ฉันชื่อ…เจน นิทานบันทึกความฝันและความเชื่อของ Jane Goodall นักสัตววิทยาผู้เปี่ยมด้วยความหวัง

เมื่อเด็กๆ เจอคำถาม “โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร?”

คำตอบอาจมีทั้งการตอบแบบระบุอาชีพตามที่เคยรับรู้มา จากนิทานหรือสื่อต่างๆ อาชีพของพ่อแม่ หรือเป็นคำตอบที่มาจากจินตนาการ ความชื่นชอบ ความหลงใหลใคร่รู้ของเด็กๆ ในเวลานั้น

ทำไมผู้ใหญ่มักชื่นชมอาชีพที่เป็นรูปธรรมชัดเจนแสดงถึงความมั่นคงในหน้าที่การงาน และมักเผลอหัวเราะไปกับอาชีพที่ดูเป็นไปไม่ได้ หรือยากที่จะเป็นไปได้ของเด็กๆ? 

ฉันเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้สนุกกับคำถามนี้ บางครั้งประเมินแล้วว่าผู้ถามดูถามส่งๆ เป็นมารยาท ฉันก็มักจะตอบคำตอบส่งๆ กลับไปพอเป็นพิธี ส่วนความฝันจริงๆ นั้น ฉันมักเก็บไว้เม้าท์กับตุ๊กตาตัวโปรดและคนที่ฉันรัก นั่นคือคุณพ่อคุณแม่และอาก๋งของฉัน ซึ่งพร้อมจะฟังความฝันของฉันด้วยแววตาเชื่อมั่น โดยไม่รู้หรอกว่าฉันจะทำมันได้หรือไม่ พวกเขาแค่เชื่อในตัวฉัน 

ไม่มีใครรู้หรอกว่าคำตอบของเด็กๆ จะเป็นจริงหรือไม่จนกว่าจะถึงวัยทำงาน และแน่นอนว่ามีผู้ใหญ่ไม่กี่คนที่ยังคงจำคำตอบในวัยเด็กของตัวเองได้ และหล่อเลี้ยงความฝันนั้นจนกระทั่งได้ทำมันในชีวิตจริง วัยเด็กฉันเคยอยากเป็นแอร์โฮสเตส วันนี้ฉันไม่ได้เป็นแอร์โฮสเตสและไม่ได้อยากทำมันแล้ว แต่ก็ต้องขอบคุณคนรักรอบตัว ที่ไม่ตัดตอนความฝันของฉันในวัยเด็ก เพราะมันช่วยหล่อเลี้ยง growth mindset ของฉันให้แข็งแรง

นิทานภาพที่เขียนขึ้นจากเรื่องจริงเล่มนี้ เล่าเรื่องเกี่ยวกับความฝันและความเชื่อของสาวน้อยคนหนึ่ง ที่หล่อเลี้ยงความฝันนั้นมาจนโตและมุ่งมั่นทำมันให้เป็นจริงจนได้ หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า ‘ฉันชื่อ…เจน’ (Me…Jane) เขียนโดย Patrick McDonnell แปลโดย พัชร วัฒนศรีมงคล 

ความรู้สึกเเรกพบ: นิทานเล่มนี้น่ารักจังเลย ภาพหน้าปกดึงดูดใจ โทนสี ลีลาเส้น น่ารักละมุน เเต่ขณะเดียวกัน เเววตาเหล่าพี่สัตว์ก็มีความทะเล้นอยู่ในนั้น ชวนให้อยากเปิดอ่านต่อ อยากรู้จักว่าเจนคือใครกัน?

ตัวละครเจนดำเนินเรื่องไปพร้อมตุ๊กตาตัวโปรดชื่อจูบิลี การผจญภัยวัยเด็กของเธอเชื่อมโยงกับเหล่าสัตว์ ต้นไม้ จนกระทั่งวันหนึ่ง สาวน้อยจากลอนดอนได้เดินทางไปทำงานกับสัตว์ที่เธอรักยังอีกซีกโลกหนึ่ง นั่นคือประเทศแทนซาเนีย ทวีปแอฟริกา

ความรู้สึกระหว่างอ่าน: ชวนสงสัย อบอุ่น ตามมาด้วยความตื่นเต้น จบด้วยความตื้นตัน หลายครั้งที่ทำหน้าที่นักเล่านิทานอยู่ในคลาส ฉันพักหายใจ ก่อนจะเล่าหน้าสุดท้ายด้วยความอิ่มเอมยินดีที่มีให้ตัวละครเจนแบบเต็มร้อย ที่สามารถฝ่าฟันอุปสรรคจนได้ทำในสิ่งที่เชื่อ

แน่นอน ความฝันของเจนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อครึ่งศตวรรษก่อนในยุคปี 1960 ผู้หญิงยังคงถูกกีดกันจากวงการวิทยาศาสตร์ เจน ต้องใช้ความรักและความพยายามอย่างต่อเนื่องในการพิสูจน์ผลงานของเธอ จนถือได้ว่าเป็นผู้หญิงคนแรกๆ ที่วงการวิทยาศาสตร์และสื่อให้การยอมรับ 

วันนี้เด็กน้อยคนนั้นเติบโตขึ้น และได้กลายเป็น ‘คุณทวดด็อกเตอร์เจน’ เจน กูดออลล์ (Jane Goodall) นักสัตววิทยา มานุษยวิทยา และวานรวิทยาชาวอังกฤษ ผู้มีชื่อเสียงจากโครงการศึกษาพฤติกรรมทางสังคมและครอบครัวของชิมแปนซี

ความรู้สึกหลังอ่านจบ: ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น ฉันว่านิทานเล่มนี้เหมือน TED Talks เวอร์ชั่นนิทานภาพที่เเสนน่ารัก มีความเเฟนซีเเละความจริงปนกันอยู่อย่างลงตัว งดงาม ทรงพลัง เต็มไปด้วยความหวัง มีเเรงอยากหล่อเลี้ยงฝันตัวเองให้เป็นจริง 

ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Miss Goodall and the Wild Chimpanzees ทางช่องเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ที่ออกอากาศเมื่อปี 1965 ทำให้เจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง โดยมีผู้ชมรายการดังกล่าวในอเมริกาเหนือราว 25 ล้านคน ซึ่งถือเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งในสมัยนั้นและในปัจจุบัน

ต่อมาเธอเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันเจน กูดออลล์ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร โดยมีภารกิจส่งเสริมความเข้าใจและการอนุรักษ์ลิงชิมแปนซีและที่อยู่อาศัยของมัน เพื่อจุดประกายให้ผู้คนทุกวัยหันมาช่วยเหลือสัตว์ ช่วยเหลือผู้อื่น ตลอดจนปกป้องรักษาโลกที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน รวมไปถึงโครงการเยาวชน Roots & Shoots เพื่อสร้างนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ในหมู่คนหนุ่มสาว

ในปี 2018 ทาง Google ได้เลือกเธอเป็นตัวแทนแคมเปญวัน Earth Day นอกจากนี้เธอยังได้รับตำแหน่งทูตสันติภาพจากทาง UN  และเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมาทางเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้จัดทำสารคดีพิเศษเล่าเรื่องราวการทำงานและบทบาทของ ‘ด็อกเตอร์กูดออลล์’ ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่ผ่านมา ในชื่อว่า ‘Jane: The Hope’ ซึ่งครั้งแรกที่เห็นชื่อหนังสารคดี ฉันคิดว่าคงไม่มีชื่ออื่นที่เหมาะสมกว่านี้อีกเเล้ว 

ฉันไม่กล้าฟันธงหรอกว่า เด็กน้อยที่นั่งฟังนิทานเล่มนี้จะสามารถต่อยอดฝันของตัวเองให้เป็นจริงได้หรือไม่ เพราะการเดินทางของพวกเขานั้นอีกยาวไกล คงมีบททดสอบอีกมากมายมาท้าทาย ว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ และการพักหรือทิ้งฝันไปก็ไม่ใช่เรื่องน่าอายเช่นกัน หากแต่เป็นความกล้าหาญในการตัดสินใจครั้งใหม่ๆ ของชีวิต

แต่ฉันมั่นใจว่าใจความหลักของนิทานเรื่องนี้ คงอยากส่งสารมาถึงเด็กๆ ว่า เจนเป็นกำลังใจให้พวกเธอเสมอนะ ไปสนุกกับโลกใบนี้กันเถอะ 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย