มิตรบำรุงเมือง การดีไซน์ฟอนต์จากป้ายตึกเก่า ฟื้นประวัติศาสตร์ผ่านตัวอักษรใหม่อีกครั้ง

ภาพด้านบนที่คุณเห็นอยู่นี้คือตัวอักษร ‘มิตรบำรุงเมือง’ ที่จัดแสดงใน Bangkok Design Week 2023 เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ วันที่ 4-12 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งหากมองผิวเผินเราก็อาจจะมองเห็นเป็นตัวอักษรสไตล์น่ารักขี้เล่นทั่วไป 

  หากมองให้ลึกอีกสักนิดจะพบว่า เบื้องหลังของแต่ละตัวอักษรเหล่านี้ ถูกหยิบยกมาจากตัวอักษรในป้ายต่างๆ ในย่านบำรุงเมือง ตั้งแต่ตัวอักษรสมัยรัชกาลที่ 5 ตัวอักษรยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 หรือตัวอักษรสไตล์ไทยจีนที่มีรูปลักษณ์เฉพาะตัว ถูกนำมาดีไซน์กลายเป็นตัวอักษรมิตรบำรุงเมืองในยุคปัจจุบัน

“เราอยากฟื้นคืนชีพประวัติศาสตร์ผ่านตัวอักษรอีกครั้ง” 

นี่คือความตั้งใจของอาจารย์ ‘พจน์’ – ผศ. ธีรวัฒน์ พจน์วิบูลศิริ ผู้ออกแบบตัวอักษรมิตรบำรุงเมือง และเป็นอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยแรกเริ่มเขาได้รับโจทย์จาก ‘Urban Ally’ หรือศูนย์มิตรเมือง แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ออกแบบตัวอักษรย่านบำรุงเมืองในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ปี 2566 ในแนวคิด “urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี”

เมื่อได้รับโจทย์ออกแบบตัวอักษรย่านบำรุงเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่เก่าแก่ในเขตพระนครที่มีเรื่องราวมากมายทั้งประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตหลากหลาย พจน์ นักออกแบบตัวอักษรผู้ที่ชื่นชอบสถาปัตยกรรมและรักการถ่ายภาพป้ายตัวอักษรตามย่านต่างๆ เป็นชีวิตจิตใจ (และแน่นอนว่า ย่านบำรุงเมืองก็ไปเยือนมาแล้วเช่นกัน) 

จึงทำให้เขามีภาพในหัวคร่าวๆ ที่อยากจะรวบรวมตัวอักษรในย่าน ทั้งยุคเก่า กลาง และปัจจุบันให้กลายเป็นตัวอักษรสมัยใหม่คำว่า ‘มิตรบำรุงเมือง’ มาจากการล้อไปกับแนวคิดงานออกแบบกรุงเทพฯ คำว่า ‘เมืองมิตรดี’ บวกกับ ‘ย่านบำรุงเมือง’ ที่ยังคงเก็บเอกลักษณ์ของสิ่งเดิมคงอยู่ไว้ด้วย ซึ่งการออกแบบตัวอักษรนี้เรียกว่า ‘Lettering’ การประดิษฐ์ตัวอักษรสร้างขึ้นมาเพื่อสิ่งหนึ่งๆ โดยเฉพาะ

ท่องตัวอักษร

ขั้นตอนแรกในการออกแบบตัวอักษร พจน์เล่าว่า ต้องเริ่มจากการเก็บข้อมูลในพื้นที่จริงก่อน เพื่อที่จะได้ศึกษาว่า ตัวอักษรในย่านหน้าตาเป็นอย่างไร หรือมีตัวไหนน่าสนใจบ้าง ด้วยความที่พจน์ชอบเดินถ่ายรูปป้ายต่างๆ เป็นประจำอยู่แล้ว เขาจึงใช้โอกาสนี้เดินสำรวจย่านบำรุงเมืองอย่างละเอียดอีกครั้ง

“ผมชอบเดิน เดินไปเรื่อยๆ ถ่ายป้ายตรงนั้นตรงนี้ไปเรื่อยๆ ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร หากนับการเดินก้าวคงรวมประมาณหมื่นก้าวเลย เราเริ่มต้นเดินตั้งแต่สนามกีฬาแห่งชาติ จนไปสุดที่สะพานช้างโรงสี ระหว่างเส้นทางบำรุงเมืองนั้น มันมีส่วนผสมของพื้นที่หลากหลาย มีทั้งอาคารสมัยเก่าแก่ที่สุด สมัยยุคกลางๆ และยุคปัจจุบันผสมกัน” 

“ในแต่ละอาคารก็จะมีป้ายต่างๆ ซึ่งคราวนี้เราเดินส่องป้ายละเอียดมากขึ้น เราก็จะรู้ว่า ป้ายต่างๆ มีลักษณะอย่างไรบ้าง บางป้ายบอกตัวเลขปี พ.ศ. ที่ผลิตเลย บางอันเป็นป้ายไม้จะเป็นของยุคโบราณ ถ้าป้ายโลหะหรืออะลูมิเนียมจะเป็นยุคปัจจุบัน เพราะเริ่มมีวัสดุสมัยใหม่เข้ามามากขึ้น หรือจะดูตามสภาพอาคาร ก็จะมีรูปแบบสถาปัตยกรรมเฉพาะตัวในช่วงเวลาหนึ่ง เราก็จะสามารถรู้ช่วงประวัติศาสตร์ของตัวอักษรคร่าวๆ ได้”

ไม่เพียงแค่วัสดุของป้ายที่บอกช่วงเวลา รูปลักษณ์ของตัวอักษรก็สามารถบอกได้เช่นเดียวกัน ระหว่างสนทนา พจน์เปิดรูปภาพที่เขาถ่ายป้ายตัวอักษรต่างๆ ในย่านบำรุงเมืองให้เราดู พร้อมบอกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยวิธีดูตัวอักษรต่างๆ ว่าเป็นของยุคไหน

  “ย่านบำรุงเมืองมีตึกเก่าที่สุดที่หนึ่ง นั่นคือ ‘อาคารฟาซาล’ (Fazal Building) อยู่ตรงเชิงสะพานช้างโรงสี ถ้ามองไปก็จะเห็นเป็นตึกเก่าๆ ถ้าดูตามชื่ออาคารสมัยก่อน มันจะอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 5  ประมาณปี พ.ศ. 2439 เป็นฟอนต์แรกๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีการประดิดประดอยอะไรมากมายนัก” 

พจน์เปิดรูปป้ายต่างๆ ไปเรื่อยๆ จนมาหยุดที่ป้ายสะพานสมมตอมรมารค “ตัวหนังสือแบบนี้รัชกาลที่ 5 แน่ๆ เพราะป้ายมันจะบอกปี พ.ศ. อยู่ เพราะฉะนั้นก็เดาได้ไม่ยากว่าเป็นยุคไหน หรือตัวอักษรจากป้ายวัดสุทัศน์เป็นของสมัยโบราณ มันจะเป็นทรงผอมสูง เราว่ารูปร่างมันชัดดี ปลายตัวอักษรจะเป็นปลายจะงอยๆ ชัดๆ หรือตัว น.หนู มันจะมีขมวดเป็นวงกลมเก๋ดี”

ขณะเปิดดูตัวอักษรต่างๆ เรารู้สึกสะดุดตากับตัวอักษรทรงสี่เหลี่ยม มันคืออะไรกันนะ “บางร้านที่เราเห็นเป็นพวกเหลี่ยมๆ มีหนามีบาง ส่วนใหญ่จะอยู่ในโปสเตอร์หนังยุคหนึ่ง หรือในนิตยสารเก่าๆ ก็มี เหล่านั้นเป็นตัวอักษรในยุค ‘ใบปิดหนัง’ ที่เห็นได้บ่อยในโปสเตอร์โฆษณาหนังสมัยก่อนที่วาดมือกันนะ ช่วงนี้อยู่ในปี พ.ศ. 2500 ขึ้นไป”

พจน์อธิบายเสริมว่า ตัวอักษรไทยสมัยก่อนได้รับอิทธิพลจากเมืองนอกเข้ามา แต่ในบางทีก็มีการปรับเปลี่ยนสไตล์ด้วยคนต่างเชื้อชาติอย่าง ‘คนจีน’ ในพื้นที่เช่นกัน 

“บางตัวอักษรเป็นของคนจีนทำก็มี เนื่องจากสมัยก่อนคนจีนเป็นช่างฝีมือส่วนใหญ่ ตอนนั้นคนไทยไม่ได้ทำตัวหนังสืออะไรมากนัก ก็จะเป็นคนจีนเขียนเนี่ยแหละ แต่เป็นสไตล์ไทยจีน เช่น มีความพริ้วไหวคล้ายกับริบบิ้น ซึ่งต่อยอดมาจาก ‘ตัวอักษรหัวตัด’ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงษ์ สังเกตปลายตัวอักษรจะเป็นหัวตัด 45 องศา แล้วคนก็ปรับมาเรื่อยๆ ให้ปลายพริ้วไหวเป็นริบบิ้น ตรงหัวจะเป็นตัวยึกๆ เรียกกันว่า ‘หัวนก’ เพราะมันมีหัวจะงอยคล้ายนก ส่วนมากจะเห็นในป้ายร้านทองของคนจีน”

คัดสรรตัวอักษร

  เมื่อศึกษาตัวอักษรต่างๆ ในย่านบำรุงเมืองกว่า 100 ป้ายจนหนำใจ ก็ถึงเวลาที่อาจารย์พจน์ต้องคัดเลือกตัวอักษรต่างๆ มาจัดเรียงกันเป็นคำว่า ‘มิตรบำรุงเมือง’ ให้เข้ากันมากที่สุด 

  “เวลาเราเลือก เราเอาตัวอักษรคละกันในแต่ละยุค เก่า กลาง และใหม่ หลักๆ ดูที่หน้าตาของมันนะครับ เช่น ป้ายที่เราถ่ายตัว ม.ม้า มีทั้งหมดกี่อัน อันไหนที่ ม.ม้า มันดูมีเอกลักษณ์ อย่างบางตัวก็ดูธรรมด๊า ธรรมดาก็ไม่เอา หรือ ร.เรือ ก็เลือกที่มีความโดดเด่นหน่อย บางตัวก็มีหัวแหลม มีส่วนโค้ง บางตัวผอมสูง บางตัวเหลี่ยมๆ แปลกตาดี ก็จะเลือกมาวางคละกัน ตัวอักษรจะได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น”

  “เวลาจับตัวอักษรมาเรียงกัน ก็พยายามเรียงให้เกิดสูงๆ ต่ำๆ ให้เกิดจังหวะของมัน และมันก็ดูไม่ตั้งใจมากเกินไป รวมถึงมันดูเป็นมิตรเข้าถึงง่ายด้วย การที่เอาตัวอักษรและช่วงสมัยมารวมกัน แม้ว่ามันจะต่างรูปแบบกัน มันก็เหมือนกับถนนบำรุงเมืองนะครับ มันก็มีความหลากหลาย ร้อยร้านร้อยพ่อพันแม่นั่นแหละ มีตั้งแต่ร้านหรูๆ จนไปถึงร้านทั่วไป แต่สุดท้ายทั้งหมดคือความเป็นบำรุงเมืองทั้งเส้น”

ตัวอักษรบรรจง

  ถ้าถามว่า ขั้นตอนไหนสำคัญที่สุด เขารีบตอบว่า ขั้นตอนดราฟต์ตัวอักษรเนี่ยแหละ ยากที่สุดแล้ว! 

  “การดราฟต์จากภาพถ่ายป้ายเนี่ยแหละ ต้องดราฟต์อย่างไรให้ลงตัว ทั้งการกำหนดพื้นที่ว่างของการวาดตัวอักษร เช่น เดิมถ้าตัวอักษรมันรูปทรงบิดเบี้ยวก็ต้องดัดเขาให้ตรงบ้าง แต่ยังคงอารมณ์ในลักษณะเดิมของเขาอยู่ เพราะตัวอักษรสมัยก่อนในรัชกาลที่ 5-6 เขาจะไม่ได้ทำตัวอักษรพิถีพิถันขนาดนั้น” 

  “แต่ของเราทำในคอมฯ ตีเส้นทุกอย่างก็จะเป๊ะ หรือพวกวรรณยุกต์ สระบน สระล่าง เราก็มาดีไซน์ใหม่ให้เข้ากัน หรือพวกลวดลายต่างๆ ในสถาปัตยกรรม เช่น ลายเหล็กดัด ช่องลม ประตู หรือหน้าต่างลายฉลุต่างๆ ถ่ายอะไรพวกนี้ก็ดราฟต์เก็บไว้ด้วย เพราะเอาไปทำเป็นเวกเตอร์กราฟิกได้”

  “เพราะฉะนั้นเราก็เอาตัวพวกนี้แหละมาทำให้มันดูมีความสวยงามลงตัวมากขึ้น แต่ว่ามันก็ไม่เหมือนกับของต้นฉบับซะทีเดียว มันเกือบจะเหมือนมากกว่า เราแค่ต่อยอดตัวอักษรสมัยก่อนเหล่านี้เข้ากับสมัยใหม่มากกว่าเคย”

  หลังพูดเรื่องการดีไซน์ตัวอักษรมาเนิ่นนาน พจน์เล่าเสริมถึงการทำป้ายของคนสมัยก่อนว่าต่างจากปัจจุบันมากมาย ทั้งวิธีการทำและเวลาที่แตกต่างกันในสมัยนี้

“ผมเคยไปสัมภาษณ์คนทำป้ายสมัยก่อนที่ลำปาง จริงๆ คนยุคก่อนเวลาทำป้ายจะถามลูกค้าถึงการใช้งานต่างๆ ของคนๆ นั้น เช่น เราอยากทำป้ายร้านเสริมสวย ก็ต้องดีไซน์ฟอนต์ชื่อร้านให้ดูเป็นร้านเสริมสวย ไม่ใช่เป็นร้านเบเกอรี ส่วนวิธีการทำซับซ้อนมาก ต้องลงสีพื้น สีป้าย ดราฟต์ฟอนต์ตัวหนังสือหลายขั้นตอนมาก หรือผิวสัมผัสต่างๆ ถ้าอยากให้ตัวอักษรโค้งมน ก็ต้องเอากระดาษทรายมาค่อยๆ ถูเลย”

  “ซึ่งป้ายเมื่อก่อน เรารู้สึกว่า มันแทนความเป็นร้านนั้นๆ ตัวตนของร้านนั้นๆ มันก็เลยดูมีเรื่องราวและคุณค่าในตัวมันเอง ป้ายบางร้านมีมูลค่าสูงหรือมีลิขสิทธิ์ด้วย เพราะมีแค่ป้ายเดียวเท่านั้นและยังเป็นสมบัติตกทอดกันมา แต่ว่าทุกวันนี้พอเทคโนโลยีเข้ามา ทุกวันนี้การทำป้ายง่ายขึ้น ส่งไฟล์ มีฟอนต์ก็พิมพ์ได้แล้ว”

คนรักตัวอักษร

  ในระหว่างที่พจน์พูดเรื่องตัวอักษร เขามักจะพูดอยู่บ่อยครั้งว่า ตัวอักษรแต่ละตัวมีเรื่องราวน่าสนใจและรู้สึกอินไปกับมัน เหมือนที่เขามีนามแฝงอีกชื่อหนึ่งว่า ‘อักษรสนาน’ ที่มาจากความชอบใน ‘ตัวอักษร’ และ ‘ความสนุกสนาน’ ในการออกแบบ เพราะเสน่ห์ของตัวอักษรมันมีพลังในตัวของมันเองที่นักดีไซน์ต้องสื่อสารให้คนเข้าถึงง่าย

  “ตัวอักษรมันถ่ายทอดบุคลิกลักษณะของทุกๆ อย่าง เช่น อาคาร สถานที่ สื่อ นิตยสาร หรือแม้แต่การใส่เสื้อที่มีตัวหนังสือ ฟอนต์ชื่อวงนู่นนี่นั่นโน่น มันสามารถเปล่งเสียงได้ ถ้าเราพิมพ์คำว่า ‘โว้ยยยย’ พิมพ์คำว่า ‘จุ๊ๆๆๆๆ’ มันให้ความรู้สึกไม่เหมือนกัน คือฟอนต์มันมีพลังของมันอยู่ เสน่ห์ของมันอยู่ในรูปแบบของตัวอักษร  มันมีเรื่องราวต่างๆ ซ่อนอยู่ภายใน”

  “เพราะฉะนั้นการดีไซน์ตัวอักษร คือการออกแบบที่สื่อสารได้ มันสำคัญกว่าความสวยงามอีก เพราะความสวยงามของแต่ละคนมองไม่เหมือนกัน แต่การสื่อสารคือการถ่ายถอดเรื่องราวให้คนเข้าใจได้ อย่างบางตัวอักษรอาจไม่ได้สวยมาก แต่พอรวมกันมันก็สวยด้วยตัวมันเอง”

  “อย่างตัวอักษรมิตรบำรุงเมืองมันมีเสน่ห์ด้วยรูปแบบและลักษณะที่แตกต่างกัน ถ้าเราได้นำตัวอักษรที่ชอบและสามารถทำขึ้นมาใหม่ พิมพ์ใช้งานจริง ถ่ายทอดเรื่องราวได้ สำหรับผมมันคือ ‘Renewal’ การคืนชีพตัวอักษรสมัยก่อนให้กลับมาสื่อสารใหม่อีกครั้ง”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