สูงสุดคืนสู่ออนไลน์ แนวคิดการทำธุรกิจของ Munkong Gadget ร้านขายหูฟังที่ป้ายยาเก่ง

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันการฟังเพลงคือการเสพสื่อบันเทิงที่ง่ายดายที่สุด เพราะเรามีอุปกรณ์ที่ใช้ฟังเพลงได้ทุกที่ ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็จะเป็นเครื่องเล่นเพลงพกพา ต่อมาก็หลอมรวมเป็นฟังก์ชันหนึ่งของสมาร์ตโฟน และหูฟังก็กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ไม่ได้มีหน้าที่แค่ใช้ฟังเพลงแต่สามารถสะท้อนตัวตนของคนใช้งานได้ด้วย และหากใครเข้ามาในโลกของหูฟังอย่างจริงจังแล้วคงต้องเคยได้ยินหรือเคยถูกป้ายยาระดับพระกาฬจาก เฮียมั่นคง-กมล พูนทรัพย์ และ มิสเตอร์เบียส-อัฐพงษ์ เอี่ยมไพบูลย์ สองผู้ก่อตั้งร้านมั่นคงแกดเจ็ตกันมาบ้าง ซึ่งธุรกิจขายอุปกรณ์ฟังความสุขนี้ก็ผ่านมาแล้วทั้งช่วงรุ่งโรจน์ มีการขยายสาขามากมาย การเผชิญกับผลกระทบครั้งใหญ่ที่ทำให้เกิดการปรับตัว และวันนี้ที่พวกเขาได้ตั้งลำพร้อมจะไปต่อ ดังนั้นลองหยิบหูฟังคู่ใจของคุณมาสวมใส่ เปิดเพลงที่ชอบ และอ่านเรื่องราวของพวกเขากัน

ความมั่นคงที่ (เริ่ม) ไม่มั่นคง

มั่นคงแกดเจ็ต ร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับการฟังเพลง ก่อตั้งเป็นธุรกิจที่เริ่มต้นจากการทำออนไลน์โดยใช้การประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บบอร์ดที่ได้รับความนิยมในยุคต้นปี 2000 อย่างเว็บไซต์พันทิปและเว็บไซต์แกดเจ็ตของไทยต่างๆ รวมถึงการสร้างความสนิทสนมด้วยการพูดคุยกับผู้ใช้งานในคอมมูนิตี้อย่างเป็นกันเอง ถือเป็นร้านค้าเจ้าแรกๆ ของไทยที่เน้นการทำธุรกิจบนออนไลน์อย่างจริงๆ แล้วจึงเพิ่มหน้าร้าน และขยายสาขาตามมา

“เราขยับจากการขายของออนไลน์สู่การเปิดช็อปเป็นที่แรกคือสาขางามวงศ์วาน แล้วก็ขยับมาที่ประตูน้ำ แล้วก็ขยายไปยัง Digital Gateway, Siam Paragon, Paradise Park, Amarin Plaza, Stadium One และปิ่นเกล้า แต่พอการระบาดของไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นมาทำให้เรารู้จักคำว่า Game Change นั่นคือการมีสาขาเยอะๆ แล้วไลฟ์สไตล์ของคนเปลี่ยนไป ทำให้ไม่เกิดผลดีกับการมีสาขาเยอะๆ สำหรับกลุ่มสินค้าแบบนี้” มิสเตอร์เบียสเล่าย้อนกลับไปถึงการเปลี่ยนแปลงของมั่นคงแกดเจ็ต

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามการพัฒนาของเทคโนโลยี เมื่อสมาร์ตโฟนเข้ามาแทนที่อุปกรณ์การฟังเพลงแบบเดิมๆ ที่ก่อนหน้านี้เราจะใช้อุปกรณ์แยกฟังก์ชันกัน เช่น กล้องถ่ายรูป, เครื่องเล่นเพลง MP3, iPod, ต่อมาทุกอย่างก็รวมเข้าเป็นอุปกรณ์ชิ้นเดียวกัน แต่อุปกรณ์ด้านเสียงเพลงก็ยังพอมีช่องว่างให้ตัวเองสามารถมีที่ยืนได้

“แกดเจ็ตพัฒนาตามความสามารถของสมาร์ตโฟน แต่ตลาดของอุปกรณ์เหล่านี้ก็สวนทางกัน การฟังเพลงของคนส่วนใหญ่ 90% อยู่ที่สตรีมมิง ทีนี้คนที่ชอบฟังเพลงจริงๆ เขาจะพบว่าหูฟังของเขาเมื่อใช้ไปสักพัก ทักษะในการฟังเพลงของเขาจะเพิ่มขึ้น และพบว่าหูฟังที่ใช้อยู่มันเริ่มไม่ดีเหมือนตอนแรกที่ซื้อแล้ว (หัวเราะ) ไลฟ์สไตล์ของคนเล่นหูฟังจะเป็นลักษณะนี้” มิสเตอร์เบียสเล่า

“คนเราไม่เคยพอใจกับความสุนทรีย์” – เราคิดอย่างนั้น ซึ่งเจ้าของร้านทั้งสองก็พยักหน้าเห็นด้วย จากนั้นเราก็ถามไปที่เรื่องของการแนะนำและขายหูฟัง ซึ่งมั่นคงแกดเจ็ตได้ชื่อว่าเป็นเลิศในการ ‘ป้ายยา’ ให้คนรักการฟังเพลงยอมควักกระเป๋าตังค์เพื่อจ่ายเงินซื้อหูฟังดีๆ มาตลอดหลายปี และเคล็ดลับการขายนั้นคือการบอกแบบเพื่อนแนะนำของดีให้แก่กัน

“เวลาที่ผมเขียนรีวิวผมไม่ได้บอกว่าคุณต้องซื้อนะ หรือเวลาใครมาถามผมว่าตัวนี้ดีไหม ผมก็บอกเลยว่าคุณใช้ของเดิมไปเถอะ แต่ลูกค้าก็ไม่เชื่อ มาลองฟังเอง (หัวเราะ) ผมแค่ให้ข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น แต่เวลาที่ผมเขียนหรือพูดออกมาผมจะใช้ภาษาที่กวนๆ หน่อย อย่างคำว่า ‘พระกาฬ’ ตอนแรกเมื่อยี่สิบปีก่อน คนก็จะสงสัยว่าอะไรคือความระดับพระกาฬ ซึ่งมาจากคำศัพท์สมัยก่อน เช่น มือปราบระดับพระกาฬ เราก็เอามาใช้เป็น ‘หูฟังระดับพระกาฬ’ แล้วก็ขยายคำสร้อย เช่น พระกาฬเรียกพี่ พระกาฬเรียกพ่อ พระกาฬเรียกไม่รู้กี่ร้อยอย่าง (หัวเราะ)”

“สิ่งที่พวกเราเรียนรู้ในการทำธุรกิจเครื่องเสียงมากว่าสองทศวรรษคือ โลกสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เมื่อก่อนเราจะคุ้นเคยกับลำโพงที่มีสายระโยงระยางเต็มโต๊ะ ตอนนี้ก็มีลำโพงแบบไร้สายออกมาให้เลือกฟังแทบจะครบทุกยี่ห้อ ส่วนหูฟังก็มีแบบใหม่ๆ ให้เลือกใช้ตามลักษณะความต้องการของคนใช้มากมาย ทั้งเรื่องของขนาดและฟังก์ชัน เมื่อรวมเข้ากับการเกิดขึ้นของนักรีวิวหรืออินฟลูเอนเซอร์จำนวนมากที่นำโปรดักต์มานำเสนอให้คนดูตลอดเวลา ตอนนี้โจทย์เดียวของกลุ่มลูกค้าในตลาดนี้คือ สินค้าตัวนี้มีขายที่ไหน และร้านอะไรที่มีความน่าเชื่อถือไม่เอาของเลียนแบบมาหลอกขาย ซึ่งช่วงสามปีที่ผ่านมาเราได้ลองจับตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง เรื่องของสินค้าเลียนแบบสำหรับเรายังไม่น่ากลัวเท่าไหร่ แต่คนซื้อเองก็ต้องเลือกจากร้านที่เชื่อถือได้ ผมเองยังโดนปลอมเว็บมั่นคงเลย เอาไปหมดเลย เราก็ร้องเรียนไปตามแพลตฟอร์มต่างๆ แต่ก็ช่วยได้แค่ในระดับหนึ่ง”

ถ้าอย่างนั้นเราควรให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากันระหว่างหูฟังหรือเครื่องเล่นเพลง – เราถามต่อ 

“อัปเดตหูฟังง่ายกว่า” มิสเตอร์เบียสบอก ซึ่งเหตุผลของเขาคือ ตอนนี้อุปกรณ์สำหรับฟังเพลงมีความหลากหลายมาก รวมถึงช่องทางที่จะฟังเพลงด้วย ซึ่งในแต่ละสตรีมมิ่งก็จะให้คุณภาพของเสียงแตกต่างกัน ดังนั้นการรู้ว่าตัวเองจะเสพเพลงจากสื่อชนิดไหนเป็นหลักจึงทำให้ง่ายต่อการหาหูฟังที่รองรับอุปกรณ์ชนิดนั้นได้ง่ายกว่านั่นเอง

ส่วนการทำธุรกิจก็ต้องเรียนรู้ปรับตัวกันไปตามระยะทาง แต่ในแง่ของกลุ่มผู้บริโภคของมั่นคงแกดเจ็ตที่ทางมิสเตอร์เบียสกำลังจะพูดถึงก็มีความน่าสนใจตรงที่พวกเขาต่างมีความเป็นเพื่อนกันอย่างแนบแน่นและอบอุ่น 

“กลุ่มลูกค้าของเราเขามองว่าหูฟังคือของเล่น ดังนั้นจึงมีการซื้อมาขายไปกันอย่างต่อเนื่อง ในยุคแรกๆ ลูกค้าของเราเป็นเด็กมัธยม วันนี้เขาก็ยังอยู่และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีครอบครัว มีหน้าที่การงาน แต่ก็ยังชอบเล่นหูฟังอยู่ จึงมักจะเข้ามาคุยกันในเฟสบุ๊กอยู่เสมอ”

ปรับเปลี่ยนเพื่อความมั่นคง

“วันที่ทุกอย่างเปลี่ยน เกมเปลี่ยน เราก็ยังเชื่อมั่นในการบริการของเรา” เฮียมั่นคงเสริมขึ้นมา 

“สิ่งที่ทำให้เราสื่อสารกับผู้บริโภคได้คือ ออนไลน์ ซึ่งวิธีนี้เป็นจุดแข็งของเรามาตั้งแต่วันแรก การเกิดโรคระบาดทำให้เรามองเห็นจุดแข็งของตัวเองชัดเจนขึ้นว่าเราควรทำธุรกิจด้วยวิธีการแบบไหน ถ้าเป็นสินค้าที่ราคาไม่สูงมาก ผู้ซื้อก็สามารถตัดสินใจได้เลยจากการดูรีวิวต่างๆ ซึ่งพวกเขาหาข้อมูลเก่งกว่าพวกเราด้วยซ้ำ (หัวเราะ) แต่โปรดักต์ที่มีราคาสูง ลูกค้าก็ต้องการที่จะทดลองฟังหรือทดลองใช้ก่อน เราจึงยังต้องมีหน้าร้านเอาไว้ให้กับคนที่สนใจเข้ามาทดลองฟัง เราไม่ได้ตัดขาด เพื่อไปทำแต่ด้านออนไลน์จนไม่มีที่ให้เขาได้ลองสินค้าเลย”

คำว่า Game Change ที่พวกเขาพูดถึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การปรับตัวในการทำธุรกิจเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการรับมือกับผู้เล่นที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในตอนนี้ด้วย เพราะแพลตฟอร์มซื้อขายของออนไลน์ต่างๆ มีระบบและวิธีการจัดการสินค้าที่ง่ายดายกว่าเดิม จนใครก็สามารถเป็นพ่อค้าแม่ค้ากันได้ในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แต่ Munkong Gadget ก็ยังมีจุดแข็งที่ใครก็ยากที่จะเอาลงได้ นั่นคือ ความเชื่อใจของลูกค้าที่ส่งผลไปถึงการการันตีในตลาดสินค้าขายของมือสองด้วย จึงทำให้การเลือกซื้อสินค้ากับทางร้านยังคงเป็นตัวเลือกอันดับแรกๆ ของผู้บริโภค

“มีเรื่องหนึ่งที่ตลกมากคือ ถ้าคุณจะขายสินค้าต่อแล้วมีใบเสร็จหรือบอกว่าซื้อมาจากร้านมั่นคง ของชิ้นนั้นจะขายออกเร็วมาก” นี่คือสิ่งที่เฮียมั่นคงบอกเราถึงความมั่นใจของคนซื้อที่มีต่อชื่อเสียงของร้าน 

แต่ทั้งสองก็บอกว่าแม้จะได้การยอมรับแค่ไหนแต่พวกเขาก็ยังไม่นิ่งนอนใจและวางแผนการทำธุรกิจต่อไปเพื่อความมั่นคง 

“แม้ว่าเราจะจับตลาดออนไลน์จนครอบคลุมได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่เราก็ยังมีแผนในการพา Munkong Gadget เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเราก็มองลู่ทางอยู่ว่าจะไปได้แค่ไหน เพราะความน่ากลัวของตลาดออนไลน์คือการแข่งขันกันที่ราคา แต่ผมเป็นคนที่ทำงานแล้วจะมองที่สถานการณ์เลวร้ายสุดก่อนเสมอ ซึ่งจุดแย่ที่สุดถ้าจะต้องเจอคือก็แค่เจ๊ง มันไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นแล้ว ดังนั้นถ้าเราเห็นปลายทางแล้ว ผมก็ไม่รู้สึกกลัวและไม่รู้สึกเครียดเลย” เฮียมั่นคงกล่าวถึงความท้าทายในวันที่อะไรก็ไม่มีความแน่นอน

“อีกปัจจัยมาจากการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มใหม่ๆ ด้วย” มิสเตอร์เบียสช่วยเสริม “ซึ่งรวมไปถึงการที่แบรนด์ผลิตภัณฑ์นั้นเขามาทำการตลาดเองโดยตรง แต่ก็ยังไม่น่ากลัวจนถึงขั้นที่เราต้องคิดแผนการทำงานใหม่หรอก”

เมื่อได้มาคุยกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องหูฟังทั้งที เราก็มีเรื่องที่จะไม่ถามไม่ได้เลยคือ ‘เสียงเพลงที่ดี’ ในความคิดของพวกเขาเป็นอย่างไร ซึ่งทั้งสองได้ตอบออกมาพร้อมกันเหมือนกับนัดกันไว้

“ถ้าคุณฟังแล้วรู้สึกพอใจ รู้สึกเพลิดเพลินนั่นคือจบแล้ว จนกว่าความเพลิดเพลินนั้นคุณนำไปเปรียบเทียบกับหูฟังตัวอื่นแล้วรู้สึกดีกว่า นั่นหมายความว่าความสุขแบบใหม่เกิดขึ้นมาแล้ว และมันจะเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าคุณจะหยุดอยู่ตรงไหนเท่านั้นเอง ซึ่งงานของพวกผมคือการตามหาสินค้าและศึกษาว่าโปรดักต์ที่ออกมาใหม่ๆ เขาทำออกมาแบบไหน ให้เสียงออกมาได้ละเอียดระดับไหน” 

“แต่ผมบอกเลยว่าบางทีของที่แพงกว่าก็ไม่ได้เสียงดีกว่าเสมอไป” ประโยคนี้ก็เป็นอีกคำตอบที่เฮียมั่นคงพูดออกมาเหมือนรู้ว่าในหัวเราคิดอะไร 

“หูฟังราคาสามหมื่นบาทบางทีก็ไม่ได้ดีไปกว่าหูฟังราคาหนึ่งหมื่นห้าพันบาทเสมอ เสียงหรือคีย์บางอย่างที่คนต้องการ หาไม่ได้ในหูฟังราคาแพง แต่ดันอยู่ในหูฟังที่ราคาถูกกว่าก็มี คนเรามีรสนิยมในการฟังเพลงไม่เหมือนกัน คนเราชอบเสียงแหลม เสียงทุ้มไม่เท่ากัน” 

ธุรกิจประเภทซื้อมา-ขายไปแบบนี้ จะว่าง่ายก็ง่าย แต่ก็มีความซับซ้อนที่ชวนปวดหัวเช่นกัน เพราะในเรื่องของความพึงพอใจของแต่ละคนบางทีก็นำมาสู่ความเห็นและข้อโต้แย้งที่ไม่สามารถชี้ชัดได้ในเรื่องของการฟังเพลง 

“กว่า 20 ปี ที่ผ่านมา นอกจากเรื่องข้อเสนอแนะการบริการก็มีเรื่องที่พูดคุยกันมาตลอดคือ ไฟล์เสียงดิจิทัลยังไงก็จะให้เสียงที่เหมือนกัน เพราะมันเป็นแค่เลขฐานหนึ่งกับฐานศูนย์ แต่จริงๆ แล้วโลกของเครื่องเสียงนั้นมีความซับซ้อนกว่านั้น จึงเกิดเป็นการถกเถียงในประเด็นเหล่านี้ขึ้นมา โดยพื้นฐานมาจากการที่แต่ละคนมีไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต และอาชีพที่ไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นคนทำงานสายวิศวกรรม เขาก็จะเชื่อว่าไฟล์ดิจิตัลยังไงก็ออกมาเหมือนกัน เพราะเป็นการส่งสัญญาณแบบดิจิทัล แต่คนที่ทำงานด้านอื่นก็จะมีความเห็นต่างกัน เราจึงเห็นว่าในตลาดมีสายสัญญาณหลายราคาตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักแสนให้เลือก ซึ่งของเหล่านี้จะทำให้เสียงดีขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่าอยู่ที่ความเชื่อของแต่ละคน” เฮียมั่นคงสรุปให้เราเข้าใจแบบง่ายๆ 

“มีเรื่องตลกที่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องการฟังเพลงคือ บางคนในวงการเครื่องเสียงเขาเชื่อถึงขั้นว่าใช้นิ้วไหนกดปุ่มเล่นเพลงแล้วจะได้เสียงออกมาดีที่สุดก็มี” มิสเตอร์เบียสบอกเรื่องนี้ออกมาทำเราถึงกับทึ่ง

ดังนั้นการบริการของมั่นคงแกดเจ็ต จึงเน้นไปที่การพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ ซึ่งผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสองบอกเราว่า ในโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้น การลบคอมเมนต์เท่ากับการผลักไสเขาออกไป และบางคำถามที่มีความแตกต่างไม่ว่าจะถามเพราะสงสัยหรือตั้งใจถามเพื่อป่วน พวกเขายิ่งต้องเคลียร์ข้อกังขาต่อบุคคลคนนั้นให้ได้ การอธิบายจึงเป็นสิ่งร้านนี้ใช้ความใส่ใจมาตลอด 

ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง

มั่นคงแกดเจ็ต ตอนนี้มีหน้าร้านอยู่สองสาขาคือที่ Siam Paragon และ Stadium One โดยสาขาหลังนั้นเรียกว่าเป็น Headquarter ของมั่นคงแกดเจ็ตก็ว่าได้ เพราะได้มีการเพิ่มเติมโซนสำหรับสินค้าประเภทลำโพงและอุปกรณ์ด้านโฮมเธียเตอร์ เพื่อให้ครบถ้วนที่สุดสำหรับการฟังเพลงของลูกค้าที่หลากหลาย ที่ในตอนนี้ความต้องการเรื่องความบันเทิงในที่พักอาศัยเพิ่มมากขึ้นด้วย 

