ไม่ต้องทำเหมือนว่าโอเคทุกวันก็ได้: หนังสือปลอบโยนใจจากคำพูด Toxic อย่าฝืนหากรู้สึกไม่โอเค

“มีคำที่ฆ่าคนให้ตายได้ และมีคำที่ช่วยชีวิตคนไว้ได้เช่นกัน”
โช ยูมี

‘คำพูด’ อาจเป็นเพียงแค่ลมปาก แต่ต้องยอมรับว่า มันก็มีอิทธิพลไม่น้อยที่ทำให้คนฟังรู้สึกเจ็บปวดหรือมีความสุขได้เช่นเดียวกัน บางถ้อยคำคล้ายหนามที่แหลมคม ไม่เพียงทำให้คนฟังรู้สึกเสียใจที่ได้ยิน แต่ยังสร้างบาดแผลหนักลึกในใจไปยาวนาน ในขณะที่บางถ้อยคำเป็นเหมือนน้ำทิพย์ชโลมจิตใจ สร้างความหวังและแรงบันดาลใจให้คนฟังมีแรงฮึกเหิมอยากเดินหน้าต่อ ทั้งสองสถานการณ์นี้สามารถเปลี่ยนความรู้สึกของคนๆ หนึ่งได้เพียงแค่วาจาจากปากของเรา

ว่าด้วยเรื่องคำพูดมีผลต่อความรู้สึก ทำให้ย้อนนึกถึงตอนเด็กๆ ในภาพจำของคุณครูประจำชั้นมักมองฉันว่าเป็นคนเรียนหนังสือไม่เก่ง จนกระทั่งวันหนึ่งฉันแข่งขันทางวิชาการจนติดท็อปในชั้นเรียน เพื่อนๆ ต่างเข้ามาแสดงความยินดี แตกต่างจากครูประจำชั้นที่บอกกับฉันว่า ‘ก็แค่ฟลุกเหมือนถูกหวยเท่านั้นแหละ’ และนั่นก็ทำให้น้ำตาของฉันอยากจะเอ่อล้นออกมา แต่ก็ต้องแสร้งทำเป็นรู้สึกขำๆ ไม่คิดอะไร

ฉันในตอนนั้นคิดดูถูกตัวเองว่า มันเป็นคงเรื่องบังเอิญอย่างที่คุณครูพูดและรู้สึกไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเองหนักมากกว่าเดิม กว่าจะฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตัวเองให้กลับมาเต็มร้อยก็ผ่านเวลามานานหลายปี ล่าสุดฉันไปอ่านเจอหนังสือเล่มหนึ่งที่เล่าเรื่องราวตรงกับชีวิต ประโยคหนึ่งในหนังสือที่ช่วยปลอบประโลมจิตใจต่อเหตุการณ์อดีตฝังใจดังกล่าวไว้ว่า

ความพยายามในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จไม่มีคำว่า ‘บังเอิญ’ แม้กระทั่งการถูกลอตเตอรี่ ก็ต้องผ่านความมุ่งมั่นหรือความพยายามลองผิดลองถูกมากมายจนชนะรางวัล ซึ่งมันก็คือ ‘ความสามารถ’ ไม่ต่างจากการขยันอ่านหนังสือจนได้ที่หนึ่งเช่นเดียวกัน ดังนั้นไม่มีความสำเร็จใดที่ได้มาเพราะ ‘ฟลุก’ หากมีคนพูดจาเช่นดังกล่าวขอให้รู้ว่า เขาไม่ได้เห็นคุณค่าของตัวเรา และอย่าได้ยึดติดกับคำพูดคนอื่นจนมาทำร้ายจิตใจ

