Not Just Library โรงอาบน้ำเก่าที่ถูกแปลงโฉมให้เป็นมากกว่าห้องสมุด

ใครๆ ที่ติดตามเรื่องราวของไต้หวันคงจะคุ้นเคยกับชื่อ สวนศิลปวัฒนธรรมซงซาน (Songshan Cultural and Creative Park) กันมาบ้าง จากพื้นที่รกร้าง อดีตโรงงานยาสูบเก่าแก่ที่ตั้งขึ้นในสมัยอาณานิคมญี่ปุ่น ถูกทิ้งร้างไว้หลายปีหลังการปิดตัวลงของโรงงาน ก่อนจะถูกชุบชีวิตขึ้นใหม่กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเล่าเรื่องราวไม่รู้จบของผู้คนยุคปัจจุบัน ใครจะรู้ว่าภายในพื้นที่แห่งนี้เองก็ยังมีบางส่วนที่แอบซ่อนรอวันได้กลับมาสร้างเรื่องราวในยุคปัจจุบันอีกครั้ง

Not Just Library_credit to photographer Lee Kuo-Min

Not Just Library คือพื้นที่แห่งนั้น จากโรงอาบน้ำเก่าแก่อายุกว่า 83 ปี อดีตเคยให้บริการแก่พนักงานหญิงในโรงงานได้ชำระล้างร่างกายหลังการทำงาน เมื่อโรงงานปิดตัวลง เรื่องราวของโรงอาบน้ำแห่งนี้ก็เลือนหายไปตามกาลเวลา 

แม้พื้นที่โรงงานยาสูบจะถูกเปิดใช้งานขึ้นอีกครั้งในรูปแบบของสวนศิลปวัฒนธรรมซงซาน แต่พื้นที่แห่งนี้ก็ถูกใช้เป็นเพียงโกดังเก็บของเท่านั้น จนกระทั่งที่ตั้งเดิมของ Not Just Library ไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป โกดังเก็บของอดีตโรงอาบน้ำแห่งนี้จึงถูกเลือกขึ้นมาเป็นที่ตั้งแห่งใหม่ 

ด้วยลักษณะของพื้นที่ที่เป็นเอกลักษณ์ของโรงอาบน้ำ อีกทั้งยังติดข้อจำกัดของอาคารทางประวัติศาสตร์ที่ห้ามปรับเปลี่ยนโครงสร้าง หรือแม้แต่ขุด เจาะ ใดๆ ทั้งสิ้น เป็นโจทย์ใหญ่ของทีมดีไซน์ที่นำโดย คุณจอห์นนี่ ชิว จาก JC Architecture 

Not Just Library_credit to photographer Lee Kuo-Min

เพราะประสบการณ์ที่เคยอาศัยในหลายประเทศนอกจากไต้หวัน คือ สวีเดน ญี่ปุ่น อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เขาจึงนึกถึงความเป็นวัฒนธรรมห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ของตะวันตก ผสมกับวัฒนธรรมโรงอาบน้ำในเอเชีย 

“ผมเคยตื่นตาตื่นใจกับห้องสมุดเมืองสตอกโฮล์ม หรือห้องสมุดเมืองนิวยอร์กที่ยิ่งใหญ่และมีเพดานที่เปิดสูง แต่ผมอยากให้ที่นี่มีชีวิตชีวามากกว่านั้น เพราะมันยังมีความเป็นโรงอาบน้ำด้วย ผมเลยคิดถึงวิธีที่ผู้คนใช้ช่วงเวลาในโรงอาบน้ำ ภาพที่ทุกคนนั่งอาบน้ำด้วยกัน พูดคุยกัน หรือจะเป็นโรงอาบน้ำที่เปิดให้คนที่อาบน้ำอยู่สามารถมองเห็นวิวด้านนอกได้”

ไอเดียหลักในการออกแบบ Not Just Library คือการทำพื้นที่เล็กๆ นี้ให้ดูเปิดกว้าง เชื่อมต่อพื้นที่ภายในบริเวณห้องสมุดไปยังพื้นที่ภายนอกที่เป็นสวนอันร่มรื่น และให้ห้องสมุดแห่งนี้มีทั้งความสงบเงียบ ขณะเดียวกันก็สามารถจัดงานอีเวนต์ที่หลากหลายและสนุกสนานได้ เพราะความเชื่อที่ว่าความรู้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพราะการนั่งอ่านหนังสือ แต่ต้องถูกแลกเปลี่ยนและมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน 

Not Just Library_credit to photographer Lee Kuo-Min
Not Just Library_credit to photographer Lee Kuo-Min

