“เรื่องเล่าจากช่วงเวลาอันไกลโพ้นจะจริงหรือไม่
บางทีอาจจะมีเพียงแม่น้ำเท่านั้นที่รู้ความจริง”
.
ตำนานรักรสขมของ ‘เจ้าศุขเกษม’ และ ‘มะเมียะ’ โศกนาฏกรรมรักต่างชนชั้นที่ผู้คนยังคงถกเถียงกันอยู่ว่า ‘มะเมียะ’ มีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ แต่ไม่ว่าคำตอบคืออะไรอาจไม่ใช่สาระสำคัญสำหรับผู้สร้างละครเวทีเรื่อง ‘กมล’
เพราะความพร่าเลือนของความไม่รู้ สร้างพื้นที่ว่างให้ผู้กำกับเกิดไอเดียที่จะหยิบยืมเอาเส้นเรื่องสุดคลาสสิกมาสร้างสรรค์ใหม่ โดยเล่นล้อตั้งคำถามถึงอำนาจของผู้เล่าในเรื่องเล่าใดๆ ด้วยการสร้างบทละครที่อนุญาตให้ตัวละครออกมาแล่นโลด เล่าเรื่องราวในมุมมองของตัวเอง สลับสับเปลี่ยนกันเป็นตัวเอกของเรื่องเพื่อ ‘เล่า’ ในสิ่งที่ตัวเองจดจำหรืออยากจะจำเพื่อให้ผู้ชมเลือกจะเชื่อในสิ่งที่เชื่อมโยงกับตัวเอง
.
‘มะเมียะ’ ตำนานรักแห่งสองฟากฝั่งแม่น้ำ
ณ เมืองเมาะละแหม่ง เจ้าศุขเกษมได้ตกหลุมรักหญิงสาวชาวพม่า ซึ่งต่างกันทั้งชนชั้นและเชื้อชาติ แต่เพราะความรักอันร้อนแรงของหนุ่มสาวไม่อาจต้านทานได้ด้วยกฎเกณฑ์ใดๆ เมื่อยามที่เจ้าน้อยต้องกลับบ้าน เขาได้พาหญิงอันเป็นที่รักกลับมาด้วย เธอรวบผมแสร้งเป็นชาย และใช้ชีวิตอยู่กับเขาอย่างสหายคนหนึ่ง จนกระทั่งการหมั้นหมายของเจ้าน้อยและหญิงอีกคนมาถึง ทำให้มะเมียะต้องพรากจากชายอันเป็นที่รักของเขาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แม้จะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาแล้วกว่า 100 ปี แต่ตำนานความรักของมะเมียะถูกเล่าอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งในรูปแบบหนังสือ เพลง หรือละคร และครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งเช่นกัน ที่ความรักของทั้งคู่จะถูกนำกลับมาเปลี่ยนเสียงปรับสีให้เกิดเป็นเรื่องราวในอีกมุมหนึ่งอีกครั้ง ผ่านละครเวทีที่มีชื่อว่า ‘กมล’
ก่อนที่จะได้รับชม ‘กมล’ ในเวอร์ชันปี พ.ศ. 2568 นี้ aday ได้เปิดบทสนทนากับ ส้มโอ-ธัญญรัตน์ ประดิษฐ์แท่น ผู้กำกับละคร เพื่อสืบสาวถึงแนวคิดเบื้องหลังการเขียนบทละครเรื่องนี้ จะเป็นอย่างไรไปหาคำตอบพร้อมกัน

จุดเริ่มต้นของ ‘กมล’ เกิดขึ้นได้อย่างไร
เริ่มจากเราทำงานกับพี่แน็ต (แน็ต-ชาติชาย เกษนัส) แห่ง White Light Post ซึ่งเป็นโปรดักชันที่ทำงานเกี่ยวกับภาพยนตร์ เรามีโอกาสได้ทำงานร่วมกับพี่เเน็ตบ่อยครั้ง ตั้งแต่ จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี จนไปถึงภาพยนตร์ต่างๆ หากใครได้เคยดูงานของเขาก็จะรู้ได้ว่า ผลงานที่ผ่านมามักจะมีความชัดเจนในประเด็นเกี่ยวกับพื้นที่บริเวณฟากฝั่งเอเชีย เช่น เรื่องพม่า-ไทย อะไรเเนวๆ นี้
เราทั้งสองคนกำลังอยากทำภาพยนตร์เรื่องต่อไป โดยมีความตั้งใจว่าจะทำในเรื่องที่เรารักและอยากจะเล่าจริงๆ จนมีอยู่วันหนึ่งพี่แน็ตก็เปรยมาว่าสนใจเรื่อง ตำนานมะเมียะ ซึ่งเราเองก็เคยได้ยินเรื่องนี้จากเพลงของ จรัล มโนเพ็ชร แล้วเราก็มีความประทับใจในเรื่องนี้อยู่แล้วเลยรู้สึกสนใจมากๆ ประกอบกับเราอยากทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องความรัก และเราในฐานะของคนที่เรียนและทำงานละครมาจะรู้สึกได้ว่าตำนานเรื่องนี้เทียบเท่า โรมิโอ & จูเลียต เลยนะ
ต่อมาพี่แน็ตก็พูดขึ้นว่า “ถ้ามะเมียะเป็นผู้ชายล่ะ จะเป็นยังไง?” ซึ่งเรามองว่ามันเป็นคำถามที่น่าสนใจเหมือนกัน พอเราได้วิ่งกลับไปหาเพลงที่เคยฟัง เรื่องเล่าที่เราอิน ลองกลับไปค้นข้อมูลว่าตำนานเรื่องนี้เป็นมายังไง แล้วเราก็พบว่าพวกเขาหาตัวตนที่แท้จริงของมะเมียะไม่เจอ ซึ่งก็ยิ่งทำให้เราสนใจเข้าไปใหญ่ ท่ามกลางความจริงไม่จริงนั้น เราเลยได้แรงบันดาลใจที่อยากจะทดลองพื้นที่ว่างตรงนั้น คิดว่าหากจะเขียนบทละครขึ้นมาสักเรื่องหนึ่ง ตำนานมะเมียะ คือวัตถุดิบที่ดีมากทีเดียว

ตัวละคร ‘มะเมียะ’ ที่เป็นผู้ชายในเวอร์ชันนี้ มีความน่าสนใจอย่างไร
สำหรับเราการที่ตัวละครมะเมียะกลายเป็นผู้ชาย เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ในเรื่องเล่าเราจำได้ถึงฉากการปลอมตัวเป็นผู้ชายของมะเมียะ จึงลองคิดว่าถ้าหากเขาไม่ได้ปลอมตัวแต่เป็นผู้ชายอยู่แล้วล่ะจะเป็นยังไง
เรากำลังพูดถึงเรื่องความรัก ที่เดิมแล้วอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2440 ถ้าเราลองเทียบกับการเมืองการปกครองของบ้านเราในฝั่งสยาม คือช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ซึ่งเรื่องความรักของคนเพศเดียวกันในตอนนั้นไม่เหมือนทุกวันนี้ ก็แปลว่าความรักของคนคู่นี้มีเงื่อนไขสำคัญมากเหมือนกัน นี่แหละคือความน่าสนใจ คู่รักคู่นี้เขาจะรักกันได้ยังไง แล้วความรักเขาจำเป็นต้องมาอยู่กินแบบผู้ชาย-ผู้หญิงไหม จุดจบของเขาจะเป็นแบบไหน หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจในสิ่งที่สำคัญจะแตกต่างกันไปอย่างไร เราสนใจในความเป็นมนุษย์เหล่านี้มากๆ

ความท้าทายในการเปลี่ยน ‘ตำนาน’ ให้กลายเป็น ‘บทละคร’ คืออะไร
สิ่งนี้เป็นความโชคดีของเราเหมือนกัน อย่างที่บอกไปว่า ‘กมล’ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องของมะเมียะ ซึ่งตามตำนานเดิมมีพล็อตและโครงเรื่องที่ถูกวางไว้อยู่แล้ว ถ้าในทางละครเราจะเรียกว่า ‘ครบองก์’ เรื่องราวมันมีความขัดแย้งในตัวเอง ขัดแย้งระหว่างตัวละคร และขัดแย้งกับบริบทสังคม ซึ่งฉากและวัตถุดิบที่อยู่ตรงนั้นเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าวัตถุดิบที่ดี และเราก็หยิบวัตถุดิบตรงนั้นย้ายมาวางไว้ในพื้นที่ว่างของเรา เพื่อหาวิธีการทำงานกับบท
ต่อมาเราได้คุณพิช (พิช-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล) และ คุณโมสต์ (โมสต์-วิศรุต หิมรัตน์) มาเป็นตัวละครหลักอย่าง ‘ใจวิน’ และ ‘กมล’ เราก็รู้เลยว่าใครจะรับบทเป็นใคร ซึ่งขั้นตอนต่อไปของเราก็คือการทำ Devised Theatre เพื่อสร้างบทละคร

การเขียนบทแบบ Devised Theatre เป็นอย่างไร
ด้วยความที่เราสนใจในรายละเอียดว่ามนุษย์แต่ละคนมีทางเลือกยังไง จึงเลือกใช้วิธีการเขียนบทโดยหยิบยืมการทำละครแบบ ‘Devised Theatre’ ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างตัวบทจากตัวละครและนักแสดง เมื่อเราได้วัตถุดิบจากตัวละคร ทั้งฉากหลังและบริบทสังคมครบถ้วนแล้ว เราจึงโยนนักแสดงทั้งสองคนเข้าไปในพื้นที่นั้น และให้เงื่อนไขต่างๆ กับเขา หลังจากนั้นจึงเก็บข้อมูลต่างๆ จากสิ่งที่นักแสดงด้นสด (Improvise) ออกมา เพื่อนำมาเขียนเป็นบทละคร ซึ่งไดอะล็อก (Dialogue) และแอกชัน (Action) คือสิ่งที่ได้มาในช่วงเวลานี้เลย ในกระบวนการนี้เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าตัวละครทั้งสอง ปฏิบัติต่อกันอย่างไร เคมีระหว่างกันของ 2 ตัวละครจะมาปรากฏในช่วงเวลานี้แหละ คิดว่าสิ่งนี้คือจุดหลักในกระบวนการทดลองของเรา
แต่ถึงแม้ว่าบทละครของเราจะปรับสีเปลี่ยนเสียงไปมากแค่ไหน แต่เรายังต้องเคารพในสิ่งที่คุณปราณี (ปราณี-ศิริธร ณ พัทลุง) ท่านเขียนมา งั้นเราเลยเลือกเล่าเป็น 2 พาร์ตแล้วกัน พาร์ตแรกคือเรื่องราวที่คล้ายๆ ว่าจะเป็นโครงเรื่องและตัวละครลักษณะเดิม ส่วนพาร์ตที่สอง คือการเติมรายละเอียดที่ได้จากการด้นสด (Improvise) ของนักแสดงเข้ามา ดังนั้นตัวละคร ‘กมล’ ของเราไม่ได้เท่ากับเจ้าน้อยศุขเกษม เจ้าเฟื่องฟ้าเองก็ไม่ใช่ เจ้าบัวชุม แต่เราได้ทำการหยิบยืมตัวละครเหล่านั้นเพื่อมาสร้างเป็นตัวละครใหม่
Magic Moment ที่เกิดขึ้นระหว่างการ Improvise ของนักแสดง
ตอนที่ทำ Devised Theatre ฉากในโรงเรียนซึ่งมีนักแสดงนำชาย 2 คน และลูกศิษย์ที่เรียนการแสดงกับเรา 2 คน เข้าฉากไปด้วยกัน ฉากนั้นเป็นฉากง่ายๆ ไม่มีความขัดแย้งอะไรด้วย แต่ว่าเราได้ชื่อ ‘กมล’ มาด้วยความบังเอิญ ตอนนั้นยังไม่มีชื่อนักแสดงเลย เราเรียกเขาว่า ‘ชายผู้เป็นที่รัก’ กับ ‘ชายที่รัก’
ระหว่างการซ้อมลูกศิษย์เราที่เข้าไปร่วมเล่นด้วย เขาเดินเข้าไปหานักแสดง แล้วถามว่า “นายชื่ออะไร” นักแสดงก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่ทันได้คิดถึงตรงนี้ พอเบรกแล้ว เราก็มาเล่นเเซวกันว่าชื่อกมลดีไหม เพราะจำได้ว่ากมลแปลว่าดวงใจ พวกเราเลยตกลงกันว่าเป็นชื่อกมล และบังเอิญว่าพี่เเน็ตซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์กำลังเขียนโปรเจกต์เพื่อหาทุน ก็ได้ตั้งชื่อตัวละครตัวนี้ว่ากมลโดยบังเอิญเหมือนกัน ดังนั้นชื่อของละครเรื่องนี้ก็ควรจะเป็นชื่อกมลแล้วแหละ เพราะรู้สึกว่าไม่มีอะไรเหมาะไปกว่านี้แล้ว

ละครเวทีเรื่อง ‘กมล’ จะทำให้คนดูกลับไปตกตะกอนในเรื่องอะไรได้บ้าง
เราสนใจเกี่ยวกับ ‘ตำนานมะเมียะ’ ที่ผู้คนยังถกเถียงกันอยู่ว่าตัวละครของมะเมียะมีอยู่จริงหรือไม่ แต่ไม่ว่าตัวละครนี้จะมีอยู่จริงไหม ข้อสำคัญคือเรื่องราวเหล่านี้ทำให้คนจดจำและมีความรู้สึกร่วมมากๆ เราจึงสนใจในเรื่องอำนาจของการเล่าเรื่อง เพราะผู้เล่าเรื่องสามารถเลือกที่จะไฮไลต์บางส่วน และลบส่วนที่ไม่อยากเล่าออกไปได้ ทำให้เราคิดไปถึงการบันทึกประวัติศาสตร์ต่างๆ ไปด้วยว่า เรื่องราวเหล่านั้นอาจจะมีแง่มุมและความเป็นไปได้อื่นๆ เกิดขึ้นได้อีกมากมาย เพียงแต่ไม่ได้ถูกนำเสนอ เราว่าตรงนี้เป็นจุดกำเนิดของการได้มองลึกลงไปในเรื่องราวต่างๆ อย่างพินิจพิเคราะห์โดยไม่ตัดสินเร็วเกินไป
เราใช้ตัวโครงสร้างตรงนี้มาพัฒนาบทละคร โดยให้ตัวละครซึ่งเป็นผู้ดำเนินเรื่องสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นมาเล่าในมุมมองของตัวเอง ซึ่งแต่ละคนจะเล่าไม่เหมือนกันเลย
ละครเวทีเรื่อง ‘กมล’ เวอร์ชันนี้เล่าเรื่องนอกเหนือจากในตำนานอย่างไรบ้าง
ในละครเวทีเรื่อง ‘กมล’ จะเปิดเวทีให้ผู้เล่าเรื่องมาเล่าในมุมมองที่แตกต่างกัน ดังนั้นในเหตุการณ์เดียวกัน เราจะได้เห็นการพลิกมุมกลับ ปรับมุมมองไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เพียงการเล่าเรื่องเป็นเส้นตรงของคนคนเดียว แต่เราจะได้เห็นเลเยอร์ที่หลากหลายมากๆ ในเรื่องเดียวกัน โดยไม่ได้บอกว่าเรื่องไหนจริงหรือไม่จริง เเล้วเเต่ว่าผู้ชมจะมีความคิด ความเชื่อเชื่อมโยงอยู่กับเลเยอร์ไหน เป็นสิทธิ์ของคนดูในการเลือกแล้ว
เหมือนกับคำที่เขาบอกว่า ‘ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องเล่าของผู้ชนะ’ เพราะจริงๆ ในเรื่องราวใดๆ มีสิ่งอื่นที่ถูกซ่อนไว้โดยไม่ได้ถูกบันทึก เราไม่ได้จะบอกว่าใครเป็นคนดีหรือคนร้าย แต่อยู่ที่ว่าผู้เล่าจะดำเนินเรื่องไปอย่างไร อะไรคือเหตุการณ์หลักที่เขาอยากนำเสนอ ใครเป็นผู้กระทำการอะไรในนั้น
ทำให้เรานึกไปถึงเวลามีความรัก ตอนที่เราเลิกกับเเฟน สิ่งที่เราเอาไปเล่าให้เพื่อนฟังมักจะเป็นมุมมองของเราเพียงด้านเดียว คู่รักของเราเขาอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องราวเป็นแบบนี้ ดังนั้นในเรื่องราวเดียวกันเมื่อเปลี่ยนตัวละครหลัก เส้นเรื่องอาจเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

หากไม่รู้จัก ‘ตำนานมะเมียะ’ จะสามารถเชื่อมโยงกับละครเรื่องนี้ได้ไหม
เรายืนยันว่าดูได้และเข้าใจแน่นอน เพราะโครงสร้างบทที่เราบอกไปทำให้คนสามารถติดตามเหตุการณ์ไปได้เรื่อยๆ และที่สำคัญคือละครเวทีเรื่องนี้ถูกดำเนินไปด้วยคนที่รักกันและความรักซึ่งเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับคนทุกคนได้อยู่แล้ว
ผู้สร้างได้รับอะไรจากการทำละครเรื่องนี้บ้าง
การทำละครทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตเพิ่ม จากตัวละคร พื้นที่ บริบทที่เราจำเป็นต้องเข้าไปคลุกวงใน ดังนั้นทำให้เราได้เข้าใจความเปราะบางของเพื่อนมนุษย์มากขึ้น
แต่ถ้าเป็นในเชิงสกิลของการเป็นผู้กำกับและคนเขียนบท เราได้สกิลในการแก้ปัญหาและการมองเห็นความเป็นไปได้ต่างๆ มากขึ้น การทำละครโรงเล็ก เป็นงานที่ได้เงินไม่เยอะ เรามีเพื่อนร่วมทีมจำนวนมาก เพราะเราจำเป็นต้องมีทีมซัปพอร์ต ดังนั้นต้นทุนของการทำงานจึงสูงมาก ในขณะที่รายได้คือค่าตั๋วซึ่งไม่ควรที่จะแพงเกินกว่ากำลังซื้อของคนดู และจำนวนบัตรที่ขายได้ก็ไม่ได้มากเพราะที่นั่งอาจจะไม่ได้เยอะ หากเราคิดว่าสิ่งที่ได้คือเรื่องเงินจะไม่มีทางคุ้มค่าเลย
แต่งานของเรากำลังปลูกความคิดอะไรบางอย่าง การที่คนดูเขาดูจบไปแล้วยังมีบทสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ส่วนนี้แหละที่มีค่าสำหรับเรา คือการได้สร้างความคิดที่คนจะได้แชร์กัน ในฐานะคนทำละคร ฟังก์ชันตรงนี้ทำให้เรารู้สึกว่าเราได้รับอะไรบางอย่างกลับคืนมาจากการทำงาน
อีกข้อที่สำคัญคือเราได้เรียนรู้ที่จะคาดหวังและไม่คาดหวัง เราได้เรียนรู้ว่าตัวเองทำอะไรได้มากแค่ไหน ควรทำหรือไม่ควรทำอะไร เราเพียงทำสิ่งเหล่านี้ออกมาอย่างเต็มกำลังมากที่สุด ทั้งทางความคิดและกำลังกาย และไม่คาดหวังเมื่อคนที่มาดูอาจจะมีจุดที่ไม่ชอบ เราไม่สามารถทำให้ทุกคนได้รับในสิ่งที่เราอยากให้ทั้งหมดได้ เมื่อเราทำอะไรออกไป หลังจากนั้นเป็นเรื่องของคนดูแล้วว่าจะรับอะไรกลับบ้านไปได้บ้าง

ความรักมีอิทธิพลมากแค่ไหนสำหรับมนุษย์
สำหรับเรา ความรักมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตมากๆ เพราะเราเชื่อว่า ถ้าทำอะไรด้วยความรักเราจะยังคงก้าวเดินต่อไปได้เรื่อยๆ เช่น เวลาที่สอนนิสิต บางครั้งหากอยากจะตักเตือนเขา เราจะตั้งมั่นไว้ก่อนเลยว่าทุกอย่างที่เรากำลังจะทำ เราทำด้วยความรัก ดังนั้นหากสารตั้งต้นคือความรัก ทุกอย่างจะมีความสมเหตุสมผลที่เข้าใจได้ว่าทำไมเราต้องบอกต้องพูด สำหรับเราความรักคือลมหายใจเลย (หัวเราะ)
เรื่องราวของ ‘กมล’ ยังคงมีผลกระทบต่อสังคมในปัจจุบันอย่างไรบ้าง
ส่วนตัวเราคิดว่าในโลกมนุษย์ที่เราดำเนินชีวิตไป เราพบปะ เจอะเจอคน ไม่ว่าจะเป็นร้อยสองร้อยปีที่ผ่านมา ณ ตอนนี้ หรือในอนาคตข้างหน้า สิ่งที่ยังเหมือนเดิมคือ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการมีปฏิสัมพันธ์ มีตัวตน และมีความรัก ดังนั้นเรื่องความรักความสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องคลาสสิกมาก
ถ้าเราหยิบทั้ง 2 คนนี้มาไว้ในยุคปัจจุบัน แล้วตั้งคำถามว่าเขาจะเจอหรือไม่เจออุปสรรค เราอาจจะต้องระบุเลยว่าเขาทั้ง 2 คนเป็นใครในสังคมนี้ เพราะแต่ละคนก็จะมีกระบวนการในการก้าวข้าม หรือเจอในสิ่งที่ต้องรับมือด้วยแตกต่างกันไป แล้วตำแหน่งแห่งที่ที่เราอยู่นี่แหละจะบอกเราเองว่าเงื่อนไขของความรักนี้คืออะไร อาจจะมีอุปสรรคหรือไม่มีก็ได้ หรือแม้กระทั่งเป็นสิ่งที่ทำให้ยิ่งรักกันมากกว่าเดิมก็เป็นไปได้
สมัยก่อนไม่ได้มีเงื่อนไขที่มากไปกว่าปัจจุบันนี้นะ เพียงแต่ในช่วงเวลานั้นมีกฎหมายบังคับใช้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทำให้เราเห็นชัดเจนว่าปัญหาคืออะไรบ้าง ในปัจจุบันนี้เงื่อนไขอาจจะถูกซุกซ่อนอยู่ แต่ไม่ได้เเปลว่าไม่มีอยู่ แค่ว่าในทุกวันนี้ผู้คนในสังคมเริ่มตระหนักรู้และเข้าใจมากขึ้นว่า มนุษย์มีความแตกต่างหลากหลาย อย่างเช่นในเรื่องเพศคนในสังคมปัจจุบันก็เปิดกว้างมากขึ้น สังคมได้เรียนรู้ว่าทุกคนคือมนุษย์เหมือนกัน เราไม่จำเป็นต้องแบ่งแยก โลกไม่ได้มีเพียง 2 เพศอีกต่อไป สำหรับเราความรักคืออยู่ที่ว่าเรารักใคร บางทีอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องเพศเลยด้วยซ้ำ
ดังนั้นเราก็เลยคิดว่าไม่ว่าจะในยุคสมัยไหนเรื่องของกมล และ ใจวิน ยังคงทำงานกับสังคมนี้อยู่
