ปลายเดือนพฤษภาคม ศกนี้ ไมโครกำลังจะมีคอนเสิร์ตใหญ่อีกครั้งที่อิมแพค อารีน่า หลังจากครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2553 และก็ไม่เคยมีการรวมตัวกันแบบครบวงบนเวทีใหญ่ขนาดนี้อีกเลย
ความจริงคอนเสิร์ตนี้จะเริ่มกันมาตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน รวมทั้งมีการขายบัตรกันไปแล้ว แต่ด้วยโรคอุบัติใหม่เข้ามาแทรก เลยต้องเลื่อนกันมาจนถึงปีนี้ แต่ที่เพิ่มขึ้นจากการประกาศครั้งก่อน คือระบุว่าคอนเสิร์ตครั้งนี้จะเป็น “The Last” หรือครั้งสุดท้ายของไมโคร
ชาวไทยรู้จักไมโครครั้งแรกจาก ‘วัยระเริง’ เมื่อปี 2527 ของผู้กำกับ เปี๊ยก โปสเตอร์ แต่ทั้งที่ ‘ไข่ลูกเขย’ (2524) ‘คุณปู่ซู่ซ่า’ (2525) และ ‘คุณย่าเซ็กซี่’ (2525) ผลงานก่อนหน้าล้วนทำเงินให้ไฟว์สตาร์ แต่เมื่อนำเพลงร็อกมาใส่ในหนังกลับไม่ค่อยทำเงิน ไมโครจึงยังไม่มีใครรู้จักนัก ส่วนผู้ชมเรื่องนี้ก็มีไม่น้อยที่คิดไปว่าไมโครคงเป็นแค่วงดนตรีในหนัง
แต่สำหรับใครที่เคยดูรายการ ‘ท็อปสตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์’ ของ เสกสรรค์ ภู่ประดิษฐ์ ในคืนหนึ่งทางช่อง 5 ที่ไมโครได้ออกทีวีเป็นครั้งแรก คงรู้ว่าทั้งหมดเป็นนักดนตรีเล่นเพลงฮาร์ดร็อกกันจริงจัง และในลีลาแบบที่คนไทยคุ้นตาในเวลาต่อมาจากการแสดงของไมโคร แต่ในเวลานั้นยังหาไม่ง่ายนัก เท่าที่มีกันอยู่และมีชื่อเสียงในตอนนั้นอย่าง เดอะฟ็อกซ์, วีไอพี หรือ คาไลโดสโคป ก็เป็นมืออาชีพ เคยเล่นตามคลับบาร์ให้จีไอมันกันมาตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม แต่ไมโครเป็นฮาร์ดร็อกรุ่นเล็กกว่า พวกเขาไม่เคยเล่นประจำที่ไหน ทั้งหมดไม่มีใครเป็นมืออาชีพ
เปี๊ยก โปสเตอร์ ก็เป็นอีกคนที่ได้ดูโชว์ของไมโครทางทีวีในคืนนั้น จึงตามทั้งหมดมาแสดงหนังกันครบทุกคน ยกเว้นนักร้องนำ เพราะเนื่องจากมีความหล่อเหลาแบบไม่ต้องบรรยาย ปู หรือ อดิสัย นกเทศ หัวหน้าวงและมือกลองเลยแนะนำให้ผู้กำกับได้รู้จักเพื่อนรุ่นน้องจากอำเภอแกลง จังหวัดระยองที่ชื่อ หนุ่ย หรือนามจริงคือ อำพล ลำกูล
ในเวลานั้นหนุ่ยก็เหมือนกับ อ้วน หรือ มานะ ประเสริฐวงศ์ มือกีตาร์ ที่เข้ามาเรียนศิลปะที่กรุงเทพฯ เลยมักวนเวียนมาสิงสู่อยู่ที่ตึกแถวของปูในซอยวัฒนวงศ์ย่านประตูน้ำกับปูและอ๊อด หรือ อดินันท์ นกเทศ น้องชายของปู ซึ่งเกิดและเติบโตมาในละแวกบ้านเดียวกัน รวมทั้งยังเล่นดนตรีด้วยกันมาตั้งแต่ยังนุ่งขาสั้นอยู่ที่ระยอง
และนอกจากปูจะเปิดร้านเสริมสวย ที่ตึกแถวแห่งนั้นเขายังทำห้องซ้อมดนตรีที่อนุญาตให้ทุกวงที่มาเช่าได้เล่นเพลงร็อกกันเต็มที่ ซึ่งในยุคนั้นหาได้ยากที่ห้องไหนจะให้เล่นเพลงพรรค์นี้ที่ต้องอัดเครื่องกันเต็มเหนี่ยว จนอาจทำให้ไฟช็อตหรือฟิวส์ขาดได้ แต่ปูก็ไม่ว่าอะไร เพราะเขากับเพื่อนก็ชอบเล่นเพลงพรรค์นี้เหมือนกัน
เมื่อ เปี๊ยก โปสเตอร์ เห็นหนุ่ยก็ไม่ลังเลจะมอบบทนำในวัยระเริงให้ทันที แล้วเปลี่ยนนามสกุลมาเป็นลำพูนตามชื่อพระที่เปี๊ยกห้อยคออยู่ในขณะนั้น ไมโครแบบที่เรารู้จักเลยเกิดขึ้นมา เพียงแต่ในหนัง หนุ่ยกลายมาเป็นทั้งนักร้องนำและเล่นกลอง ส่วนปูก็เปลี่ยนไปแสดงเป็นมือคีย์บอร์ด แต่คนอื่นทั้ง อ้วน กบ หรือ ไกรภพ จันทร์ดี มือกีตาร์อีกราย และอ๊อดในตำแหน่งเบสกีตาร์ ล้วนทำหน้าที่ของวงแบบในหนังอยู่แล้ว ส่วน บอย หรือ สันธาน เลาหวัฒนาวิทย์ เป็นมือคีย์บอร์ดที่ตามเข้ามาหลังสุด เมื่อพวกเขานำเพลงซาวนด์แทร็กจากวัยระเริง ออกตระเวนแสดงตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งหลายเพลงต้องใช้เสียงคีย์บอร์ด บอยจึงเป็นคนเดียวที่ไม่ได้อยู่ในหนัง
ในขณะที่วัยระเริงไม่ค่อยทำเงิน แต่ซาวด์แทร็กกลับได้รับความสนใจในหมู่ผู้ฟังพอสมควร (นำเพลงฝรั่งมาดัดแปลงอยู่หลายเพลง) ด้วยเป็นเพลงไทยสำเนียงร็อกที่ยังหายาก และผู้อยู่เบื้องหลัง-ดูแลการผลิตก็คือ เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์ ที่ทำเพลงประกอบให้เปี๊ยกมาตั้งแต่ ‘แก้ว’ (2523) ซึ่งในเรื่องนั้นบรรเลงโดย ดิ โอเรียนเต็ล ฟังก์ ที่เต๋อเคยเป็นสมาชิก แต่ในเรื่องนี้เขามาพร้อมกับ บัตเตอร์ฟลาย กลุ่มคนทำดนตรีที่มีส่วนสำคัญทำให้วงการเพลงไทยร่วมสมัยเปลี่ยนไปตลอดกาล โดยหนึ่งในนั้นคือ อัสนี โชติกุล
อัสนีกับวสันต์-น้องชาย เป็นอดีตสมาชิกวงอิสซึนที่เพิ่งจะมี ‘บ้าหอบฟาง’ (2529) ในนามพี่น้องอัสนี-วสันต์ออกมากับไนต์สป็อต และเพลงอย่าง ‘บอกแล้ว’ กับ ‘ไม่เป็นไร’ จากอัลบั้มนี้ก็จัดว่ามีซาวด์กับบีตในระดับที่ถึงใจคอร็อกพอสมควรสำหรับเพลงไทย
