Thai Comics Must Not Die คุยกับ บก.ซัน-ธัญลักษณ์ เตชศรีสุธี แห่ง Let’s Comics

ทางรอดของนักวาดและการ์ตูนไทย ในวันที่ประตูแห่งโอกาสเปิดกว้างมากขึ้น 

ในวันที่ยังไม่ประสีประสาในโลกของการอ่าน ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังสือการ์ตูนคือสิ่งที่อยู่คู่การเติบโตของคนจำนวนมาก หลายคนได้เรียนรู้เรื่องราวดีๆ ได้มีประสบการณ์วัยเด็กที่หาไม่ได้ จากการอ่านการ์ตูน จนทำให้ถึงแม้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว หนังสือการ์ตูนก็ยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในแง่ของการหล่อเลี้ยงความฝันและจินตนาการ 

แต่เราก็จำต้องยอมรับว่ายิ่งนานวันผ่านไป การ์ตูนที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ยิ่งหาอ่านได้ยากขึ้น แถมมีราคาแพงขึ้นจากแต่ก่อนมาก แม้การ์ตูนแบบมังงะญี่ปุ่นจะยังพอมีทางรอด แต่กับการ์ตูนไทยซึ่งแต่ไหนแต่ไรไม่ใช่สิ่งที่ผู้คนจะเลือกอ่านอันดับแรก กลับยิ่งมีทางรอดยากขึ้นกว่าเดิม

คำถามคือ แล้วแวดวงการ์ตูนไทยกำลังมาถึงทางตันหรือมีโอกาสรอดยากจริงหรือไม่ Artist’s Talk วันนี้ เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณซัน-ธัญลักษณ์ เตชศรีสุธี บรรณาธิการ Let’s Comics นิตยสารการ์ตูนไทย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยปลุกให้การ์ตูนไทยกลับมาเป็นที่นิยมได้สำเร็จ และวันนี้เขาก็ต้องรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ อีกครั้ง 

หากอยากรู้ว่าการ์ตูนไทยมีทางรอดแบบไหนได้บ้าง ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์นี้เลย

สถานการณ์ Let’s Comics เป็นอย่างไรบ้าง ผ่านการเปลี่ยนแปลงจากตอนเริ่มต้นมาถึงปัจจุบันอย่างไร แล้วปัจจุบันคุณทำอะไรอยู่

ต้องบอกว่า Let’s Comics เริ่มจากการเป็นนิตยสารการ์ตูนไทยรายเดือน จำนวน 16 เล่ม จากนั้นปรับเป็นราย 2 เดือน ราย 3 เดือน ราย 4 เดือน และสุดท้ายปรับเป็นรายสะดวก แต่ช่วงก่อนโควิดไม่นาน สถานการณ์สื่อสิ่งพิมพ์ในไทยไม่ค่อยดีเท่าไหร่ พอโควิดมาปุ๊บ เราก็เลยค่อยๆ หยุดทำครับ ซึ่งผมก็ได้ลองทำการ์ตูนของตัวเอง แบบที่เขียนเองคนเดียวตามที่เคยอยากทำ เพราะกลัวว่าเดี๋ยวสักวันจะไม่ได้ทําซะก่อน

จากนั้นเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับที่วงการ NFT บูมพอดี ผมชอบวาดรูปอยู่แล้วเลยลองทําด้วย ก็เป็นรายได้อีกทางหนึ่ง ทําควบคู่ไปกับงานของตัวเอง แต่กระแสก็ซาลงพร้อมๆ กับโควิดที่เริ่มซาพอดี ผมเลยเริ่มคิดว่าจะกลับมาทําหนังสือด้วยดีไหม พอเว้นการทำไปนานหลังทำมารัวๆ ทำให้เราเห็นภาพรวมบางอย่างว่าหลายเล่มที่เคยคิดว่าน่าจะขายยาก จริงๆ แล้วมันยังขายได้นะ เพราะยอดขายยังมาเรื่อยๆ ก็เลยวางแผนว่าจะกลับมาทำส่วนที่เราคิดว่าตลาดยังโอเคอยู่

อีกสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดก็คือผมมีลูกครับ พอมีลูกก็เหมือนเวลาหายไปเลย 1 ปี ผมไม่เคยรู้ว่าการเลี้ยงลูกจะหนักขนาดนี้ แต่ก็ยินดีที่ได้เลี้ยงลูก ได้ทําหนังสือของตัวเองจริงๆ และได้ทำอะไรหลายอย่างครับ

ที่ว่าจะกลับมาทําหนังสือคือทํารูปแบบไหน การทำหนังสือการ์ตูนเล่มยังเวิร์กอยู่ไหมในปัจจุบัน

