“เราคงทรมานมากถ้าในอนาคตเด็กยังต้องเรียกร้องสิ่งเดียวกันกับเรา” มายมิ้น ศุกรียา

Highlights

  • มายมิ้น–ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ คือนิสิตคณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 เอกสังคมศึกษาและการศึกษานอกระบบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มคณะจุฬา (กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในมหาวิทยาลัย) และเป็นแกนนำกลุ่มเสรีเทยพลัสและคณะประชาชนปลดแอก
  • มายมิ้นทำงานเบื้องหลังเป็นหลัก โดยจะเป็นคนประสานงานในการจัดม็อบต่างๆ รวมไปถึงการจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม
  • “เรามาทำการเมืองเพราะถ้าไม่ทำตอนนี้ ในอนาคตเด็กก็จะต้องสู้ต่ออีก แล้วเราจะไม่ได้สอนเขาอย่างที่เราอยากจะสอน เรามาสู้ก่อน เพื่อที่ในอนาคตเด็กจะได้เรียนอย่างที่เขาอยากเรียน”

17 ตุลาคมคือกำหนดการเดิมที่เราจะได้พบกับ มายมิ้น–ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มเสรีเทยพลัสและคณะประชาชนปลดแอก

ทว่าช่วงสายของวันเดียวกันนั้น เราได้รับข้อความว่าเธอไม่สามารถมาได้แล้ว เนื่องจากหลังเกิดเหตุสลายการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้เธอจำเป็นต้องรีบเตรียมพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุมที่จะเดินทางมารวมตัวกันบริเวณห้าแยกลาดพร้าว

ภายใต้ภาวะทางการเมืองที่เข้มข้นที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายปี ในที่สุดเราก็ได้พบกับมายมิ้นหลังจากการชุมนุมวันที่ 17 ตุลาคมยุติลงอย่างสงบเรียบร้อย 

มายมิ้น ศุกรียา

นอกจากสถานะแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว มายมิ้นกำลังศึกษาอยู่ที่คณะครุศาสตร์ เอกสังคมศึกษาและการศึกษานอกระบบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราสงสัยว่าทำไมนักเรียนครูอย่างเธอถึงกระโดดเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเต็มตัวขนาดนี้

บทสนทนาต่อไปนี้มีคำตอบ

 

ทำไมคุณถึงเลือกเรียนครุศาสตร์

เราเป็นคนคิดนอกกรอบ ชอบตั้งคำถาม ในช่วงมัธยมเราไม่เคยได้คำตอบเกี่ยวกับสิ่งที่ถามไปเลย แต่กลายเป็นการใช้อำนาจนิยมในโรงเรียนมาจัดการกับเรามากกว่า ซึ่งเป็นวิธีผลิตซ้ำคนที่เป็นอิกนอแรนต์ หรือคนที่ไม่สนใจเรื่องในสังคมออกไปเรื่อยๆ เราเชื่อว่าอาชีพครูสามารถสร้างคนและปลูกฝังแนวคิดที่ถูกต้องให้เด็กได้ เราจึงตัดสินใจเลือกเรียนครุศาสตร์ มาเป็นครูสังคมเพื่อที่จะปลูกฝังประชาธิปไตยให้พลเมืองในอนาคต

พอเข้ามาเรียนแล้วก็มีทั้งตรงตามความคาดหวังและผิดหวัง จริงๆ ไม่ใช่ความผิดหวังเสียทีเดียว แต่เป็นความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นว่ามันเกิดอะไรขึ้นในระบบบ้าง ทำไมผลลัพธ์ถึงออกมาเป็นแบบนี้ ทำไมสังคมที่เราเติบโตมาถึงเป็นแบบนี้ ทำไมครูที่เราไม่ชอบถึงเป็นแบบนี้ เพราะเราเห็นแล้วว่าทั้งหมดของระบบการศึกษาตั้งแต่สถาบันผลิตครูที่เราได้เข้ามาอยู่มันมีปัญหา แต่ก็ยังได้เจออาจารย์ที่มีอุดมการณ์แล้วสอนให้เรามีอุดมการณ์ต่อไป แล้วก็เห็นว่าถ้าเราตั้งมั่นในอุดมการณ์ เราก็จะสร้างพลเมืองต่อไปได้ 

สนใจคำว่าผลิตซ้ำคนที่เป็นอิกนอแรนต์ กระบวนการนี้เป็นยังไง

อำนาจนิยมในสถาบันครูค่อนข้างเข้มข้นกว่าคณะอื่นๆ มีกฎที่จะต้องทำตามโดยไม่มีการตั้งคำถาม ด้วยความที่เป็นมนุษย์แล้วเราก็จะสงสัยว่า ทำไมล่ะ ทำไมต้องทำแบบนี้ แต่พอวิ่งไปแล้วชนกำแพงคำตอบที่บอกว่าเพราะมันเป็นกฎซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนเหล่านี้ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไปเดินเลียบกำแพงแทนที่จะพุ่งชน การตั้งคำถามก็จะน้อยลงเมื่อไม่ได้รับคำตอบ แต่ก็ยังใช้ชีวิตอยู่ได้ปกติ ไม่มีใครทำอะไร แล้วอยู่อย่างนี้ก็ไม่เสียหายอะไร จากนั้นจะเริ่มรู้สึกว่ากฎหรืออำนาจที่กำลังกดทับอยู่ไม่ได้กระทบต่อชีวิตอีกแล้ว

เมื่อมาสอนเด็กในโรงเรียน ครูก็จะเผลอเอากฎเหล่านี้ไปใช้ พอมีเด็กตั้งคำถาม ก็จะเกิดการเปรียบเทียบว่า ตอนนั้นฉันไม่ถาม ฉันก็อยู่ได้ ทำไมพวกเธอจะอยู่ไม่ได้ มันคือการถ่ายทอดซ้ำไปเรื่อยๆ สถาบันผลิตให้ครูออกมาเป็นแบบนี้ ครูก็จะไปผลิตนักเรียนออกมาเป็นแบบนี้ แล้วนักเรียนก็จะไปสร้างสังคมแบบนี้ ทุกอย่างมันวนเวียน

คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ยังมีโซตัสอยู่ไหม

รุ่นเราเป็นรุ่นแรกที่ไม่มีห้องเชียร์แล้ว โซตัสถูกยกเลิกอย่างเด็ดขาด เพราะว่ามีคนเริ่มตั้งคำถาม มีคนที่ไม่ยอมเดินเลียบกำแพงแล้วเปลี่ยนมาออกแรงทุบแทน พอคนเห็นก็จะรู้สึกว่า เออ ทำไมต้องมีกำแพง เมื่อมาช่วยกันทุบเยอะขึ้นๆ วันหนึ่งกำแพงก็จะพังลง เป็นการลดทอนวัฒนธรรมที่มีการพิสูจน์แล้วว่ามันไม่จำเป็น

แม้การรวมกันหรือการรู้จักกันภายในคณะจะน้อยลง แต่มันคือความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ ความสัมพันธ์ที่ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจมาบังคับให้เรารู้จักกัน ทุกคนยังมีกิจกรรมอื่นๆ ทำร่วมกันได้ ถึงแม้จะไม่ได้รวมตัวกันพับกระทงถึงตีสามที่คณะก็ไม่ได้แปลว่าพวกเราจะไม่ใช่ครุศาสตร์ ไม่ใช่คนที่อยู่คณะเดียวกัน หรือถ้ามีปัญหาแล้วเราจะไม่ช่วยกัน 

 

ได้ยินมาเยอะว่าคนที่เรียนเก่งๆ ไม่อยากมาเป็นครูเพราะทนต่อระบบไม่ได้

จริง (พยักหน้า) คนเก่งมักจะไปเรียนอย่างอื่น เรียนแพทย์ เรียนวิศวะ เพราะค่านิยมของสังคมให้คุณค่าต่ออาชีพอื่นมากกว่า แล้วก็โครงสร้างการทำงานของข้าราชการครูทำให้ทุกอย่างมารวมอยู่ที่ศูนย์กลาง ซึ่งคือกรุงเทพฯ ทุกอย่างเป็นการสั่งมาจากข้างบน รวมถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการกระจายครูในประเทศ ปัจจุบันยังมีภาพครูที่อยู่ในพื้นที่ลำบาก ครูที่เงินเดือนตกเบิก ครูที่เงินเดือนเริ่มต้นที่แปดพัน 

งบประมาณที่ให้ในแต่ละสถาบันก็ไม่เท่ากัน อาจารย์เก่งๆ ก็มาอยู่ในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ กันหมด ระดับภูมิภาคก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับตรงนี้มาก เมื่อไม่มีการให้ความสำคัญคุณภาพก็ตามมีตามเกิด กลายเป็นการศึกษาตามยถากรรม สถาบันผลิตครูจึงไม่มีมาตรฐาน

ในขณะเดียวกันเราเห็นประเทศที่ให้ความสำคัญมากๆ กับสถาบันผลิตครูแล้วก็อาชีพครู ครูมีสวัสดิการเต็มที่ เพราะเขาเชื่อว่าเด็กนักเรียนคือสิ่งสำคัญที่จะใช้ในการพัฒนาประเทศ

 

คิดยังไงกับคำว่าแม่พิมพ์ของชาติ 

ครูเรียกตัวเองว่าแม่พิมพ์ มองว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามพิมพ์เดียวกันหมด กรณีที่โรงเรียนหนึ่งเอาถุงดำคลุมเด็ก โดยก่อนที่จะทำไปบอกว่า ครูรักหนูนะ เพราะครูไม่ได้คิดว่าตัวเองผิด ครูคิดว่าตัวเองทำไปด้วยความรัก ซึ่งสิ่งที่ทำมันไม่ถูกต้องเลย แต่เพราะทุกอย่างมันหลอมให้เขาเชื่อว่า ไม่ว่าเขาจะทำอะไร เขาทำด้วยความรักและมันไม่ผิด ทุกวันนี้ยังมีการตีในโรงเรียนอยู่เลย เพราะเชื่อว่ารักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี การดูแลนักเรียนต้องเป็นไปตามกฎ

ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันสังคมเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย มันคือการ unlearn และ relearn คือการยอมรับว่าข้อมูลที่เรามีมันไม่เพียงพอแล้ว ยกเลิกข้อมูลชุดเก่า ทำความเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นแล้วเรียนรู้ใหม่ ถ้ายังมีแนวคิดแบบอำนาจนิยม ครูสูงกว่า ผู้ใหญ่ผู้น้อย มันจะไปต่อกันไม่ได้ ก็เป็นที่มาของหลายๆ อย่างที่ทำให้ภาพลักษณ์ของครูไม่ดีเท่าที่ควร

มายมิ้น ศุกรียา

หัวใจสำคัญของการเป็นครูคืออะไร

การเคารพในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันระหว่างเรากับนักเรียน มีคำสอนในคณะว่าเราเป็น ‘teacher as a learner’ เราเป็นครูเราก็ต้องเรียนรู้จากนักเรียน ในขณะที่เราสอน นักเรียนก็เป็นครูของเราเหมือนกัน ดังนั้นสิ่งสำคัญของการเป็นครูคือการเคารพในความแตกต่าง เคารพในความเป็นมนุษย์ว่านักเรียนมีความแตกต่าง และเราจะต้องช่วยให้เขาเรียนรู้ได้ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ 

 

อยากให้ลองยกตัวอย่างนโยบายของรัฐที่มองแล้วไม่เวิร์กเลย

อย่างลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ สั่งมาอย่างเดียวว่าต้องลดเวลาเรียน แล้วหลักสูตรที่มีอยู่ล่ะ ครูคนหนึ่งกว่าจะสอนหนึ่งคาบต้องทำแผนการสอน ต้องดูว่าเทอมนี้จะสอนอะไรบ้าง แล้วต้องทำเป็นรายคาบเลย สมมติว่าคาบละ 50 นาที เขาต้องบริหารให้คุ้มค่าที่สุดเพื่อให้นักเรียนทุกคนได้รับข้อมูลนี้ แต่เมื่อถูกลดเหลือคาบละ 40 นาที นี่คือการบีบครูให้ลดคุณภาพการสอนของตัวเอง โดยที่ไม่ได้ถามว่าเขาพร้อมหรือเปล่าที่จะลดตรงนี้ เป็นการบังคับใช้นโยบายแบบศูนย์กลาง ก็คือสั่งโดยที่ไม่ได้ถาม

สิ่งสำคัญที่ระบบการศึกษาขาดมากๆ โดยเฉพาะผู้บริหาร คือไม่ฟังเสียงครู ไม่ฟังเสียงเด็ก เข้าใจว่าอาจจะมีการทดลองบริหารประเทศ ทดลองบริหารระบบการศึกษา แต่นักเรียนไม่ได้ทดลองเรียนนะ นักเรียนบางคนมีเวลาเรียนบางเรื่องในชีวิตแค่คาบเดียว 

 

มีความหวังในการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาบ้างไหม

เราเชื่อมากในประโยคที่ว่า “เวลาอยู่ข้างเรา” กระแสธารแห่งกาลเวลามันพัดพามาแบบอะไรก็เบรกไม่ได้ ต่อให้นโยบายห่วย แต่เด็กกับครูในเจเนอเรชั่นนี้ทนไม่ได้แล้ว เขาก็ออกมาแหก มีที่ไหนที่ไปตั้งม็อบหน้ากระทรวงแล้วลากรัฐมนตรีออกมาตบกบาลข้างหน้า นี่คือเครื่องยืนยันว่าเรามีความหวัง เพราะว่าเด็กพวกนี้ไม่ทนแล้ว คิดดูว่าเมื่อไม่กี่ปีก่อน เรายังมองว่าเนติวิทย์หัวรุนแรงเลย แต่ทุกวันนี้เด็กเอารัฐมนตรีมาแกงคือเรื่องปกติ คือเรื่องที่ว้าว เก่งมากลูก ข้อมูลข่าวสารมันเกิดขึ้นแล้ว ทุกอย่างมันไปรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้นความหวังก็ยังมีอยู่ เพราะว่าคนรุ่นใหม่กล้าที่จะสู้ ทั้งครูทั้งนักเรียน

 

ครูที่อยู่ในระบบจะสู้ยังไง

คนเมื่อก่อนเขาอาจจะมีตัวเลือกไม่มาก เพราะมีข้อมูลชุดเดียว มีลักษณะการบังคับใช้อำนาจแบบเดียว พอข้อมูลข่าวสารไปไกลมากขึ้นก็จะเห็นแล้วว่าประเทศอื่นที่เจริญเขาทำยังไงกัน ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ เราทำแบบไหนได้ ครูก็ยังไม่สยบยอมเสียทีเดียว แต่ระบบครูอันตรายมาก พอเข้าไปแล้วมันจะดับไฟของทุกคน แม้แต่ในกลุ่มครูขอสอนซึ่งเป็นเครือข่ายครูที่มีทีมครูกับคนที่ทำงานการศึกษาช่วยกันทำ

ครูต้องพยายามเติมไฟให้ตัวเองมากที่สุด ไม่งั้นมันจะมอด แล้วสุดท้ายเขาจะกลายเป็นคนในระบบ และต่อให้ไม่โดนระบบหลอมไปก็จะเป็นคนที่ไม่มีแรงสู้ โชคดีที่ข้อมูลข่าวสารในอินเทอร์เน็ตทำให้เรามีคอมมิวนิตี้ ไม่ทำให้เรารู้สึกว่าอยู่คนเดียว อีกทั้งเด็กทุกวันนี้กล้าคิดนำครูไปอีก กล้าตั้งคำถาม ครูก็จะรู้ว่าเขาต้องสอนใคร และพอเห็นว่าสอนได้เขาก็จะยังยืนหยัดอยู่

มายมิ้น ศุกรียา

นอกจากการยืนหยัดในฐานะครูแล้ว คุณยังยืนหยัดในฐานะแกนนำการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย 

เราเป็นแกนนำที่ทำหลังบ้านเยอะกว่าทำหน้าบ้าน เป็นคนออกแบบ กำหนดทิศทาง และลำดับงาน เลยไม่ค่อยได้ขึ้นเวทีมากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นในกระบวนการ เริ่มจากเราที่ทำม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล คือชนชั้นกลางชอบเสพความหลากหลาย แล้วการเป็นผู้หญิงหรือเป็น LGBTQ+ ถูกตีตราให้เป็นความหลากหลายในการขึ้นม็อบ เพราะที่ผ่านมามันคือเวทีของผู้ชาย หลายๆ ครั้งจึงเห็นว่ามีการพยายามจงใจใช้ผู้หญิงเป็นความชอบธรรมบางอย่าง ใช้ผู้หญิงในกระบวนการประชาธิปไตย ขนาดคำว่า ‘การให้พื้นที่’ มันก็แปลว่าเราไม่เท่ากันแล้ว

 