เพลงฮาร์ดร็อกไปจนถึงเฮฟวีสัญชาติไทยที่โดดเด่นสุดบนแผงเทปในยุคนั้น เท่าที่มีก็คืออัลบั้มของเนื้อกับหนัง หรือเฟล็ชแอนด์สกิน ภายใต้การปลุกปั้นของ วิฑูร วทัญญู โฆษกขวัญใจชาวเฮฟวีฮาร์ดร็อกเมืองไทย แต่ซาวนด์ยังดิบและมีเนื้อหาในลักษณะเพลงใต้ดินอยู่มาก อย่างไรก็ตามวงนี้ก็คือก้าวแรกของเฮฟวีไทย ส่วน ดิ โอฬาร โปรเจกต์ ยังไม่เกิด เพราะยังใช้ชื่อ ‘โซดา’ เคยมีอัลบั้มกับแกรมมีในช่วงนั้นเช่นกัน แต่ก็เป็นเพลงป็อปไร้แววจะกลายเป็นพวก ‘หูเหล็ก’ ในเวลาต่อมา และสำหรับวงที่มีคำว่า “ร็อก” อยู่ในชื่ออย่างร็อกเคสตรา แต่อัลบั้มเพลงไทยของพวกเขาก็ห่างจากความเป็นร็อกจนแทบจะลืมไปว่าวงนี้เคยเล่นโอเปราร็อกของควีนได้เจ๋งแค่ไหน
และภายหลัง ‘น้ำพุ’ (2527) ออกฉาย สำหรับแกรมมีในยุคเริ่มต้น ความดังระดับซูเปอร์สตาร์ของหนุ่ยจากเรื่องนี้ก็เพียงพอจะให้เขากับไมโครได้ออกอัลบั้มสักชุด โดยเต๋อมอบให้อัสนีเป็นผู้ดูแล จากที่มีแต่ใจรักการเล่นดนตรีร็อกกับปล่อยให้โอกาสพามาล้วนๆ ไมโครจึงได้ทำอัลบั้มแรกที่วางจำหน่ายเมื่อปลายปี 2529 และในแบบที่วงไหนในยุคนั้นยากจะได้รับ เพราะทั้งอัลบั้มมีซาวนด์สดใหม่ สร้างอีกมาตรฐานขึ้นสำหรับเพลงร็อกไทย ด้วยทีมงานในห้องอัดระดับเดียวกับบัตเตอร์ฟลาย รวมทั้งได้ซาวนด์เอนจิเนียร์ชาวตะวันตกอย่าง แกรี เอ็ดเวิร์ด มาทำการบันทึกเสียง
“…ซึ่งเขาก็เล่นแนวเพลงร็อกอยู่แล้ว คล้ายๆ กับสกอร์เปียนส์ ป็อปร็อกทางตะวันตก ก็จับจุดเด่นของเขาขึ้นมา” อัสนี บอกไว้ใน a day ฉบับ Micro in a day เมื่อปี 2546 “คอนเซ็ปต์ก็จะเป็นป็อปร็อกต้องการที่จะสื่อเรื่องราวของวัยรุ่น การค้นหาในสิ่งที่ตัวเองชอบ เพื่อนฝูง ความรัก” อัสนีกล่าวถึงเนื้อหาของเพลง ส่วนภาคดนตรี เขาต้องการนำเสนอดนตรีแบบใหม่
“ในสมัยนั้นก็เป็นการเริ่มๆ เพลงร็อกในเมืองไทย คือเพลงออกแนวเป็นดนตรีร็อกแบบไทยก็มาสรุปตรงป็อปร็อก ไม่หนักมาก มีกลอง กีตาร์ไฟฟ้า มีเสียงร้องเป็นร็อก” อัสนีกล่าว ในวัยระเริง เสียงร้องของหนุ่ยใช้เสียงของ สุรสีห์ อิทธิกุล ส่วนเนื้อหาของเพลงก็เป็นไปตามบทหนังเป็นหลัก แต่ในอัลบั้มแรกของไมโครที่มีหนุ่ยเป็นฟรอนต์แมน ทั้งหมดคือกลุ่มเพื่อนจากจังหวัดระยองที่มาจอยกับเพื่อนต่างถิ่นอีก 2 คนแถวซอยย่านประตูน้ำ แล้วก็เล่นเพลงร็อกในแบบที่ทั้งหมดหลงใหล เนื้อหาจึงสะท้อนความเป็นตัวตนของวัยรุ่นแบบพวกเขาอย่างตรงไปตรงมา ภายใต้การเขียนเพลงของ นิติพงษ์ ห่อนาค ที่เหมาหมดเกือบทั้งอัลบั้ม (อีก 2 เพลงเป็นของ กฤษณา การุณย์ และ เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์)
แต่ระดับป็อปร็อกอย่างที่โปรดิวเซอร์เลือกปรับวอลลุมเอาไว้ก็ยังพอฟังได้ชัดว่านอกจากบ้าหอบฟ้างของอัสนีเอง กับซาวนด์แทร็กวัยระเริงของบัตเตอร์ฟลาย ‘ร็อก เล็ก เล็ก’ คืออัลบั้มที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นอัลบั้ม “ร็อกไทย” ชุดแรกๆ ของบ้านเรา
“เป็นบางทีเราก็เก๋าไปหน่อย เดินในซอยก็เต็มคับซอย เป็นบางทีเราก็กวนไปหน่อย ไม่ค่อยงามตามสายตาผู้ใหญ่” คือลักษณะจิ๊กโก๋ที่สะท้อนออกมาจากเนื้อเพลง ‘เรามันก็เป็นอย่างนี้’ หรือ “เรียนทำไม เรียนเยอะเรียนยัน เรียนทำไมไม่รู้เหมือนกัน” คือบางท่อนจาก ‘อยากได้ดี’ ที่มีนัยของขบถอยู่ในทีตามวิถีของเพลงฮาร์ดร็อก แถมยังมีการตะโกนอยู่ในเพลงด้วยว่า “เรียนเข้าไป”
แต่เพลงช้าหรือบัลลาดร็อกก็เป็นส่วนที่ช่วยให้อัลบั้มนี้ฮิต ทั้ง ‘รัก ปอน ปอน’ ที่กบเป็นคนร้อง และมีทำนอง ‘ต่างประเทศ’ (จาก Stacy ของ Fortune) แบบที่เขียนไว้บนปก ‘อย่าดีกว่า’ ที่ปล่อยออกมาเป็นเพลงแรกก็ดังทันที รวมทั้ง ‘อยากจะบอกใครสักคน’ หรือ ‘จำฝังใจ’ ก็ล้วนถูกขอให้เล่นกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ตามหน้าปัดวิทยุ เป็นเพลงบัลลาดสไตล์ไมโครที่เป็นส่วนหนึ่งของต้นตอ ‘เพลงจิ๊กโก๋อกหัก’ ในเวลาต่อมา
แต่น่าเสียดาย ทั้งหมดรวมกันอยู่ได้ไม่นาน มีอัลบั้มตามมาอีกแค่ 2 ชุด ในเดือนตุลาคม 2533 ขณะกำลังทำยอดขายได้มากที่สุดตั้งแต่ออกอัลบั้มกันมาด้วยชุด ‘เต็มถัง’ (2532) และทำให้ตลาดเพลงไทยเกลื่อนไปด้วยวงกับเพลงป็อปร็อก ไมโครกลับพบปัญหาที่ก่อกันขึ้นมาเอง พวกเขาโดน “อีโก้” กับอาการเสียศูนย์ในระดับความหนักเบาของเพลงร็อกเป็นตัวเร่งให้แตกกัน
ความแตกแยกเพราะเหตุผลแรก มีร่องรอยมาตั้งแต่บนปกอัลบั้มเลยก็ว่าได้ เพราะนับแต่ปกแรกจนถึงปกสุดท้ายแบบครบคน หนุ่ยจะถูกส่งมาไว้ข้างหน้า ส่วนคนอื่นมักถูกผลักไปไว้ข้างหลังจนเบลอไปกับแบ็กกราวนด์ ซึ่งสมาชิกบางคนเคยสารภาพว่ารู้สึกไม่โอเคอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ในเวลานั้นทั้งวงยังไม่มีใครวัยเกินสามสิบ เรื่องขี้หมาแบบนี้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งแต่ก็สะสมให้เป็นปัญหาในเวลาที่ชื่อเสียงระดับนั้นมาถึง จนเข้าทำนอง “ไม่มีวงก็ไม่มีมึง” กับ “ไม่มีกู พวกมึงก็อยู่ไม่ได้” อะไรแบบนั้นฝังไว้ในความคิดที่มีต่อกัน