หนังสือที่เรามองว่าทำแล้วเวิร์กน่าจะเป็นตลาดหนังสือที่ได้รับผลกระทบน้อยจากวิถีชีวิตปัจจุบัน เช่น พวก Artbook หนังสือ Hard Cover หนังสือเบื้องหลังงานสร้าง หรือหนังสือที่คนเก็บสะสมได้ ประมาณนั้นครับ เพราะพวกนี้จะขายได้ตลอด เรารู้สึกมีศักยภาพพอที่จะทําด้วย เราอยู่ในวงการมาสิบกว่าปี ถ้าเราทําก็ค่อนข้างน่าเชื่อถือ

แต่ในส่วนของหนังสือรวมเล่มการ์ตูน ก็ต้องยอมรับว่า Webtoon กำลังตีตลาดอยู่ และรู้สึกว่าความต่อเนื่องในการทำของเราสู้เขาไม่ได้ด้วย เราเคยทําได้มากสุดก็รายเดือน ซึ่งจะตายอยู่แล้ว แต่ Webtoon เขาออกรัวมาก ออกทุกสัปดาห์ แถมการ์ตูนรายสัปดาห์ของเขาก็อลังการมาก จึงรู้สึกว่ายังไม่เหมาะนักสําหรับการทําการ์ตูนเล่มเป็นรายประจำในตอนนี้ครับ

แสดงว่าตอนนี้ Webtoon คือเบอร์ 1 เป็นคู่แข่งอันดับ 1 ของในไทย

ถ้านับเรื่องของการอ่านบนมือถือก็ถือเป็นอันดับ 1 เลยครับ น่าจะของทั้งโลกด้วย การอ่านแบบนี้น่าจะเป็นวัฒนธรรมหลักไปแล้ว ส่วนพวกมังงะ คนที่ยังอ่านจริงๆ อาจเป็นคนยุคเรามากกว่า ขนาดผมเองก็อ่านน้อยลงนะ เพราะมีหลายอย่างมาดึงดูดความสนใจไปเยอะ เช่น Netflix พวกสตรีมมิงที่แข่งขันกันสูง ทุกวันนี้ผมยังดูอะไรค้างไว้เพียบไปหมดเลย

ที่ผมมองว่าเป็นคู่แข่งจริงๆ ของมังงะคือพวกซีรีส์ครับ เช่น ซีรีส์ใน Netflix สตรีมมิงแพลตฟอร์มต่างๆ นี่แหละที่การเล่ามีความใกล้เคียงกับการ์ตูนมังงะมากๆ เป็นการเล่าเรื่องแบบยาวๆ เป็นตอนๆ เหมือนกันเลย พอมาดูซีรีส์แล้วพบว่ามันตอบโจทย์ มันเติมเต็มแบบเดียวกันได้

ทำให้ผมเชื่อแบบนี้มากกว่าว่า ส่วนหนึ่งที่คนเริ่มอ่านมังงะญี่ปุ่นน้อยลงไม่ใช่จาก Webtoon อาจเพราะอย่างนี้ด้วย เพราะวิธีการเล่ามันใกล้กันไปหน่อย

ในเมื่อ Webtoon กำลังมาแรง มีแผนอยากร่วมงานกันกับทาง Webtoon ไหม

ยังไม่มีครับ ผมว่าผมเองไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ เพราะทำงานตอบสนองกลุ่มเป้าหมายคนละแบบ อาจเพราะผมอ่านแล้วยังไม่ค่อยคลิกเท่าไหร่ด้วย คงไม่ดีนักถ้าเราทําอะไรที่ตัวเองไม่อิน ดังนั้นให้คนที่เขาเข้าใจมันจริงๆ ทำจะดีกว่า อาจจะเป็นภรรยาผมที่เป็นคนอ่านประจำอยู่แล้วก็ได้ เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมไม่ได้บอกว่ามันไม่ดีนะ แค่บอกว่าไม่ได้เหมาะกับเรา

สถานการณ์ของแวดวงนักวาด-การ์ตูนไทยโดยรวมตอนนี้ ดีขึ้นหรือแย่ลงจากช่วงก่อนโควิด

ถ้าของ Let’s Comics จะมีความคาบเกี่ยวว่า นักวาดของเรามีความเป็นนักวาดภาพประกอบแล้วก็เป็นนักวาดการ์ตูนด้วย ทําให้นักวาดของ Let’s ปรับตัวได้ตลอด บางคนไปได้ดีมากเลยนะ อย่างคุณเดอะดวง (The Duang-วีระชัย ดวงพลา) หรือคุณหมู (PUCK-ไตรภัค สุภวัฒนา) เป็นต้น ถ้าไปเดินพารากอนจะเห็นงานคุณหมูเต็มไปหมดเลย เพราะเขาไปทํากับห้าง เขาปรับตัวไปเป็นนักวาดภาพประกอบแล้วไปได้ดี หรืออย่างดวงก็ขึ้นเป็นนักวาด NFT ระดับโลกไปแล้ว

ผมอาจจะพูดแทนนักวาดการ์ตูนสายมังงะไม่ได้เต็มๆ แต่ผมยังนึกไม่ออกว่าตอนนี้ นักวาดการ์ตูนที่เป็นสายหนักแบบแท้ๆ เล่าเรื่องเป็นการ์ตูนช่องเนี่ย เขาเป็นยังไงกันบ้าง เท่าที่เห็นผมมองว่าน่าจะลดลงครับ ปัญหาคือร้านการ์ตูนในปัจจุบันหายไปเกือบหมดแล้วด้วย ถ้าจะอ่านต้องสั่งผ่านออนไลน์ หรือไม่ก็ไปซื้อในงานหนังสือเท่านั้น แล้วการ์ตูนเล่มหนึ่งแพงขึ้นมาก น่าจะแพงเท่ากับการ์ตูนผมสมัยก่อนที่คนบ่นว่าการ์ตูนไทยแพงจัง แต่ตอนนี้เผลอๆ ราคาจะแซงเราไปแล้ว

แสดงว่า ถึงแม้แวดวงหนังสือการ์ตูนจะอยู่ยากขึ้น แต่นักวาดการ์ตูนก็ต้องสามารถปรับตัวไปตามสถานการณ์ได้ใช่ไหม

นักวาดการ์ตูนไทยบางคนปรับตัวไปเป็นนักวาดภาพประกอบก็มีเยอะครับ หรือบางคนมุ่งไปการ์ตูนเจาะสาย Niche Market บางคนไปสายวายเลยก็มี ปัจจุบันมีช่องทางเยอะมากครับ วิธีของคนๆ หนึ่งอาจใช้ไม่ได้กับอีกคน ยุคนี้คุณไม่ต้องมานั่งง้อสํานักพิมพ์เหมือนแต่ก่อนแล้ว เพราะคุณเองสามารถลงงานของตัวเองได้ แล้วมันไม่มีค่าใช้จ่ายตรงนั้น ไม่ได้ยุ่งยากเหมือนเมื่อก่อน

ยิ่งถ้าเป็นนักวาดภาพประกอบจะมีช่องทางเยอะมาก แทบไม่ต้องเสียอะไรเลย อย่างถ้าวาด NFT ลง Opensea ค่าเปิดกระเป๋าก็ฟรีหมดเลย ไม่มีมาเก็บอะไรเราแบบแต่ก่อน ถ้าขายได้เขาค่อยหักไปซึ่งมันควรจะเป็นแบบนี้ตั้งแต่แรก อาจมีบางตลาดที่ยังต้องจ่ายเงินเพื่อเข้าอยู่ แต่มันถูกลงกว่าเดิมมาก

แต่สถานการณ์ปัจจุบันส่งผลต่อสภาพจิตใจพอสมควร เพราะการแข่งขันสูงขึ้น ยิ่งพอมียอดวิวยอดขายมากำกับกันโต้งๆ คนทํางานด้านนี้จะยิ่งกดดันมากขึ้น 

เมื่อก่อนงานศิลปะ จะวัดคุณค่ากันยากครับว่างานใครสวยกว่ากัน ดีกว่ากัน แต่เดี๋ยวนี้มีตัวเลขบอกเลย งานนี้คนดูหลักแสน งานนี้มีคนดู 50 คน ขายไปเท่าไหร่ ยอดไลก์เท่าไหร่ ฯลฯ การทำงานศิลปะเลยดูจะเป็นธุรกิจการตลาดมากกว่าแต่ก่อน มันจะมีการเปรียบเทียบเป็นค่าพลังติดตัวไปเลย คนเข้ามาดูก็จะ “เฮ้ย ทําไมงานนี้คนติดตามน้อยจัง” “ทําไมอันนี้ยอดขายน้อย” 

ในขณะที่บางงาน คนทำงานจะรู้เลยว่ามันไม่ได้สวยเลยนะ ในเชิงศิลปะไม่ได้มีคุณภาพมากกว่าชิ้นอื่น แต่กลับขายดีกว่ามาก มันไม่ค่อยสมเหตุสมผลและดูโหดร้ายพอสมควรสำหรับคนที่ทำงานด้านนี้จริงๆ จังๆ

ปัจจุบัน Let’s มีนักวาดการ์ตูนในเครือข่ายมีประมาณกี่คน

ความจริงเรียกว่าอยู่ในเครือข่ายไม่ค่อยได้เท่าไหร่ เราไม่เคยเซ็นสัญญาผูกมัด ไม่ได้ซีเรียสด้วย อย่าง สะอาด (Sa-ard-ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์) พอพี่ชายเขาเปิดสำนักพิมพ์ เขาก็กลับไปช่วยที่บ้าน และหลังๆ เหมือนว่าเขาจะแยกออกมาทำการ์ตูนแนวการเมือง หรือคุณหมู คุณดวง เอเจนซีจะวิ่งเข้าหาเขาโดยตรง ซึ่งก็ดีกว่ามาผ่านหัวคิวเรา 

จริงๆ เรายังคุยกับทุกคนได้นะถ้ามีงานที่น่าสนใจ และถ้าเขาไม่ยุ่งเกินไปก็อาจมาร่วมงานกันได้ แต่บางทีมูลค่าผลงานเขาสูงขึ้นเป็นร้อยเท่าเลย ขายกันชิ้นละเป็นแสนเป็นล้านแล้ว การเลือกใช้งานจะยากขึ้น เราเองก็เกรงใจ เพราะว่าต้องให้ตัวเลขของเขาเป็นมาตรฐานของวงการด้วย ถ้าเกิดเขารับงานซี้ซั้วกับเรา ก็อาจทําให้มาตรฐานไม่ไปไหนเสียที การที่เขาผลักดันให้ตัวเลขสูงขึ้นไปเป็นสิ่งที่ดีแล้ว 

ดังนั้นใครที่ดังไปแล้ว จะกลับหรือไม่กลับมาร่วมงานกันก็ไม่เป็นไรเลยครับ เพราะมันจะลําบากใจกันเปล่าๆ จู่ๆ ไปดึงมาทํางาน มันไม่คุ้มกัน เราก็แก้ปัญหาด้วยการทำงานเล็กงานน้อยด้วยตัวเอง บางทีก็ให้ภรรยาช่วย หรือถ้าใครพอจะสะดวก ถ้าเขาช่วยได้ก็จะขอให้มาช่วย

ช่วงโควิดที่ผ่านมางานล้นมือแค่ไหน เมื่อเทียบกับในอดีตตอนที่ทํารายเดือน หรือราย 2-3 เดือน

น้อยกว่าปกติมากครับ ขนาดช่วงต้นปีก่อนนู้น ตอนช่วงงานที่ NFT ของผมขายดีที่สุดแล้ว เรารู้สึกว่ายังสามารถลุยคนเดียวได้ ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็อาจมีคนอื่นช่วยนิดๆ หน่อยๆ อาจหาเด็กฝึกงานมาช่วยได้บ้าง 

แต่ถ้าเป็นงานการ์ตูนช่องแบบในอดีตจะหาคนช่วยยากมาก มีหลายขั้นตอน ต้องทําฉากทำอะไรเต็มไปหมดเลย หนักกว่าหลายเท่าเลยครับ

ในฐานะบรรณาธิการของ Let’s Comics พอไม่ได้ทำหนังสือ ทำนิตยสารเล่มแล้ว บทบาทบรรณาธิการในปัจจุบันแตกต่างจากเมื่อก่อนอย่างไรบ้าง

บทบาทน้อยลงมากครับ การทำนิตยสารเป็นงานที่ใช้บรรณาธิการคุ้มสุด ต้องทําทั้งตามกำหนดเวลาเอย ตามสล็อตงานเอยอะไรเอย พอไม่มีนิตยสารแล้ว กลายเป็นว่าเราจะค่อนข้างว่าง ตอนนี้เหมือนเราเป็นเจ้านายตัวเอง ดูว่าทําอะไรแล้วมันคุ้มค่าที่สุด เราจะไม่อัดงานเยอะๆ เหมือนแต่ก่อนที่กำหนดว่าใน 1 ปีต้องออก 16 เล่มแล้ว

ยุคนี้อะไรที่ไม่แน่ใจจริงๆ ผมจะไม่ทํา เพราะมีโอกาสเจ๊งสูงมาก ถ้าทําแล้วต้องลงทุนเยอะ เราอาจจะเจ๊งฉิบหายได้ ก็อย่าไปทํามัน หรือถ้าทำแล้วต่อให้มันไม่เวิร์กแต่ยังอยู่ในมาตรฐานของเรา ก็จะทำ แค่อย่าให้มันขาดทุนมากเกินไปก็พอ 

เพราะการทําหนังสือมีต้นทุนสูงครับ พอหยุดไปสักพัก ได้กลับมาถอดบทเรียน นั่งย้อนดูงานที่ผ่านมาจะเห็นสถานการณ์ภาพรวม เหมือนดูกราฟหุ้นเลยนะ ได้เห็นว่า บางอย่างไม่ใช่ขายไม่ได้ แต่มันต้องใช้เวลาค่อยๆ เก็บสะสมกันไป บางเรื่องมันมีช่วงเวลาที่ขายได้ของมันอยู่

จากสถานการณ์ที่ผ่านมา แวดวงคนที่ทํางานด้านการ์ตูน ภาพวาด มีการพูดคุยกันไหมว่าจะช่วยเหลือกันอย่างไรให้ไปรอดด้วยกันหมด ไม่ใช่รอดแค่รายใดรายหนึ่ง

ผมคิดว่าทุกคนตอนนี้ไม่ค่อยมีใครมาคุยกับผมเท่าไหร่ (หัวเราะ) น่าจะเกรงใจว่าผมเลี้ยงลูกอยู่ แต่การคุยกัน ผมไม่รู้ว่าคุยกันเยอะแค่ไหนนะครับ

ความจริงเคยมีคนพยายามทําเรื่องนี้เยอะมาก ผมเคยไปลงชื่อเข้าร่วมด้วยก็หลายครั้ง แต่ก็หายไปหมดแล้ว มันค่อนข้างยากนิดหนึ่งเพราะมีเรื่องของธุรกิจเข้ามา ทําให้ตกลงเรื่องผลประโยชน์ยาก 

ความยากอย่างแรกคือ ไม่รู้จะแบ่งผลประโยชน์กันยังไง ความยากแบบที่ 2 คือ เงินไม่เยอะพอให้แบ่งกัน หลังๆ อาจมีคนเขาไปรวมตัวกันอยู่นะ ที่ผมเห็นก็จะมีการรวมตัวกันของคนทำ NFT แต่ผมไม่รู้ว่าเขาคุยอะไรกันนะ เพราะผมไม่ได้ไปด้วย

ผมมองว่าสิ่งที่ยากอีกอย่างคือในโลกยุคนี้เรานัดกันง่าย คุยกันง่าย รวมถึงต่างคนต่างทําอะไรก็ง่ายกว่าด้วย มีช่องทางต่างๆ ที่ให้เราจบงานด้วยตัวเองได้เยอะขึ้นมากๆ การร่วมมือทำงานระยะยาวแบบเป็นสถาบันเลยยิ่งดูไม่ค่อยจำเป็นนัก การทำงานให้เสร็จไม่ยาก แต่การทำให้รอดนี่สิยาก มีอยู่หลายเจ้าที่บอกว่าจะพยายามผลักดัน แต่พอถึงเวลาจริง แค่เอาตัวเองให้รอดเองก็ลำบากแล้ว พอเราต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน จะไปนึกถึงคนอื่นก็ลําบาก

พูดถึงทางรอดของแวดวง ในฐานะที่คุณทำ NFT เป็นอีกช่องทางด้วย คิดว่าปัจจุบันการทำ NFT ยังเป็นทางรอดของศิลปินไทยอยู่หรือไม่

เนื่องจากผมเป็นคนชอบวาดรูปเล่นแล้วก็เอาไปโพสต์ลงให้ดูฟรีอยู่แล้ว ถ้าเทียบระหว่างทำฟรีกับทำแล้วมีโอกาสขายได้ด้วย ผมคิดว่าก็โพสต์ให้มันขายได้ไปเลยดีกว่า ผมเลยไม่รู้จะเลิกไปทําไม การทำ NFT มันเหมือนการวาดรูปเล่นเลยครับ ไม่มีลูกค้ามากําหนดงานเรา แล้วส่วนหนึ่งผมก็สนใจเรื่องการลงทุนด้วย พอทำตรงนี้ก็ได้ลงทุนเรื่องคริปโตเคอร์เรนซีไปพร้อมกันเลย ได้ดูกราฟ ดูเหรียญไปด้วยทุกวัน ศึกษากันไปไม่เสียเวลาเปล่าครับ

จะว่าไปผมพยายามนึกทางหาทางที่ดีกว่า NFT นะว่ามีไหม แต่ก็ยังนึกไม่ออก ข้อดีสุดๆ คือมันไม่มีต้นทุน จริงๆ ก็อาจต้องใช้คอมพิวเตอร์ มีค่าไฟเนอะ แต่ถ้าเทียบกับการทํางานศิลปะตามปกติ ที่คุณต้องซื้ออุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงต้องผลิตออกมาขาย ต้นทุนมันมากกว่าเยอะ สิ่งเดียวที่ไม่ดีคือสุขภาพจิต เพราะแข่งกันเยอะ แถมอย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ เรื่องของการตลาดและธุรกิจมีผลต่องานสูงมากเลย ใครที่ชอบงานอาร์ตเพียวๆ ก็อาจเหนื่อยใจหน่อย

ข้อดีอีกอย่างคือ เพดานของโอกาสที่คุณจะประสบความสําเร็จจากการวาดภาพการ์ตูนมันสูงมาก ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศนี้ขนาดนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่าเหตุผลที่ไม่ควรทําคืออะไร ถึงแม้มันอาจไม่ดีเท่าแต่ก่อน แต่ก็ยังเป็นหนึ่งในทางรอดอยู่ 

แต่ก็นั่นแหละครับ อย่าไปยึดติดกับมันอย่างเดียว เราทํามันเป็นตัวเสริม ถ้าเกิดใครจะทําเป็นตัวหลักก็ได้นะ แต่ต้องเผื่อใจไว้ระดับนึง วงการอื่นๆ ตอนนี้ก็ไม่น่าต่างกัน มันเป็นโลกที่ไม่มีอะไรที่คุณทําแล้วคุณสําเร็จ 100% อยู่แล้ว

ปัจจุบันมีคนเอา AI มาใช้ทํารูปทําภาพด้วย คุณมองสถานการณ์ตอนนี้ยังไง AI เป็นภัยคุกคามของคนทำงานศิลปะไหม

เคยเห็นเหมือนกันครับ แต่ยังไม่เคยลองเล่นด้วยตัวเอง โดยส่วนตัวผมมองว่าตอนนี้มันน่าทึ่งนะ มันเป็นเทคโนโลยีที่เจ๋งเลย แต่ก็อาจจะต้องใช้เวลาอีกนานเลย มันอาจยังไม่ทําให้ใครตกงานเร็วๆ นี้ แต่อีกสัก 10 ปี ก็ไม่แน่เหมือนกัน 

ตอนนี้คนทำงานศิลปะมืออาชีพ น่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก คนที่ได้รับผลกระทบอาจเป็นคนที่ยังไม่มีสไตล์ชัดเจน หรือทำงานตามโจทย์ ถ้าเขาทำงานเหมือน AI เขาก็จะโดน AI เล่นงาน เพราะฉะนั้นเราต้องอย่าทำงานแบบนั้น อย่าให้ตัวเองเป็นแค่สิ่งที่รับคําสั่งแล้วก็ทำตามนั้นอย่างเดียวเหมือน AI เพราะเราไม่มีทางสู้มันได้เลย มันทำงานได้เร็วกว่าอยู่แล้ว

ผมมองว่า ณ ตอนนี้เรายังพอดูออกนะว่างานไหนใช้ AI หรือไม่ ผมเห็นคนที่ใช้ AI ทํา NFT แล้วเอาไปขายก็ไม่ค่อยมีคนสนับสนุนเท่าไหร่ แสดงว่ามันยังมีเส้นกั้นที่คนมองเห็นอยู่ แต่สักวันหนึ่งมันเกิดแนบเนียนขึ้นมาก ได้รับการยอมรับ แล้วศิลปินเองก็ใช้ มันก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย และเราคงห้ามไม่ได้

คุณเล่าว่าพอมีลูกแล้วเหมือนเวลาหายไปเลย คุณแบ่งเวลาในชีวิตอย่างไรบ้าง หาเวลาดูแลตัวเอง เติมคลังความรู้ให้ตัวเองอย่างไร

หายากเลยครับ การเลี้ยงลูกเป็นงานหนักมาก ส่วนหนึ่งอาจเพราะผมเลี้ยงอยู่กับภรรยาแค่ 2 คน ไม่มีใครช่วยเลย ถ้าจะไปหาใครมาช่วยก็ลําบากใจ มันไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่ผมจะกลัวว่าเขาจะเลี้ยงในแบบที่เราอยากให้เป็นรึเปล่า วิธีการเรียนรู้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เรามีวิธีของเรา คือเราไม่ได้จะควบคุมเขานะ แต่อยากให้เขาได้สิ่งที่ดีที่สุด เลยใช้เวลาเลี้ยงลูกค่อนข้างมาก

ถ้าถามว่าแบ่งเวลาไหม จริงๆ ผมใช้วิธีเลือกงานมากกว่า ดูว่าอะไรที่เราอยากทําจริงๆ จนเหลือเฉพาะอันที่ผมรู้สึกว่าเราทําไหวเท่านั้น ผมจะมีเวลาหลังลูกเข้านอนแล้วประมาณ 2-3 ทุ่ม ก็ทํางานถึง 5 ทุ่มเที่ยงคืน ถ้าอยากดูหนังดูซีรีส์จริงๆ อาทิตย์นึงผมดูไม่เกิน 2-3 วัน และดูได้แค่วันละตอนด้วย ดูยาวๆ ไม่ได้แล้ว เพราะต้องตื่นเช้ามาดูแลลูกอีก เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเก็บได้หมด ทำได้หมดทุกอย่าง

ในฐานะที่เป็นนักวาดการ์ตูน เป็นบรรณาธิการหนังสือการ์ตูน อยากเลี้ยงลูกด้วยการ์ตูนไหม

ตอนนี้เขายังไม่รู้เรื่องขนาดนั้น ตอนนี้ยังอายุ 1 ขวบ 6 เดือน ยังมั่วๆ อยู่ ที่ตั้งใจไว้ก็คืออยากเลี้ยงบนหลักสูตรมอนเตสซอรี (Montessori Method) ที่เน้นวิธีคิด จะอ่านการ์ตูนไหม จะชอบการ์ตูนไหม ก็ให้เขาคิดด้วยตัวเอง ให้เขาได้รู้ว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ทำผิดรู้ว่าผิดเพราะอะไร ไม่ได้ชอบหรือทำตามเพื่อนตามคนอื่น จะพยายามไม่ให้เหมือนยุคพวกเรา

ยุคนี้มีสื่อเยอะมาก ผมกลัวเรื่องมือถือเหมือนกัน อาจจะลดๆ พวกสื่อโซเชียลมีเดียหรืออะไรพวกนั้น ถ้าจะเริ่มจากการ์ตูน ผมคิดว่าให้เริ่มจากหนังสือเด็กดีกว่า มันมีเยอะด้วย เพราะผมมาคิดย้อนไป ตอนผมเป็นเด็กก็อ่านการ์ตูนเร็วเกินไปเหมือนกัน สักช่วงประถมก็อ่านเรื่องโหดๆ เรื่องโป๊ๆ แล้ว แล้วก็ไม่ค่อยมีใครมาสนใจ เพราะเห็นอ่านแล้วเงียบดีก็ให้อ่านๆ ไป แล้วลูกเป็นลูกสาวด้วยไง เราก็ไม่อยากให้ป่าเถื่อนมาก

การมีครอบครัวแล้ว มีลูกแล้ว เปลี่ยนมุมมองในการมองโลก การ์ตูน และงานที่ทําหรือไม่

เปลี่ยนเยอะเลยครับ อันดับแรกเลยคือ เราจะเข้าใจความ Sensitive และเรื่องครอบครัว แต่ก่อนเวลาดูข่าว เห็นประเด็นเด็กโดนตี โดนทำร้าย เราอาจจะเฉยๆ แต่ตอนนี้รู้สึกว่า เฮ้ย มันเรื่องใหญ่มากนะ ถ้าลูกเราโดนแบบนั้นบ้างมันแรงมากเลยนะ

เมื่อก่อนเวลาเห็นเด็กท่าทางกวนๆ เราจะมองแล้วคิดว่า ทําไมมันทําตัวอย่างนั้น ทั้งๆ ที่เราก็โตมาเหมือนกัน ในขณะที่เดี๋ยวนี้เราจะเริ่มคิดว่า เขาเติบโตมาแตกต่างจากเรา เราไม่เท่ากัน เรามองเห็นถึงความอยุติธรรมในสังคมว่ามีมากขึ้น

แล้วเมื่อก่อน เราจะสนแต่เรื่องความเป็นเลิศ เสพงานแต่ของคนที่คิดว่าดีที่สุดเท่านั้น แต่พอเลี้ยงลูก เราจะเริ่มกลับมาโฟกัสเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น จะทําอย่างไรให้คนที่เกิดมาไม่เคยตักข้าวเข้าปากเลย สามารถตักข้าวเข้าปากได้ เราจะละเอียดอ่อนกับเรื่องเหล่านี้มาก ความจริงก็แค่เรียงนิ้วอย่างงี้เพื่อจับช้อนไง (ทำมือประกอบ) แต่คนที่เกิดมาไม่เคยเจอช้อนเลยก็จะเป็นอีกแบบ เราจะละเอียดอ่อน เราจะรู้ว่าอะไรที่เราควรจะกังวลเกี่ยวกับเด็ก และเข้าใจเด็กมากขึ้น

การดูแลลูกของตัวเอง กับการดูแลเด็กฝึกงาน แตกต่างกันยังไง

ต่างกันครับ กับเด็กฝึกงานเราจะมองว่าเขาเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง เราอยากให้เขาใช้ชีวิตในสังคมได้ ผมอยากทำให้เขามีความภูมิใจในตัวเอง ในผลงานของตัวเอง อยากไปถึงจุดที่ดีกว่า 

สิ่งที่เหมือนกันคือ ผมอยากช่วยให้เขาคิดด้วยตัวเองได้ ผมจะพยายามตีกรอบความคิดเขาให้น้อยที่สุด จะพยายามทำให้เด็กฝึกงานตอบได้ว่า เขาชอบอะไร งานเขาดีไม่ดีตรงไหน สไตล์ของเขาคืออะไร 

ส่วนการเลี้ยงลูก ผมก็น่าจะไปทางเดียวกัน อยากให้เขารู้ตัวเองว่า เขาอยากมีชีวิตแบบไหนเป็นหลักครับ ส่วนที่เหลือก็จะยิบย่อยแล้ว

ศิลปินหลายคน พอมีลูกก็จะผลิตงานที่มีแรงบันดาลใจมาจากลูก คุณเคยมีแผนอยากเขียนการ์ตูนเพื่อลูกด้วยไหม

ก็คิดอยู่บ่อยๆ ครับว่าอยากวาดอะไรเกี่ยวกับลูก แต่การวาดการ์ตูนเป็นเรื่องที่หนักหนา (หัวเราะ) แล้วก็ต้องระวังเนอะ วาดแล้วเราไม่รู้ว่าลูกจะชอบหรือไม่ชอบ เดี๋ยวโตขึ้นมาเขาอาจจะรู้สึกว่า “มาวาดหนูแบบนี้ได้ไง” อาจกลายเป็นความรู้สึกอีกแบบก็ได้ อะไรก็ตามที่กลายเป็นงานผลิตออกมา มันจะอยู่ไปตลอด เหมือนสิ่งที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย มันจะอยู่ไปตลอดเช่นกัน เราไม่รู้หรอกว่า วันหนึ่งมันจะกลายเป็นสิ่งที่ดีไม่ดีหรือไม่

ผมอยากวาดนะ แต่ก็ต้องมั่นใจจริงๆ ว่ามันจะไม่สร้างผลกระทบอะไรในเชิงลบ

สมมติในอนาคตลูกอยากเดินตามรอยทํางานในแวดวงหนังสือการ์ตูนบ้าง จะช่วยส่งเสริมอย่างไรบ้าง

นี่เป็นประเด็นที่ผมคุยกับภรรยาบ่อยเหมือนกันนะ เพราะภรรยาผมก็เป็นศิลปิน อย่างแรกต้องดูก่อนว่าเขาเอาจริงไหม เพราะมีคนที่รู้สึกอยากทําแต่ก็ไม่ได้จริงจังพอ ใครๆ ก็พูดได้ว่าอยากเป็นดารา อยากเป็นศิลปิน อยากเป็นครีเอเตอร์ แต่จะมีสักกี่คนที่ทุ่มเทมากพอจริงๆ เพื่อเป็นสิ่งเหล่านั้น นี่จะเป็นจุดที่ตัดสิน 

ถ้าเขาจะทำ ผมจะไม่ตัดสินงานของเขาว่าดีไม่ดี แต่ผมจะดูว่าเขาตั้งใจรึเปล่า ดีไม่ดีมันนามธรรม บางทีมันอาจดีสําหรับเรา แต่อาจไม่ดีกับคนอื่นก็ได้ ตัดสินกันยาก แต่เรื่องความตั้งใจ ความทุ่มเท มันตัดสินกันได้ เห็นก็รู้แล้ว ผมจะไม่ไปกําหนดเขา ถ้าเขามีความตั้งใจก็จะสนับสนุน 

แต่จริงๆ ก็กังวลนะ ถ้าเกิดว่าเป็นคนที่ตั้งใจแต่ห่วยมากๆ ขึ้นมาจริงๆ จะเป็นยังไง (หัวเราะ) แต่ก็นั่นแหละ คนที่ไม่ได้เก่งแต่ทําจนได้ก็มีไม่น้อย ขอเพียงให้เขารู้ตัวเองว่าความความตั้งใจและความพยายามคืออะไรก็พอ

แล้วคิดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า สถานการณ์การ์ตูนไทย และ Let’s จะเป็นอย่างไร

ผมมองว่ามันน่าจะกลับไปดีเหมือนเดิมยากนะ ผมมองว่าสิ่งหนึ่งที่จะทําให้เติบโตได้คือมันต้องเหมือนอย่างญี่ปุ่นที่มีนิตยสารการ์ตูนอย่าง JUMP ถ้านิตยสารการ์ตูนของญี่ปุ่นล้มไปเมื่อไหร่ ผมมองว่าวงการเขาก็น่าจะไปเหมือนกัน แต่เพราะว่าญี่ปุ่นไม่ได้มีแค่เล่มเดียว มันมีหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้เต็มไปหมดช่วยหล่อเลี้ยงวงการ ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่สามารถมีนิตยสารการ์ตูนของตัวเองได้ มันก็ยากที่จะหล่อเลี้ยงวงการได้ครับ

ในส่วนของ Webtoon ก็เป็นไปได้ว่าอาจขึ้นมาแทนที่มังงะได้ในซักวัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผมจะตอบได้ชัดนัก เพราะเท่าที่ตอบได้คือตอนนี้ผมเองก็จะกลับมาทําพวกอาร์ตบุ๊กก่อนเนื่องจากคิดว่าเราน่าจะทําได้ค่อนข้างมีคุณภาพ เพราะเราเองก็ทํามาตั้งนาน ส่วน NFT ก็ยังทำต่อเพราะสนุกดีครับ(หัวเราะ) 

ส่วนถ้าถามว่าจะกลับมาทํา Let’s เต็มรูปแบบอีกครั้งไหม ก็เป็นไปได้นะครับ แต่มันต้องเป็นอะไรที่เรามั่นใจจริง ๆ ถ้าจะกลับมา ไม่ก็เก็บกดอยากทำจริงๆ จนทนไม่ได้อะไรแบบนั้นล่ะมั้งครับ


เรื่อง: โซโนอิ ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ

AUTHOR