วัฒนธรรม K-pop กับวิธีคิดสู่ความสำเร็จแบบเกาหลีใต้

ผ่านมาสักพักแล้ว แต่ฉันยังจำความรู้สึกวันนั้นได้ดี 

ตั้งแต่เช้าที่ฉันตามหาซื้อบัตรเข้าชมพิธีประกาศผลรางวัล Golden Disc Awards ครั้งที่ 37 โดย TikTok ซึ่งครั้งนี้พิเศษมากตรงที่เป็นการบินตรงจากประเทศเกาหลีใต้มาจัดที่ไทยเป็นครั้งแรก

ด้วยความที่คุณ ‘j-hope’ จากวง BTS จะมาร่วมงานในวันนี้ ฉันก็เลยรีบตามล่าหาบัตรตั้งแต่ตื่นนอน 

แล้วโชคชะตาก็พาให้น้องคนนึงต้องปล่อยบัตรเพราะลางานไม่ได้ ฉันเลยใช้ความรวดเร็วเดมไปทันที

ฉันตั้งใจจะออกจากบ้านตอนช่วงบ่าย แต่ยังไม่สิบโมงเช้าน้องๆ ก็เริ่มทวีตภาพมารอหน้างานกันแล้ว ฉันก็เลยต้องรีบลุกขึ้นหาเสื้อผ้าใส่ไปงาน

วัฒนธรรมการเป็นแฟนคลับ K-pop เป็นสิ่งที่ใหม่มากสำหรับฉัน จากการทำความเข้าใจเบื้องต้นก็พบว่าเป็นความรัก ความชื่นชอบ ความผูกพัน และดูแลกันมากถึงมากที่สุด

น้องหลายคนทวีตว่าตอนนี้มารอแล้วนะ เอาแซนด์วิช ขนม ของทานเล่นมาฝากเพื่อนๆ ด้วย

บางคนก็บอกว่าทำโฟโต้การ์ดมาแจกนะคะ แวะมารับด้วยๆ

ส่วนฉันก็นั่งอ่านไป ในใจก็นึกว่าอยากทำอะไรให้บ้าง

วันนี้ก็เลยขอสรุปวิธีคิดดีๆ ที่นำสู่ความสำเร็จบนเวทีพิธีประกาศรางวัล GDA ครั้งที่ 37 ที่สนามราชมังคลากีฬาสถานในวันนั้นค่ะ

อย่างแรกคือ ความทุ่มเท มุ่งมั่นและพยายามอย่างที่สุด 

กว่าจะเป็นไอดอล K-pop ได้ ต้องฝึกซ้อมอย่างหนักทุกวันเป็นเวลาหลายปี ระหว่างทางก็ต้องมีความรู้สึกท้อแท้เป็นธรรมดา แต่ก็ต้องไม่ให้ความรู้สึกนั้นมาบั่นทอนความตั้งใจ และถ้าเกิดล้มลงไป ก็ต้องลุกขึ้นมาใหม่ แล้วสู้ต่อไปอย่างไม่ลดละ

อย่างที่สองคือ การเคารพการมีอยู่ของกันและกัน

K-pop จะมี ‘ลีดเดอร์’ ของวง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเสมอไป (เรื่องความนิยมจะตามมาทีหลัง) แต่ลีดเดอร์ต้องเป็นศูนย์กลางของวง เป็นคนที่สมาชิกในวงฟังความคิดเห็น เป็นผู้นำในทุกก้าวย่าง และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเมมเบอร์และแฟนคลับทุกคน ในทางกลับกันลีดเดอร์ก็ต้องให้ความสำคัญกับเมมเบอร์ในวงด้วย

อย่างที่สามคือ ความเป็นมืออาชีพ

ลองคิดดูว่าไอดอลชาวเกาหลีต้องเดบิวต์ปรากฏตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกด้วยอายุเพียง 10 กว่าๆ  ไม่ถึง 15 ปี (อย่างสมาชิกวง New Jeans บางคนก็เดบิวต์ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 15 ปี) แต่ต้องอยู่ท่ามกลางสปอตไลต์ รับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามารอบด้าน ทั้งความรักจากแฟนคลับ ความไม่เข้าใจของคนที่ไม่ชอบ ความหมั่นไส้ของคนที่ไม่ถูกชะตา ยังไม่รวมสายตาของ ‘ทุกคน’ ที่มองเข้ามา เคไอดอลจึงจำเป็นต้องมีความเป็นมืออาชีพมากพอที่จะรับสิ่งต่างๆ ที่ถาโถมมาพร้อมๆ กันได้ 

อย่างที่สี่คือ ความรู้สึกขอบคุณ

“ขอบคุณแฟนคลับ”

“ขอบคุณทีมงาน”

“ขอบคุณผู้จัดและผู้สนับสนุน” 

“ขอบคุณเมมเบอร์ในวง”

“ขอบคุณทุกๆ คน” 

คำขอบคุณที่ไม่มีสิ้นสุดคือสิ่งที่ไอดอล K-pop บอกทุกคนเสมอๆ เพราะถ้าไม่มี ‘ทุกคน’ ก็จะไม่มีวันนี้ จึงไม่มีไอดอลชาวเกาหลีคนไหนที่ขึ้นรับรางวัล GDA โดยไม่กล่าวคำคำนี้เลย

อย่างที่ห้าคือ ความเป็นหนึ่งเดียว

คุณนิชคุณซึ่งร่วมเป็นหนึ่งในพิธีกรของวันนั้นพูดถึงเรื่อง ‘ความเป็นหนึ่งเดียว’ ของ K-pop ตอนแรกฉันไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้วสิ่งนั้นคืออะไร? แต่พอจบพิธีประกาศรางวัล ฉันก็สัมผัสถึงสิ่งนี้ได้ทุกอณู

การที่ K-pop ทำให้แฟนคลับรักกัน ทำของมาแจกกันและกัน ทำโปรเจกต์ร่วมกันเพื่อแสดงความรักที่มีต่อศิลปิน

การที่เสียงร้องและท่าเต้นของคุณ PSY ทำให้แฟนคลับไทยที่ไม่ค่อยลุกขึ้นมาเต้นในสนาม กรี๊ดและกระโดดขึ้นมาทันทีที่อินโทรเพลง That That ดังขึ้น แล้วยังดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคุณ PSY ต่อด้วยเพลง Gangnam Style

การที่คุณนิชคุณ, Jay Park, วง SEVENTEEN, Stray Kids, ENHYPEN เป็นแบบอย่างที่ดีของ Good, good boy ที่มีความพยายาม มุ่งมั่น และแน่วแน่ในแบบชาวเกาหลี (ไม่ใช่ Good, bad boy นะคะ 555)

การที่น้องมินนี่ คนรุ่นใหม่จากประเทศไทย เฉิดฉายรับรางวัลบนเวทีงาน GDA ครั้งที่ 37 พร้อมๆ กับสมาชิกในวง (G)-IDLE 

(คราวหน้าน้องลิซ่ากับน้องแบมแบมต้องมานะคะ)

และการที่ j-hope แห่งวง BTS เรียกเสียงกรี๊ด “พี่โฮป พี่โฮป” แบบไม่มีหยุดตั้งแต่มาถึงสนามบิน ในงานวันนั้น และก่อนกลับไปยังเกาหลีใต้ 

เหล่านี้เป็นการหล่อหลอมให้เกิดความรู้สึกรักกันและเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเรา

ทำให้เรารู้สึกว่าวันหนึ่งความพยายามของเราจะนำสู่ผลลัพธ์ที่ดีงาม

งั้นวันนี้ก็ขอขอบคุณ K-pop ไอดอล แฟนคลับ และทุกๆ คนด้วยนะคะ

>ภาพ: จินนี่ สาระโกเศศ

AUTHOR