ส่วนอาการเสียสูญระดับของความเป็นร็อก สมาชิกไมโครยอมรับว่าในช่วงนั้น พวกเขาไม่ต้องการเป็นแค่ร็อก เล็ก เล็ก แต่อยากเป็นเฮฟวีเมทัล ในขณะที่หนุ่ยไม่ได้อยากไปถึงระดับอย่างที่เพื่อนอยากจะเป็น แล้วทั้งห้าก็ได้ทำและทำได้ตามใจหวัง เมื่อได้รางวัลจากสีสันเป็นเครื่องการันตีในความเป็นร็อกคุณภาพ แต่ในแง่ยอดขายกลับสวนทาง
และเมื่อแยกจากเพื่อน ในขณะยอดเทปในฐานะโซโลอาร์ติสต์ของหนุ่ยทะยานยิ่งกว่าครั้งยังเป็นไมโคร ทีมชั้นเยี่ยมของแกรมมีคงทำเพลงป็อปร็อกให้ร้องจนมีเพลงฮิตออกมาอีกหลายเพลง แต่ความสุขกับดนตรีกลับเหือดหาย หลังจาก ‘ทางไกล’ อัลบั้มสุดท้ายของไมโครชื่อในปี 2540 และในนาม อำพล ลำพูน กับ ‘อำพลเมืองดี’ ในปี 2538 ทั้ง 6 คนก็หายไปจากสาธารณะชน
เวลาสามารถเยียวยาได้หลายสิ่ง ไมโครทั้งหมดก็ใช้ยาขนานนี้ช่วยสมานรอยร้าวระหว่างกัน เพราะถึงไมโครจะแตก แต่ความเป็นเพื่อนยังอยู่ ในปี 2546 ทั้งหมดจึงกลับมารวมกันใหม่ แต่ก็ไม่ใช่ในระดับร็อกสตาร์อีกแล้ว พวกเขาซุ่มซ้อมกันเงียบๆ อยู่ที่ห้องเรียนสอนตัดผมที่โรงเรียนเสริมสวยของปูอยู่นาน คล้ายกับครั้งยังสิงกันอยู่แถวประตูน้ำ ทั้งหมดแค่อยากเล่นดนตรีด้วยกันโดยไม่ได้คิดจะมีโอกาสโชว์เมื่อใด กระทั่งมั่นใจจึงค่อยเริ่มออกทัวร์ตามต่างจังหวัด ไม่ต่างอีกเช่นกันจากครั้งยังไม่มีอัลบั้ม และพอถึงคอนเสิร์ตใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่อิมแพค อารีนา บัตรทุกใบทั้ง 3 รอบก็โซลเอาต์ในพริบตา
การรวมตัวกันแบบเต็มวง-ครบคนครั้งนี้ อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายเหมือนชื่อคอนเสิร์ต เพราะก่อนหน้านี้ทั้งหกคนก็หยุดเล่นด้วยกันไปแล้วหลายปี ที่สำคัญเกือบทั้งหมดล้วนล่วงสู่วัยเกษียณกันแล้ว คอนเสิร์ตใหญ่ระดับนี้จึงยากจะเกิดขึ้นอีก แต่ด้วยสิ่งที่ช่วยกันก่อให้เกิดขึ้นบนหน้าประวัติศาสตร์เพลงไทยด้วยป็อปร็อก
ครั้งสุดท้ายของบทเพลงกับการเล่าขานถึงเรื่องราวของไมโครจะไม่เคยมี