A Series of Unfortunate Cookies : ส่องมุมเศร้าของชีวิตไอดอลญี่ปุ่น อยากให้น้องๆ ไม่เจอเรื่องร้าย

ตอนนี้นิวส์ฟีดในเฟซบุ๊กของฉันเต็มไปด้วยคุกกี้หลากรสและคอนเทนต์เกี่ยวกับน้องๆ วง BNK48 ซึ่งกำลังแจกความสดใสและไล่ล่าความฝันด้วยความมุ่งมั่นระดับเดียวกับขุ่นป้าโอชิน ตัวละครหญิงที่เคยเป็นไอดอลด้านความเพียรสไตล์ญี่ปุ่นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว หลังจากสลัดเพลง Koisuru Fortune Cookie เวอร์ชั่นญี่ปุ่นออกจากหัวสำเร็จไปเมื่อหลายปีก่อน รอบนี้จะยึดเอกราชคืนจากของไทยได้เร็วกว่าเดิมหรือไม่ คงต้องให้คุกกี้ทำนายกัน

Akio Nakamori นักเขียนและคอลัมนิสต์พูดถึงสังคมญี่ปุ่นที่วัฒนธรรมไอดอลสร้างปรากฏการณ์คาวาอี้ตั้งแต่ยุค 70 ไว้ในหนังสือ Aidoru Nippon ว่า ญี่ปุ่นเป็นสังคมนิยมไอดอล คือมัก idolize สิ่งต่างๆ ขึ้นมา ไล่ตั้งแต่การตั้งตำแหน่งจักรพรรดิโดยระบุว่าสืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ มาจนถึงกลุ่มศิลปินไอดอลซึ่งสมัยนั้นยังเข้าถึงยากมากอยู่ และเหล่าไอดอลนี่แหละคือผลผลิตทางวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่น

ฉันแอบเห็นด้วยทีเดียว เพราะแม้แต่หนังสือ Idols and Celebrity in Japanese Media Culture ซึ่งเรียบเรียงโดย Patrick W. Galbraith และ Jason G. Karlin หรือในคาบเรียนวิชา Technology Transfer ยังยกเคสวงหนุ่มสาวยอดฮิตอย่าง AKB48 หรือ Arashi และคอนเซปต์ไอดอลที่เข้าถึงได้มาเล่าให้ฟังในฐานะอาวุธสำคัญในการทำ media stretegy ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ งานจับมือหรือสิทธิพิเศษอื่นๆ ที่เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ยอดขายซีดีในญี่ปุ่นยังเจริญรุ่งเรือง ในขณะที่อนาคตของซีดีเพลงในประเทศอื่นดูใกล้จะตายตามฟลอปปีดิสก์เข้าไปทุกที

นอกจากนี้ หลังจากสำรวจพฤติกรรมการบริโภคและการสื่อสารของบรรดาแฟนๆ นักทำโฆษณาก็หันมาพึ่งพลังเซเลบและเหล่าไอดอลในการฟื้นฟูประสิทธิภาพของการทำโฆษณาทางโทรทัศน์ที่กำลังอยู่ในขาลง อีกทั้งยังใช้โอกาสนี้ปล่อยคลิปเบื้องหลังการถ่ายทำ คลิปตัดต่อพิเศษต่างๆ ทางเว็บไซต์ของบริษัทเพื่อเพิ่ม engagement และ traffic เพราะรู้ว่าแฟนๆ อยากใกล้ชิดและเห็นศิลปินคนโปรดของพวกเขาทั้งแบบ scripted และ unscripted

ทั้งเต้น ทั้งร้อง ก็หนักแล้ว ยังแอบมีภารกิจพิเศษในการกระตุ้นเศรษฐกิจงอกเพิ่มมาอีก ภายใต้ความเหน็ดเหนื่อย ความน่าสงสารอีกอย่างของเหล่าผลผลิตทางวัฒนธรรมวัยใสหน้าแฉล้มคือภัยมืดที่แฝงตัวมากับความสำเร็จ เราแอบสรุปภัยฉบับย่อของไอดอลตั้งแต่ยุค 70 จนถึงปัจจุบันมา 4 ข้อ โดยส่องจากหนังสือตีแผ่วงการบันเทิงญี่ปุ่น บทสัมภาษณ์ขุ่นป้าและน้องๆ เว็บข่าวบันเทิง และชาวทวิตเตอร์ ที่รวมข้อมูลไว้อย่างเข้มข้นไม่แพ้นักสืบพันทิปของไทย (แต่เป็นข้อเท็จจริงแค่ไหน ก็คงต้องอ่านหูไว้หู)

1) ขอโทษที นายพี่เป็นยากูซ่า

เป็นความลับที่รู้กันทั่วว่ายากูซ่ามีอิทธิพลในวงการบันเทิงญี่ปุ่นไม่น้อยทีเดียว ดารานักร้องหลายคนได้เข้าวงการมีชื่อเสียงเพราะยากูซ่าหนุนหลัง และมักจะมีข่าวเมาท์อยู่เรื่อยๆ ว่าไอดอลคนนี้เป็นเด็กของยากูซ่าหรือรายการนั้นเป็นกิจการบังหน้า

สมัยที่ไอดอลเริ่มเฟื่องฟูใหม่ๆ เมื่อหลายสิบปีก่อน ยากูซ่าจะให้พ่อเล้ารับบทเป็น ‘entertainment producer’ ไปหาเด็กสาวมาเซ็นสัญญา อ้างว่าจะดันให้เป็นไอดอล ใช้เส้นให้ได้ออกทีวีนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งถ้าไม่ดังเปรี้ยง งานหมด ก็ต้องไปทำงานตามคลับ บาร์ หรือถูกบังคับให้ขายบริการ จริงๆ แล้วโปรดิวเซอร์บางคนก็มีพื้นเพมาจากวงการเนื้อสด ทำให้เข้าใจแฟนตาซีและความต้องการของหนุ่มยุ่น

หลังจากซบเซาไปพักใหญ่ โชคดีที่ช่วงยุค 90 Yasushi Akimoto โปรดิวเซอร์มือทองสร้างวง Onyanko Club ขึ้นมาปลุกกระแสไอดอลได้อีกครั้ง ก่อนจะปฏิวัติวงการครั้งใหญ่ด้วยการสร้างปรากฏการณ์ AKB48 ระบบการเดบิวต์ไอดอลจึงสว่างสดใสขึ้น แต่คนที่ยังไม่มีสังกัด อยู่ระหว่างช่วงตะกายดาว หรือคนที่ได้รับความนิยมน้อยๆ ก็ยังเสี่ยงต่อการถูก recruit ไปวงการหวิวอยู่ดี

2) งานหนักเงินน้อย เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน

รายได้ของไอดอลตั้งแต่ยุค 70 เป็นระบบเงินเดือนทั้งหมด ไม่ว่าจะขายซีดี เล่นคอนเสิร์ตสร้างรายได้มากแค่ไหนก็ตาม ถ้าไม่ดังมากจริงๆ ถือว่าเงินที่ได้แทบไม่พอใช้ หลายคนต้องแอบปลอมตัวไปทำงานพิเศษหารายได้เสริม โดยยังต้องซ้อมหนักและใช้ชีวิตภายใต้กฎเหล็กอันเข้มงวดต่างๆ ไปด้วย เมื่อเห็นความคึกคักของวงการไอดอลในปัจจุบัน ไอดอลรุ่นป้าบางคนยังออกมาให้สัมภาษณ์เลยว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากเป็นไอดอลแบบที่ได้เงินส่วนแบ่งจากรายได้ทางอื่นด้วย

อันที่จริงตอนนี้ก็ยังเป็นระบบเงินเดือนอยู่ ยกเว้นไอดอลตัวท็อปจริงๆ ถึงจะได้ส่วนแบ่งอื่นๆ ด้วย เช่น สมาชิกของ AKB48 บางคนมีรายได้เดือนละ 3 – 4 ล้านเยน ในขณะที่เงินเดือนเฉลี่ยของเหล่าไอดอลในปัจจุบันอยู่ที่ 280,000 เยน ซึ่งดูเหมือนจะโอเคเพราะมากกว่าเงินเดือนเริ่มต้นของเด็กจบใหม่นิดหน่อย แต่ในความเป็นจริงคือเงินเดือนในช่วงปีแรกหรือช่วงที่ลำดับยังไกลอยู่ สาวๆ ได้เงินแค่เดือนละ 50,000 เยนเท่านั้น ซึ่งพูดตรงๆ เลยว่าอยู่ยากมากในประเทศญี่ปุ่น ต้องกัดก้อนบ๊วยเค็มสู้กันต่อไปจนกว่าจะดัง

3) สงครามไอดอล

ปัญหาเรื่องการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนของญี่ปุ่นเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลให้เด็กจำนวนไม่น้อยคิดสั้นหรือปลีกตัวออกจากสังคม ในวงการมายาก็มีปัญหานี้เช่นกัน สตรีเพศจำนวนมากมาอยู่รวมกันมีหรือจะไม่ดราม่า ยิ่งมีการแข่งขันสูง ยิ่งมีเรื่องของศักดิ์ศรี ความอยู่รอด และความอิจฉา เข้ามาพัวพัน ภายใต้ความแบ๊วหน้าเวทีเลยแอบมีความ bitchy อยู่ด้านหลัง

เท่าที่ตามอ่านข่าวซุบซิบที่ไม่รู้ว่ามีความจริงปนอยู่กี่เปอร์เซ็นต์และข่าวสัมภาษณ์เหล่าไอดอลที่จบการศึกษาไปแล้ว การกลั่นแกล้งมีหลายระดับ ตั้งแต่แบ่งพรรคแบ่งพวก บีบให้นั่งกินข้าวคนเดียว เวลาไปออกรายการก็ไม่คุยด้วย ใส่เสื้อซ้ำก็โดนจิกกัด โดนปล่อยข่าวว่าทำศัลยกรรม แรงหน่อยก็เมาท์ว่าขายตัวไม่ก็ ‘ขายหมอน’ ซึ่งแปลเป็นไทยอีกทีได้ว่าการใช้เต้าไต่นั่นเอง

สุดท้ายแล้วก็มีหลายคนที่ทนไม่ไหวจนต้องลาออกจากวงไปโดยให้เหตุผลอื่น เช่น จะโฟกัสกับการเรียน แล้วมาให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า “จริงๆ แล้วตอนนั้นโดนแกล้งค่ะ” ฮือ

4) รักนะและชอบแสดงออก

ความคลั่งไคล้ถ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ผู้ได้รับก็คงปลื้มใจไม่น้อย ชาวญี่ปุ่นบางคนก็ดูปกติจนไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วประหลาด แน่นอนว่าสาวๆ น่ารักผู้สร้างความสดใสเหล่านี้ย่อมตกเป็นทาร์เก็ตได้ไม่ยาก

ตัวอย่างเช่น มีไอดอลสาวนางหนึ่งได้รับดีวีดีเป็นของขวัญจากแฟนคลับ ซึ่งเมื่อเปิดดูก็พบว่าเนื้อหามีแค่ภาพแฟนคลับซ้อมเต้นตามเพลงอย่างตั้งใจ เกือบจะซึ้งแล้ว แต่เศร้าทันทีเมื่อเห็นว่า อ้าว ฉากหลังนั่นคือตัวฉันนอนอยู่บนเตียงในห้องตัวเองนี่หว่า กรี๊ด พี่วาร์ปเข้ามาเหรอคะ

อีกคนหัวหมอหน่อย ไม่รู้ไปเอาเบอร์มาจากไหน แต่ขยันโทรต่อเนื่องแม้สาวเจ้าจะไม่รับ และทุกครั้งเขาจะฝากข้อความไว้ว่า “ร้านโซบะใช่มั้ยครับ” จนในที่สุดน้องไอดอลจำเบอร์ได้เลยกดรับแล้วบอกว่า “ไม่ใช่นะคะ” ก็เรียบร้อยเข้าทางโจร ได้คุยกับไอดอลที่รักสมใจ ส่วนน้องก็หวีดไป รีบเปลี่ยนเบอร์แทบไม่ทัน

ทั้งไอดอลรุ่นแม่รุ่นใหม่ต้องฟันฝ่าอะไรเยอะจริงๆ เอาใจช่วยทุกคนบนเส้นทางนี้นะ

ภาพ officiallyjd.com

ภาพประกอบ faan.peeti

AUTHOR