มีความแตกต่างไหมระหว่างเสียงของผู้หญิงกับเสียงของผู้ชายในกลุ่มแกนนำ

จริงๆ ตอนนี้แกนนำเป็นผู้หญิงกับ LGBTQ+ เยอะมาก แต่สิ่งที่กำหนดทิศทางหรือภาพที่ออกมามันไม่ใช่เพศไหนเป็นคนทำ แต่คือวัฒนธรรมไหนเป็นคนทำ ต่อให้ผู้หญิงทำแต่ถ้าเป็นผู้หญิงที่เสพความเป็น masculine ไว้แล้วถูกสิ่งนั้นกดทับมาจนเคยชิน วัฒนธรรมของม็อบนั้นจะออกมาแบบชายเป็นใหญ่อยู่ดี เพราะวัฒนธรรมส่งผ่านตัวบุคคล ความเป็นผู้หญิง ความเป็นผู้ชาย หรือความเป็น LGBTQ+ ไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่ 

 

คิดยังไงกับการเอาผู้หญิงมาเป็นแนวหน้า

มันขึ้นอยู่กับว่าคนที่ตั้งใจทำแบบนั้น ทำด้วยแนวคิดแบบไหนหรือวิธีการอะไร ตอนเราจะตั้งชื่อม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล เราเถียงกับแรปเตอร์ (สิรภพ อัตโตหิ) นานมาก เพราะเราไม่อยากให้มีคำว่าตุ้งติ้ง ถ้าเราพูดชื่อม็อบนี้ออกไปโดยไม่มีเหตุผลรองรับ มันจะสูญเปล่า แต่แรปเตอร์ก็มีเหตุผล โดยบอกว่าตั้งชื่อนี้เพื่อให้ยั่วล้อกับสิ่งที่ถูกแปะป้ายไว้ ซึ่งถ้าถามถึงกรณีที่เลือกให้ผู้หญิงออกไปยื่นดอกไม้ สำหรับเรา เราว่ามันไม่มีตรรกะที่ถูกต้องรองรับ เพราะทั้งหมดมันแสดงให้เห็นว่ามีการใช้คนเป็นเครื่องมือจริงๆ

ในขณะเดียวกันผู้หญิงปลดแอกก็มีการสร้างการ์ดผู้หญิงขึ้นมา โดยทำด้วยความเข้าใจว่าผู้หญิงกลุ่มที่จะไปเป็นโล่นั้นรู้จักสันติวิธี มีการเทรนเป็นเรื่องเป็นราว คือเจตนาในการทำไม่ใช่เพราะเป็นผู้หญิงถึงต้องมาอยู่ตรงนี้ แต่เพราะความเชื่อว่าเป็นผู้หญิงก็ทำได้

มีมาตรการในการแก้ปัญหา sexual harassment ในม็อบบ้างไหม

เรากำลังทำงานกับกลุ่มผู้หญิงปลดแอกและภาคีเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมทางเพศ สิ่งสำคัญคือการให้ข้อมูลเพื่อให้คนที่ไปชุมนุมได้ระมัดระวังตัว รวมถึงคนที่อยู่รอบๆ ก็ต้องคอยเป็นหูเป็นตาในพื้นที่นี้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราจะมีการเยียวยาโดยนักจิตวิทยาหรือคนที่ทำงานด้านนี้ ก็ต้องทำงานกันหนักขึ้น เรามองว่าตอนนี้อาจจะต้องถอยออกมาจากการเป็นแกนนำ เพราะการดูแลคนเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องดูแลคนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

 

เวลาจัดม็อบมีวิธีการเลือกคนปราศรัยยังไง

วิธีการสื่อสารคือการที่เราต้องไม่คิดแทนคนอื่น เราเชื่อว่าไม่มีใครพูดแทนใครได้ การที่จะพูดถึงผู้หญิง ต่อให้เป็นเฟมินิสต์ผู้ชายแต่เขาก็พูดในฐานะผู้หญิงไม่ได้ เราคงพูดเรื่องผู้พิการได้ไม่เต็มปากถ้าเราไม่ได้เจอจริงๆ ประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญ และเป็นความชอบธรรมอย่างหนึ่งที่เขาควรจะได้พูด มันไม่ใช่การให้พื้นที่ด้วยซ้ำ ถ้าม็อบที่เราเป็นคนจัดเราจะพยายามรวบรวมคนให้หลากหลายที่สุด ถึงขนาดที่เราอยากให้มีจอโปรเจกเตอร์แล้วมีภาษามืออยู่ข้างๆ ด้วยซ้ำ หนึ่งอย่างที่มาเรียนครูก็เพราะต้องเข้าใจความหลากหลายของบุคคลมากๆ

