MILK! แพลตฟอร์มที่ให้ ‘อิสระ’ กับศิลปินอิสระได้เติบโตไปเป็นมืออาชีพ

Highlights

  • คุยกับ มอย–สามขวัญ ตันสมพงษ์ และ บอล–ต่อพงศ์ จันทบุบผา สองผู้บริหารค่ายเพลง What the Duck ผู้ใช้ ‘ความเข้าใจ’ ปลุกปั้น MILK! แพลตฟอร์มที่คิดขึ้นเพื่อสนับสนุนเส้นทางการเติบโตของศิลปินอินดี้
  • MILK! เปิดตัวพร้อมกับศิลปินหน้าใหม่น่าจับตาอย่าง Loserpop, quicksand bed และ Varis
  • ในมุมของคนที่ทำธุรกิจค่ายเพลง MILK! เปรียบเสมือนบ้านอีกหลังที่ให้ 'อิสระ' กับศิลปินอย่างเต็มที่ สิ่งที่พวกเขาอยากเห็นคืออยากให้วงดนตรีหน้าใหม่ที่พวกเขาทำงานด้วยเติบโตไปเป็นวงดนตรีที่ดีและมีความเป็นมืออาชีพ

ไม่ว่าจะกี่ครั้งที่มีโอกาสพบเจอสองผู้บริหารค่ายเพลง What the Duck อย่าง มอย–สามขวัญ ตันสมพงษ์ และ บอล–ต่อพงศ์ จันทบุบผา เรามักจะได้ยินเรื่องราวสนุกๆ เกี่ยวกับวงการดนตรีเสมอ

ต้นปีที่ผ่านมาพวกเขาเปิดตัว MILK! ยูนิตใหม่ที่งอกเงยออกมาจากค่ายเพลงค่ายหลัก–งานประจำที่พวกเขาทำอยู่ ที่น่าสนใจคือพวกเขานิยามสิ่งนี้ว่าเป็น ‘Artist Service Platform’ ที่ดูเพียงผ่านๆ อาจเหมือนค่ายเพลงอินดี้ทั่วไป แต่เมื่อได้รู้จักโดยละเอียดแล้ว เชื่อว่าคุณจะอยากเอาใจช่วยแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นจาก ‘ความเข้าใจ’ ศิลปินอินดี้ ให้เติบโตอย่างแข็งแรงและประสบความสำเร็จในเร็ววัน

ส่วนหนึ่งก็เพราะตลอดเวลาที่พวกเขาทำธุรกิจค่ายเพลง (และไม่ว่าบ้านเมืองอยู่ในสภาวะปกติหรือไม่ก็ตาม) ค่ายเพลงที่ทั้งคู่รักและดูแลเหมือนลูกขยันปล่อยโปรเจกต์ใหม่ๆ ออกมาให้เราได้เงี่ยหูฟัง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ทำขึ้นเพื่อสร้างสีสันเฉดใหม่ให้วงการเพลง รวมทั้งการปลุกปั้นศิลปินคุณภาพหน้าใหม่ๆ แม้จะไม่ใช่แฟนคลับตัวยงของค่าย ใจเราเองก็เต้นตูมตามไปด้วยเสมอ

ในเมื่อล็อกดาวน์อะไรหลายๆ อย่างเริ่มคลี่คลาย เราขอถือโอกาสนี้พาคุณเปิดหูเปิดตาทำความรู้จักกับ MILK! ผ่านคำบอกเล่าจากสองหัวเรือใหญ่ สิ่งที่เราพูดได้อย่างเต็มปากว่าน่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในวงการเพลงไทยในวินาทีนี้

MILK! เกิดขึ้นบนความตั้งใจหน้าตาแบบไหน

มอย : สิบปีที่แล้วศิลปินมีรายได้หลักจากการเล่นคอนเสิร์ต แต่ช่วง 5-6 ปีก่อนที่เราเปิดค่าย รายได้จากสตรีมมิงมันก็เริ่มเข้ามา มีมิวสิกสตรีมมิงเจ้าใหญ่ๆ มาเปิดออฟฟิศที่เมืองไทย เราเห็นหน้าร้านของร้านค้าดิจิทัลชัดเจนขึ้น รายได้ที่กลับมาในแต่ละปีก็ก้าวกระโดด สิ่งที่เราเห็นคือวงการเพลงคึกคักขึ้น มีศิลปินหน้าใหม่ๆ มากขึ้น genre ของเพลงเยอะขึ้น คนฟังเพลงในเมืองไทยเปิดใจฟังเพลงมากขึ้น ในส่วนของศิลปินอิสระก็มีช่องทางในการปล่อยเพลงตัวเองง่ายขึ้น ทำเพลงเสร็จคุณไปดีลกับ distributor บางเจ้า ปล่อยเพลงปุ๊บรายได้ก็กลับมาหาคุณได้เลย

เรามองเห็นว่าตลาดของศิลปินอิสระมันขยายใหญ่ขึ้นและเป็นอะไรที่น่าสนใจ จริงๆ เราก็เข้าหาพวกเขาอยู่แล้วในฐานะ What the Duck แล้วบางทีเขาก็แฮปปี้ที่มีค่ายให้ความสนใจ แต่ความต้องการระหว่างศิลปินกับค่ายมันไม่พอดีกัน แต่ถามว่าเราอยากทำงานกับเขาไหม เราอยากทำงานกับศิลปินรุ่นใหม่ๆ อยู่แล้ว แต่คราวนี้ค่ายของเรามันโตขึ้นมามากเหลือเกิน มันมีกฎเกณฑ์ของมันอยู่ น้องๆ พวกนี้เขาอยากได้การซัพพอร์ต แต่เขาอาจไม่ได้ต้องการ commitment แบบร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนค่ายเพลง

เราคุยกับพี่บอลว่าเราอยากช่วยคอมมิวนิตี้ตรงนี้ ทำอะไรสักอย่างที่สบายๆ ลงไปช่วยพวกเขาในบางส่วนได้บ้าง มันก็เลยเกิดเป็นไอเดียทำ Artist Service Platform นี้ขึ้นมาเพื่อซัพพอร์ตศิลปินอิสระในยุคนี้ 

สนใจคำว่า ‘Artist Service Platform’ สิ่งนี้เคยมีมาก่อนไหม หรือเป็นสิ่งที่เราพัฒนากันเอง

มอย : มันไม่ใช่สิ่งใหม่ หลายๆ บริษัทในต่างประเทศเริ่มทำแบบนี้ แต่ของเขามันไม่สามารถประยุกต์ใช้กับศิลปินในบ้านเราได้ เราเลยเอาไอเดียนี้มาปรับให้เหมาะกับเมืองไทย โมเดลธุรกิจค่ายเพลงทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก การทำงานกับศิลปินรุ่นใหม่ๆ เรายิ่งต้องปรับโดยเฉพาะตัวสัญญา

บอล : ต้องยืดหยุ่นได้ ในบทความหรือตำราต่างประเทศที่เราดูเป็น reference มันมีคำว่า multiple deal รูปแบบการทำงานระหว่างค่ายและศิลปินมันต้องยืดหยุ่นตามเงื่อนไขของศิลปิน เพราะเขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาไม่เหมือนกัน บางคนมีเครื่องมือที่เขาสามารถใช้จัดการตัวเองได้ บางคนเลเวลเดียวกันหน้าใหม่เหมือนกัน แต่คนหนึ่งอาจจะเก่งในแง่ของการทำงานเพลง อีกคนอาจจะเก่งด้านแบรนด์ดิ้ง เป็นที่รู้จักอยู่แล้วก็ได้ เพราะงั้นเราไม่สามารถเอาสัญญาที่ครอบทุกอย่างมาใช้กับศิลปินทุกคนได้ ความยืดหยุ่นมันต้องเกิด

มอย : ตลาดบ้านเรามีดีลประมาณนี้อยู่ บางค่ายมีเซอร์วิสบางอย่าง เช่น คุณทำเพลงทุกอย่างเองหมดเลยแล้วก็ให้ค่ายเหล่านี้เอาเพลงเราไปขาย มีรายได้เข้ามาเท่าไหร่ค่ายก็หักไป อย่างงี้คือ distrubution deal ที่หลายๆ ค่ายเริ่มทำ แต่ถ้าถามเรา เรามองว่าดีลแบบนี้มันยังเบาไปในการที่เราตั้งใจอยากจะ approach ใครสักคน และพัฒนาไปพร้อมๆ กับเขา จึงเป็นที่มาว่าเราอยากจะทำงานกับศิลปินอิสระแบบลงลึกมากกว่านั้น

หนึ่ง เรามีพี่บอลทำเรื่อง A&R ที่คอยดูว่าเขาควรทำแบบนั้น แบบนี้ไหม สองคือช่วยเรื่อง PR เรามีแพลนการพีอาร์ให้ มีพาร์ตเนอร์อย่าง CJ WORX มาช่วยดูแลโซเชียลมีเดียของศิลปิน และข้อสามที่น่าจะสำคัญที่สุดก็คือเรื่องของ funding เงินทุนซัพพอร์ตในเรื่องโปรดักชั่นทำเพลงให้ดีขึ้น รวมถึง promotion material ต่างๆ เช่น ทำเอ็มวีให้ดีขึ้น หรือบางคนไม่อยากทำเอ็มวี แต่อยากได้เงินสักก้อนไปทัวร์คอนเสิร์ตที่ต่างจังหวัดก็ทำได้ ซึ่งเงินตรงนี้เราให้เขาไปเลย 

เข้าใจว่าทุนที่ซัพพอร์ตคือเงินจากค่ายหลัก ในแง่การทำธุรกิจ เมื่อเราจ่ายกับสิ่งนี้ไปเราก็ควรจะได้อะไรบางอย่างกลับคืนมาด้วย ค่ายได้อะไรจากสิ่งนี้

บอล : เราเคยคุยกันว่าถ้าตัดสินใจจะทำอะไรแบบนี้ รีเทิร์นของมันหรือการวัดผลต้องไม่ใช่เรื่องตัวเงิน วัตถุประสงค์ของ funding คือการที่เด็กจะได้เงินไปพัฒนาตัวเขา สำหรับพวกเรานี่คือการปลูกต้นน้ำ ปลูกเมล็ดพันธุ์บางอย่างที่รอให้เขาเติบโต ในการทำธุรกิจเราสนใจตัวผลตอบแทนในระยะสั้นและกลางเป็นอย่างแรก ส่วนระยะยาวเป็นเรื่องผลพลอยได้ที่ตามมา แต่กับ MILK! เราบอกตรงๆ เลยว่าเรามองผลระยะยาวก่อน เรามองว่าวงที่เราทำงานด้วยเขาจะเติบโตมาเป็นวงที่ดี และสามารถพัฒนาตัวเองสู่นักดนตรีอาชีพอย่างจริงจัง 

ในวันข้างหน้าเขาจะเป็นบุคลากรในอุตสาหกรรมเพลง จะอยู่ในค่าย What the Duck หรือค่ายอื่นก็ได้ เรากล้าพูดกับทุกที่ว่าพวกเขาไม่จำเป็นจะต้องเซ็นกับเรา เพียงแต่ว่าสิ่งที่จะติดตัวเขาไปคือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งที่เขาเคยได้รับการพัฒนา ได้รับคำปรึกษา ได้รับเงินทุนที่ช่วยซัพพอร์ตการทำงานเพลง และเขานำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากตรงนี้ไปทำอะไรที่เกิดประโยชน์กับตัวเองและวงดนตรีของเขา 

ส่วนผลตอบแทนระยะสั้นกลับกลายเป็นสิ่งที่เราได้มาอย่างไม่ตั้งใจ เรื่องหนึ่งที่เราเจอกับตัวเองเลยคืออยู่ๆ เราก็ได้รู้จักกับช่างภาพ ผู้กำกับเอ็มวี สไตลิสต์หน้าใหม่ๆ ที่หลายคนเป็นเพื่อนพี่น้องจากที่ทำงาน หรือเรียนที่เดียวกับน้องๆ ศิลปินที่เราทำงานด้วย เราได้พบว่าคนเหล่านี้มีแววคล้ายๆ กับวงดนตรีที่เรามองหา ตรงนี้เหมือนเราย่นระยะห่างบางอย่างเพื่อลงไปเจอเขาในสังคมของเขา

อีกสิ่งที่เราจะได้คือการได้ distribute ผลงานที่เกิดขึ้น มันอาจจะไม่ได้เป็นรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำในวันนี้หรอก แต่อย่างน้อยน้องๆ ก็ได้ทำงาน ได้ทำมาค้าขายกับสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นในเวลาที่เราทำงานร่วมกันโดยที่เขาเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หากบางวงมีอัตราการเติบโตสูงจนเริ่มมีงานจ้าง หรือมีการเอาศิลปินไปต่อยอดในแง่ KOL หรือการทำเพลงในเชิง music marketing MILK! เองก็คงได้แชร์ริ่งจากส่วนตรงนั้น

เราเชื่อในธรรมชาติของ individualism เราต้องทำอะไรโดยที่เขายังสามารถรักษาความเป็นตัวเอง ธุรกิจต้องไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและทัศนคติในการทำงานของเขา เราเพียงแต่ย่อชุดความรู้ในธุรกิจดนตรีเอาไปวางให้เขาเห็นว่าเขาสามารถหยิบจับอันนี้ไปใช้ได้เลย แต่ถ้าวันไหนเขาอยากใช้ชุดความรู้แบบจริงจัง เขามาเจอเราที่ค่ายในวันเวลาที่เขาโตขึ้นมากกว่านี้ได้

ปกติค่ายเรามี in-house funding บางอย่างที่เราเชื่อว่าเราต้องมีเพื่อใช้พัฒนาคนและองค์กร MILK! เลยเกิดขึ้นจากคำถามที่ทำ ศิลปินรุ่นใหม่ๆ ที่เขาอาจจะมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรของเราในอนาคต คนเหล่านี้คือฟันเฟืองของเรา ทำไมเขาถึงจะไม่มีสิทธิเข้าถึงการพัฒนาเหล่านี้ล่ะ

มอย : แต่สุดท้ายเราก็หวังแหละว่าถ้า MILK! โตขึ้นกว่าวันนี้ เราคิดว่าวันนั้นศิลปินอิสระเหล่านี้น่าจะดูแลตัวเองได้แล้ว คิดว่ามันเป็นไปได้ 

สุดท้ายแล้วค่ายเพลงยังเป็นสิ่งจำเป็นไหม

บอล : ทำธุรกิจดนตรีมาสิบกว่าปี ทุกคนจะเตือนด้วยความเป็นห่วงว่ามันมีโอกาส มีปัญหา แต่ตอนนี้เรากล้าพูดได้เลยว่าสิ่งที่เราสร้างกันมา สินทรัพย์จากการทำงานตลอดเวลาที่ผ่านมามันช่วยคุ้มครองเราในช่วงเวลาแบบนี้ได้ เรามีระบบหลังบ้านที่ค่อนข้าง secure กับตัวองค์กรและน้องๆ สตาฟของเราพอสมควร เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าเลือกถูกเนอะที่ทำอะไรแบบนี้

หรือถ้าย้อนกลับไปหลายปีก่อนหน้านี้ เป็นช่วงวงดนตรีหน้าใหม่เกิดแนวคิดว่า ทำเพลงเองได้ก็ไม่จำเป็นต้องมีค่าย แล้วกลายเป็นเทรนด์ใน 5-6 ปีที่ผ่านมา เทรนด์เหล่านี้ได้รับความนิยมสูงมากจนทุกคนลุกขึ้นมาทำเพลงเองหมด กลายเป็นว่าทุกวันนี้มัน reverse กลับมาว่า พอวงดนตรีวงหนึ่งทำงานถึงเลเวลหนึ่งแล้วเขาอยากไปต่อ อยากจริงจังกับอาชีพศิลปินมากขึ้น หรืออยากจะแตกต่างจากศิลปินอื่นในตอนนั้น เขาจะอยากเดินไปค่ายค่ายหนึ่งที่สามารถช่วยต่อยอดงานของเขา สิ่งเหล่านี้มันกลับมาแล้ว จริงๆ มันเป็นวงจรอยากมีค่าย ไม่อยากมีค่าย เวียนไปเวียนมาอยู่ตลอด เราถึงมีคำว่า independent ในอุตสาหกรรมเพลงตลอด

 

มุมหนึ่งก็เหมือนกับว่าค่าย What the Duck พยายามบาลานซ์ความ independent ให้อยู่กับยุคสมัยแบบนั้นใช่ไหม

มอย : ใช่เลย บางทีคนมองว่า What the Duck แมสอยู่แล้ว ค่ายเรามีทั้งป๊อปสตาร์อย่าง The TOYS มีฟักกลิ้ง ฮีโร่ มีสิงโต นำโชค มีเป้ อารักษ์ ค่ายเราวาไรตี้มาก แต่เรายังยืนยันว่าวิธีการทำงาน วิธีการคัดเลือกศิลปินของทีมยังเหมือนเดิมตั้งแต่วันแรก คอนเซปต์เหมือนเดิมคือศิลปินที่ทำงานกับเราต้องทำเพลงเองได้ และที่สำคัญคือเราเองต้องชอบเขาก่อน ซึ่งไม่แปลกเลยที่ 5-6 ปีที่ผ่านมา ศิลปินเขาจะนำค่ายเรามาถึงจุดนี้ มันช่วยไม่ได้อีกที่แฟนเพลงบางคนจะมองว่าเราเปลี่ยนไป ปีแรกกับปีนี้ยอมรับว่าพวกเราก้าวกระโดดกันมากเหมือนกัน นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราตัดสินใจทำ MILK!

สุดท้ายแล้วความชื่นชอบในเรื่องดนตรีและเด็กสมัยใหม่มันยังอยู่ แต่เราใช้ What the Duck เข้าหาคนกลุ่มนี้ค่อนข้างยากแล้ว เลยต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อกลับไปที่รากของตัวเองที่ว่าเรายังชอบอะไรแบบนี้อยู่นะ การทำ MILK! มันเหมือนได้บาลานซ์ตัวเราเอง บาลานซ์ตัวพนักงานด้วย อย่างน้องๆ ในค่ายก็ตื่นเต้นที่ได้ทำสิ่งที่มันอินดี้ เปลี่ยนบรรยากาศมาทำงานกับศิลปินใหม่ๆ บ้าง

MILK! เปิดตัวพร้อมกับศิลปินหน้าใหม่อย่าง Loserpop, Quicksand bed และ Varis ตอนจีบพวกเขามาร่วมงานถือว่าคุยยากไหม

มอย : ไม่ยากเลย เพราะว่าเราไม่มี hidden agenda เวลาเล่าให้พวกเขาฟัง เราเล่าแบบนี้เลยว่าเราทำสิ่งนี้มาเพื่ออะไร พยายามบอกเขาทุกเรื่อง เพราะรู้สึกว่าเราเจตนาดี เราบอกเขาตรงๆ เลย ปีนี้พี่มีเงินให้เท่านี้เว้ย  พวกเอ็งไปคิดมา วางแพลนมาว่าจะทำอะไรบ้าง เรามีคนสองสามคนช่วยเรื่องประสานงาน อันไหนเขาอยากให้เราช่วยก็มาปรึกษาได้ น้องๆ บางคนเขาอาจจะสงสัย เราก็พยายามใช้เวลาคุยกับเขาให้มากเพื่อตอบทุกข้อสงสัย เช่น ถ้าอีกหน่อยผมดัง ผมเซ็นกับค่ายนี้ได้ไหมครับ เราพยายามเอาปัญหาที่เกิดขึ้น หรือประสบการณ์ทำงานกับวงต่างๆ มาเล่า มากองตรงหน้า

บอล : ตรงไปตรงมาแม้กระทั่งว่า เขาถามบางเรื่องมาเราตอบไปว่า ยอมรับจริงๆ พี่เองไม่แน่ใจ แต่ว่าทำอะไรเราทำกันเต็มที่ ตรงนี้ก็เป็นเรื่องใหม่ที่เราทดลองไปด้วยกัน บางทีเรายังเรียนรู้จากคำถามของตัวเด็กเขาเอง เช่น เรื่องนี้เราก็ควรจะเตรียมตัวมานะ หรือสิ่งนี้อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเราต้องไปทำงานร่วมกับเขา เรียนรู้กันไปกันมาตลอดเวลา

สำหรับพวกคุณแล้ว 3 วงนี้น่าสนใจยังไง

บอล : อย่าง Loserpop คนในแวดวงอินดี้จะรู้ว่าเขาเป็น rookie หน้าใหม่วงหนึ่งที่ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ เป็นกลุ่มคนทำงานเพลงตามชื่อเลย แสดงตัวว่าตัวเองไม่ได้เก่งกาจด้านดนตรี แต่มีมุมในการนำเสนอเนื้อหาในเพลง เป็นจริตของคนเจนฯ นี้ quicksand bed เราสนใจตรงที่เขาทำเพลงสากลแล้วมีเพลงไทยเพลงเดียว น่าสนใจในแง่ที่ว่าเขามีความสามารถที่จะโตไปในระดับสากลมากขึ้น และแนวดนตรีโซล-ฟังก์ในบ้านเราก็มีไม่ค่อยเยอะ

ส่วน Varis เป็นศิลปินเดี่ยว เป็นน้องที่เราติดตามดูตั้งแต่ตอนที่เขามาเล่นที่งาน Jam Fest เป็นนักดนตรีที่มีแนวคิดเป็นของตัวเองพอสมควร ความรู้สึกรวมๆ ที่เรามีต่อ 3 วงนี้คือ เขาน่าจะเติบโตเป็นวงดนตรีที่ดีและน่านำเสนอต่อคนทั่วไปในอนาคต จริงๆ มีวงมากกว่านี้ที่เราตามดูผลงานเขามาระยะหนึ่ง แต่ 3 วงนี้ค่ายเราค่อนข้างเห็นพ้องกันว่าสนใจนะ อยากซัพพอร์ต พื้นฐานคล้ายกับเวลาที่ What the Duck จะทำงานกับใครคือเราต้องชอบเขาก่อน และถ้าชอบแล้วเราจะหาวิธีทำเงินให้เขาได้เองแหละ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!