‘Nine Folk Tales’ ชวนรื้อและตั้งคำถามกับ 9 นิทานพื้นบ้านในความทรงจำ

ยังมีนิทานพื้นบ้านเรื่องไหนบ้างที่คุณยังจำได้มาจนถึงวันนี้? ตอนจบของนิทานที่ทิ้งท้ายด้วยคติสอนใจที่ปลูกฝังค่านิยมความเชื่อถ่ายทอดต่อกันมา ยังสามารถใช้ได้ในปัจจุบันหรือไม่? 

Nine Folk Tales’ กล่องนิทานพื้นบ้านเพื่ออนาคตที่พวกเราปรารถนา จะชวนผู้ใหญ่ที่เคยเติบโตมากับเรื่องเล่าทั้ง 9 เรื่อง มารื้อถอนอุดมคติเดิมที่เราได้รับมาตอนเยาว์วัย และเด็กในวันนี้ที่กำลังเริ่มเรียนรู้และจดจำกับเรื่องเล่าในเวอร์ชันที่ปราศจากความกลัว ให้พวกเขาพร้อมที่จะสำรวจเนื้อตัวร่างกาย รวมถึงรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดของตัวเองและคนอื่นในสังคม 

โปรเจกต์นี้ประกอบด้วยเรื่องเล่าที่ตีความใหม่ 9 เรื่องจาก 9 คำ ได้แก่ ‘ชุมชน’ ในเรื่อง กบเลือกนาย (Frogs Who Desired), ‘ความหิว’ ในเรื่อง ก่องข้าวน้อย (In Hunger), ‘อยู่อย่างคน’ ในเรื่อง ควายอยากเป็นคน (Buffaloes Dream of Being Human), ‘เนื้อหนังมังสา’ ในเรื่อง แก้วหน้าม้า (Girl With A Face of A Horse), ‘ทรัพย์สินและทรัพยากร’ ในเรื่อง ตาอินตานา โชคชะตาและปากท้อง (The Fisherfolk’s Journey), ‘สุ้มเสียง’ ในเรื่อง ผีทักอย่าทักตอบ (A Ghost Story), ‘อารมณ์และความทรงจำ’ ในเรื่อง ความทรงจำแม่ปลาบู่ (My Mother’s Memory), ‘จินตนาการ’ ในเรื่อง กระต่ายกับเต่า (Rabbit & Turtle) และ ‘ความปลอดภัยและการดูแล’ ในเรื่อง หนูน้อยหมวกแดง (Little Red Riding Hood)

ในครั้งนี้จึงชวนบรรณาธิการทั้งสองคน อาจารย์พั้นช์-รับขวัญ ธรรมบุษดี และ เพลิน-ปาลิน อังศุสิงห์ ที่มาพร้อมกับ ฟ้าใส อินทรักษ์ อาร์ตไดเรกเตอร์ และ ปิง ศศินันท์ หนึ่งในผู้แต่งและวาดภาพประกอบจากเรื่อง ‘แก้วหน้าม้า’ มาย้อนถึงที่มาโปรเจกต์กว่าจะมาเป็น ‘Nine Folk Tales’ และความคาดหวังที่ใหญ่กว่าในอนาคตที่ต้องการให้เกิดหลักสูตรการศึกษาใหม่ขึ้นในประเทศไทย 

ก่อนจะมาเป็น ‘Nine Folk Tales’ 

เพลินเป็นหนึ่งในบรรณาธิการของโปรเจกต์นี้ เธอเริ่มทำวิจัยเกี่ยวกับการผลิตความรู้ในพื้นที่ศิลปะร่วมสมัยในไทย จึงทำการลงพื้นที่สำรวจที่อำเภอจะนะ ซึ่งในขณะนั้นมีประเด็นการไล่รื้อที่และสิ่งแวดล้อม จนค้นพบความรู้มากมายที่ถูกมองว่าไม่มีความสำคัญมากพอที่จะได้ถูกบรรจุอยู่ในหนังสือเรียน แต่เป็นสิ่งที่ใช้ในการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่นเพื่อความอยู่รอดและอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติที่เป็นบ้านและแหล่งทำกินของพวกเขา จึงเกิดเป็นสารตั้งต้นของโปรเจกต์ ‘Nine Folk Tales’ โดยจับมือกับกลุ่มที่คนที่ทำงานด้านการศึกษาและความเหลื่อมล้ำที่มารวมตัวกันในชื่อ ‘ครูพลเรียน’  

อาจารย์พั้นช์: “เมื่อได้มาคุยกับคุณครูทำให้พบว่าความรู้จริงๆ ที่อยู่ในวัฒนธรรมการศึกษาของเด็กๆ ที่โตมาในระบบการศึกษาภาคบังคับนี่แหละที่ทำงานหนักมากในการกรอบความรู้ ความคิด ต้องเป็นแบบนั้นต้องตอบแบบนี้ แต่ไม่ได้เป็นความรู้ที่ทำให้เด็กรู้สึกอยากค้นหา สำรวจร่างกาย ความรู้สึก ความเจ็บตัวของตัวเองและคนอื่นในสังคม” 

เพลิน: “โปรเจกต์นี้เสมือนเป็นยานพาหนะเพื่อนำพาไอเดียที่ทางกลุ่มคุยกันมาให้เห็นเป็นรูปธรรม อยากรู้ว่าจะไปแพร่กระจายในสังคมผ่านวิธีการแบบใดบ้าง ก็เลยนึกถึงฟังก์ชันของนิทานเรื่องเล่าในสังคมที่เป็นสิ่งที่เล่าส่งทอดต่อๆ กันข้ามรุ่น ข้ามเวลา วนเวียนอยู่กับคนเราอย่างแข็งแรงมาก รวมถึงเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจที่ใช้ปลูกฝังประชาชน ก็เลยเลือกรูปแบบนิทานมาทดลองตั้งต้นโปรเจกต์นี้”

ทำไมต้องรื้อนิทานพื้นบ้านเดิมแทนการเขียนเรื่องใหม่

อาจารย์พั้นช์: “จริงๆ ก็มีการลองเขียนเรื่องใหม่แล้ว แต่ค้นพบว่ามันยากมากที่จะครีเอตเรื่องใหม่ขึ้นมาทั้งเก้าเรื่อง จึงมานั่งคุยกันว่าจริงๆ แล้วไอเดียประเด็นที่กลุ่มอยากพูดถึงมันมีอยู่ในนิทานเดิมที่มีอยู่แล้ว ก็เลยพลิกมาสู่การรื้อเรื่องเล่าแทน เพราะเรื่องเล่าเดิมที่ทั้งอยู่มานานแต่ยังทำงานเกี่ยวกับความทรงจำ การมองโลกของเด็กๆ แต่ละคน การที่เด็กคนนึงโตขึ้นมากับเรื่องปลาบู่ทอง ยอมรับเรื่องเล่าที่ว่าแม่ปลาบู่ต้องโดนฆ่าแล้วฆ่าอีกซ้ำๆ นั่นมันก็อาจจะเป็นหนึ่งในหัวเชื้อที่ทำให้ยอมรับว่าร่างกายของแม่หรือผู้หญิงมีค่าเท่ากับสัตว์โดยที่ไม่รู้ตัว”

“ก็เลยมองว่าการรื้อก็มีพลังอีกแบบเช่นกันที่จะสร้างความปั่นป่วนความรู้ที่เคยรู้มาก่อน นิทานเหล่านี้จึงไม่ได้ทำงานเฉพาะกับเด็กอย่างเดียว แต่สะกิดแหย่ผู้ใหญ่ที่โตมากับนิทานเหล่านี้เช่นกัน ตั้งคำถามกับพวกเราว่านิทานเรื่องเดิมที่คุณเคยรู้จักเมื่อเนื้อเรื่องพลิกมาเป็นอีกมุมหนึ่งแบบนี้ มันทำงานกับเรายังไง มีความรู้สึกอย่างไรเมื่อได้อ่าน”

คำ 9 คำที่ต้องการรื้อและทวงคืน

เพลิน: “จริงๆ แล้วคำที่เลือกมาดูเผินๆ เหมือนเป็นคำธรรมดา แต่คำเหล่านี้กลับถูกอำนาจรัฐ ชนชั้นนำเคลมไปใช้ยังไง แล้วพวกเราอยากจำนิยามมันใหม่ยังไง ปอกเปลือกออกมาเพื่อให้เห็นข้างในลึกๆ นั้นมันส่งไปถึงกับคนทั่วไปยังไงบ้าง”

อาจารย์พั้นช์: “จากไอเดียที่อยากเล่าเรื่องความเหลื่อมล้ำ การเมือง ที่ไม่จำเป็นต้องหยิบยกทฤษฎีที่ฟังเข้าใจยาก แต่พูดผ่านคำที่อยู่ในชีวิตประจำวันที่เราได้ยิน เลยหาคำเก้าคำที่ไม่เป็นการยัดเยียดจนเกินไป แต่มันอยู่ในชีวิตคุณและได้เคยสัมผัสมันมาก่อน เช่น คำว่าความหิว เนื้อหนังมังสา อารมณ์และความทรงจำ จินตนาการ สุ้มเสียง ฯลฯ ในการทำงานจะมีการลิสต์สิ่งที่เราปรารถนา สังคมที่อยากอยู่ อยากเติบโตขึ้นนั้น ต้องประกอบด้วยอะไรบ้างที่ไม่ใช่แค่ในเชิงนโยบาย แต่เป็นการมองถึงชีวิตที่เราอยากหายใจ อยากเติบโตขึ้นมานั้นเป็นสังคมแบบไหน ถึงจะเป็นการจัดหมวดหมู่และเพิ่มเติมคำที่จะสะท้อนสิ่งปรารถนาเหล่านี้”

“ตัวอย่างเช่น ความฝัน เป็นคำที่อำนาจทุนนิยม คอยย้ำกับคนทั่วไปตลอดว่าคุณสามารถทำตามความฝันได้ถ้าคุณพยายาม ทุกคนถูกหล่อเลี้ยงมาด้วยคำๆ นี้ คนเราต้องมีความฝัน แต่ในสภาพความเป็นจริงไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทุกคนสามารถทำตามความฝันได้ เพราะฉะนั้นความฝันที่เรานิยามขึ้นใหม่นี้เป็นการจินตนาการถึงสังคมที่เราสามารถทำมันขึ้นมาได้นะ เราฝันได้โดยที่ไม่ต้องแลกกับการต้องขูดรีดเฆี่ยนตีตัวเอง โดยที่สังคมแบบไหนที่เราสามารถอยู่ได้โดยที่เราไม่ต้องเอาความฝันของเราหรือความฝันของพ่อแม่ไปให้ลูกแบกไว้” 

จากชุดคำกลายเป็นเรื่องและนิทานได้อย่างไร

ทีมบรรณาธิการเล่าให้เราฟังว่ากระบวนการตัดสินใจคิดถึงประเด็นที่อยากพูดถึงก่อน เช่น คำว่า ความหิว มาจากที่ทางทีมอยากพูดถึงประเด็นเรื่องการกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียม และความหิวในด้านอารมณ์ความรู้สึกภายในที่เป็นแรงขับ แรงผลักดันที่อยากทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น พอสรุปเป็นประเด็นออกมาแล้วจึงมา brainstorm เลือกกันว่านิทานเรื่องไหนที่จะทำงานกับคำนี้ได้ดีที่สุด ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ผ่านการถกเถียงและพูดคุยทางห้องประชุมออนไลน์กันนานหลายเดือนในช่วงระหว่างการระบาดของโควิด-19 ก่อนจะตกผลึกเป็นคำแต่ละคำที่ตอบโจทย์คำถามในสองระดับทั้งตัวเองและสังคม หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการจับคู่คำกับนิทานพื้นบ้านที่ทางกลุ่มมองว่าเป็นปัญหามากที่สุดและอยากรื้อเรื่องเล่านั้นขึ้นใหม่

เพลิน: “ถึงอย่างนั้นก็ยังอยากส่งต่อ เปิดช่องว่างให้นักวาดภาพประกอบเรื่องแต่ละคนได้ตีความและเรียบเรียงออกมาในมุมมองของตัวเองด้วย สำหรับทางกลุ่มจะเสมือนเป็นหัวเชื้อตั้งต้นให้”

อาจารย์พั้นช์: “แม้แต่ในกระบวนการที่นำคำส่งต่อให้นักวาดแต่ละคนก็เหมือนกันการซ้อมขั้นที่หนึ่งในการเปิดตัวโปรเจกต์นี้ นั่นก็เพราะนักวาดเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในการคุยโปรเจกต์มาตั้งแต่ต้น แต่ได้รับเป็นบรีฟ ซึ่งทั้งเก้าคนมีความคิดความเชื่อที่ไม่เหมือนกันมาก่อน ถึงแม้จะเหนือความคาดหมายแต่ก็เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีและชื่นชอบเป็นอย่างมาก เพราะจากที่อยู่ในวงล้อมกับคนที่มีความคิด ความเชื่อแบบเดียวกันมาตลอด จึงทำให้เห็นไปในทิศทางแบบเดียวกันเท่านั้น”

เสาะหานักวาดภาพประกอบที่ใช่

เพลินได้รับหน้าที่หลักในส่วนของการตามหานักวาดภาพประกอบที่เหมาะกับนิทานแต่ละเรื่อง ด้วยการตามส่องผลงานทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์จนได้นักวาดภาพประกอบที่มีความหลากหลายทั้งในส่วนของลายเส้นและการถ่ายทอดเรื่องราวทั้งเก้าเรื่อง หนึ่งในนั้นก็คือ ปิง ที่รับหน้าที่เล่าเรื่องราวของคำว่า ‘เนื้อหนังมังสา’ ในนิทานพื้นบ้านเรื่อง ‘แก้วหน้าม้า’ 

โดยการทำงานบรรณาธิการทั้งสองคนจะแบ่งกันจับคู่ประกบนักวาดภาพประกอบเรื่องแต่ละคนเพื่อประสานงานตามขั้นตอนและรับฟังไอเดียที่แต่ละคนตีโจทย์ตามบรีฟเป็นข้อๆ ที่ได้รับ

เพลิน: “ตอนแรกไม่ได้เจาะจงว่าแต่ละเรื่องจะมีภาพออกมาแบบไหนในหัว จะมีแค่มู้ดโทนลอยๆ ว่าเรื่องเกี่ยวกับแบบนี้ ภาพจะมีอารมณ์ประมาณนี้ไหม แต่เรื่องที่ปิงได้รับเป็นเรื่องที่เห็นภาพในหัวค่อนข้างชัดว่าควรจะมีความเซอร์เรียล ฟิวเจอร์ริสติก เราเองก็กำลังหาคนที่จะมาพูดเรื่องเนื้อหนังมังสาของร่างกายที่มีความหลากหลาย ความเป็นไปได้ของร่างกายต่างๆ ก็เลยลองติดต่อไป ซึ่งก็เป็นประเด็นที่ปิงก็สนใจอยู่พอดี” 

ปิง: “โดยพื้นฐานเราเป็นคนสนใจเรื่องการเมืองอยู่แล้ว พอได้รับโจทย์หัวข้อเนื้อหนังมังสายิ่งทำให้สนใจมากเป็นพิเศษ ประกอบกับช่วงนั้นได้ดูเนื้อหาของ content creator ที่เป็น transgender เยอะมาก ก็เลยรู้สึกถึงความเชื่อมโยง ยิ่งพอได้อ่านบรีฟก็รู้สึกว่าหัวข้อที่ได้รับมาไม่ได้มีแค่เรื่องเพศอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงร่างกายของผู้คนหลากหลาย แรงงาน เรื่องเพศ และความแตกต่าง สำหรับเรื่องแก้วหน้าม้าจริงๆ ก็เป็นนิทานพื้นบ้านเรื่องที่ชอบมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะตอนนั้นชื่นชอบคาแรกเตอร์ผู้หญิงที่สู้เพื่อตัวเองเป็นพิเศษ แต่พอโตขึ้นมาก็เกิดคำถามว่าแล้วทำไมเราต้องสู้เพื่อตัวเองกันขนาดนี้ด้วย”

โดยกว่าที่จะเป็นเวอร์ชันที่พิมพ์ออกมาให้เราเห็นนั้น เธอต้องแก้หลายรอบมากเพื่อทำให้เนื้อเรื่องครอบคลุมที่หัวข้อในบรีฟที่ได้รับมา รวมถึงทำให้มีความสมเหตุสมผลสำหรับตัวเองมากที่สุดด้วยเช่นกัน

“ความยากของนิทานไทยสำหรับเราคือการที่เนื้อเรื่องเล่าต่อไปได้เรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น แก้วหน้าม้า ก็จะมีเนื้อเรื่องเริ่มต้น มีเหตุการณ์เกิดขึ้น คลี่คลายได้ด้วยดี แต่ก็ยังมีรุ่นลูกเพิ่มมาอีกขึ้นอยู่กับผู้เขียน เลยทำให้ยากที่จะนำมาปรับใช้กับวิธีแบบฝรั่ง ที่มีการวางโครงสร้าง เริ่มต้น กลาง จบ ซึ่งก็เป็นความท้าทายที่จะนำวิธีการเล่าโครงเรื่องแบบไทยมารื้อและตีความใหม่ ให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น”

ฟ้าใส: “พอได้เรื่องมาจากนักเขียนก็คิดทิศทางภาพจากโจทย์ ‘อารมณ์และความทรงจำ’ เลยทำภาพออกมาให้เป็นเศษเสี้ยวของความทรงจำที่ซีดจาง ที่เล่าผ่านภาพฝันเหมือนภาพแฟลชแบ็กของความทรงจำที่สแกนออกมาแล้วกำลังจะหายไป ใช้ texture ที่ให้ความรู้สึกขุ่นมัวเหมือนกำลังอยู่ในน้ำ โดยที่เลือกใช้สี baby blue เพื่อให้รู้สึกถึงการอยู่ในช่วงวัยที่ผ่านความรุนแรงของสายตาตัวละครในเรื่อง”

การเติบโต เรียนรู้ และระหว่างทางของนิทานแต่ละเรื่อง 

เพลิน: “ในกระบวนการทำงาน เรื่อง ‘กบเลือกนาย’ ผู้แต่งและวาดภาพประกอบตีความคำว่าชุมชนไว้กว้างมาก นักเขียนคิดถึงการอยู่ร่วมกันในชุมชนที่รวมคนหลายรุ่นที่มีความเชื่ออันแตกต่างไม่เหมือนกันเพื่อค้นหาสิ่งที่จะเชื่อมโยงกันและกัน โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ส่วนตัวของครอบครัว ซึ่งมันมีความขัดแย้งเรื่องความเชื่อหรือความรู้สึกของแต่ละรุ่นที่เข้าใจได้ แต่เพลินก็ชี้ให้เห็นอีกมุมว่าความเป็นชุมชนมีเรื่องอื่นอยู่ด้วย เช่น การกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่ากันที่เป็นพื้นฐานทำให้คนคิดไม่เหมือนกัน การที่คนที่ไม่มีมากเท่าอีกคนหนึ่งมันอาจจะสร้างอารมณ์ หรือสร้างคุณค่าบางอย่างที่ยิ่งเกิดการแบ่งแยกกันอีกในเชิงอายุ หลังจากที่คุยกันไปมาหลายครั้งจึงต้องการสมดุลระหว่างสิ่งที่นักวาดอยากส่งสารออกไปกับสิ่งที่ทีมคิดว่าต้องการเน้นย้ำให้เห็นภาพจะมาอยู่ด้วยกันยังไงดี”

อาจารย์พั้นช์: “เรื่อง ‘กระต่ายกับเต่า’ ใช้ระยะเวลานานกว่าเรื่องอื่นๆ ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่สั้นและเรียบง่าย แต่กระบวนการสรุปไอเดียและเนื้อเรื่องต้องใช้เวลาคุยกันหลายครั้งเช่นกัน แม้จะมองว่าใจความของเรื่องมันคือการแข่งขัน เมื่อได้จับคู่กับคุณมีมี่ (นักวาดเรื่อง ‘กระต่ายกับเต่า’) ที่ทำงานกับหนังสือเด็กและที่มีเซนส์การทำหนังสือเพื่อเด็กที่เข้มแข็งมาก ซึ่งต่างกับความมุ่งหมายของคนที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบเรา ก็ดูเหมือนการปะทะทางความคิด โต้แย้งกันในช่วงตั้งต้น เกิดข้อสงสัยต่างๆ ว่า เล่าแบบนี้เด็กจะเข้าใจไหมหรือจะรุนแรงไปหรือเปล่า จึงต้องมีบทสนทนาที่คุยกันเยอะมาก เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจถึงที่มาและความเชื่อ ทำให้ถึงเปลี่ยนแค่มายด์เซตในครอบครัวนั้นยังไม่พอ พ่อเต่า แม่กระต่ายที่ทำงานหนักมากแต่ไม่มีเวลาให้ลูก ถ้าเปลี่ยนให้มีเวลาให้ลูกมากขึ้นมันจะเป็นตอนจบของเรื่องได้หรือไม่” 

“ชนชั้นนำที่มักตอกย้ำว่าพ่อแม่ต้องมีเวลาให้ลูก แต่ในเชิงความเป็นจริงไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ พอแตกไอเดียกันมาเรื่อยๆ จึงเป็นการหาสมดุลวิธีการเล่าที่คุณมีมี่ก็สามารถเลือกวิธีการเล่าที่ทำให้เด็กเข้าใจย่อยง่าย ในขณะที่สารที่ทีมต้องการเล่าถึงอาจไม่ได้ชัดโจ่งแจ้ง หนักแน่น แต่สอดแทรกแฝงอยู่ในบทสนทนากับตัวละครแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมอาจมองไม่เห็นเองว่าการใช้กลวิธีแบบอื่นๆ ที่ละเอียดอ่อนที่ทำงานด้านอารมณ์กับเด็กมันมีแบบอื่นๆ เช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าเล่มนี้เป็นเรื่องที่ children friendly ที่สุด”

เดินทางเข้าสู่กระบวนผลิต

อาจารย์พั้นช์: “ได้วางไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะต้องเป็นแบบ boxset เก้าคำที่ต้องอยู่ด้วยกัน เนื่องจากไอเดียตั้งต้นก่อนที่จะเกิด Nine Folk Tales เพื่อประกาศถึงสังคมที่เราปรารถนาอยากเห็นไม่ได้มีแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเดียว ร่างกายหรือความทรงจำอย่างเดียวมันไม่พอ เราต้องจินตนาการถึงโลกใหม่ได้ด้วย”

เพลิน: “โจทย์ที่ตั้งไว้อยากให้เหมือนกับกล่องแพนโดรา ที่เปิดแล้วเปลี่ยนโลกยังไง เป็นการเชื้อเชิญ กระตุ้นให้คนอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราและทีมอยากให้กล่องทำงานกับคนในทางนั้น มีความน่าค้นหา ลึกลับ สงสัยสิ่งที่อยู่ข้างใน”

ฟ้าใส: “โจทย์นี้มันมีหลายองค์ประกอบมาก แรงบันดาลใจหลักมาจากหนังสือเรียนหรือหนังสือนิทานเก่าๆ ที่มีฟอร์แมตอยู่ อีกทั้งด้วยคอนเซ็ปต์ตั้งต้นของแต่ละเล่มที่เป็นวิชาแต่ละวิชาที่จะดึง layout มาจากหนังสือเรียนที่ตรงไปตรงมา เป็นอาร์ตไดเรกชันใหญ่ครอบอยู่เพื่อให้เป็นฟอร์แมตรวมที่เหมือนกัน และใช้สองคู่สีในการบ่งบอกและแสดงนัยของแต่ละเรื่อง นั่นก็มาจากการคำนึงถึงการพิมพ์หนังสือเรียนสมัยก่อนที่ใช้สีได้อย่างจำกัด บนกล่องก็จะมีดีเทลที่เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของแต่ละเรื่องตกแต่งต่อกันเป็นเส้นกรอบผู้อ่านจะรู้สึกถึงความคลาสสิก แล้วเติมความ magical ด้วยการใส่กิมมิกเชือกผูกโบว์ให้ความรู้สึกการ Unbox กล่อง ก่อนจะพบกับเล่มหนังสือเหมือนเป็นการเกริ่นนำก่อนสู่โลกนิทานพื้นบ้านเวอร์ชัน Nine Folk Tales”

รูปแบบการจัดจำหน่ายที่เน้นความใกล้ชิด

เพลิน: “ตอนนี้มีตัวแทนที่วางขายกล่องนิทานพื้นฐานนี้อยู่สองที่ ได้แก่ Fathom Bookspace และ ร้านหนังสือก็องดิด ที่เลือกสองที่นี้เพราะรู้ว่าทั้งสองที่มีความตั้งใจมากในการนำเสนอหนังสือ รวมทั้งมีความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าไม่อยากส่งกล่องนิทานไปกับสายส่งหนังสือเพื่อวางขายในร้านหนังสือทั่วไป เราชอบความสัมพันธ์แบบนี้มากกว่าการที่กระจายไปโดยไม่รู้ว่าใครเป็นคนรับกล่องนิทานไปจำหน่าย นอกจากทั้งสองร้าน ก็ยังสามารถทัก Inbox มาซื้อตรงได้กับทางเพจเลย”  

กล่องนิทานพื้นบ้านกำลังสื่อสารกับใคร

อาจารย์พั้นช์: “โฟกัสแรกคิดว่าน่าจะทำงานกับเด็กโตหน่อยหรือคนในเจนเรา (อายุ 30-40 ปี ขึ้นไป) ด้วยซ้ำเพราะว่าคอนเซ็ปต์เกิดความต้องการที่จะรื้อ แสดงว่าต้องเคยได้ยินหรือโตมากับเรื่องราวแบบนี้มาก่อน พอมาอ่านเวอร์ชันนี้ถึงจะปั่นป่วนกับความคิดเราได้ก่อน ซึ่งในเบื้องต้นไม่ได้ต้องการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทันทีหลังจากอ่าน แต่อาจเป็นหัวเชื้อให้เริ่มเกิดการตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเติบโตมา” 

“ส่วนเป้าหมายที่สองที่เราคิดว่าเราอยากให้ทำงานคือในพาร์ตการศึกษาที่จะมีทีมครูที่ไม่ได้ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่เริ่ม จะนำไปใช้ในห้องเรียนได้อย่างไรบ้าง ด้วยความที่ไม่ได้เป็นนิทานตามขนบที่จบสมบูรณ์ในตัวเองที่จะให้คติสอนใจเด็ก แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้สำหรับคนทำงานด้านการศึกษาหรือคนทำงานเชิงด้านวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น คนทำละครหรือกิจกรรมเกี่ยวกับเด็ก นำไปสร้างต่อยอดจากคำท้ายเรื่องที่เราทิ้งท้ายไว้ เมื่อผู้ใหญ่ที่โตมากับโลกแบบหนึ่งกำลังจะมาเล่าโลกอีกแบบให้เด็กที่กำลังโตมา พวกเขาจะมองมันยังไง” 

“สำหรับเด็กเล็กกระบวนการรื้อมันไม่ได้สำคัญ เพราะเป็นเรื่องราวใหม่ที่เขาได้รับ ซึ่งก็เป็นการทำงานในอีกแบบนึง อาจช่วยหล่อหลอม เตรียมความพร้อมให้เขาเติบโตขึ้นมากับหนูน้อยหมวกแดงเวอร์ชันนี้ที่อาจจะไม่ได้สนุกตื่นเต้นแบบเดิม แต่ก็ไม่มีใครโดนกรีดท้อง สร้างความหวาดกลัว ต้องหลงทาง หรือตายในเรื่อง” 

จริงๆ แล้วหน้าที่ของนิทานคืออะไร

อาจารย์พั้นช์: “ส่วนตัวชอบอ่านนิทานมาตั้งแต่เด็ก โตขึ้นมาก็อยากเขียนนิทาน เรารู้สึกว่าเรื่องเล่าทำงานกับสังคมหนักมากทั้งเรื่องเล่าจากฝ่ายขวา นายทุน รวมถึงเผด็จการ พอพูดถึงเรื่องราวในแง่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทำให้สังคมดีขึ้น มันไม่ได้มีตัวเลือกเยอะ ยิ่งพอพูดถึงเรื่องนิทานยิ่งมองว่าเป็นเรื่องของเด็กไปซะก่อน เพราะมันย่อยง่าย เข้าใจง่าย พูดถึงเรื่องที่ทุกคนเชื่อมโยงได้ แต่นั่นไม่ใช่หรือที่มันควรจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับทุกคน ไม่ว่าคุณจะมีอายุเท่าไหร่ ถ้าอยากรับความรู้หรือส่งต่อความรู้มันก็ควรเป็นเรื่องที่ย่อยง่าย ควรที่จะทำงานกับความรู้สึกของคุณและอยู่ในชีวิตประจำวันของคุณ” 

“เพราะฉะนั้นเลยคิดว่าหนังสือนิทานโปรเจกต์นี้ก็เป็นการปั่นคอนเซ็ปต์ความเป็นนิทานที่ขีดเส้นให้เป็นของเด็กเท่านั้น จริงๆ แล้วเมื่อเราเรียนจบทำงานโตมา ทุกๆ คนก็ยังมีความฝัน ยังมีจินตนาการแต่ถูกตีกรอบว่าคุณโตแล้วไม่จำเป็นต้องอ่านนิทานหรอก โตแล้วจะมาเชื่ออะไรกับเทพนิยาย แต่ไม่ใช่เทพนิยายต่างๆ เหล่านี้หรือที่หล่อหลอมเราให้โตขึ้นมามีความเชื่อแบบนี้ เป็นคนแบบนี้ เป็นเต่ากับกระต่ายที่แข่งกันไปโดยไม่รู้จบ เพราะมันมีตัวอย่างที่ยังทำงานกับความทรงจำของเราอยู่”

ปิง: “ในฐานะคนที่ชอบการเล่าเรื่องอยู่แล้ว คิดว่านิทานมันสะท้อนค่านิยมบ้างอย่างที่สังคมคิดว่าต้องให้ความสำคัญ ด้วยความที่ชอบเขียนเรื่อง พออ่านเรื่องราวที่คนอื่นเขียนก็จะเห็นว่าอะไรที่ส่งอิทธิพลที่คนเขียนคิดว่าเป็นเหตุเป็นผลที่ทำให้เนื้อเรื่องดำเนินไปแบบนี้ การเขียนเนื้อเรื่องของเราเองไม่ได้วางกลุ่มเป้าหมายไว้ให้ใครเป็นคนอ่าน แต่จะเป็นสิ่งที่อยากเล่าให้คนอื่นฟัง เรื่อง ‘แก้วหน้าม้า’ ที่ได้รับโจทย์ให้มาเขียน เมื่ออ่านเนื้อเรื่องดั้งเดิมก็จะเห็นค่านิยมที่คนในยุคนั้นให้ความสำคัญ นำมาเขียนหรือรวบรวมมาร้อยเป็นเรื่องเล่า อะไรที่เป็นจินตนาการหรือความฝันที่อยากให้เกิดขึ้นในสังคมจริงๆ ก็เลยได้มีส่วนร่วมในการช่วยรื้อนิทานเรื่องนี้ไปโดยไม่รู้ตัว” 

นิทานที่เปลี่ยนความคิดในดวงใจของแต่ละคน

เพลิน: “สิ่งค้นพบคือ นิทานเป็นสิ่งที่ทำให้เราเชื่อมกับคน ตอนเด็กๆ คุณยายกับคุณป้าจะเล่านิทานก่อนนอนให้ฟัง ซึ่งจะเป็นนิทานที่พวกเขาแต่งเอง โดยเอาเราไปเป็นหนึ่งในคาแรกเตอร์ในเรื่อง จึงทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรากับป้าที่แม้ไม่ได้มีการพูดคุยกันมากในตอนเด็ก แต่มองว่าพวกเขาใช้นิทานเพื่อสื่อสารทั้งเรื่องความรู้สึกและการสร้างสายสัมพันธ์กับคน นิทานจึงทำหน้าที่อย่างทรงพลังในการส่งต่ออารมณ์ ความรัก หรือสิ่งที่อยู่ระหว่างบรรทัดที่อาจไม่ได้ตั้งใจถ่ายทอดให้กับคนที่ฟังเรื่องเล่าของเราอยู่ก็ได้”

ปิง: “ตอนเด็กมองว่านิทานทำให้เข้าใจโลกความเป็นจริง เมื่อเราเป็นเด็กยังไม่มีประสบการณ์ชีวิตหรือออกไปทำอะไรด้วยตัวเองมากนัก หนังสือก็เหมือนช่วยให้เราได้เข้าใจหลายๆ อย่างมากขึ้น ส่วนตัวจะเน้นดูภาพเพราะชอบวาดรูป พอโตขึ้นมาสักหน่อยช่วงระหว่างคาบเกี่ยวระหว่างการเป็นผู้ใหญ่ การอ่านอาจสะท้อนความกลัว ความวิตกในจิตใจ หรืออยากเห็นตัวเองไปผจญภัยเพราะเบื่อกับโลกที่เราอยู่ในตอนนี้แล้ว มันเป็นการสะท้อนความหวังและความฝันด้วย การเห็นตัวเองได้รับการยอมรับ เรื่องเล่ามันช่วยในด้านนี้”

อาจารย์พั้นช์: “ไม่มีนิทานเล่มไหนที่เปลี่ยนความคิดหรือทำให้ตาสว่าง แต่มองว่าหน้าที่ของนิทานมีผลกับการทำงานในด้านจินตนาการ เราเองชอบอ่านนิทานอีสปก่อนไปโรงเรียนตอนเช้าเพื่อพลิกไปดูตอนสุดท้ายว่าจะสอนอะไร แต่ก็ไม่ได้เชื่อทุกอย่างที่บอก นิทานแบบเดิมหล่อหลอมแบบเดียวกับที่ปิงบอกคือทำให้เห็นวิธีการทำงานของโลกแบบนี้ ช่วงที่เราเป็นเด็กก็รับมันมาโดยไม่ได้ตั้งคำถาม”

“เมื่อเราโตขึ้นได้ตกผลึกและมองกลับไปก็พบว่ากระบวนการสร้างเรื่องเล่าที่ทำงานกับอารมณ์และความทรงจำเกิดได้อย่างไร จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ต่อมากกว่าแค่การบอกผิด ถูก ชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องของอำนาจนิยม ที่ทำให้เห็นตัวละครแบบหมาป่าในชีวิตประจำวันของเราทุกคน แต่จุดน่าสะเทือนใจมันคือการใช้ชีวิตในสังคมของเราแม่งน่ากลัวกว่าหนูน้อยหมวกแดงอีก (เสียงอือเห็นด้วยอย่างพร้อมเพรียงกัน) เราอยู่ในยุคนี้องค์ประกอบเรื่อง ‘ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่’ ยังใช้ได้อยู่ ยังมีคนฆ่าตัวตายเพราะความหิวในช่วงโควิดอยู่เลย”

“มันเลยเป็นการเชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่เคยอ่านนิทานในตอนเด็กกับตอนที่โตขึ้นมาแล้วกลับมามองมันอีกครั้ง ถึงแม้จะไม่ได้เชื่อคุณธรรม ศีลธรรมในนิทานอีสป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นการปลูกฝังทำให้คนเชื่องอยู่ในระบบมาโดยที่ไม่โวยวายโต้แย้งแบบคนเจนเรา เราก็คิดว่าถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของเรื่องเล่าในยุคนั้นที่โตมาเหมือนกัน”

ฟ้าใส: “อยากเลือกหนังสือนิทานเจ้าหญิง 3 แบบ ‘The Princess and the Pea’ เจ้าหญิงสีพาสเทลอ่อนๆ ที่สะท้อนถึงความฝันวัยเด็ก childlike wonder ในตอนนั้น อีกเรื่องเป็นนิทานอีสป ‘The Little Mermaid’ แม้จะใช้ภาพแบบเรียลลิสติกที่สวยงาม แต่เนื้อเรื่องดั้งเดิมตอนจบนางเงือกเสียงหายไปและต้องเสียชีวิตร่าง กายล่องลอยอยู่ในทะเล สิ่งที่จำได้คือตัวละครที่อยู่ในสังคมเล็กๆ ถูกหาผลประโยชน์ จึงเป็นเจ้าหญิงที่แนะนำให้รู้จักความน่ากลัวของชีวิต และเรื่องสุดท้ายคือ ‘เจ้าหงิญ’ เป็นการทำให้เข้าใจถึงการยอมรับข้อบกพร่อง การไม่เพอร์เฟกต์เหมือนเจ้าหญิงในภาพจำที่มีมาในตอนเด็ก นี่เป็นเจ้าหญิงในสามมุมในความทรงจำที่เรานึกได้ตอนนี้”


เรื่อง: จันจิรา ยีมัสซา ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ

AUTHOR