ย้อนรอยฉากสปาเกตตีในตำนาน ทรามวัยกับไอ้ตูบ แอนิเมชันสุนัขเต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์และโลกอุดมคติของวอลต์ ดิสนีย์

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 Perspectus Global หน่วยงานอิสระว่าด้วยการวิจัยและข้อมูลเชิงลึกระดับนานาชาติ ได้ทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจว่าฉากในร้านอาหารของภาพยนตร์เรื่องใดที่ครองใจชาวอังกฤษมากที่สุด 60% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เทใจให้ฉากสปาเกตตีในตำนานจากแอนิเมชันทรามวัยกับไอ้ตูบ ผลงานคลาสสิกของดิสนีย์ที่ออกฉายตั้งแต่ปี 1955 ฉากที่ว่าเอาชนะหนังดังอย่าง Pretty Women (1990), The Godfather (1972) และแม้แต่ Pulp Fiction (1994) ไปได้อย่างน่าทึ่ง 

เมื่อถามถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้ฉากรักของสุนัขสามารถประทับในความทรงจำของผู้ชมได้อย่างยาวนาน คำตอบที่น่าสนใจอาจเป็นว่า ฉากนี้ไม่ได้เล่าเรื่องการรับประทานอาหาร แต่เป็นการตกหลุมรักของหนุ่มสาวที่มาจากต่างที่มา ต่างประสบการณ์ และต่างฐานันดร ซึ่งเป็นเรื่องราวคลาสสิกที่แฝงด้วยความเป็นมนุษย์เป็นอย่างมาก และนั่นทำให้แอนิเมชันที่มีทุนสร้างเพียง 4 ล้านดอลลาร์ สามารถกวาดรายได้ไปมากถึง 187 ล้าน ขึ้นแท่นเป็นแอนิเมชันเกี่ยวกับสัตว์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดตลอดกาลของดิสนีย์ 

ฉากสปาเกตตีที่เกือบถูกตัดออก

‘เมืองที่ใครเห็นก็อยากอยู่’ ทรามวัยกับไอ้ตูบ แอนิเมชันสะท้อนโลกแห่งความฝันของวอลต์ ดิสนีย์

ต่างจากแอนิเมชันยุคบุกเบิกอย่างสโนไวท์ (1938) และซินเดอเรลล่า (1950) ทรามวัยกับไอ้ตูบ (หรือชื่อในภาษาอังกฤษ Lady and the Tramp) ไม่ได้ถูกสร้างมาจากโลกเทพนิยายที่มีแบบแผนอยู่แล้วและเป็นที่รู้จักของโลกตะวันตก แต่เป็นดอกผลจากการคิดใหม่ทำใหม่อย่างแท้จริง เรื่องราวของสุนัขสองตัวกับการผจญภัยในละแวกบ้าน เป็นงานออริจินัลที่ถูกเสนอขึ้นช่วงปลาย 1930 โดย โจ แกรนท์ นักวาดการ์ตูนคนสำคัญของดิสนีย์ เขานำแรงบันดาลใจเกี่ยวกับตัวเอกของเรื่องอย่าง ‘เลดี้’ มาจากสุนัขของลูกสาวซึ่งเป็นสุนัขเพศเมียพันธุ์ค็อกเกอร์ สแปเนียล

คุณลักษณะของสุนัขพันธุ์นี้คือความอ่อนโยน เป็นมิตร ไม่ก้าวร้าว และสามารถเข้ากับเด็กได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี โจสังเกตเห็นท่าทีไม่พอใจของสุนัขที่ถูกแย่งความรักหลังเขาและภรรยาหันไปเทความสำคัญให้กับลูกสาวมากกว่า โจได้ไอเดียที่จะเขียนเรื่องราวของสุนัขแสนน่ารัก และได้นำแบบร่างมาเสนอกับ วอลต์ ดิสนีย์ ซึ่งเป็นเจ้าของสตูอิโอ

ต้นแบบของเลดี้

โครงร่างของโจนำเสนอเรื่องราวที่หมุนรอบตัว ‘เลดี้’ โดยมีศัตรูตัวร้ายเป็นหนู และแมวสยามฝาแฝดของคุณป้า วอลต์ ดิสนีย์ สนใจคาแรกเตอร์ของเลดี้ แต่ไม่พอใจสตอรี่บอร์ดเพราะมันไม่มีจุดแตกหักที่น่าสนใจ เขาคิดว่าเลดี้น่ารักเกินไป น่าจะต้องหาสุนัขอีกตัวเข้ามาทำให้เรื่องราวชวนตื่นเต้น โปรเจกต์นี้ถูกพับไปเป็นเวลานานเพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้น โดยหลังจากดิสนีย์กลับมาปัดฝุ่นโครงการนี้ในช่วงปี 1950 ก็ได้ว่าจ้างให้นายวอร์ด กรีน – นักเขียนชาวอเมริกันเข้ามาร่างเรื่องราวใหม่ 

เรื่องราวในเวอร์ชันของ วอร์ด กรีน มีการเพิ่มสุนัขที่มีคาแรกเตอร์แข็งแกร่งเข้าไปคือแทรมป์ เนื้อหาโฟกัสการผจญภัยของเลดี้ สาวอ่อนหวานจากบ้านที่เพรียบพร้อม กับแทรมป์ หมาจรจัดที่ปราดเปรียวไม่เกรงใจใคร ด้วยความที่เนื้อหาทั้งหมดถูกเขียนขึ้นใหม่ทำให้การสร้างฉากหลังของเรื่อง รวมไปถึงบรรยากาศเมืองทั้งหมดถูกจินตนาการโดยทีมงานของดิสนีย์

ต้นแบบของแทรมป์
เลดี้และแทรมป์ ต้นแบบจากสุนัขจริง

วอลต์ ดิสนีย์ ตั้งใจให้เมืองที่เลดี้กับแทรมป์อยู่อาศัย สะท้อนบ้านเกิดของเขาคือเมืองมาร์เซอลีน (Marceline) ในรัฐมิสซูรี โดยหมุนเข็มนาฬิกากลับไปในช่วงปลายของยุควิกตอเรียน-เอ็ดเวอร์เดียน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี มีกล้องถ่ายภาพ มีโทรศัพท์บ้าน แต่ก็ยังมีกลิ่นอายคลาสสิกอย่างการขับรถม้าและเมืองที่ไม่พลุกพล่านจนเกินไป 

เมืองมาร์เซอลีนในเรื่องทรามวัยกับไอ้ตูบ ไม่เพียงนำเสนอช่วงเวลาชวนฝันของสังคมอเมริกัน แต่ยังให้ภาพเมืองที่อบอุ่นหัวใจ ดังที่วอลต์ ดิสนีย์ได้ให้โจทย์กับทีมงานของเขาว่า ‘เป็นเมืองที่ใครเห็นก็อยากอยู่ แต่ถ้าออกไปผจญภัยก็ให้ความรู้สึกว่าต้องมีอะไรดีๆ รออยู่ข้างหน้า’

เมืองมาร์เซอลีน เมืองในฝันที่ออกแบบมาจากบ้านเกิดของดิสนีย์

เลดี้และแทรมป์ สุนัขที่มีความฝันและความรักเช่นเดียวกันกับมนุษย์

เลดี้ สุนัขแสนน่ารักในบ้านที่อบอุ่นเป็นคาแรกเตอร์ที่เขียนขึ้นโดย โจ แกรนท์ – เพื่อนร่วมงานของวอลต์ ดิสนีย์  ที่ลาออกจากสตูอิโอไปแล้วในตอนนั้น ส่วนสุนัขข้างถนนที่เจนจัดกับการใช้ชีวิต รู้วิธีเอาตัวรอดและออกจะมองโลกในแง่ร้าย ได้แรงบันดาลใจมาจากสุนัขในบทความเรื่อง ‘Happy Dan the Cynical Dog’ ของ วอร์ด กรีน ซึ่งวอลต์ ดิสนีย์ไปอ่านเจอในนิตยสาร Cosmopolitant 

หลังเจอคาแรกเตอร์ที่ถูกใจ วอลต์ ดิสนีย์ก็ได้ออกไอเดียว่าจ้างให้ วอร์ด กรีน เขียนนิยายเรื่องใหม่โดยนำสุนัขทั้งสองมาผูกเป็นเรื่องราวเดียวกันโดยใส่แกนกลางเรื่องรักต่างชนชั้นเข้าไป กลายเป็นเรื่องราวที่โรแมนติกที่สุดเท่าที่ดิสนีย์เคยเขียนมา แอนิเมชันก่อนหน้านี้บอกแค่ว่าเจ้าหญิงเจ้าชายจะต้องตกหลุมรักกัน แต่ทรามวัยกับไอ้ตูบ โฟกัสไปที่การเล่าเรื่องให้คนดูได้เข้าใจว่าความรักเกิดขึ้นได้อย่างไร 

นิยายเรื่องทรามวัยกับไอ้ตูบฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก

แอนิเมชันเรื่องนี้ยังสะท้อนความเป็นจริงของสังคมเช่นปัญหาสุนัขจรจัด การกำจัดสุนัขที่ไม่มีใครรับไปเลี้ยงดู (ซึ่งถูกนำเสนอผ่านเงาเพื่อให้เรื่องราวไม่โหดร้ายจนเกินไป) ในเรื่องยังมีการเล่นสนุกกับบรรดาสุนัขพันธ์ุต่างๆ ที่มีคาแรกเตอร์ ลักษณะนิสัย รวมไปถึงสำเนียงการพูดที่ต่างกัน มีทั้งสุนัขพันธุ์ชิวาวาที่พูดจาติดสำเนียงเม็กซิกัน อิงลิช บูลด็อกที่พูดภาษาอังกฤษสำเนียงผู้ดี หรือสุนัขตัวใหญ่โออ่าที่พูดจาด้วยสำเนียงแบบรัสเซีย (หรือแม้แต่เจ้าของร้านสปาเกตตีที่พูดอังกฤษติดสำเนียงอิตาเลียน) การออกแบบตัวละครให้พูดสำเนียงต่างกันไม่ได้มีความตั้งใจเพื่อนำเสนอความหลากหลาย แต่เป็นการเพิ่มสีสันให้คนดูรู้สึกสนุกไปกับตัวละครที่ไม่ได้พูดอังกฤษแบบอเมริกัน

สำหรับการสร้างภาพเคลื่อนไหวภายในเรื่อง เนื่องจากตัวละครเอกเป็นสุนัข จึงต้องมีการติดตามดูพฤติกรรมของสุนัขแต่ละประเภทอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เข้าใจการขยับตัวของสุนัขแต่ละพันธุ์ กระทั่งว่าพวกมันเริ่มก้าวเท้าไหนก่อน มีการขยับหัวไหล่เป็นอย่างไร จากนั้นจึงนำมาใส่ความรู้สึกของมนุษย์เข้าไป เช่นว่าหากสุนัขต้องการบอกอีกฝ่ายให้ไสหัวไป มันน่าจะมีการขยับท่าทางแบบไหน ความรู้สึกรัก ความรู้สึกกลัว ความรู้สึกหวนแหนและอิจฉาในแบบมนุษย์จะถูกถ่ายทอดออกมาในท่าทางแบบไหนได้บ้าง 

เลดี้ซึ่งเป็นสุนัขพันธุ์ค็อกเกอร์ สแปเนียลพันธุ์แท้ มีต้นแบบมาจากสุนัขจริง 2 ตัว คือสุนัขของผู้กับกับร่วม (co-director) และสุนัขของนักแสดงผู้ให้เสียงเป็นคุณป้าซาราห์ในแอนิเมชัน ส่วนแทรมป์ซึ่งเป็นหมาพันธุ์ทางใช้ต้นแบบมาจากสุนัขจริงที่นักเขียนคนหนึ่งของดิสนีย์บังเอิญไปเจอเข้า สุนัขตัวนี้ถูกรับเลี้ยงและได้ใช้ชีวิตอยู่ที่ดิสนีย์แลนด์ไปตลอดชีวิต