“เรามีพื้นที่โรงอาบน้ำในร่มกับพื้นที่สวนด้านนอก ด้วยข้อจำกัดด้านการอนุรักษ์ เราไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรที่มีอยู่แล้วได้เลย และพื้นที่นี้ก็ไม่มีประตูออกไปที่สวนด้านนอกได้ ผมเลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราก็เลือกหน้าต่างบานที่ใหญ่หน่อยและยกสูงขึ้นจากพื้นประมาณหนึ่ง สร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อให้คนเดินขึ้นไปใช้หน้าต่างนั้นแทนประตูออกไปยังสวนได้ เราไม่จำเป็นต้องทำลายหรือเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อที่จะให้มีประตูเลย”

“ส่วนพื้นที่ด้านในที่เคยเป็นโรงอาบน้ำก็เป็นพื้นที่ให้คนใช้บริการนั่งอ่านหนังสือโดยมีหนังสือล้อมรอบอยู่ได้ หรืออีกหนึ่งพื้นที่ไฮไลต์ที่เคยเป็นห้องอาบน้ำ ที่มีเคาน์เตอร์เก่าตั้งอยู่ตรงกลาง ก็จะมีพื้นที่ให้นั่งอ่านหนังสือริมหน้าต่าง ส่วนแสงไฟจากด้านบนก็ต้องออกแบบอย่างระมัดระวัง เพราะเราวางระบบไฟได้ด้วยการแขวนเท่านั้น”

Not Just Library_credit to photographer Lee Kuo-Min
Not Just Library_credit to photographer Lee Kuo-Min

อีกหนึ่งจุดที่หลายคนสังเกตเห็นเมื่อก้าวเข้าไปยังพื้นที่แห่งนี้คือ ร่องรอยของกระเบื้องชิ้นเล็กๆ ที่บ้างก็แตกและหลุดออกไปตามกาลเวลา แทนที่จะหากระเบื้องใหม่มาซ่อมพื้น ทีมงานเลือกที่จะทาสีเหลืองลงไปยังช่องที่ว่างไว้ เพื่อแสดงถึงการยอมรับว่าอดีตนั้นผ่านไปแล้ว และ ณ เวลานี้ พวกเราต้องเดินหน้าต่อ เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้ได้มีเรื่องราวและพลังงานใหม่ๆ เข้ามา

“บริษัทเราพยายามมากที่จะคงของเก่าและผสมผสานของใหม่เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเรื่องราวใหม่ๆ จากสิ่งที่มีอยู่“

เรายังสัมผัสได้ถึงความชื่นชอบของจอห์นนี่ที่มีต่อการรีดีไซน์พื้นที่เก่าให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งด้วยบทบาทใหม่ระหว่างที่พูดคุยกัน ผลงานการรีดีไซน์พื้นที่อื่นๆ ที่โดดเด่นของเขา เช่น การออกแบบพื้นที่ทำงานของสำนักงานรัฐบาลเมืองนิวไทเป การออกแบบขบวนรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวให้การรถไฟไต้หวัน ฯลฯ ที่ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีอยู่เดิม และปรับปรุงใหม่เพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่แตกต่างจากอดีต

Not Just Library_credit to photographer Lee Kuo-Min

“ผมชอบเรื่องแบบนี้นะ ผมเรียนในยุโรปเลยเข้าใจคอนเซปต์การจัดการพวกของเก่าแก่ต่างๆ วิธีหนึ่งคือคงให้ทั้งหมดมันเหมือนเก่า เหมือนเมื่อหลายร้อยปีก่อน แต่ผมไม่ได้สนใจแบบนั้น ผมสนใจในอีกวิธี คือการคงของเก่าไว้แล้วเพิ่มเอเลเมนต์ใหม่เข้าไป เพราะถ้าเราทำให้เหมือนเก่าไปเลย ผมว่าค่าใช่จ่ายที่จะทำแบบนั้นทั้งแพงแล้วอาจจะไม่ได้เกิดผลจริงๆ ผมเลยชอบใส่ของใหม่เข้าไป หาวิธีใหม่ๆ ที่จะใช้งานพื้นที่ตรงนั้นหรือสิ่งเหล่านั้น แล้วบริษัทของพวกเราก็ค่อนข้างมีผลงานแบบนี้เยอะด้วย

ผมเชื่อว่าวัฒนธรรมไต้หวันมีความชั่วครั้งชั่วคราวเป็นส่วนประกอบ เพราะไต้หวันเปลี่ยนมือผู้ปกครองมากมาย มันทำให้ผู้คนที่นี่รู้สึกว่าถ้าเกิดต่อไปจะมีคนเข้ามาแล้วครอบครองบ้านของพวกเราอีกล่ะ ถ้าอย่างนั้นเราก็ไม่ลงทุนกับมันให้มากดีกว่า 

คุณอาจบอกว่าตึกรามบ้านช่องของไต้หวันไม่สวย แต่ผมรักมันนะ มันคือสิ่งที่สะท้อนว่าเราเป็นใคร มันสะท้อนวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของเรา เราแค่ต้องทำงานกับมัน เอามันมาใช้ ทำงานกับวัฒนธรรมที่มีอยู่เพื่อที่จะสร้างสังคมที่กล้าเผชิญหน้ากับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์”

AUTHOR