดุที่เกิดและโตที่อังกฤษ การที่เราไปเจอวัสดุตัวนี้มันง่ายมากๆ เราไปเจอคลาสเวิร์กช็อปที่เขาทำอยู่ในร้านขายของ เราเลยลองไปหาข้อมูลดู จนเจอว่าค่าเวิร์กช็อปมันแพงมากสำหรับเด็กนักเรียนอย่างเรา เราก็เลยคิดว่างั้นลองซื้อมาทำเอง เพราะเราชอบลองอะไรใหม่ๆ อยู่แล้ว มันก็เป็นการเจอวัสดุโดยบังเอิญ แต่ตลาดของประเทศอื่นๆ เขามองเห็นคุณภาพของธุรกิจคราฟต์ ทำให้คนสนใจวัสดุตัวนี้มีเยอะกว่าที่อื่นๆ”

“จริงๆ เจสโมไนต์กำลังเริ่มขยายตัวแทนจำหน่าย (Distributor) ไปยังที่ต่างๆ ที่สิงคโปร์ที่ค่อนข้างดังอยู่แล้ว ถ้าในประเทศอังกฤษมันก็เป็นร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างขนาดใหญ่ เราก็เลยรู้สึกว่าน่าจะเอาเจสโมไนต์เข้ามาในประเทศไทย” 

“เราอยากทำให้เจสโมไนต์เป็นที่รู้จักจริงๆ ข้อดีที่พิเศษมากๆ คือเราไม่สามารถผสมปูนหรือคอนกรีตให้ออกมาเป็นสีสดๆ ได้ ถ้าเป็นคอนกรีตเราก็ต้องทาสี ถ้าเป็นปูนก็เป็นสีตุ่นๆ แต่เจสโมไนต์ถ้าอยากได้สีแดงสดๆ มันก็ทำได้ เวลาคนได้ใช้เขาก็จะสนุกกับมัน แล้วก็ช่วยเพิ่มมิติในงานดีไซน์ เป็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ทุกคนสามารถใช้ได้”

“จากนั้นเราลองเขียนอีเมลไปหาทางเจสโมไนต์ โดยบอกว่าเริ่มมาจากคนที่ทำอยู่บ้านนะ เราก็มีสตูดิโอเล็กๆ ของเรา เป็นไปได้ไหมถ้าเราจะขอเป็นตัวแทนจำหน่าย เราลองใช้แล้วมันดีจริงๆ เรารู้สึกว่ารู้จักกับวัสดุนี้ดี ไม่ใช่แค่ขายอย่างเดียว แต่เราแนะนำได้ด้วย ซึ่งเขาก็ตอบตกลงมา ตอนนั้นเลยเป็นก้าวใหญ่มากๆ ของบริษัทเล็กๆ อย่างเราเลย ตอนนั้นดีใจมาก เราไม่คิดหรอกว่าวันนึงจะได้มาเป็นตัวแทนจำหน่ายของเจสโมไนต์ และเป็นเจ้าเดียวในไทย”

“ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของธุรกิจเรามีหน้าที่ทำให้ลูกค้าหันมาสนใจ”

แม้เจสโมไนต์จะเป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เหมาะกับการนำมาใช้เป็นเครื่องเรือนและของตกแต่ง แต่สิ่งที่ตามมาคือราคาค่อนข้างสูงจึงกลายเป็นความท้าทายสำหรับธุรกิจในวัสดุทางเลือก

“เจสโมไนต์ มันเป็นวัสดุที่เรานำเข้ามา มันไม่มีสารเคมีอันตรายถ้าเทียบกับปูน เรซิน คอนกรีต ดังนั้นมันเซฟสำหรับคนทำ คนใช้ แต่มันตามมาด้วยราคาสูง มันเลยมีทั้งลูกค้าขาประจำมาซื้อไปทำผลงานชิ้นต่างๆ แต่ก็มีลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงจุดนี้ ตลาดเราจึงค่อนข้างเป็นตลาดเฉพาะทาง ที่ผ่านมาเราพยายามเพิ่มมูลค่าให้กับมัน ทำให้คนเข้าใจว่าทำไมถึงต้องมาใช้ และอยากให้คำนึงมากขึ้นด้วยว่าของที่ดีอาจต้องตามมาด้วยราคาที่สูงหน่อย”