หนังสือที่เยียวยาจิตใจเราเล่มนั้นคือ ‘ไม่ต้องทำเหมือนว่าโอเคทุกวันก็ได้’ เขียนโดย ‘โช ยูมี’ (Jo Yumi) จากสำนักพิมพ์ Springbooks ก่อนหน้านี้เธอเคยเขียนหนังสือเชิงให้กำลังใจอย่าง ‘ฉันชอบตัวเองที่เป็นแบบนี้ละ’ และ ‘ในโลกนี้มีคนแบบเราได้แค่คนเดียวเท่านั้น’ ซึ่งเล่มใหม่ล่าสุดของ โช ยูมี จะเล่าเกี่ยวกับ ‘คำพูด’ ว่าส่งผลต่อความรู้สึกในแง่บวกและแง่ลบอย่างไรได้บ้าง บางทีเราอาจเผลอพูดจาไม่ดีต่อคนรอบข้างโดยไม่รู้ตัวหรือไม่ เราจะรับมือและเปลี่ยนมุมมองต่อคำพูดเหล่านี้ได้อย่างไร โดยเล่าผ่านเรื่องราวชีวิตจริงของคุณนักเขียนและสอดแทรกความรู้เชิงวิชาการและทฤษฎีไปพร้อมกัน

“ฉันไม่มีคุณค่าเหมือนวัชพืช”

แต่ละตอนในหนังสือ ส่วนใหญ่จะเล่าเกี่ยวกับคำพูดที่ได้ยินในชีวิตประจำวัน ทั้งคำพูดที่ดีและไม่ดีปะปนกัน มีตอนหนึ่งในหนังสือที่เราชื่นชอบเป็นพิเศษคือ ‘สิ่งที่เหลือรอดอยู่บนภูเขาเรื่อยมากลับกลายเป็นพวกวัชพืชไร้ชื่อ’ เล่าเกี่ยวกับการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง แม้ว่าคนอื่นจะมองไม่เห็นอย่างวัชพืช

คนส่วนใหญ่ถ้าให้เปรียบตัวเองเป็นพืชพันธุ์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ทุกคนคงรีบตอบอยากเป็นต้นไม้ที่คนนิยมชมชอบหรือดอกไม้แสนสวย น้อยคนนักที่จะตอบว่าเป็น ‘วัชพืช’ เพราะภาพจำใครหลายคนมองว่ามันเป็นพืชที่ไร้ประโยชน์ 

วัชพืชชอบแย่งสารอาหารจากพื้นดินรอบข้างและเติบโตกินพื้นที่อย่างรวดเร็ว จึงทำให้ถูกคิดว่า มันเป็นภัยคุกคามจำเป็นต้องกำจัดทิ้ง ซึ่งความเป็นจริงวัชพืชช่วยกักเก็บความชื้นให้กับดินไม่ให้แห้งแล้ง และรากของมันยังช่วยป้องกันไม่ให้ดินแตกระแหงด้วย ดังนั้นหากมองอีกมุม วัชพืชก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อมไม่แพ้พืชชนิดไหนแต่สาเหตุที่มันโดนดูถูกว่าไร้คุณค่านั้น เพราะคนอื่นเองนั้นแหละที่ไปตัดสินคุณค่าให้กับมัน

หากเปรียบเปรยกับชีวิตคน เมื่อมีภาพติดลบกับตัวเองเหมือนวัชพืชที่คนอื่นตัดสิน และนั่นทำให้เราต้องขวนขวายเปลี่ยนตัวเองให้เป็นดอกไม้แสนสวยในสายตาคนอื่น กลายเป็นว่าเรากำลังไม่พึงพอใจในตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม 

“ความเป็นจริงไม่ใช่ทุกคนต้องอยู่ในระดับสูง แต่ยังมีระดับกลางหรือระดับล่างอยู่ด้วย คนเราหากไม่มีพรสวรรค์ติดตัวมาตั้งแต่เกิดหรือไม่พยายามดิ้นรนสู้ยิบตา บางทีการยอมรับชีวิตธรรมดาๆ ให้ได้อาจดีต่อหัวใจเช่นเดียวกัน ถ้าเรารู้สึกพึงพอใจกับตัวเอง”

“แต่ถ้าเราหมกหมุ่นมองโลกในแง่ร้าย ชีวิตในแต่ละวันก็จะดำเนินไปอย่างโชคร้ายในฐานะตัวละครที่เราแต่งขึ้นว่า ชีวิตต้องเติบโตเป็นอัญมณีให้ได้ ทว่าการใช้ชีวิตอย่างราบเรียบตามที่เกิดมาและทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม ไม่จำเป็นต้องฝืนเป็นบางสิ่งที่คนอื่นรู้จักเพราะเราคือตัวเรา ก็มีความสุขในการใช้ชีวิตได้ไม่ต่างกัน” ประโยคในหนังสือที่สรุปเรื่องการมองเห็นคุณค่าผ่านวัชพืช

“ทำไมเราต้องหัวเสียขนาดนั้น”

มีอีกตอนที่รู้สึกพบเห็นบ่อยในชีวิตคนทำงาน นั่นคือการหัวเสียมากเกินไปกับคำพูดและการกระทำของคนอื่น เช่น เพียงแค่คนอื่นพูดจาไม่เข้าหูเราหรือไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่บอก ทำให้เกิดอารมณ์ฉุนเฉียวมากขึ้น รวมถึงเผลอใช้ความรุนแรงทางวาจาและทางกายใส่คู่สนทนาโดยไม่รู้ตัว

ยกตัวอย่างเรื่องน่าปวดหัวที่เหล่าคุณแม่ต้องเผชิญ เวลาเรียกลูกๆ มากินข้าว เด็กส่วนใหญ่จะเนียนๆ ทำเป็นหูทวนลมและเล่นมือถือต่อไป นั่นจึงทำให้ฝ่ายคุณแม่บางคนโมโหจัด วิ่งเข้าไปดุด่าอย่างเย็นชาเหมือนกับพูดกับผู้ใหญ่ สิ่งที่น่าสนใจคือทำไมคุณแม่ต้องโมโหขนาดนั้นด้วย

ในเนื้อหาเล่าเชิงวิชาการว่า หากสังเกตสิ่งที่คุณแม่โมโหคือ ‘การเมินเฉย’ ของลูกบ่อยๆ นั่นอาจสะท้อนว่าเธอให้ความสำคัญในเรื่อง ‘การยอมรับ’ มากทีเดียว เนื่องจากรู้สึกว่าการไม่เชื่อฟังของลูกเป็นการเมินเฉยตัวเอง เพราะมีช่องว่างในจิตใจที่ฝังลึกชื่อว่า ‘การขาดการยอมรับ’ ที่ไม่เคยได้รับการเติมเต็มในอดีต หากมีใครสะกิดช่องว่างนั้น ก็ทำให้รู้สึกถูกกระตุ้นการไม่เป็นที่ยอมรับและเกิดอารมณ์โมโหหนักขึ้นมา

พฤติกรรมนี้ไม่เกี่ยวว่าเราจะอายุน้อยหรือมาก ในตัวของทุกคนต่างมีช่องว่างในจิตใจที่ไม่ได้รับการเยียวยา หากวันหนึ่งเราเกิดความคิดขึ้นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่น่าใช่เรื่องหัวเสียมากมาย แล้วทำไมเราถึงหัวเสียเกินไปจนทำร้ายจิตใจคนอื่น เราควรยอมรับกับช่องว่างของตัวเอง และไม่ใช้ความรุนแรงทางอารมณ์กับทุกคน มันคงจะดีกว่าถ้าเลือกใช้คำพูดที่มีเหตุผลมากกว่าการใช้อารมณ์นำการตัดสินใจ

“เรา (ไม่) โอเค”

หนังสือไม่ต้องทำเหมือนว่าโอเคทุกวันก็ได้ สำหรับเราเป็นหนังสือที่ช่วยเยียวยาจิตใจในคำพูดต่างๆ ทั้งในมุมคนพูดและคนฟัง แต่ไม่ได้บอกเชิงฮาวทูการแก้ไขเป็นข้อๆ ส่วนใหญ่เป็นแนวปลอบประโลมจิตใจจากผลกระทบของคำพูดที่ไม่ดีต่อจิตใจเราที่ช่วยทำให้เรามองโลกในแง่ดีกับคำพูดของคนอื่นมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นยังทำให้กลับมาทบทวนตัวเอง ทั้งการยอมรับความรู้สึกตัวเองที่หลายครั้งเรามักจะพูดว่า ‘เราโอเค’ หรือ ‘เดี๋ยวก็ดีขึ้น’ แต่ภายในใจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ซึ่งเราไม่ควรหลอกความรู้สึกของตัวเองและปล่อยผ่านไปในระยะยาว เพราะวันหนึ่งมันอาจสะสมจนเกิดช่องว่างในจิตใจที่ไม่ได้รับการเยียวยา และอาจเผลอแสดงคำพูดและการกระทำไม่ดีใส่คนอื่นตามมาในภายหลัง

AUTHOR