อุปกรณ์ฟังเพลงถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยระดับหนึ่ง แต่มันก็สามารถตอบสนองความสุขให้กับคนใช้งาน ซึ่งตอนนี้เราเห็นสาวๆ หลายคนให้ความสนใจเรื่องของหูฟังกันมากขึ้น เราจึงถามเฮียทั้งสองถึงสัดส่วนของผู้บริโภคกลุ่มนี้ว่าพวกเขามีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจบ้าง 

“เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากที่ตอนนี้สัดส่วนของผู้หญฺิงที่เข้ามาถามหาหูฟังกับทางเราเพิ่มขึ้นจริงๆ โดยส่วนใหญ่สิ่งแรกที่เขามองคือเรื่องของดีไซน์ เวลาสวมแล้วเขาดูดีไหม และส่วนใหญ่ต้องการหูฟังที่ใช้งานได้หลากหลาย ฟังเพลงก็ได้ ใช้ดูหนังก็ฟังรู้เรื่อง ซึ่งผู้ชายจะเลือกที่การใช้งานด้านใดด้านหนึ่งมากกว่า” มิสเตอร์เบียสกล่าว

มาถึงตรงนี้ก็เป็นคำถามสำคัญนั่นคือ ความคิดที่บอกว่า ‘ถ้าเรารักในสิ่งที่ทำ เราก็จะเหมือนไม่ได้ทำงาน’ สำหรับคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึงตรงนี้ พวกเขามีมุมมองกับเรื่องนี้อย่างไร 

“ผมขอเถียงเลยว่าไม่จริง” เฮียมั่นคงตอบแบบหนักแน่น 

“สำหรับผมถ้าคุณเป็นมืออาชีพแล้วคุณจะทำอะไรก็ได้ มืออาชีพคือคนทำอะไรออกมาได้ดีถ้าคุณตั้งใจ ผมมาทำธุรกิจนี้ไม่ใช่เพราะความชอบ แต่เป็นสิ่งที่ผมถนัดมาตั้งแต่เด็ก พอเราได้ทำงานที่ตัวเองถนัดจึงทำให้เราสามารถทำงานออกมาได้ดี เพราะเราเข้าใจมัน ผมมาทำมั่นคงแกดเจ็ตเพราะการมาของ iPod ซึ่งตอนนั้นผมแปลกใจมากกับเครื่องเล่นเพลงตัวนี้ ธุรกิจของเราจึงเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมครั้งใหญ่ของโลก ซึ่งก็เข้าทางของผมพอดีเพราะเป็นคนชอบฟังเพลงอยู่แล้ว iPod ทำให้เราเปลี่ยนวิธีการฟังเพลงแบบเดิมๆ จากฟังแผ่นเสียง เทปคาสเซ็ต แผ่นซีดี มาเป็นฟังเพลงจากไฟล์ดิจิทัลและต่อยอดให้เราทำธุรกิจมาถึงวันนี้” 

“ดังนั้นคุณต้องรักงานนั้นให้ได้ก่อน ก่อนที่งานมันจะมารักเรา” มิสเตอร์เบียสกล่าวและหัวเราะเสียงดัง 

สุดท้ายเราให้ทั้งสองแนะนำว่าถ้าอยากทำร้านหูฟังของตัวเองบ้าง หรือทำธุรกิจประเภทเดียวกันนี้ พวกเขามีอะไรที่อยากบอกกับเรากันบ้าง 

“ข้อแรกเลยคุณจะขายที่ไหน เพราะการที่คุณจะมีตัวตนในธุรกิจนี้ อย่างไรก็ต้องมีพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า แต่การเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าก็ไม่ได้ทำกันง่ายๆ แต่ถ้าคุณบอกว่างั้นเปิดเป็นโซว์รูมที่บ้าน คำถามคือใครที่จะมาหาคุณ ใครที่จะยอมเดินทางมาหาคุณ เดี๋ยวนี้ขนาดซื้อของในร้านสะดวกซื้อเรายังกดสั่งผ่านแอปพลิเคชันให้เขามาส่งเลย สิ่งที่น่ากังวลของคนเริ่มต้นธุรกิจวันนี้คือ เรื่องการเดินทางและการเอาตัวเองไปผูกไว้กับหน้าร้านตั้งแต่เช้าถึงเย็น รอลูกค้าเข้ามาหา ซึ่งวันนี้ใช้วิธีคิดแบบนี้ไม่ได้แล้ว แต่ถ้าบอกว่าจะขายผ่านช่องทางออนไลน์ คุณก็จะมีคู่แข่งจำนวนมหาศาลทั้งที่เป็นคนไทยด้วยกันเอง และคู่แข่งจากต่างประเทศ ดังนั้นการทำธุรกิจขายหูฟังมันไม่ยากแต่มันก็ไม่ง่าย” เฮียมั่นคงให้ข้อคิด

“ไม่มีหรอกทางลัดในการทำธุรกิจ” มิสเตอร์เบียสเสริม “ถ้าคุณใช้ทางลัด ส่วนมากจะไปไม่รอด เพราะคุณจะไม่เข้าใจว่ากำลังขายสินค้าให้ใคร หรือจะขายอะไร คุณต้องมีการเรียนรู้ คุณมีช่องทางในการขายแต่คุณตอบปัญหาของลูกค้าไม่ได้ คุณแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคไม่ได้ เพราะคุณใช้ทางลัด ต่อให้คุณมีเงินทุนมากมาย คุณก็ไปต่อยากอยู่ดี คุณต้องมีความรู้ที่ถ่องแท้กับงานของคุณระดับหนึ่งก่อนเลย” 

“เรื่องความน่าเชื่อถือต้องใช้เวลา พวกเราผ่านมาแล้วทั้งถูกต่อว่า พนักงานทำผิดพลาด ปัญหาเรื่องการเคลมสินค้า การตอบคำถามกับลูกค้า เราผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนรู้แล้วว่าถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาต้องแก้ไขอย่างไร ซึ่งสิ่งนั้นคืออย่ารอปัญหาให้เกิดและอย่ารอให้ลูกค้ามาด่าแม่เรา รีบเคลียร์ให้จบก่อนที่ความขุ่นข้องหมองใจจะเกิดขึ้น ให้ความสนใจเรื่องบริการหลังการขายก่อนเรื่องการขาย” หลังคำแนะนำนี้เฮียมั่นคงก็เล่าถึงหลักคิดของเขาที่ใช้การเรียนรู้จากแบรนด์สมาร์ตโฟนผลไม้ ที่ได้ชื่อเรื่องบริการและการดูแลสินค้าที่อยู่ในระยะประกันที่ขึ้นชื่อในเรื่องความง่ายในการขอเคลมหรือแก้ปัญหาโดยไม่สร้างความจุกจิกกวนใจให้กับลูกค้า 

“ถ้าคุณอยากเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว แต่ใช้วิธีดูวิธีทำจากยูทูปแล้วพรุ่งนี้จะเปิดร้านเลย” มิสเตอร์เบียสยกอีกหนึ่งตัวอย่าง

“ถามจริงๆ คุณไม่กลัวเลยเหรอ แล้วสิ่งที่เรียกว่า ‘อร่อย’ จริงๆ คุณเข้าใจหรือรู้จักหรือยัง การทำอาหารนั้นต้องมีความใส่ใจการมอง ความรู้สึก และเข้าใจถึงรสชาติที่อร่อยของคุณว่าคืออะไร” เพราะรู้สึกจึงทำความเข้าใจแล้วลงมือทำและทำออกมาได้ดี นี่อาจจะเป็นขั้นตอนสั้นๆ ที่เรียบง่าย เหมือนที่เราแค่เอาหูฟังใส่หูและเปิดเพลงเท่านั้น แต่ขั้นตอนกว่าจะเป็นเสียงที่ส่งมอบความสุขให้เรานั้นกลับมีกระบวนการซับซ้อนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งการทำธุรกิจให้เป็นที่รักของผู้ใช้บริการก็ต้องเอาใจใส่เหมือนกับที่พวกเขาทำจนสำเร็จมาแล้วเช่นกัน 


ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ

AUTHOR