“เราว่าจริงๆ มันน่าจะอยู่ที่การให้คุณค่าด้วย มันค่อนข้างเป็นปัจเจกบุคคลมากๆ แต่ละคนมันมีความสนใจที่มันไม่เหมือนกัน แต่ว่าในฐานะที่เราเป็นเจ้าของธุรกิจเรามีหน้าที่ให้ข้อมูลกับลูกค้าของเรา พยายามสร้างความตระหนักรู้ หรือทำอะไรที่คนเห็นแล้วจะชอบ แล้วก็หันมาสนใจ เราทั้งสองคนก็พยายามจะขยายอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอด แต่ก็ไม่ได้เร่งรีบในธุรกิจ เพื่อให้สามารถปรับตามสถานการณ์ชีวิตของแต่ละคนได้”

“ตั้งแต่วันแรกมันก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นนะ มันเป็นผลลัพธ์ที่ถึงจะโตช้าก็ยังโตอยู่ มันเป็นความท้าทายของเราตลอดเวลาในการทำให้วัสดุนี้ให้เป็นที่รู้จัก อย่างถ้าเราไปเห็นงานแบบนี้ของเมืองนอก เราก็อยากให้เห็นที่ไทยด้วยเหมือนกัน คนไปเห็นใน Instagram หรือเห็นในโซเชียลแล้วก็ เฮ้ย อันนี้มันคืออะไร เราอยากให้เขามารู้ว่าบ้านเราจริงๆมันก็มีเหมือนกันนะ”

“เป้าหมายของเวิร์กช็อปคืออยากให้คนรู้จักเจสโมไนต์ผ่านเทคนิคต่างๆ”

นอกจากการจำหน่ายเจสโมไนต์แล้ว Not too virgin ยังชวนให้ผู้คนมาสัมผัสกับวัสดุน้องใหม่นี้กับเวิร์กช็อปน่าสนุกด้วย เพื่อให้กลายเป็นวัสดุที่ทุกคนคุ้นเคยให้มากที่สุด

“เราเป็น Design Lab เพราะเราทดลองอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะด้านธุรกิจหรือวัสดุ นอกจากนี้เราก็พยายามให้มีเวิร์กช็อปอยู่เรื่อยๆ”

“เวิร์กช็อปเราก็จะมีหลายแบบตามราคาและความต้องการของลูกค้า ส่วนที่ป็อบปูลาร์จะเป็นตัวที่เป็น หินขัด (terrazzo) เป็นลายเกร็ดๆ ลูกค้าจะได้เลือกสีเองและได้ใช้จินตนาการเต็มที่ แล้วอีกอย่างจะเป็นลายหินอ่อน (marble) ลูกค้าชอบเวิร์กช็อปเราเพราะจะได้เลือกสีเองได้ ให้คนได้เข้ามาลองใช้ มันเสร็จเร็ว จบเร็วไม่เกิน 2 ชั่วโมง แล้วก็ไม่เลอะ”

“เวิร์กช็อปแต่ละครั้งเราจะพยายามไม่ให้เกิน 10 คน แต่เราก็พยายามดูตามความเหมาะสม เช่น terrazzo เราก็อยากจะพิถีพิถัน ก็จะพยายามจัดให้อยู่ในกลุ่มคนเล็ก แต่ถ้า marble ก็อาจจะเลือกจัดภายในองค์กรได้ เพราะมันได้ทำได้เยอะกว่า แต่ได้ผลลัพธ์ออกมาสวยเหมือนกัน สวยคนละแบบ งานส่วนใหญ่ก็จะเป็นถาด จานรองแก้ว กระถางต้นไม้ แล้วก็จะให้ต้นไม้เขากลับไปด้วย หรือมีทำจานที่ใหญ่ขึ้นแตกต่างกันไป”

“สำหรับเวิร์กช็อปเรามักไม่ได้เลือกอะไรที่มันมีรูปร่าง รูปทรง หรือรายละเอียดที่ยากเกินไป แต่ถ้างานส่วนตัวที่เราทำกันเองละเอียดแค่ไหนก็จะลองทำ เลยกลายเป็นว่าเราได้เรียนรู้อะไรเยอะขึ้น เราได้สั่งสมความรู้ที่เราได้ทำมาตลอด และสามารถส่งต่อความรู้นี้ไปได้”

เก้ปิดท้ายด้วยบทเรียนจากเจ้าของธุรกิจวัสดุทางเลือกใหม่ด้วยว่า “อย่างแรกเลยรู้สึกว่าเราต้องศึกษาตลาดให้ดี และพร้อมกับมือกับความท้าทาย เพราะความท้าทายมันมีอยู่ตลอด 

และที่สำคัญคือทุกอย่างมันใช้เวลา”

AUTHOR