ภาพร่างของเลดี้

ความรักผลิบานในจานสปาเกตตี ซีนตำนานที่เคยไม่ผ่านการอนุมัติ 

สปาเกตตีมีทบอลจานดังที่กลายเป็นสื่อรักระหว่างเลดี้กับแทรมป์ ถูกออกแบบโดยแฟรงก์ โทมัส แอนิเมเตอร์คนสำคัญของสตูดิโอที่เคยฝากผลงานไว้ในแอนิเมชันชื่อดังอย่างแบมบี้ โทมัสได้เสนอฉากนี้ในสตอรี่บอร์ด แต่ถูกวอลต์ ดิสนีย์ปัดตกในทันที เขาไม่คิดว่าสภาพของสุนัขสองตัวขณะรับประทานอาหารจะน่าดูนัก ออกจะสกปรกเลอะเทอะเกินกว่าจะนำมาใส่ในสตอรี่ 

แฟรงก์ โทมัสไม่ยอบรับการตัดสินใจของดิสนีย์ เขายืนยันจะทำให้เห็นว่าฉากนี้ออกมาสวยงามโรแมนติกได้จริง โดยเขาได้ทำฉากนี้ขึ้นมาใหม่ในลักษณะภาพร่างแบบเคลื่อนไหวเพื่อให้ดิสนีย์เข้าใจมูฟเมนต์ทั้งหมดภายในฉาก 

ภาพร่างของโทมัสทำให้ดิสนีย์เห็นว่าการตกหลุมรักก่อตัวขึ้นได้อย่างไร มันไม่ใช่ซีนทั่วไปที่นำเสนอการทานอาหารของสุนัขแต่บอกเล่าความรู้สึกที่ลึกล้ำยิ่งกว่า เมื่อดิสนีย์ได้เห็นฉากนี้อย่างละเอียด เขาเปลี่ยนใจอนุมัติให้ฉากสปาเกตตีกลับมาอยู่ในเรื่องทันที กลายเป็นอีกหนึ่งซีนโรแมนติกและเป็นที่จดจำมากที่สุดในโลกภาพยนตร์ 

ภาพร่างฉากสปาเกตตี
ฉากสปาเกตตีในตำนานที่ถูกนำมาสร้างใหม่

ยุคเปลี่ยนผ่านทางภาพยนตร์ ทรามวัยกับไอ้ตูบแอนนิเมชันเรื่องแรกของดิสนีย์ที่ผลิตในซีนีมาสโคป 

สิ่งหนึ่งที่ผู้ชมตกหลุมรักในเรื่องราวการผจญภัยของเลดี้และแทรมป์ คือฉากหลังที่สวยงามตลอดทั้งเรื่อง อ้างอิงสภาพบ้านเมืองแบบวิกตอเรียโดยมีการใส่รายละเอียดที่ชวนฝัน เช่นผ้าที่ตากอย่างขาวสะอาดกลางแดดอุ่นๆ หรือระแวกบ้านที่เขียวชะอุ่มเต็มไปด้วยต้นไม้  ในช่วงที่ทรามวัยกับไอตูบออกฉายที่สหรัฐอเมริกา โทรทัศน์เริ่มเป็นที่นิยม ทำให้เกิดการแข่งขันว่าผู้ชมจะยอมจ่ายค่าตั๋วเพื่อเข้ามาชมภาพยนตร์ในโรงหนังอีกหรือไม่ เป็นช่วงเวลานั้นเองที่เทคนิคซีนีมาสโคป (CinemaScope) เริ่มถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางเพื่อตอบโจทย์ความสมจริงในแบบที่โทรทัศน์ในบ้านไม่สามารถทำได้  

ฉากบ้านเมืองในเรื่องในเทคนิคแบบซีนีมาสโคป
การตกแต่งบ้านแบบวิกตอเรียในมุมมองที่เลดี้มองเห็น
ระแวกบ้านที่น่าอยู่ชวนฝัน โฟกัสไปที่มุมมองของสุนัขที่มีพื้นเป็นหลัก

ภาพยนตร์ในระบบซีนีมาสโคปให้ความยาวของภาพมากกว่าระบบเดิม ทำให้การลงรายละเอียดในฉากทำได้มากขึ้น เพิ่มความสมจริงให้ผู้ชมรู้สึกประหนึ่งว่าตัวเองอยู่ในเหตุการณ์ งานจึงมาตกที่นักวาดฉากของเรื่องเพราะต้องทำให้ทั้งซีนมีรายละเอียดน่าสนใจ แต่ก็ต้องไม่มากเกินไปจนผู้ชมไขว้เขวจากตัวละครหลัก สิ่งสำคัญคือการสร้างมุมมองของแอนิเมชันให้อยู่ในระนาบเดียวกับสุนัข ดังนั้นแทนที่จะวาดฉากโดยใช้ท้องฟ้าเป็นตัวตั้ง ฉากในทรามวัยกับไอตูบจะถูกวาดโดยใช้พื้นดินเป็นส่วนประกอบหลัก ทีมงานถึงขั้นสร้างโมเดลขึ้นมาเพื่อทำความเข้าใจว่ามุมมองของสุนัขเมื่อต้องเดินอยู่ในพื้นที่ต่างๆ จะมองสิ่งรอบข้างออกมาเป็นแบบไหน 

โมเดลบ้านสำหรับจำลองการมองเห็นของเลดี้
โมเดลบ้านสำหรับจำลองการมองเห็นของเลดี้

เทคนิคซีนีมาสโคปที่ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในสตูดิโอของวอลต์ ดิสนีย์ เปิดโอกาสให้เขาได้สร้างเมืองทั้งเมืองขึ้นมาใหม่ตามที่ใจคิดฝัน เมืองมาร์เซอลีนในเวอร์ชันทรามวัยกับไอตูบ นอกจากจะถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงบ้านเกิดของชายที่อยู่เบื้องหลังโลกเทพนิยายอันยิ่งใหญ่ วอลต์ ดิสนีย์ ยังได้นำแรงบันดาลใจจากเมืองที่ถูกสร้างขึ้นในเรื่องนี้ มาสานต่อจนกลายเป็นดิสนีย์แลนด์ ดินแดนแห่งความรักและเสียงหัวเราที่เปิดประตูตอนรับผู้มีความฝันในทุกช่วงวัย 

ครอบครัวอุดมคติในเมืองอุดมคติของชาวอเมริกันคือภาพชวนฝันที่กลายเป็นดิสนีย์แลนด์ในเวลาต่อ

References: 

the Iconic ‘Lady and the Tramp’ Spaghetti Kiss Scene Almost Never Happened https://www.yahoo.com/entertainment/lady-and-the-tramp-spaghetti-scene-121119404577.html?guccounter=1&guce_referrer=aHR0cHM6Ly93d3cuZ29vZ2xlLmNvbS8&guce_referrer_sig=AQAAAEwNxIs8Sa4gA9H9yOmYvyjw2GN7-Y0NnIzlTcXmD6ci-S-62utJ9UzS3nBDksHt2AyjwAnjsGpqsclW5CsSDndWUP5aEwkeET6H809JHS6Ms0Kd6LpN3yr6QV3R1MU83BhqVFXn1kh-wt2TEL7UHWC66ZZf4bH-NWUZkwcuh5l9 

You can’t beat puppy love! Lady and the Tramp’s iconic spaghetti moment is voted the nation’s favourite restaurant movie scene https://www.dailymail.co.uk/tvshowbiz/article-8488797/Lady-Tramps-spaghetti-moment-voted-nations-favourite-restaurant-movie-scene.html?fbclid=IwAR2TO74Km4SYSvYBnVZpjt3IxLwVfePLnk1Wjf8A3bEvyq25WIaOOAMijlo 

Walt Disney Tried To Remove The Famous Spaghetti Scene From Lady And The Tramp

https://www.slashfilm.com/1154141/walt-disney-tried-to-remove-the-famous-spaghetti-scene-from-lady-and-the-tramp/

Lady’s Pedigree: The Making of Lady and the Tramp (1955) https://www.youtube.com/watch?v=GFvjpRchYZ0&t=767s 

AUTHOR