Kyrie : จักรวาลนักร้องสาว ความเจ็บปวด และบทเพลงแห่งความหวังของ ชุนจิ อิวาอิ

“สิ่งที่เรารักที่สุด เพื่อน ครอบครัว คนรัก คือสิ่งที่ทำร้ายเรามากที่สุด” นี่คือประโยคดังจากภาพยนตร์เรื่อง All About Lily Chou-Chou (2001) ของ ชุนจิ อิวาอิ ที่มักมีภาพจำว่าเป็นหนังสุดหดหู่ทรมานจิตใจ แต่หากพิจารณาให้ดีแล้วบทสรุปของหนังก็ส่องแสงสว่างเล็กๆ ออกมา และพูดให้ถึงที่สุดแม้ตัวละครของอิวาอิมักจะต้องพานพบความเจ็บปวดนานัปการ แต่สุดท้ายเศษเสี้ยวความหวังเล็กน้อยยังรอพวกเขาอยู่ แม้มันอาจจะมองเห็นได้ไม่ง่ายนัก

อิวาอิทำหนังมาตั้งแต่ยุค 90 เขามีลายเซ็นที่ค่อนข้างชัดเจน หนึ่งในนั้นคือการทำหนังที่มีตัวตัวละครเอกเป็นนักร้องผู้หญิงบุคลิกแปลกประหลาด แต่ปฏิเสธไม่ได้ถึงเสน่ห์บางอย่าง นอกจากนางเอกแล้ว เพลงจากหนังก็ล้วนเป็นที่จดจำ จนเมื่อเดือนตุลาคม 2023 อิวาอิได้ทำการสรุป ‘จักรวาล’ ของตัวเองด้วยการจัดคอนเสิร์ตจากหนังสาม เรื่องของเขา ได้แก่ Swallowtail Butterfly (1996), All About Lily Chou-Chou และผลงานล่าสุดอย่าง Kyrie (2023) (เข้าฉายบ้านเราเมื่อ 18 มกราคม 2024)

               ตัวอย่างหนัง Kyrie https://www.youtube.com/watch?v=TPYzKnZKGUk

ในบรรดาหนังชุดนี้ Swallowtail Butterfly อาจเป็นที่รู้จักน้อยสุด แต่ช่วงยุค 2000 มันเป็นที่นิยมของนักดูหนังนอกกระแสทีเดียว (สมัยนั้นต้องดูจากวีซีดีหรือดีวีดีผี) หลังจากโด่งดังด้วยหนังโรแมนติกอย่าง Love Letter (1995) อิวาอิก็ทำคนดูช็อคด้วยการหันมาทำหนังอาชญากรรมจี้ปล้น ตัวละครเต็มไปด้วยพวกชายขอบแบบคนไร้บ้าน ผู้ลี้ภัย โสเภณี อีกทั้งโตเกียวในหนังยังดูสกปรกโสมม พร้อมด้วยการถ่ายภาพแบบแฮนด์เฮลด์แสนดิบเถื่อน

หนึ่งในจุดเด่นของอิวาอิคือการจับเอานำสิ่งอัปลักษณ์และสวยงามมาปะทะกัน และหลายครั้งเขาก็ใช้เพลงเป็นกุญแจหลัก อย่างใน Swallowtail Butterfly มีเพลงร็อคเมโลดีงามของ Yen Town Band วงสมมติในหนัง ซึ่ง Chara นักร้องสาวเสียงแหบกร้านรับบทร้องนำและยังแสดงในหนังด้วย ส่วนอีกเพลงเอกคือ My Way ของ แฟรงค์ ซินาตรา (Frank Sinatra) ที่ขับกล่อมทั้งเรื่อง ราวกับส่งสารว่าท่ามกลางสังคมที่โหดร้าย ตัวละครในเรื่องก็ยังมี ‘หนทาง’ ของพวกเขา

