John Wick: Chapter 4 ภาพสะท้อนของเกมการเมืองและการสร้างมาตรฐานใหม่กับหนังแอ็กชันโลก

ก่อนเข้าสู่ยุคสหัสวรรษหนังเรื่อง The Matrix (1999) ของสองพี่น้อง Wachowski ได้สร้างภาพของหนังแอ็กชันใหม่ขึ้นมา โดยใช้การสโลว์ของภาพและมุมกล้องที่หมุนรอบตัวละครจนเกิดเป็นชื่อที่เรียกฉากสไตล์นี้ว่า Bullet time แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะไม่ได้เป็นผู้ที่คิดค้นซีนแบบนี้เป็นคนแรกก็จริง แต่ The Matrix ก็ทำให้ฉากหลบกระสุนที่ว่านี้กลายเป็นความป็อปที่คนในแวดวงครีเอทีฟและศิลปะต่างๆ ทั่วโลกได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการทำงานของตัวเองกันมากมาย ซึ่งผ่านมามากกว่า 23 ปี แล้วก็ตาม ฉากที่ว่านี้ก็ยังถูกนำมาใช้อยู่เรื่อยๆ ในงานวิชวลต่างๆ และมันก็สร้างความรู้สึกตื่นเต้นให้กับคนดูได้เสมอ 

ต่อมาวงการหนังแอ็กชันฮอลลีวูดก็เกิดความเปลี่ยนแปลงอีกครั้งจากการมาของหนังสายลับอย่าง The Bourne Identity (2002) ที่นำเสนอภาพของการต่อสู้ที่เน้นความสมจริง กระชับ ฉับไว และทำให้หนังสายลับรุ่นพี่ที่มีก่อนหน้านั้นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเสียใหม่ รวมทั้งการวางรากฐานและออกแบบฉากต่อสู้ที่ไม่สามารถน้อยกว่าสิ่งที่ เจสัน บอร์น ได้สร้างเอาไว้อีกแล้ว 

เมื่อทิศทางของหนังบู๊แอ็กชันเริ่มนิ่ง การเกิดขึ้นของแฟรนไซส์หนังซูเปอร์ฮีโร่ก็เริ่มเบ่งบาน จนกลายเป็นลูกรักของฮอลลีวูดและตารางทำเงินบล็อกบัสเตอร์ยาวนานนับสิบปี แม้ว่านานๆ ทีจะมีหนังที่สร้างปรากฏการณ์ขึ้นมาได้บ้างก็ตาม แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนนั้นก็น้อยมากจนนึกภาพไม่ออกว่านอกจากเรื่องของการพัฒนาด้านวิชวลเอฟเฟ็กต์แล้ว ฮอลลีวูดจะมีอะไรมาให้เราได้ตื่นเต้นกันได้อีกบ้าง 

จนกระทั่งการเกิดขึ้นมาของหนังฟอร์มเล็กๆ อย่าง John Wick ในปี 2014 ที่ภาคแรกนั้นเป็นหนังเกรดบีทั่วไป และทำรายได้แค่พอประมาณแต่เมื่อเวลาผ่านไปตัวหนังกลับถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะหนังแอ็กชันที่น่าสนใจ จนมีโอกาสได้สร้างภาคต่อและกลายเป็นหนังที่สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการหนังแอ็กชันของโลกทันที

ในขณะที่หนังซูเปอร์ฮีโร่ของ Marvel กำลังโรยแรงในเฟสที่สี่ ทางด้าน DC ก็เข้าสู่การรีเซตจักรวาลหนังใหม่ จะมีแต่ John Wick: Chapter 4 ที่กลับได้การต้อนรับที่อบอุ่นจากคนดูในรอบเปิดตัวอย่างล้นหลาม (เมื่อเทียบกับ The Matrix Resurrections (2021) ที่คว่ำสนิท) ยืนยันด้วยเสียงปรบมือที่ดังกึกก้องในรอบสื่อจากหลายๆ ประเทศ รวมทั้งที่ประเทศไทยด้วย ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ทางทีมงานเองก็ต้องฝ่าฟันและเค้นไอเดียของตัวเองออกมาจนเรียกว่าหมดเกลี้ยง โดยที่ตัวผู้กำกับออกมาบอกเองว่าหลังจบหนังภาคสี่เขาขอพักเรื่องของ John Wick ไปยาวๆ ก่อนเพราะไม่รู้จะเอาอะไรมาเล่นอีกแล้ว

แต่กว่าที่หนังจะประสบความสำเร็จจนเกิดเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ของหนังแอ็กชันฮอลลีวูดได้แล้ว เส้นทางของหนังเรื่องนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเลยตรงกันข้ามกลับเต็มไปด้วยดงกระสุนมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะเดิมทีสองผู้กำกับหนัง แชด สตาเฮลสกี (Chad Stahelski) และ เดวิด ลีตช์ (David Leitch) นั้น อาชีพหลักของพวกเขาคือ สตันต์แมน และเป็นผู้ช่วยผู้กำกับบ้าง แต่งานกำกับภาพยนตร์แบบเต็มตัวของพวกเขาทั้งสองนั้นยังไม่เคยมีมาก่อน ยิ่งไอเดียการสร้างหนัง John Wick ภาคแรกนั้นมาจากการที่พวกเขาพูดคุยกับ คีอานู รีฟส์ (Keanu Reeves) ที่เคยร่วมงานในหนังไตรภาค The Matrix กันมาก่อน ว่าอยากทำหนังแอ็กชันมันๆ สักเรื่อง เพื่อให้คนอยากตีตั๋วเข้ามาดูหนังในโรงภาพยนตร์กันอีกครั้ง หลังจากที่ช่วงนั้นคนอเมริกันเริ่มนิยมดูหนังทางสตรีมมิงมากกว่า

ด้วยความที่พล็อตหนังของ John Wick ภาคแรกนั้นในสายตาของค่ายหนังคงดูทรงแล้วไม่น่าจะไปรอด ซึ่งว่าด้วยเรื่องของนักฆ่ามืออาชีพที่เกษียณตัวเองออกจากวงการไปแล้ว และกลับมาจับปืนอีกครั้งเพื่อล้างแค้นให้กับหมาของตัวเองที่ถูกลูกชายมาเฟียยิงและชิงรถคันโปรดของเขาไป เกิดเป็นการแหกกฎของโลกนักฆ่าจนเกิดเป็นการไล่ล่าระดับถูกตั้งค่าหัวเป็นเงินหลายล้านดอลลาร์ ถ้าว่ากันตามตรง ณ วันนั้น มันคือพล็อตที่มีความเป็นหนังเกรดบีสูง (หรืออาจจะเป็นหนังเพื่อทำลงสู่ตลาดโฮมวิดีโอเลยก็ยังได้) และชื่อชั้นของสองผู้กำกับก็ไม่ได้ใหญ่โตแบบ เควนติน แทแรนติโน แต่โชคดีที่หนังได้ชื่อของ Keanu Reeves มาช่วยแบกเอาไว้ ทำให้พวกเขาได้ทุนสร้างมาในระดับหนึ่ง (ประมาณ 20 ล้านเหรียญฯ) ทำให้หัวหอกทั้งสามจึงต้องรัดเข็มขัดและคุมงบประมาณให้ดีที่สุดเพื่อแลกกับหนังในอย่างที่พวกเขาอยากให้เป็น จนในที่สุดหนังภาคแรกก็ทำเงินพอหอมปากหอมคอ เก็บรายได้ไปประมาณ 80 ล้านเหรียญฯ ส่งผลให้ทีมงานได้ไฟเขียวให้สร้างภาคต่อได้ (โดยทางสตูดิโอเพิ่มทุนสร้างให้เป็น 40 ล้านเหรียญฯ สำหรับหนังภาคสอง)

John Wick: Chapter 2 (2017) จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของหนังชุดนี้ ซึ่งทีมงานได้ออกแบบและสร้างโลกของเหล่านักฆ่าขึ้นมาเพื่อเติมองค์ประกอบของหนังให้มีน้ำหนักมากขึ้น โดยขยายเรื่องราวไปยังโรงแรม The Continental ให้เข้ามาเป็นหนึ่งในตัวละครหลักของเรื่อง รวมถึงการให้ความสำคัญของการออกแบบงานภาพที่สำคัญพอๆ กับฉากต่อสู้ จนกลายเป็นองค์ประกอบที่โดดเด่นและสามารถนำมาสร้างเป็นส่วนต่อขยายของตัวเองต่อไปได้หลังจากจบหนังชุดนี้

ถ้าใครเริ่มรู้สึกคุ้นๆ กับพล็อตเรื่องประมาณนี้ ใช่แล้ว! มันคือพล็อตที่อยู่ในหนังและนิยายกำลังภายในจีนหลายๆ เรื่องนั้นเอง ทั้งจอมยุทธ์ที่ล้างมือออกไปจากยุทธภพและต้องกลับเข้ามาอีกครั้งด้วยเหตุผลบางอย่าง เรื่องของบุญคุณและความแค้นที่ต้องชำระ โรงเตี๊ยมของเหล่าจอมยุทธ์ที่มีกฎเหล็กว่าห้ามต่อสู้กันภายในพื้นที่ของโรงแรมแต่สุดท้ายก็เกิดการต่อสู้ขึ้นจนได้ (อย่างในหนังเรื่อง Dragon Inn (1992) หรือเดชคัมภีร์แดนพยัคฆ์ ก็เป็นหนังที่มีพล็อตเรื่องคล้ายๆ กัน)  การดูแลควบคุมความเป็นไปของยุทธภพจากพรรคใหญ่ เช่น พรรคเหรียญทองของเซี่ยงกัวกิมฮ้งในฤทธิ์มีดสั้น (ซึ่งเหรียญทองนั้นก็ยังเป็นไอเท็มที่นักฆ่าใช้ในการซื้อสิทธิพิเศษในหนังด้วย) และการหาทางโค่นอำนาจของสำนักในปกครองเพื่อขึ้นสู่อำนาจแทน เป็นต้น

ดังนั้นการที่ทีมงานใส่เรื่องของโรงแรม The Continental และสภาสูงเข้ามา ทำให้เนื้อหาของ John Wick มีความหนักแน่นมากขึ้น จากหนังที่มีเนื้อเรื่องไม่เกินสองบรรทัดในภาคแรก สู่การแตกประเด็นไปพูดถึงเรื่องของการท้าทายอำนาจ คนคุมเกม และการเมืองในโลกของนักฆ่า โดยแฝงปรัชญาของชาวตะวันออกเอาไว้อย่างกลมกลืน ด้วยการนำพล็อตของยุทธจักรหนังจีนมาปรับใช้ในหนังตะวันตกที่ปรุงออกมาแล้วกลายเป็นความสดใหม่ และหยิบยืมไอเดียจากหนังฮ่องกงและหนังญี่ปุ่นยุค 80-90 มาใช้อย่างเต็มที่

จากเนื้อเรื่องของชายวัยชราคนหนึ่งที่อดีตเป็นนักฆ่าฝีมือดีออกตามล้างแค้นให้กับสุนัขของตัวเองในหนังภาคแรก ก็ขยายตัวออกเป็นเรื่องราวที่ใหญ่ขึ้น ในขณะเดียวกันตัว John Wick ก็ค่อยๆ ถูกบีบโดยอำนาจของสภาสูงและเหล่าผู้มีอำนาจในเรื่องให้ค่อยๆ เล็กลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นหมากตัวหนึ่งเพื่อให้แต่ละฝ่ายใช้ตัวเขาเพื่อหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง

ฝ่ายสภาสูงต้องการใช้ John Wick มาเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู เพื่อให้คนที่อยู่ใต้การปกครองเห็นว่าจุดจบของคนที่พยายาม ‘ละเมิดกฎ’ นั้น ต้องพบเจอกับความน่ากลัวอะไรบ้าง เพราะสภาสูงมองว่า John Wick คือ ปัญหาที่จะสร้างความสั่นคลอนอำนาจของพวกเขาได้ ดังนั้นจึงต้องกำจัด ‘ปัญหา’ นั้นทิ้งโดยไม่สนใจว่าจะต้องเสียทรัพยากรขององค์กรไปเท่าไหร่ก็ตาม

ด้านสมาชิกพรรคก็ฉวยจังหวะนี้ใช้สัญญาที่ผูกมัดกับ John Wick เพื่อให้ตัวเองมีอำนาจเพิ่มขึ้น โดยหวังที่ตัวเองจะสามารถคานอำนาจกับสภาสูงได้มากขึ้น และอาจถึงขั้นหาทางยึดอำนาจมาไว้ในมือตัวเอง ซึ่งการยืมมือ John Wick มาใช้นั้น เรียกว่ามีแต่ได้กับได้ เพราะสุดท้ายคนที่ต้องรับผิดทั้งหมดก็คือตัว John Wick นั่นเอง เพราะเขาใช้ ‘กฎ’ ที่ทางสภาบัญญัติไว้มาเป็นข้อบังคับให้ John Wick ต้องทำตาม และในเกมนี้ใครที่สามารถคุม John Wick ได้ ก็เท่ากับชนะไปแล้วครึ่งหนึ่งนั่นเอง

จากการล้างแค้นส่วนตัวจนทำให้ต้องเข้าไปพัวพันเข้าไปสู่เกมการเมืองในโลกอาชญากรรม ภาพของ John Wick ค่อยๆ ถูกเปลี่ยนไปในหนังแต่ละภาค (โดยที่เนื้อหาเป็นช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกัน) ในหนังภาคแรกเขาคือ ชายผู้เป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง ผู้ที่สั่งเป็นสั่งตายตัวละครอื่นๆ ในเรื่อง และกลายเป็นฝ่ายที่ถูกตามล่าเสียเองในหนังภาคสอง จนต้องพาตัวเองไปยอมจำนนกับ The Elder เพื่อขอให้ยกเลิกการตั้งค่าหัวของตัวเขาในหนังภาคสาม และพบกับการถูกหักหลังจากคนที่เป็นพันธมิตรของเขา โดยที่ตอนท้ายในหนังภาคสามคือการซ้อนทับของเรื่องราวจอมยุทธ์ที่ดำเนินมาถึงช่วงที่ตัวเองพลัดตกไปในหุบเขา แน่นอนเขานั้นยังไม่ตายและพร้อมกลับขึ้นมาสะสางความแค้นครั้งนี้ให้จบ

John Wick: Chapter 4 จึงเป็นการดำเนินเรื่องเพื่อปิดฉากสงครามนี้ โดยที่ตัวเขาเปลี่ยนสถานะจากหมากที่ถูกควบคุมมาเป็นผู้ดำเนินเกมนี้ด้วยตัวเอง โดยครั้งนี้สภาสูงและคนดูมีหน้าที่เพียงเฝ้าดูการหาทางออกของตัวละครเท่านั้น โดยมีฉากที่นำเสนอผ่านมุมมองที่เรียกว่า God Eye View หรือการเฝ้าดูของผู้มีอำนาจที่นั่งมอง John Wick เอาชีวิตรอดอย่างทุลักทุเล

ด้วยการปูเรื่องราวและวางรากฐานของหนังสามภาคก่อนหน้า และการปล่อยของจนหมดเปลือกของทีมงาน รวมทั้งได้ทัพนักแสดงแอ็กชันฝีมือดีมาร่วมงานมากมาย การสร้างคาแร็กเตอร์ของนักฆ่าที่ทำให้คนดูหลงรักอย่าง ตอนนี เยน (Donnie Yen), ฮิโรยูกิ ซานาดะ (Hiroyuki Sanada), รินะ ซาวายามะ (Rina Sawayama) และการแสดงของ บิล สการ์สการ์ด (Bill Skarsgård) รวมทั้งนักแสดงชุดก่อนอย่าง เอียน แม็คเชน (Ian McShane) กับ ลอเรนซ์ ฟิชเบิร์น (Laurence Fishburne) จึงทำให้หนังภาคนี้มีความสมบูรณ์ในแบบที่ควรจะเป็นอย่างพอดิบพอดี แม้ว่าฉากต่อสู้ในหนังจะมีจำนวนมากและยืดเยื้อไปสักหน่อย แต่มันก็ได้สร้างมาตรฐานใหม่ๆ ให้กับวงการหนังแอ็กชันของโลกได้สำเร็จ ที่ต่อไปนี้หากใครจะทำหนังบู๊เดือดๆ ขึ้นมา คงไม่สามารถน้อยกว่า John Wick ได้อีกแล้ว

รวมถึงทีมงานของ John Wick เองที่ต้องรักษามาตรฐานที่ตัวเองทำไว้ในซีรีส์ The Continental และ Ballerina หนังภาคแยกของจักรวาลนักฆ่านี้ที่กำลังจะตามออกมาไว้ด้วย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER