การทำธุรกิจที่ใช้สายลมนำทางของ ไพโรจน์ ร้อยแก้ว จนเกิดตลาด JODD FAIRS แดนเนรมิต

กิจกรรมหลังเลิกงานหรือช่วงเย็นวันหยุดคุณมักจะทำอะไร แน่นอนว่าเรายังพอมีตัวเลือกในการออกจากบ้านไปเดินเล่นตามสถานที่ต่างๆ เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ถ่ายรูป พบปะเพื่อนฝูง หาของอร่อย หรือชอปปิ้งเติมความสุขตัวเอง และตลาดนัดกลางคืนคือหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ ดังนั้นวันนี้เราจึงมาคุยกับ ไพโรจน์ ร้อยแก้ว ผู้ก่อตั้งตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์และตลาดจ๊อดแฟร์ ซึ่งตอนนี้เปิดสาขาใหม่ที่แดนเนรมิต พื้นที่แห่งความทรงจำวัยเด็กของหลายๆ คน ถึงมุมมองในวันที่ตลาดนัดทั่วประเทศเกิดการล้มหายไปจากโรคระบาด การเผชิญกับบาดแผลมากมายในช่วงเวลาที่ผ่านมา จนมาถึงวันที่เขาได้จังหวะในการลุกขึ้นมาอีกครั้ง

จุดเริ่มต้นที่ให้สายลมเป็นตัวขับเคลื่อน

ต้นปีที่ผ่านมาตลาด JODD FAIRS เซ็นทรัล พระราม 9 ถูกพูดถึงอย่างมากในฐานะพื้นที่แฮงเอาต์แห่งใหม่ที่หลายคนใช้เป็นหมุดหมายในการนัดเจอหรือแวะไปหาของอร่อยๆ กินก่อนกลับบ้าน เมื่อรวมกับความคิดถึงชีวิตในการเดินตลาดรถไฟที่เคยเกิดขึ้นทั่วพื้นที่ของกรุงเทพฯ ในยุคก่อนโควิด-19 ระบาด กลายเป็นกระแสที่ผู้คนพูดถึงกันแบบปากต่อปาก ซึ่งความสำเร็จนี้จึงเป็นหัวข้อเริ่มต้นที่เราพูดคุยกับชายคนนี้ว่าเป็นสิ่งที่เขาคาดการณ์เอาไว้แล้วหรือแค่เรื่องบังเอิญกันแน่

“มันผ่านการวิเคราะห์มาแล้วนิดๆ ใช้คำว่า ‘นิดหนึ่ง’ ก็ได้” เขาตอบแต่เราขมวดคิ้ว

“ตอนนั้นผมมองว่าช่วงเวลาของโควิด-19 มันกินระยะเวลานานแล้ว เราจำศีลกันนานเกินไปแล้ว ถึงเวลาที่เราต้องออกมาสู้กันได้แล้ว เดี๋ยวจะเป็นง่อยกัน และเจ้าของพื้นที่ก็ยื่นโอกาสมาให้ ทั้งราคาที่กำลังดี พื้นที่ไซซ์เล็ก โลเคชันที่เดินทางสะดวก ทำสัญญาระยะสั้น ทำให้ผมตั้งคอนเซ็ปต์การทำงานใหม่เป็นการชกแบบสั้นๆ เมื่อก่อนผมจะไม่เอาวิธีนี้เลย แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาทำให้เราเปลี่ยนความคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องคิดไกล คิดแบบสั้นๆ ก็ได้นี่ ยิ่งเป็นตอนที่ไม่มีใครกล้าทำด้วยแล้วก็วัดดวงไปเลย รายได้อาจจะเก็บได้แค่นี้ก็เท่านี้ ถ้าได้เกินกว่านี้ก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายทั่วไป ดังนั้นผมก็ลุยเลยในวันที่ตลาดเจ้าอื่นๆ ปิดตัวไปหมด ตอนนั้นเหมือนเราเดินอยู่ในกลางคืนที่มืดมิด แล้วอยู่ๆ มีแสงกับเสียงเกิดขึ้นมา ซึ่งมาจากการที่เรากล้าทำในวันที่คนอื่นไม่กล้า”

ไพโรจน์มักจะพูดบ่อยๆ ว่าตัวเขานั้นทำธุรกิจด้วยสัญชาตญาณ ดังนั้นนอกจากความกล้าที่ต้องมีมากกว่าคนอื่นแล้วความเสี่ยงที่เขาต้องเตรียมรับมือก็มากเป็นทวีคูณด้วย

“เสี่ยงมากครับ” เขายืนยัน

“ตอนเราเปิดจองพื้นที่ในตลาด JODD FAIRS เซ็นทรัล พระราม 9 วันแรก เราขายที่ได้แค่ 70% เท่านั้น เมื่อเทียบกับโครงการตลาดนัดรถไฟเราไม่เคยต้องนั่งรอลูกค้าเลย แต่ผมรู้อยู่แล้วว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้น ผมก็เปลี่ยนวิธีการใหม่ ด้วยการย้อนไปสู่ยุคแรกของการขาย นั่นคือขายตรงกับลูกค้าเลย พวกเราโทรศัพท์หาลูกค้าเก่าๆ บอกเขาว่าเราจะเปิดตลาดนัดตรงพื้นที่นี้คุณสนใจหรือไม่ ซึ่งทีมงานเราไม่เคยทำวิธีนี้เลย แต่ผมก็บอกพวกเขาว่า เราต้องวิ่งหาลูกค้าแล้วนะ ไม่ใช่นั่งรอเขาเข้าหา คนไหนพอมีแรงมีกำลังก็ออกไปกันเลย เราเปลี่ยนแปลงทุกอย่างแม้แต่ชื่อตลาด ซึ่งช่วงแรกคนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องชื่อนี้เพราะเขาไม่รู้ว่าผมคือเจ้าของ”

เหตุผลที่ไม่ใช้ชื่อ ‘ตลาดนัดรถไฟ’ เพราะเขาบอกว่าไม่อยากให้แบรนด์หลักต้องเสียชื่อ หากเกิดเหตุการณ์ให้ต้องปิดๆ เปิดๆ ตลาดไปมา และการใช้ชื่อใหม่ไปเลยก็สามารถเล่นอะไรใหม่ๆ ได้ และสอดคล้องกับที่ตลาดจะสามารถย้ายโลเคชันไปเรื่อยๆ เหมือนสายลมที่พัดไปทุกที่บนโลก

“คุณรู้ไหม ที่ผมเลือกแดนเนรมิตเป็น JODD FAIRS สาขาใหม่เพราะ ‘ลม’ ที่พัดมาวูบเดียวในวันที่ต้องตัดสินใจเท่านั้นแหละ” เขาบอกความลับ และเราก็ตั้งใจฟังต่อ

“ก่อนหน้านี้ผมมองที่บริเวณถนนรัชดาไว้ เพราะผมชอบทำเลตรงนั้นมากกว่า ผมมองที่ตรงรัชดากับตรงแดนเนรมิตคู่ขนานกันไป ทีมงานผมชอบที่ตรงแดนเนรมิตมาก แต่ผมกลับไม่รู้สึกพิเศษอะไรกับที่แดนเนรมิตเลย ถ้าพูดตรงๆ ผมแทบไม่เห็นความเป็นไปได้ของพื้นที่ตรงแดนเนรมิตเลย จนช่วงวันท้ายๆ ที่ผมต้องตัดสินใจว่าจะเอายังไง วันนั้นทางแดนเนรมิตได้เรียกผมเข้ามาคุย ผมก็ไปนั่งตัดสินใจตรงสระน้ำของแดนเนรมิต เชื่อไหมระหว่างที่นั่งคิดอยู่ก็มีลมเย็นๆ พัดมาที่ตัวผม ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ตรงนั้นไม่มีลมพัดเลย วินาทีนั้นผมก็ตัดสินใจทันทีว่า โอเค! ทำ แล้วก็ลุยเลย”

นั่งคิดนอนคิดอยู่ครึ่งปีแต่ตัดสินใจง่ายๆ ด้วยสายลม? – เราถามย้ำอีกที

“ใช่! ลมกับน้ำ คือสิ่งที่บอกผมว่าทำ” เขายืนยันอย่างหนักแน่น “เพราะช่วงไวรัสระบาด ผมเยียวยาตัวเอง ครอบครัว ลูกน้องด้วยการอยู่กับธรรมชาติ ผมพาทีมงานเกือบทั้งหมดย้ายไปอยู่ที่เชียงใหม่ ไปอยู่ในไร่ที่ม่อนจ๊อด เพราะไม่อย่างนั้นคนงานก็จะไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ผมก็ให้พวกเขาช่วยดูแลงานในไร่ ลองปลูกดอกไม้ลองทำงานที่ไม่เคยทำ ช่วงนั้นเราตื่นมาก็ฟังเสียงธรรมชาติ ว่างก็ไปกระโดดน้ำเล่นกับลูกกับน้องๆ ทำอาหารกินด้วยกัน กิจวัตรเหล่านี้ทำให้สิ่งที่เคยรู้สึกกลัวหายไป ผมได้หยุดคิด ได้มองเห็นสิ่งที่อยู่ในหัวของตัวเองมากขึ้น ลมที่พัดมาหาผมในวันนั้นไม่ได้เป็นแสงสว่างอะไรให้ผมหรอกนะ แต่เป็นสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่า โอเค! ผมสู้ได้ ลุย! เซ็นสัญญาเลย”

บทเรียนจากการล้ม

แม้ว่าการเปิดตลาดนัด JODD FAIRS แดนเนรมิต จะผ่านไปด้วยดี แต่ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นเขาเองก็เจ็บตัวไม่น้อยจากผลกระทบของโรคระบาด และสถานการณ์ตอนนั้นที่ต้องอาศัยสัญชาตญาณของตัวเองล้วนๆ เพื่อประคับประคองคนเบื้องหลังให้อยู่รอดไปด้วยกัน

“ตอนนั้นตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ ต้องปิดบริการชั่วคราว ส่วนตลาดนัดรถไฟรัชดา ผมต้องเลิกทำไปเลย แม้จะเสียดายก็ตาม เพราะมันคือธุรกิจที่หล่อเลี้ยงครอบครัวหลายครอบครัว ทั้งครอบครัวของผม ทีมงาน พ่อค้าแม่ค้า แต่ถ้าผมไม่หยุดก็เหมือนเลือดของเรากำลังไหลไม่หยุด ย้อนกลับไปคิดก็ดีใจที่ตัวเองตัดสินใจถูกว่าหยุดไปก่อนเหมือนกัน”

ถือเป็นการล้มที่รุนแรงที่สุดของชีวิตด้วยไหม – เราถาม

“ถ้าในเรื่องของการทำธุรกิจก็อาจจะใช่ สำหรับผมเป็นการล้มหนักที่สุด แต่ไม่ได้เสียใจที่สุด เพราะการทำธุรกิจนั้นก็มีช่วงเวลาของมันอยู่ตั้งแต่การเริ่มต้น ต่อยๆ เติบโต แล้วก็มาถึงจุดที่ถ้าไม่โตไปต่อก็ตาย ผมเคยวิเคราะห์กับทีมงานก่อนที่จะมีโรคระบาดเกิดขึ้นว่าถึงวันหนึ่งตลาดก็ต้องปิดตัวลงอยู่ดี เพราะตอนนั้นเราพึ่งพากลุ่มลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวมากเกินไป แล้วถ้าเกิดอะไรที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่เข้ามาเที่ยวในประเทศเมื่อไหร่เราเกมเลยทันที ยิ่งช่วงนั้นเราไม่ได้ควบคุมสินค้าที่อยู่ภายในโครงการด้วย ในตลาดจึงมีแต่สินค้าที่คนไทยไม่ได้ต้องการ เช่น กางเกงช้าง ผลไม้อบแห้ง ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เยอะมาก ผมมองแล้วว่าต่อไปคงไม่รอดแน่นอน จนโควิด-19 เกิดขึ้นมาพอดี ก็ถือว่าตลาดไม่ได้ล้มด้วยตัวเราเอง”

เพราะเหตุนี้ตลาดนัด JODD FAIRS แดนเนรมิต จึงถูกวางคอนเซ็ปต์ที่ไม่เหมือนตลาดนัด JODD FAIRS เซ็นทรัล พระราม 9 โดยเขาสร้างพื้นที่ตรงนี้เพื่อตอบสนองความสุขของคนที่เข้ามาเยี่ยมเยือนและเอาเรื่องของกำไรรายได้ไว้คุยกันทีหลัง

“ผมอยากทำให้ที่นี่เป็นตลาดนัดที่ให้ความรู้สึกเหมือนได้อยู่ในไร่ที่ม่อนจ๊อด เชียงใหม่ อยากให้ความรู้สึกของสถานที่ท่องเที่ยว ผู้คนสามารถมาถ่ายรูป พักผ่อน ปูเสื่อนั่งเล่นกับลูกๆ ซื้ออาหารจากร้านค้าในโครงการมานั่งกิน เพราะผมมองว่าพื้นที่บริเวณนี้ มีส่วนของพื้นที่สีเขียวน้อยมาก ผมอยากทำให้ที่นี้เป็นพื้นที่สีเขียวของโซนนี้ คนที่มาสามารถพายเรือได้ รอบๆ ตัวปราสาทก็มีการปูหญ้า ใครอยากมานั่งเล่นก็ได้ พื้นที่ตรงนี้จะเป็นที่ของทุกคนจะมาเป็นครอบครัวก็ได้ หรือคนหนุ่มสาวจะชวนกันมาเดินเที่ยวก็ได้เพราะไหนๆ ผมก็มีโอกาสเล่นกับพื้นที่ตรงนี้แล้ว ผมก็อยากเล่นกับความเป็นธรรมชาติมากกว่าจะทำให้มันเป็นพื้นที่ของการตั้งร้านขายของ”

เราถามถึงเหตุผลที่เขามองว่าความคุ้มค่าในการทำธุรกิจนั้นคือ ความสุขของคนที่เข้ามาใช้บริการ และความสุขของพ่อค้าแม่ค้าที่เข้ามาขายของในโครงการ เรื่องของกำไรรายได้นั้นขอแค่หล่อเลี้ยงธุรกิจไปได้ก็พอนั้นคืออะไร และคำตอบที่เขาบอกว่าทำให้เราถึงกับต้องย้ำกับเขาอีกรอบว่าได้ยินไม่ผิด

“จริงๆ ก่อนหน้านี้ผมอยากเลิกทำธุรกิจนี้แล้ว ตอนนั้นผมวางเป้าหมายว่าจะย้ายไปอยู่ที่อเมริกากับลูกๆ แล้ว ผมเบื่อ เบื่อระบบของบ้านเราที่อะไรก็ยากไปหมด ที่นี่ระบบไม่มีการส่งเสริมให้กับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์เลย และการทำธุรกิจถ้าคุณไม่มีพรรคไม่มีพวกก็จะยิ่งยากขึ้นอีก มันไม่แฟร์เลยจริงๆ”

ยังไม่รวมกับเรื่องของการคอร์รัปชันต่างๆ อีกด้วย – เราเสริมและเขาก็พยักหน้าตอบรับ “เรื่องพวกนี้ทำให้ผมเบื่อมาก ผมคุยกับลูกว่าเขาอยากไปเรียนต่อที่อเมริกา ผมก็บอกว่าไปสิ ลูกก็ไปเรียน ผมก็จะไปหาที่ทำตลาดที่นั่น แต่สุดท้ายด้วยจังหวะ เวลา โอกาส มันก็ทำให้เกิดการพูดคุยกับทางแดนเนรมิต เขาติดต่อผมมาว่าอยากฟังผมเล่าว่าจะทำตลาดตรงนี้แบบไหน ซึ่งเขาบอกว่าเรื่องเงินไม่ใช่เรื่องสำคัญขอแค่อย่าทำให้พื้นที่ตรงนี้เสียชื่อก็พอ ซึ่งตอนแรกผมก็ไม่รู้จะคุยกับเขาอย่างไร เพราะเราก็ไม่ใช่นักธุรกิจ แต่ก็ใช้ความจริงใจ ใช้ความรู้สึกจริงๆ คุยกับทางนั้น ผมอาจจะไม่เก่งในการทำพรีเซนเทชัน แต่ผมเล่าได้ว่าผมมีประสบการณ์แบบนี้ ผมอยากทำแบบนี้ ถ้าทางคุณเชื่อใจ ผมจะทำให้ดีที่สุด ผมอยากทำพื้นที่ตรงนี้ให้เหมือนฟาร์ม เป็น farmer market แบบที่ลอสแองเจลิส หลังจากนั้นผมก็ได้คุยกับทางแดนเนรมิตบ่อยขึ้น อาจจะเพราะเขาเริ่มเข้าใจสิ่งที่เราบอกหรืออาจจะเริ่มชอบขี้หน้าผมแล้วก็ได้ (หัวเราะ) ดังนั้น JODD FAIRS แดนเนรมิต ผมไม่ได้เป็นคนเลือก แต่พวกเขาต่างหากที่เลือกผม ซึ่งผมมองว่านี่คือโชคดีของผมด้วย เพราะพื้นที่ตรงนี้ปิดมาแล้ว 20 กว่าปี มีคนมาขอเช่ามากมายแต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายเป็นผมที่ถูกเลือกให้สานต่อ”

ใช้ศิลปะนำทางการทำธุรกิจ

ฟังเรื่องราวที่เขาเล่าถึงวิธีคิดและการทำงานของเขา เราก็บอกไปตรงๆ ว่า หลักการเหล่านี้ขัดแย้งทุกอย่างของการธุรกิจ 101 ที่เคยรู้มา และมันก็คงเป็นเรื่องยากในการถอดบทเรียนเพื่อเอาไปประยุกต์ใช้จริง (หรือเปล่า?)

“ผมบอกเลยนะว่าทฤษฎีของผมมันขัดแย้งไปทุกอย่าง” เขาหัวเราะออกมาอย่างอารมณ์ดี

“ผมใช้สัญชาตญาณในการทำธุรกิจ ผมแก้ปัญหาไว ผมคิดไว ทำไว ถ้าต้องผ่านขั้นตอนจากสายพาน จากตรงนี้ไปถึงตรงนั้นแล้วกว่าจะวนมา สำหรับผมมันไม่ทันการแล้ว แบบนั้นมันช้าเกินไป แต่ผมก็มีตัวเลข มีสถิติทุกอย่างไว้ดูประกอบ แต่ที่สำคัญกว่าคือคนส่วนใหญ่ทำธุรกิจเขาจะมองแต่ตัวเอง แต่ผมมองเรื่องศิลปะ ผมให้ศิลปะนำตัวเลข ตัวเลขจะอยู่ลำดับสุดท้ายเลยนะ ดังนั้นตั้งแต่เริ่มต้นผมจะมีภาพจินตนาการไว้แล้วว่าโครงการของผมจะเป็นแบบไหน แต่วิธีการแบบนี้ก็ต้องแล้วแต่คนนำไปใช้ บางคนอาจจะใช้มากเกินไป แต่จะไม่มีศิลปะเลยก็ไม่ได้ คุณลองคิดดูว่าถ้าโลกนี้ไม่มีศิลปะ โลกของเราจะเป็นอย่างไร ทุกอย่างคงแบนราบไม่มีมิติ ไม่มีเรื่องของแสงและเงา จริงๆ แล้วศิลปะเป็นตัวชี้นำธุรกิจแต่คนกลับไม่พูดเรื่องนี้ก่อน แล้วก็ไปคำนวณนู่นนี่นั่นแต่สุดท้ายก็มาจบที่อาร์ตเวิร์กอยู่ดี ถ้าโปรดักต์ของคุณออกแบบมาไม่สวยจะมีคนซื้อไหม ศิลปะไม่ใช่แค่การวาดรูปหรืองานประติมากรรมเท่านั้น แต่มันคือภาพรวมของโลกใบนี้ เราอยู่ในจักรวาลของศิลปะด้วยซ้ำ เราแค่ต้องทำตัวให้เล็กลงแล้วก็มองอะไรให้กว้างขึ้น”

ศิลปะ ประสบการณ์ บาดแผล ผู้คน สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ หล่อหลอมชายคนนี้ขึ้นมา

“ผมได้รับวัฒนธรรมการฟังเพลงมาจากพ่อ แต่เชื่อไหมตอนผมอายุสัก 7-8 ขวบ ชีวิตผมรู้สึกมัวหมองชิบเป๋ง! เพราะทุกๆ วันตอนตี 5 พ่อผมจะเปิดวิทยุแล้ว ถ้าไม่ฟังข่าวก็ฟังเพลง ผมก็คิดว่าทำไมกูไม่ได้นอนเหมือนเด็กคนอื่นวะ (หัวเราะ) แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่กรอกหูเราทุกวัน ทำให้กลายเป็นว่าชีวิตผมไม่ฟังเพลงไม่ได้นะ วันไหนไม่ได้ฟังจะตายเอา (หัวเราะ) ผมอาจจะดูเป็นคนก้าวร้าว แข็งกร้าว แต่ผมได้รับความมีจิตใจดีจากแม่ แม่ผมเป็นคนโคตรเฟรนด์ลี่ สิ่งนี้ผมเรียนรู้จากแม่ แต่ผมก็โชคร้ายหน่อยที่เสียพ่อกับแม่ไปตั้งแต่ตอนเด็กๆ ผมอยู่กับความเสียใจนี้เป็นสิบๆ ปี เมื่อก่อนที่ผมรู้สึกท้อแท้ ผมจะนึกถึงพ่อถึงแม่ พ่อช่วยผมหน่อย แม่ช่วยผมหน่อย ผมพูดกับตัวเองแบบนี้ แต่ตอนนี้ผมรู้สึกว่าไม่อยากรบกวนพ่อกับแม่แล้ว ผมจึงมองแต่สิ่งที่อยู่ข้างหน้า แก้ปัญหาด้วยตัวผมเอง ผมไม่สร้างความหวังด้วยจินตนาการของผมอีกแล้ว ในเมื่อโลกมันเป็นแบบนี้ ผมก็จะสู้ ผมจึงเป็นคนที่เชื่อว่าขอให้กูมีโอกาสเถอะ กูจะลุยทันที แพ้ก็ไม่เป็นไร และผมก็โชคดีที่ได้เจอเพื่อนที่ดี ได้คำแนะนำดีๆ ผมไม่เชื่อเรื่องบาปบุญหรอกนะ แต่ผมคิดเสมอว่าถ้าเราทำดีมันก็น่าจะได้ดีแค่นี้จริงๆ ผมมองพุทธศาสนาด้วยเรื่องของหลักและเหตุผล ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ และปาฏิหาริย์กับสัญชาตญาณเป็นคนละแบบกัน สมมุติว่าผมเป็นสุนัขล่าเนื้อ ผมได้กลิ่นเนื้อ ผมก็จะรู้ว่าถ้าเดินผ่านแปลงผักมันจะไม่มีของให้เรากิน เราต้องออกไปตามหาเนื้อเท่านั้น แต่เราก็ต้องรู้จักตัวเอง ยอมรับว่าตัวเองทำอะไรได้แค่ไหน บางอย่างที่เราไม่ถนัดเราต้องกล้าที่จะถาม ผมเองก็ไม่ได้เก่งไปเสียทุกอย่าง แต่ผมเป็นคนที่กล้าถามและเรียนรู้กับสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ ยอมรับในความสามารถของคนอื่น ผมทำแบบคุณไม่ได้ คุณช่วยทำให้ผมได้ไหม คุณต้องเคารพและให้เกียรติในสิ่งที่คนอื่นเขาถนัด และคนที่คิดแบบผมไม่ได้ก็ต้องเชื่อมั่นในตัวผมด้วย”

‘เจ้าพ่อตลาดนัด’ คือคำที่คนในวงการให้ฉายาชายคนนี้ และในเมื่อเขาพูดถึงคำนี้ขึ้นมาเราก็ถามไปตรงๆ ว่า ชีวิตที่ผ่านมาของเขาเหมือนในหนังมาเฟียอิตาลีแค่ไหน เขาต้องคอยระวังข้างหลังตลอดเวลาด้วยไหม

“ถ้าเราทำทุกอย่างให้ถูกต้อง คุณไม่ต้องกลัวใครแล้ว” เขาหัวเราะ

“ผมเดินไปไหนไปนั่งตรงไหนก็ได้ เพราะเราทำความดี เราช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้า ผมทำให้เขามีที่ค้าขาย คนเลยเกลียดผมน้อย (หัวเราะ) ถ้าจะมีคนเกลียดก็คงเป็นคนที่ทำธุรกิจเหมือนกับผมนี่แหละ แต่ผมไม่มีเรื่องความขัดแย้งหรอก เพราะถ้าคุณคิดจะเล่นงานคนอื่น เท่ากับคุณทำตัวคุณเอง เรามาแข่งขันกันดีกว่า ผมอยากให้มีตลาดนัดกลางคืนเยอะๆ เพราะผลประโยชน์จะเกิดกับผู้ใช้บริการ และให้พูดตรงๆ ยิ่งมีตลาดนัดกลางคืนมากเท่าไหร่ ผมยิ่งได้ประโยชน์ด้วยซ้ำ เพราะถ้ามีตลาดเกิดขึ้นเยอะ และบริหารไม่รอด เปิดเยอะ ปิดเยอะ ราคาค่าตัวผมก็จะยิ่งแพงขึ้นไปอีก เพราะนั่นจะพิสูจน์ว่าใครเจ๋งที่สุด”

เพื่อไม่ให้เกิดแต้มต่อที่ห่างกันนักในการแข่งขันนี้ เราจึงให้เขาบอกเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ในการพัฒนาบริหารตลาดนัดให้ไม่เจ๊งแบบของเขา

“คุณต้องชัดเจนว่าตลาดนัดกลางคืนของคุณคืออะไร บางทีเขาไม่รู้ว่าตัวเขาคืออะไร เขารู้แค่ว่าจะเอาพื้นที่มาทำ เปิดให้คนมาเช่า ถึงคุณจะขายพื้นที่ได้ แต่ร้านค้าขายของไม่ได้ เขาก็จะไปจากคุณ และคุณให้เขาน้อยกว่าสิ่งที่คุณเก็บจากเขาด้วยหรือเปล่า ซึ่งตลาดของผม ผมให้คุณมากกว่าที่ผมเก็บจากคุณ ดังนั้นถึงพื้นที่เราจะแพงที่สุด แต่ก็มีคนจับจองเยอะที่สุดเช่นกัน”

“ต่อมาคือการเลือกร้านค้าที่ดี ดีของผมคือเขามีผลิตภัณฑ์ที่ดี มีการตกแต่งร้านที่ดี รักษาความสะอาด ถ้าเป็นอาหารต้องอร่อยและถ่ายรูปได้ เดี๋ยวนี้อร่อยอย่างเดียวแต่ขายตัวเองไม่เป็นก็ไม่รอด ดังนั้นเราจึงมีการคัดร้านค้าด้วย คุณต้องส่งโปรไฟล์มาให้เราด้วยว่าร้านคุณเป็นแบบไหน และถ้าเราให้พื้นที่แล้วคุณต้องตกแต่งร้านด้วย เรื่องนี้ถือเป็นจุดแข็งของเรา ให้สิ่งดีๆ มาอยู่ในที่ดีๆ และเราก็ช่วยปรับให้ลงตัว ถ้าเป็นภาษาวัยรุ่นก็คือคำว่า ‘ตรงปก’ อะไรที่มันใช่คนก็จะกลับมาอีก แต่ถ้าไปแล้วมันไม่ตรงปกเขาก็ไปแค่ครั้งเดียว และเรามีหน่วยที่เรียกว่า ‘แพทย์สนาม’ คอยเดินตรวจร้านค้า ร้านไหนป่วยหรือมีปัญหา ก็จะเข้าไปให้คำแนะนำเขาว่าทำอย่างนี้สิ เราจะช่วยเขาเพราะไม่อยากให้ใครมาขาดทุนในพื้นที่ของเราแม้แต่คนเดียว”

ฟังสิ่งที่เจ้าพ่อตลาดนัดเล่ามาจนล่วงเลยถึงช่วงพระอาทิตย์ตกดิน ระหว่างที่เรายืนอยู่ตรงริมสระน้ำที่เขาเล่าให้ฟัง ก็มีลมเย็นๆ พัดมากระทบที่ตัวเราเบาๆ เกิดเป็นความรู้สึกที่ทำให้เข้าใจแล้วว่าพื้นที่ตรงนี้มีสิ่งที่พิเศษกับความรู้สึกของเขาอย่างไร และนั่นก็ทำให้เราสงสัยว่าชีวิตของเขาในวันนี้ยังมีความกลัวอะไรหลงเหลืออีกไหมหลังจากผ่านเรื่องหนักๆ มาจนแข็งแกร่งขนาดนี้

เขานิ่งคิดอยู่สักครู่ และเราก็นั่งมองไปที่ลายน้ำในสระที่เกิดจากแรงลมเงียบๆ

“ผมไม่เคยกลัวอะไรเลย แต่พอมีลูกแล้วผมอ่อนไหวมากขึ้น” เขาตอบ

“จุดอ่อนของผมคือคนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นลูก ภรรยา หรือว่าพ่อแม่ อะไรที่ทำให้คนที่เรารักเสียใจ ความเจ็บป่วย หรือเกิดความกังวล ทั้งหมดนี้คือจุดอ่อน ความรักทำให้ผมมีจุดอ่อน”

ถ้ารู้ว่าจุดอ่อนตัวเองคืออะไรแล้วเขาวางแผนชีวิตไว้ให้กับคนข้างหลังอย่างไร

“ผมไม่ได้วางแผนอะไรให้กับลูก แต่ผมก็จะไม่ให้เขาเดือดร้อนอยู่แล้ว ผมบอกเขาว่าลูกจะทำอะไร จะทำอาชีพเดียวกับผมหรือไม่ก็แล้วแต่เขาเลย ลูกอยากไปไหนก็ไป ไปให้สุดขอบโลกแล้วกลับมาเล่าให้ผมฟังด้วยว่าไปเจออะไรมาบ้าง ถ้ามีโอกาสลูกจะทำอาชีพอะไรก็ทำ ทำอะไรก็ได้ที่คุณรัก คุณรักอะไรผมก็รักด้วย ผมมีความสุขกับการที่ได้เห็นเขามีความสุข ซึ่งสุดท้ายแล้วความรักนี่แหละที่เป็นจุดอ่อนของมนุษย์ ถ้าคุณไม่มีความรักคุณก็จะไม่มีจุดอ่อน เหมือนเจ้าพ่อในหนังต่อให้เก่งแค่ไหน โหดแค่ไหน พอลูกตัวเองโดนจับไปเท่านั้นแหละเรียบร้อยเลย จะให้กูทำอะไรก็ได้ (หัวเราะ) “

การพูดคุยวันนี้ทำให้เรารู้จักอีกด้านของเขา ชายผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนที่หยิบจับอะไรก็ประสบความสำเร็จโดยไม่อาศัยแบบแผนใดๆ ในการทำธุรกิจ ซึ่งเราเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นที่ช่วงเวลาประจวบเหมาะ โอกาส หรือพื้นที่ของแดนเนรมิตที่ทำให้เราได้มานั่งคุยกัน

“พูดตรงๆ นะ ความสำเร็จมันไม่มีหรอก ผมฟลุกก็แค่นั้น” เขาบอกเราก่อนที่จะชวนกันเดินไปดูปราสาทที่เหลือเป็นสัญลักษณ์ของอดีตสวนสนุกในความทรงจำของวัยรุ่นยุค 80-90 ปลายๆ

“กุญแจแห่งความสำเร็จดอกนั้นมันไม่มีหรอก คุณจะหามันเจอได้อย่างไร คุณต้องถามหัวใจตัวเองดีกว่า ว่าคุณจะเอาความสำเร็จแบบไหน ซึ่งไม่ใช่เรื่องของกุญแจแต่มันคือหัวใจ คุณจะบริหารธุรกิจแบบไหน คุณจะเอาเปรียบเขาไหม ต้องถามใจตัวเองจริงๆ ผมถึงบอกว่าถ้าคุณอยากสำเร็จคุณต้องรู้จักตัวเองก่อน ว่าคุณคือใคร คุณจะทำอะไร คุณต้องไม่โกหกตัวเอง เพราะตราบใดที่คุณโกหกตัวเอง คุณก็จะโกหกทุกคน จากนั้นก็เรียบร้อย เกมโอเวอร์” เมื่ออ่านถึงตรงนี้จบไม่เพียงแต่คุณจะรู้จัก ไพโรจน์ ร้อยแก้ว ดีขึ้น เราเชื่อว่าคุณน่าจะรู้จักตัวเองมากขึ้นด้วยเหมือนกัน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