ทีไทย ทีมันส์ แคมเปญเผยโฉม 6 หนังไทยเรื่องใหม่ที่เป็นหลักไมล์สำคัญของ Netflix Thailand

ทีไทย ทีมันส์ แคมเปญเผยโฉม 6 หนังไทยเรื่องใหม่ที่เป็นหลักไมล์สำคัญของ Netflix Thailand

คนในวงการหนังไทยจะพอรู้ว่า ยงยุทธเข้ามาทำงานกับเน็ตฟลิกซ์พักใหญ่แล้ว

ก่อนเขาเข้ามา ทุกโปรเจ็กต์ของเน็ตฟลิกซ์จะทำโดยทีมงานต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ บางงานก็กินเวลานาน เช่น หนังเรื่อง Thai Cave Rescue ถ้ำหลวง: ภารกิจแห่งความหวัง โดย บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ทำงานกับเน็ตฟลิกซ์มานาน เพิ่งได้ฉายไม่นานมานี้

เน็ตฟลิกซ์เปิดตัวในไทยปี 2016 ตั้งทีมงานไทยปี 2019 ช่วงแรกยงยุทธซุ่มทำงานอยู่เบื้องหลัง คอยประสานงานระหว่างทีมงาน Global และคนทำงานในประเทศไทยให้เป็นไปอย่างราบรื่น ช่วงสงกรานต์เขาร่วมกับหอภาพยนตร์นำหนังไทยในตำนาน 19 เรื่องมาฉายในแพลตฟอร์ม 

ตั้งแต่เข้ามาทำงาน ยงยุทธได้คุยกับคนทำหนังหลากหลายกลุ่ม เป้าหมายคือการสร้างหนังไทยที่เป็น Original Content เรื่องใหม่ จนได้เป็นหนังไทย 6 เรื่องที่มีความหลากหลายทั้งเนื้อหาและคนทำ

เราพอรู้มาบ้างว่า ปีนี้คนทำหนังไทยเนื้อหอม มีแพลตฟอร์มจีบไปทำคอนเทนต์ด้วยหลายเจ้า เราถามยงยุทธว่าเขาไปเกลี้ยกล่อมอย่างไรให้มาทำงานด้วย

“ก็ร้อยเล่มเกวียนพอสมควรนะครับ” เขาหัวเราะ

“ผมว่าอาจจะโชคดีอย่างหนึ่งคือ ความที่อยู่ในวงการมานาน ทุกคนก็เป็นเพื่อนฝูงพี่น้องกันหมด วันที่ผมได้รับมอบหมายสิ่งนี้ สิ่งที่ทำแรกๆ เลยคือยกหูคุยกัน เรารู้มือมั้ง รู้ว่าแต่ละคนมีสไตล์อะไร เราไม่ได้บอกว่า เฮ้ย เน็ตฟลิกซ์อยากได้หนังแอกชั่น ยูมาเลย สิ่งที่เราคุยคือ ตอนนี้เน็ตฟลิกซ์กำลังจะเปิดตัวเต็มที่ในประเทศไทยแล้วนะ อยากได้คอนเทนต์ไทยที่เราอยากจะอวด รู้ว่าทุกคนมีฝีมือ อยากจะยกระดับมัน พี่และน้องมีเรื่องอะไรอยากเล่า น้องมีเรื่องอะไรอยากเล่า เรามาแชร์กันมั้ย” 

คำว่า ‘หนังเน็ตฟลิกซ์’ เริ่มมีความหมายที่ชัดเจนขึ้นว่าเป็นหนังแนวไหน ซึ่งมาจากหนังเรื่องที่ได้รับความนิยมในเน็ตฟลิกซ์ เช่น ช่วงที่ Dark หรือ Squid Game ดัง เราจะเห็นคนเริ่มนิยามความเป็นหนังเน็ตฟลิกซ์ตามแนวของหนังสองเรื่องนี้