ส่วน All About Lily Chou-Chou ถือเป็นหนังของอิวาอิที่ป็อปที่สุดในบ้านเรา ทั้งฉายโรงซ้ำหลายรอบ แถมมีให้ดูในสตรีมมิงเจ้าดัง เรื่องราวของเด็กหนุ่มที่หลงใหลในนักร้องสาวปริศนานาม ลิลี่ ชูชู (นำแสดงโดย Salyu) หนังเป็นที่จดจำจากเพลงของลิลี่ที่ล่องลอยราวมาจากต่างโลก (ซึ่งต้องยกความดีให้ ทาเคชิ โคบายาชิ นักแต่งเพลงคู่บุญของอิวาอิ) ขณะเดียวกันท่ามกลางฉากบุลลี ข่มขืน ฆาตกรรม อิวาอิกลับเลือกใช้เพลงชวนฝันของ โคลด เดอบุสซี (Claude Debussy) ตลอดเรื่อง และดูเหมือนบทเพลงของเดอบุสซีนี่เองที่เป็นสิ่งที่ทำให้ตัวละคร (รวมถึงคนดู) นึกได้ว่าโลกมันไม่ได้ดำมืดไปเสียทั้งหมด

อิวาอิกลับมาทำหนัง ‘นักร้องผู้หญิงประหลาด’ อีกครั้งใน Kyrie เขาตั้งใจตั้งแต่ต้นให้หนังเรื่องนี้เป็น Music Film ซึ่งเป็นคนละความหมายกับหนัง musical ที่ตัวละครลุกขึ้นมาร้องเพลงอย่างไร้กฎเกณฑ์ แต่หมายถึงหนังที่สื่อสารเนื้อหาและอารมณ์ด้วย ‘เพลง’ เป็นหลัก อิวาอิเคยให้สัมภาษณ์อย่างติดตลกว่าตอนปรึกษากับเพื่อนว่าจะทำหนังแนว Music Film ดีมั้ย เพื่อนก็ตอบว่า “ในโลกนี้ผู้กำกับท็อปทรีที่ทำหนังแนวนี้ได้ต้องมีชื่อนายนะ” เพราะเขาเคยทำมาแล้วในผลงานก่อนหน้า อีกทั้งอิวาอิยังเข้าใจดนตรีเป็นอย่างดี เขากำกับมิวสิกวิดีโออยู่เรื่อยๆ สามารถแต่งเพลงประกอบหนังเองได้ และก่อนจะทำเรื่อง Kyrie เขายังหาเวลาไปเรียนกีตาร์กับเปียโนเพิ่มเติม

เดิมทีนั้นอิวาอิตั้งใจให้ Kyrie เป็นเพียงหนังสั้นเกี่ยวกับ “นักดนตรีสาวกับผู้จัดการที่มาจากต่างจังหวัด” แต่เมื่อเขาได้พบ ไอนะ ดิ เอนด์ (AiNA THE END อดีตไอดอลวง BiSH ปัจจุบันเป็นศิลปินเดี่ยว) อิวาอิประทับใจในตัวเธอจนเขียนเรื่องเพิ่มเติมให้เป็นหนังยาว ท้ายสุด Kyrie จึงเล่าถึงเด็กสาวชื่อคิริเอะที่พูดไม่ได้ แต่สื่อสารกับผู้คนด้วยการร้องเพลง และยังมีเส้นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้คนรอบตัวเธอ จนหนังมีความยาวทะลุไปถึง 178 นาที! (แต่เวอร์ชันที่ฉายนอกญี่ปุ่นรวมถึงบ้านเราจะตัดเหลือสองชั่วโมง)

เช่นเดียวกับ Chara และ Salyu ไอนะเป็นนักร้องที่มีเสียงไม่เหมือนใคร ชนิดที่ว่าไม่ชอบก็คงเกลียดไปเลย อิวาอิให้สัมภาษณ์ว่าเขาเขียนบทหนังโดย “จินตนาการถึงเสียงของเธอไปด้วย” และแม้ไอนะจะไม่เคยเล่นหนัง อิวาอิก็ไม่ได้กำกับเธออย่างเคร่งครัด แต่ปล่อยให้เธอด้นสดได้ตามสบาย ไอนะให้สัมภาษณ์ว่าการเล่นหนังเรื่องนี้เหมือนการเต้น contemporary dance ซึ่งอาจไม่ใช่คำกล่าวเกินจริงนัก เพราะถ้าได้ดูหนังเรื่องนี้หรือเคยดูคลิปการแสดงสดของไอนะ ก็จะเห็นว่าเธอเป็นคนที่มีภาษากายและการเคลื่อนไหวที่พิเศษมาก

บทวิจารณ์ต่างประเทศชิ้นหนึ่งเขียนถึงไอนะว่า “เธอเป็นนักร้องที่ดี แต่อาจไม่ใช่นักแสดงที่ดี” ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วยนัก ส่วนตัวแล้วไอนะสอบผ่านฉลุยในแง่นักแสดง อิวาอิรู้ดีว่าเธอเป็นคนไม่เหมือนใคร เขาเลยจงใจให้เธอเล่นเป็นคน ‘ไม่ปกติ’ ตามบรรทัดฐานสังคม (แถมไอนะยังรับสองบท พี่สาวและน้องสาวที่บุคลิกต่างกัน) ส่วนฉากร้องเพลงก็แทบไม่ต้องห่วงอะไร เพราะไอนะร่วมแต่งเพลงในหนังถึง 6 เพลง ทุกฉากร้องเพลงของเธอจึงแทบเป็นการร้องแบบกรีดเลือดกรีดเนื้อตัวเองออกมาเป็นเนื้อเพลง

ตัวละครประเภท ‘หนุ่มสาวผู้หลงทาง สับสน สิ้นหวัง’ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ประจำในหนังของอิวาอิ แต่ Kyrie ยกระดับความเจ็บปวดขึ้นด้วยการผูกชีวิตเหล่าตัวละครเข้ากับเหตุการณ์สึนามิ 11 มีนาคม 2011 หนังจงใจถ่ายใน 4 ภูมิภาคของญี่ปุ่น อาจไม่ใช่แค่เรื่องวิวทิวทัศน์ แต่เป็นการแสดงถึงความเจ็บปวดระดับชาติ อย่างที่อิวาอิสัมภาษณ์ว่า “ผมรู้สึกว่าทั้งประเทศญี่ปุ่นเจ็บปวดอย่างสาหัสจากแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งนั้น ผมใช้เวลาอยู่นานกว่าจะตกผลึกได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นและชีวิตของผู้คนหลังจากเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร”    

อันที่จริงอิวาอิเคยทำสารคดีสึนามิมาแล้วใน Friends After 3.11 (2011) แต่ดูเหมือนเขาจะยังไม่มูฟออนจากโศกนาฏกรรมครั้งนั้น อาจเพราะ หนึ่ง-บ้านเกิดของอิวาอิอยู่ในภูมิภาคโทโฮคุที่เป็นจุดเกิดเหตุ และสอง-แม้จะล่วงเลยมาเกินสิบปีแล้ว ผลพวงต่อเนื่องจากสึนามิ 3.11 ก็ยังไม่จางหายไปไหน มีเรื่องราวคาราคาซังมากมาย เช่น หมู่บ้านและบ้านเรือนที่ถูกทิ้งร้าง การจัดการกากกัมมันตรังสี ข้อถกเถียงเรื่องการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงทะเล แต่สำคัญสุดคงเป็นสภาพจิตใจของผู้คนที่ไม่มีวันเยียวยาหายสนิท

หากเป็นหนังฮอลลีวูดสูตรสำเร็จ Kyrie อาจจะจบด้วยการที่นางเอกเป็นนักร้องผู้ประสบความสำเร็จ ประกวดชนะรางวัลอะไรสักอย่าง ไวรัลในโลกโซเชียล และมุ่งหน้าใช้ชีวิตอย่างสดใส แต่อิวาอิเลือกจบ Kyrie อย่างเรียบง่ายและสามัญ ซึ่งเจ้าตัวก็พูดถึงประเด็นนี้ไว้น่าคิดว่า “ผมจะเลือกจบให้ตัวละครโด่งดังหรือก้าวข้ามบาดแผลของตัวเองก็ได้ แต่ผมคิดว่ามันไม่สมจริงสักเท่าไร ผมอยากให้ผู้ชมรู้สึกว่าชีวิตสามัญธรรมดาของตัวละครเหล่านี้มันพิเศษ และเราทุกคนควรพยายามใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน”

AUTHOR