แล้วมองเห็นตัวเองในอนาคตไหมว่าอยากเป็นครูแบบไหน

เราไม่รู้ว่าโครงสร้างในอนาคตจะเป็นยังไง แต่เราคงยังกลับไปเป็นครูไม่ได้ เราต้องพยายามเปลี่ยนระบบก่อน อีกอย่างคือเราเรียนสาขานอกระบบด้วย เราไม่เชื่อในการอยู่ในระบบโรงเรียนอย่างเดียว การศึกษานอกระบบคือทุกอย่างที่อยู่นอกโรงเรียน ทุกอย่างที่ไม่มีหลักสูตรบังคับ เราเลยอยากเป็นนักการศึกษามากกว่าที่จะเป็นครู คำว่า facilitator ในภาษาทางการศึกษาคือ ผู้อำนวยความสะดวกทางการเรียนรู้ คือทำยังไงก็ได้ที่ทำให้คนไม่ว่าจะเป็นวัยไหนและไม่จำเป็นต้องเป็นนักเรียน ได้เรียนรู้ในเรื่องที่ตัวเองอยากเรียน 

เราคิดว่าสถาบันผลิตครูหรือระบบการศึกษาไม่ได้อัพเดตมากขนาดนั้น มันยังต้องการคนที่ป้อนข้อมูลชุดใหม่ๆ ให้ คิดว่าถ้าเราเป็นคนสอนครู ให้ข้อมูลกับครู ข้อมูลชุดนั้นจะถูกส่งไปไกลกว่า ปกติเราหนึ่งคนคุยกับนักเรียน 40 คน สมมติว่าเราเปลี่ยนเขาได้หมด ก็จะได้แค่ 40 คน แต่ถ้าเราเป็นครูที่สอนครูอีกที ครูหนึ่งคนก็จะเป็นขาที่กว้างขึ้น รู้สึกว่าถ้าทำแบบนั้น สังคมที่เราอยากสร้างจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่า

 

ภาพระบบการศึกษาในฝันเป็นยังไง

คนอื่นอาจจะคิดว่าเป็นแบบฟินแลนด์ แต่สำหรับเราคือทุกคนได้เรียนอย่างเท่าเทียมกันในระบบการศึกษาที่มีมาตรฐาน ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ การศึกษาต้องไม่ใช่สิ่งสวยหรู ระบบการศึกษาต้องไม่ใช่โรงงานที่ผลิตหุ่นยนต์ออกมา เด็กต้องได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน อยากเป็นอะไรต้องได้เป็น อยากทำอะไรต้องได้ทำ ระบบการศึกษาต้องสร้างสังคมที่มีตลาดรองรับความฝันของเด็กๆ 

มายมิ้น ศุกรียา

ถ้าบอกว่าความฝันสูงสุดคืออยากให้เด็กทำตามในสิ่งที่อยากทำ แล้วสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้คือสิ่งที่คุณอยากทำหรือเปล่า

(นิ่งคิด) เรารู้สึกว่าเราไม่สามารถมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเองได้ เราไม่รู้ว่าคนเราเกิดมาเพื่ออะไร เกิดมาแล้วยังไงต่อ เป้าหมายในชีวิตก็คงแล้วแต่คน แต่เรารู้สึกว่าเราไม่ต้องการอะไรเลย การมีชีวิตอยู่คือความทุกข์ ดังนั้นการสร้างความสุขให้คนอื่นคือเหตุผลเดียวที่เรายังมีชีวิตอยู่

เรามาทำการเมืองเพราะถ้าไม่ทำตอนนี้ ในอนาคตเด็กก็จะต้องสู้ต่ออีก แล้วเราจะไม่ได้สอนเขาอย่างที่เราอยากจะสอน เรามาสู้ก่อน เพื่อที่ในอนาคตเด็กจะได้เรียนอย่างที่เขาอยากเรียน ถ้าระบบการเมืองมันเป็นแบบนี้เด็กก็ไปไหนไม่ได้ ทุกคนจะไม่มีสิทธิทำตามความฝันของตัวเอง มันคงจะทรมานมากถ้าในอนาคตเด็กยังต้องออกไปเรียกร้องสิ่งเดียวกับที่เราไม่ได้รับมาตลอด ถึงแม้ว่าจะยังมองไม่เห็นนักเรียนในอนาคตของตัวเอง แต่เราเชื่อว่าเรากำลังทำเพื่อพวกเขาอยู่

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย

Video Creator

ชาคริต นิลศาสตร์

อดีตตากล้องนิตยสาร HAMBURGER /ค้นพบว่าตัวเองมีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้ทำงานภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว