ใครเป็นทีมชอบกิน ‘ข้าวแข็ง’ หรือ ‘ข้าวแฉะ’ ?

บางคนอาจจะชอบกินข้าวแข็งรวนๆ กินกับข้าวราดแกงแล้วรู้สึกอร่อย หรือบางคนอาจจะชอบกินข้าวนิ่มๆ แฉะๆ ให้ความรู้สึกอ่อนนุ่มในปากเวลาเคี้ยว ยิ่งได้เห็นข้าวสีขาวใส เม็ดข้าวเรียวสวย หน้าตาดูสะอาดตาก็จริง แต่รู้หรือไม่ว่าการได้มาของข้าวสีขาวนี้ มันต้องผ่านกระบวนการแทบจะทุกขั้นตอนที่ก่อให้เกิดโลกร้อนมากมายขนาดไหน

เพราะเรื่องกินข้าวเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงความอร่อยของข้าวในปลายทาง แต่ในกระบวนการต้นทางการผลิตกว่าจะเป็นข้าวสีขาวเหล่านี้ น้อยคนนักจะรู้ว่ามันสร้างมลพิษมากมายขนาดไหน ซึ่งประเทศไทยเองส่งออกข้าว 1 ในท็อป 5 ของโลกรวมพื้นที่ทั้งหมดกว่า 60 ล้านไร่ ปล่อยก๊าซมีเทนที่ก่อให้เกิดโลกร้อนกว่า 43 ตันคาร์บอนเลยทีเดียว

คนที่เล่าเบื้องหลังเรื่องข้าวๆ นี้คือ ‘ธนนนท์ เตรียมชาญชัย’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารจาก NetZeroCarbon บริษัทที่เกี่ยวกับการทำคาร์บอนเครดิตและเชี่ยวชาญทางด้านพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมและ ‘พัชรพล ขุนทอง’ Head of Environmental Engineer ของ NetZeroCarbon

ระหว่างเล่าเรื่องดังกล่าว พวกเขาชวนถามต่อว่า คิดว่าการปลูกข้าวทำให้โลกร้อนตอนไหน?

ทั้งสองหนุ่มเล่าว่า “การปลูกข้าวทั่วไปมันเริ่มต้นตั้งแต่ตอนแรกเลย เราต้องขังน้ำในนาข้าว ซึ่งพอโดนแดดมันก็จะระเหย ชาวนาบางคนก็ต้องใช้เครื่องปั๊มน้ำให้น้ำเข้ามาในนาตลอด ระหว่างการปลูกข้าวบางที่ก็ใส่ยาฆ่าแมลง มันก็ปล่อยไนโตรเจน ซึ่งเป็นก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก”

“ยังไม่พอ เมื่อเกี่ยวข้าวได้ ไปโรงสีก็ต้องใช้เครื่องยนต์ช่วยเพราะให้พลังงานได้มากประมาณ 1000 ตัน ซึ่งพวกเขาจะใช้พลังงานทดแทนอย่างโซลาร์เซลล์อย่างเดียวก็ไม่พอ นอกจากนี้ชาวนาเก็บเกี่ยวเสร็จหมดแล้ว ก็เผาหญ้า เผาอ้อยช่วงปลายปี ทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตามมา”

ฝึกข้าวลดน้ำหนัก IF ลดการเกิดมลพิษได้ครึ่งหนึ่ง!

ด้วยความตั้งใจของ NetZeroCarbon ที่อยากช่วยลดมลพิษให้น้อยลง หลักการในการแก้ไขเรื่องดังกล่าว เพียงแค่ ‘เปลี่ยน’ ในกระบวนการผลิตด้วยวิธีการธรรมชาติอย่าง ‘วิธีปลูกข้าวสลับเปียกและแห้ง Alternate Wet&Dry’ หลักการเหมือนการลดน้ำหนักแบบ ‘IF’ ยิ่งทำยิ่งสุขภาพดี ข้าวก็เช่นกัน ยิ่งอดน้ำรากก็ยิ่งโต มันก็เหมือนกับสถานการณ์ที่เวลาคนหิว เราก็สามารถทำได้ทุกอย่าง เมื่อข้าวหิว มันก็จะเเตกรากให้กว้างและลึกมากขึ้น ซึ่งก็คือน้ำใต้ดินนั่นเอง

พัชรพลขยายให้เห็นภาพว่า “การปลูกข้าวสลับเปียกและแห้งคือใน 120 วัน เราใส่น้ำเข้าไป 14 วัน แล้วแทนที่เราจะเติมน้ำไปเรื่อยๆ เราปล่อยให้แห้งกริบเลย แล้วอีก 14 วันก็จะสลับทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ผลที่ได้รับคือ เราสามารถลดการปล่อยมลพิษได้ครึ่งหนึ่ง ซึ่งได้รับการยอมรับแล้วจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) พอเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วเราก็จะไม่เผา แต่ใช้เป็นวิธีฝังกลบ ก็จะลดการเผา ลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมันช่วยเพิ่มผลผลิตของข้าว 20-30% อีกด้วย”

ในมุมคนทำธุรกิจเกี่ยวกับข้าว เกษตรกรรม และสิ่งแวดล้อมคุณมองเรื่อง ‘ข้าว’ อย่างไร?

ทั้งสองตอบไปในทิศทางเดียวกันว่า “ข้าวคือแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของคนไทย ไม่ใช่แค่เพียงข้าวในจาน สีขาวของข้าวที่สวยน่ากินในชีวิตประจำวัน สำหรับเรามองว่า ทุกส่วนของข้าวตั้งแต่ ใบ ก้าน เมล็ด หรือเปลือกสามารถใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนได้ทั้งหมด เช่น แกลบข้าวสามารถทำไฟฟ้าได้นะ ให้ค่าพลังงานสูงกว่าพืชชนิดอื่น แถมยังทำเครื่องสำอางได้ด้วย”

“สิ่งที่พวกเราทำอยู่เรื่องข้าว มีเป้าหมายที่อยากเปลี่ยนวิธีคิดของการปลูกข้าว 3 ล้านไร่ในเวลา 5 ปี มาทำเกษตรกรรมที่ลดมลพิษมากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากในการเปลี่ยนวิถีชีวิตการปลูกข้าวด้วยความเชื่อ แต่เราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนภาคเกษตรกรรมให้ได้ผลผลิตที่ดีต่อชาวนา คนกิน และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันในระยะยาว” ธนนนท์พูดทิ้งท้าย

AUTHOR