สำหรับยงยุทธ จุดแข็งที่สุดของหนังไทยชุดนี้คือความหลากหลาย

“ถ้าดูในรายละเอียดมันจะเห็นชัดเจนว่า เน็ตฟลิกซ์ไทยไม่จำเป็นต้องมีแค่คอนเทนต์ดาร์กๆ หรือล่อแหลม หนังสนุกๆ หนังที่ดูเพื่อ escape ก็มี ต่อไปจะมีงานที่เป็นเหมือน food for taught มากขึ้น เดี๋ยวมันก็จะมีอะไรพวกนี้ หนังในชุด ทีไทย ทีมันส์ เป็นตัวแทนที่จะช่วยบอกเป้าหมายของเราในเบื้องต้นที่เน้นความหลากหลาย ผู้กำกับที่มาร่วมงานก็จะเห็นเลยว่ามีทั้งเซียน มือเก๋า กับผู้กำกับเลือดใหม่ที่มีฝีมือ มีวิธีการเล่าเรื่องเฉพาะตัว” ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์เล่า

เขาพูดถึงหนัง 2 เรื่อง คือ มนต์รักนักพากย์ โดย นนทรีย์ นิมิบุตร และ The Murderer ของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ดูภาพแรกของหนังก็พอเห็นแล้วว่าสองเรื่องนี้มีลายเซ็นผู้กำกับชัดเจนมาก

“พี่อุ๋ยน่าจะเป็นคนแรกๆ เลยที่ทักมาก่อน มันเป็นโปรเจ็กต์ที่พี่อุ๋ยอยากทำมาสักพักนึงแล้ว เขาฝังใจและรักหนังไทย พอเขาเล่าเรื่องให้ฟังผมก็ชอบด้วย หนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในจดหมายรักที่ทั้งพี่อุ๋ยกับเน็ตฟลิกซ์จะส่งไปให้กับอุตสาหกรรมและคนดูด้วย”

“จริงๆ พี่วิศิษฏ์ไม่ได้เป็นคนแปลกหน้าสำหรับเน็ตฟลิกซ์เลยครับ เมื่อปลายปีที่แล้วก็จะมีเรื่อง ปริศนารูหลอน ที่แกทำให้อยู่ แต่ในขณะเดียวกันหนังเรื่องใหม่ก็เป็น Challenge ใหม่ของพี่เขาเหมือนกัน หนังรื่องที่พี่วิศิษฏ์ทำชื่อ The Murderer เรื่องจะเกิดขึ้นในอีสานทั้งหมด ตัวละครหลักทั้งหมดพูดอีสาน ว่าด้วยคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นจากครอบครัวชาวอีสานซึ่งมีลูกเขยเป็นฝรั่ง แล้วลูกเขยคนนั้นตกเป็นผู้ต้องสงสัย ส่วนตำรวจที่จะมาคลี่คลายคดีครั้งนี้ก็คือ หม่ำ จ๊กม๊ก พวกนี้น่าจะเป็นส่วนผสมใหม่ที่พี่วิศิษฏ์ไม่เคยทำเหมือนกัน มันก็จะสร้างความใหม่ได้”

“คือสองคนนี้เป็นพวกคันไม้คันมืออยู่แล้วล่ะ เป็นหนึ่งในรุ่นใหญ่ที่ทำงานไว เช่น พี่วิศิษฏ์ถ่ายทำเรื่องนี้ แกไปสร้างโรงถ่ายคลุมบ้านจริงๆ กลางทุ่งนา เท่ากับว่าถ่ายได้ทั้งวันทั้งคืนบนสภาพแวดล้อมที่เหมือนจริงมาก ไม่ต้องมานั่งเซ็ตอะไรข้างใน อันนี้ก็เป็นการโชว์กึ๋นและประสบการณ์ของรุ่นใหญ่ สามารถเล่าต่อให้กับทีมอื่นได้เลย ส่วนผู้กำกับรุ่นน้องก็เป็นอีกแนวทางนึง เป็นส่วนผสมที่น่าสนใจครับ” ยงยุทธเล่า 

ปีที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นหนังไทยในเน็ตฟลิกซ์มากขึ้น เป็นเรื่องดี แต่อีกทางหนึ่ง ดูเหมือนเน็ตฟลิกซ์ยังต้องพิสูจน์ตัวเองกับการทำหนังไทยให้คนรักมากกว่านี้ ยงยุทธรู้ว่านี่คือความท้าทายและโจทย์ใหญ่ของเขา

“มันไม่ใช่อะไรที่ขาวกับดำ เน็ตฟลิกซ์ไทยเปิดตัวตั้งแต่ปี 2016 ช่วงนั้นเรายังไม่มีทีม ออริจินอล คอนเทนต์ ก็ค่อยๆ เริ่มทำไปทีละขยัก ต้องใช้ทีมงานจากฝั่งอเมริกามาช่วยทำให้มันเกิดขึ้น มันก็เลยยังไม่ต่อเนื่อง นั่นคือข้อที่หนึ่ง เราทดลองเอาหนังใน library หรือหนังที่เข้าโรงแล้วมาฉายบ้าง ก็ยังค่อยเป็นค่อยไป 

“เราเริ่มมาจริงจังตั้งแต่ปี 2019 เริ่มตั้งแต่ The Stranded เคว้ง จากนั้นก็มาเจอโควิด ทำให้บทบาทของหนังไทยในเน็ตฟลิกซ์ไม่เต็มที่มากนัก แต่พอผ่านช่วงเวลานั้นมาแล้ว เริ่มมีทีมไทยเข้ามาดูแลชัดเจนแล้ว เราได้เรียนรู้เรื่องความต้องการของสมาชิกในตัวแพลตฟอร์มนี้ ก็เริ่มกระจายกำลังออกไปเพื่อหาสิ่งเหล่านั้นมาฉายให้ได้ ถึงเกิดเป็นที่มาของคำว่า ‘ทีไทย ทีมันส์’ เพื่อให้งานของเราชัดเจนขึ้น อย่าลืมว่าเราเริ่มทำสิ่งนี้คล้ายๆ กันในแคมเปญ #ฉายแล้ววันนี้ที่Netflixรามา เมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา เราเริ่มมีหนังไทยคลาสสิกจากหลายยุคหลายสมัย เพื่อส่งแมสเสจว่านี่คือทิศทางที่เน็ตฟลิกซ์กำลังจะเดินทางไปหาคุณนนะ และในขณะเดียวกัน มันอาจจะเคยมีคำพูดในตลาดว่าหนังไทยทำไมวนซ้ำซากจัง ไม่จริง ถ้าดูหนังไทยในแพลตฟอร์มเรา จะเห็นว่าในอดีตเรามีความหลากหลายขนาดไหน” 

Push boundary เป็นคำที่ยงยุทธพูดบ่อย เวลาพูดถึงเป้าหมายการทำหนังไทยให้เติบโตในเวทีโลก 

ในฐานะทีมงาน เน็ตฟลิกซ์มีจุดแข็งเรื่องความหลากหลาย เวลาเราเอาหนังไทยสักเรื่องไปลงแพลตฟอร์ม คนดูไม่ได้อยู่แค่ในไทย แต่กระจายไปหาผู้ชม 220 ล้านคนใน 180 ประเทศทั่วโลก ในอีกด้านหนึ่ง หนังที่เราได้ดูจากเน็ตฟลิกซ์ก็มาจากคนทำหนังจากทั่วโลกเช่นกัน 

ยงยุทธรู้ว่า ถ้าจะให้หนังไทยเกิดความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับคนทำว่าเราให้อิสระกับเขามากแค่ไหน ในการพูดคุยเขาจึงมักถามงานที่เป็น ‘หนังในฝัน’ ที่แต่ละคนอยากทำ ในขณะเดียวกันก็ต้องนำมาบาลานซ์ทั้งในแง่ของโปรดักชั่น ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น และต้องมั่นใจว่าทำแล้วมีคนดู 

คนดูเน็ตฟลิกซ์ชอบหนังหลายแบบ มีทั้งหนังแบบ Comfort ที่ดูแล้วสนุกแน่ๆ กับหนังอีกแบบที่แปลกใหม่น่าลอง สุดท้ายแล้ว ยงยุทธคิดว่าผู้ชมต้องการความสนุกจากคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นหนังแนวไหน

“เราต้องมั่นใจว่าเราสามารถหาของที่เป็นที่สุดในหมวดนั้นให้ได้” เขาเล่า

ในแง่ของโฟกัส แม้คอนเทนต์จะฉายในหลายประเทศ แต่หนังไทยของเน็ตฟลิกซ์จะเน้นเล่าให้คนไทยดูก่อน ยงยุทธเล่าว่าหนังไทยที่ประสบความสำเร็จ สร้างความตื่นเต้นให้คนทั่วโลก ส่วนใหญ่จุดเริ่มต้นของมันก็คือการทำหนังให้คนไทยดูก่อน ของดีมาตั้งแต่ต้น จากนั้นด้วยภาษาหนังและการเล่าเรื่อง จะพาหนังเรื่องนั้นไปได้ไกลในระดับสากลเอง

ยงยุทธบอกอีกว่า กับหนังแบบอื่น เขาจะเลือกทั้งสองแกน คือหลากหลายกระจายไปในแนวนอน ในขณะเดียวกันถ้าคุณอยากดูหนังลึกข้ึนเหมือนดิ่งลงไปในแนวตั้งของ Genre ก็จะมีหนังประเภทนั้นให้ดูด้วย วิธีการเลือกหนังในแคมเปญที่แล้วกับหอภาพยนตร์พิสูจน์ความเชื่อข้อนี้ได้ดี

อีกข้อที่สำคัญสำหรับเน็ตฟลิกซ์ คือการยกระดับอุตสาหกรรมหนังไทย ยงยุทธบอกว่าเขาไม่ได้โฟกัสแค่หนังในหน้าจอ แต่มองชีวิตคนทำที่อยู่หลังจอด้วย

เขายกตัวอย่างเรื่องคุณภาพชีวิตคนทำงาน เน็ตฟลิกซ์ไทยมีข้อกำหนดว่าทีมงานออริจินัล คอนเทนต์ ทำงานคิวละ 12 ชั่วโมงเท่านั้น ระหว่างคิวต้องมีช่วงเวลาพักไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง ในหนึ่งสัปดาห์ทำงานแค่ 5 วัน วันหยุดไม่ใช่การไปสำรวจโลเคชั่นเพิ่ม แต่ต้องเป็นวันหยุดจริงๆ

ตอนนี้ปัญหาที่ทุกแพลตฟอร์มน่าจะเจอกันหมดคือ ผู้กำกับไม่พอ แต่ demand ของผู้ชมสูงลิ่ว เน็ตฟลิกซ์จึงมีโครงการทำเวิร์กช็อปสอนเรื่องการทำโปรดักชั่นในระดับสูง นำความรู้ของ Netflix Global มาใช้สอนคนในบ้านเรา เป็นทั้งงานที่เน็ตฟลิกซ์จะทำเองและร่วมมือกับหลายองค์กร ยงยุทธย้ำว่าเป็นเน็ตฟลิกซ์อยากเป็นพาร์ตเนอร์มากกว่าคู่แข่ง อย่างน้อยที่สุดการชวนคนเอาหนังมาฉายในแพลตฟอร์มก็เป็นการช่วยให้หนังถูกเห็นมากขึ้น

เป้าหมายต่อไปของเน็ตฟลิกซ์ไทย คือการทำหนังไทยให้มากขึ้น ต่อเนื่องขึ้น เขาเปรยว่าถ้าทำได้เดือนละเรื่องยิ่งดี แต่ ณ จุดนี้ทีมจะโฟกัสกับสิ่งที่ทำให้มากที่สุด

ยงยุทธทิ้งท้ายสมกับเป็นองค์กรที่เชื่อเรื่อง Honestly Feedback ว่า

“อยากให้ช่วยกันดูว่าสิ่งที่เราตั้งใจทำ มันออกมาในงานมั้ย ถ้าไม่ออก ช่วยฟีดแบคด้วยเราอยากยกระดับครีเอเตอร์ไทยทั้งหน้ากล้องและหลังกล้องดีขึ้นให้ได้ ผมว่ามันเป็นโอกาส มันถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของผมเหมือนกัน ในฐานะคนที่เคยผ่านการทำงานตรงนั้นมา เมื่อเราอยู่ในตำแหน่งที่มีโอกาสทำให้อุตสาหกรรมดีขึ้นได้ ไปไกลกว่านี้ได้ ก็จะทำอย่างเต็มที่”


ข้อมูลภาพยนตร์และซีรีส์ในแคมเปญ ทีไทย ทีมันส์ 

The Lost Lotteries | ปฏิบัติการกู้หวย
ประเภท: ภาพยนตร์
เริ่มฉาย: 16 พฤศจิกายน 2565

ภารกิจโคตรปั่นของเหล่าคนกระจอกทั้งห้า ที่หาญกล้าวางแผนชิงลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 กลับคืนจากแก๊งมาเฟียตัวเอ้ ความฮาวายป่วงจึงเกิดขึ้นพร้อมกระสุนและระเบิดที่ปลิวว่อน!

ทีมงาน
พฤกษ์ เอมะรุจิ | ผู้กำกับและผู้เขียนบท
เอกชัย เอื้อครองธรรม | ผู้อำนวยการสร้าง

นักแสดง
วงศ์รวี นทีธร
ภัณฑิรา พิพิธยากร
ณปภา ตันตระกูล
แจ๊ส ชวนชื่น
สมจิตร จงจอหอ
ธนพร แวกประยูร

Hunger | คนหิว เกมกระหาย
ประเภท: ภาพยนตร์
เริ่มฉาย: เร็วๆ นี้

ออย ผู้สืบทอดร้านราดหน้า-ผัดซีอิ๊วข้างถนนต่อจากพ่อแม่ ตัดสินใจก้าวออกจากครอบครัวไปร่วมทีม ‘Hunger’ ทีมเชฟอันดับหนึ่งของประเทศที่นำโดยอัจฉริยะในวงการอาหารอย่างเชฟพอล แต่เธอกลับได้ค้นพบด้านมืดของทั้งเชฟพอลเองและวงการอาหารไฮเอนด์

ทีมงาน
สิทธิศิริ มงคลศิริ | ผู้กำกับ
คงเดช จาตุรันต์รัศมี | ผู้เขียนบทและผู้อำนวยการสร้าง
โสฬส สุขุม | ผู้อำนวยการสร้าง

นักแสดง
ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง
นพชัย ชัยนาม
กรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา

The Murderer (working title)
ประเภท: ภาพยนตร์
เริ่มฉาย: เร็วๆ นี้

ชายชาวอังกฤษคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ลงมือฆ่าพ่อตา-แม่ยายของตนเอง โดยมีภรรยาเป็นพยานหนึ่งเดียวที่กุมชะตากรรมของเขาเอาไว้

ทีมงาน
วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง | ผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้าง
อภิเษก จิรธเนศวงศ์ | ผู้เขียนบท

นักแสดง
หม่ำ จ๊กม๊ก
อิษยา ฮอสุวรรณ
เจมส์ เลเวอร์ (James Laver)

Delete (working title)
ประเภท: ซีรีส์
เริ่มฉาย: เร็วๆ นี้

เรื่องราวของความสัมพันธ์ซับซ้อนที่ต่างซ่อนความลับเอาไว้ นำไปสู่การท้าทายด้านมืดของจิตใจว่าอยากลบใครให้หายไปจากชีวิต 

ทีมงาน
ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ | ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้างและผู้เขียนบท

นักแสดง
ณัฏฐ์ กิจจริต
ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์
ษริกา สารทศิลป์ศุภา
ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง
จินเจษฎ์ วรรธนะสิน

Analog Squad (working title)
ประเภท: ซีรีส์
เริ่มฉาย: เร็วๆ นี้

ในช่วงปีสุดท้ายก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ คนกลุ่มหนึ่งมารวมตัวกันแสร้งทำเป็นสมาชิกในครอบครัวปลอมๆ เพื่อสมานรอยร้าวในครอบครัวตัวจริง

ทีมงาน
นิธิวัฒน์ ธราธร | ผู้กำกับและผู้เขียนบท
นลินา ชยสมบัติ | ผู้อำนวยการสร้าง
อมราพร แผ่นดินทอง | ผู้เขียนบท

นักแสดง
นพชัย ชัยนาม
กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม
น้ำฝน กุลณัฐ
วิพาวีร์ พัทธ์ณศิริ

Mon Rak Nak Pak (working title) | มนต์รักนักพากย์ (working title)
ประเภท: ภาพยนตร์
เริ่มฉาย: เร็วๆ นี้

เรื่องราวการเดินทางตามหาความฝันของหน่วยเร่ขายยาที่เรียกลูกค้าด้วยการฉายและพากย์หนังกลางแปลง โดยที่ทั้ง 4 ชีวิตในทีมต้องฝ่าฟันความท้าทายมากมายเพื่อมุ่งไปให้ถึงฝั่งฝัน

ทีมงาน
นนทรีย์ นิมิบุตร | ผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้าง
เอก เอี่ยมชื่น | ผู้เขียนบท

นักแสดง
ศุกลวัฒน์ คณารศ
หนึ่งธิดา โสภณ
จิรายุ ละอองมณี
สามารถ พยัคฆ์อรุณ

AUTHOR