หุบเขาคนโฉด : มื้อค่ำแสนวิเศษกลางหุบเขาเมืองเหนือ

คงเป็นเพราะวันนั้นฝนแรกของฤดูหนาวเพิ่งตกลงมา ทำให้เชียงใหม่มีบรรยากาศที่เหมาะสมกับที่ควรจะเป็น ผมขับรถออกจากตัวเมือง ฝ่าละอองฝนที่โปรยลงมาตลอดทั้งวัน สลับกับหมอกเมื่อไต่ระดับเพิ่มความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งออกนอกเมืองก็ยิ่งสัมผัสกับความหนาวเย็นชุ่มชื้นขึ้น ผมกำลังมุ่งหน้าไปสู่ ‘หุบเขาคนโฉด’ สถานที่ที่แค่ได้ยินชื่อก็ชวนให้จินตนาการไปต่างๆ นานา ในความเป็นจริง หุบเขาแห่งนี้คือร้านอาหารแนว chef table ที่เปิดให้ผู้คนแวะไปกินในแบบ private dinner ผมลองนัดเข้าไปทานมื้อค่ำที่นี่ตามคำแนะนำของเพื่อนชาวเชียงใหม่

เมื่อขับรถผ่านโค้งคดเคี้ยวและขุนเขาสลับซับซ้อนที่ตัดความวุ่นวายภายนอกออกจนหมดสิ้น เลี้ยวเข้าไปตามทางขรุขระ สิงโตหินสีชมพูก็เผยตัวให้เห็นอยู่กลางทุ่งนา สีตัดกับต้นไม้ แปลงนา และท้องฟ้าที่เริ่มโพล้เพล้ เป็นภาพและช่วงเวลาที่เหมาะเจาะสำหรับการเปิดตัวหุบเขาคนโฉดให้เห็นเป็นครั้งแรก

พี่กุ่ย เจ้าของหุบเขาแห่งนี้เดินลงจากเนินมารับด้วยตัวเอง เพื่อจะพาไปยังห้องทานอาหารค่ำ เจ้าของบ้านพาเราเดินกลับขึ้นเนิน ผ่านกำแพงสีขาวเป็นแนวยาว ตลอดทางประดับด้วยไม้ดอกสีสันสดใสและพุ่มไม้เขียวชอุ่มเพราะฝนที่ตกตลอดวัน เราต้องเดินผ่านอุโมงค์ต้นไม้ ผ่านรูปปั้นต่างๆ ที่ถูกจัดวางราวกับอยู่ที่นี่มานานจนถูกต้นไม้ขึ้นบดบังบางส่วนไว้ จากนั้นยังมีสะพานไม้ไผ่โค้งตามแนวเนิน เพิ่มความรู้สึกเหมือนกำลังออกผจญภัยให้มากขึ้นเรื่อยๆ

จนไม่นานก็เริ่มเห็นห้องกระจกใต้ต้นไม้ใหญ่ แสงข้างในดูอบอุ่นกว่าอากาศด้านนอก ภายในอัดแน่นไปด้วยดอกไม้ งานศิลปะทั้งภาพเขียนสีน้ำมัน รูปปั้น ของเก่า รวมถึงนกอีกหลากหลายชนิดที่เกาะอยู่นิ่งๆ จนเราเริ่มแยกนกเหล่านี้กับสัตว์สตัฟฟ์ที่ถูกจัดวางอยู่รอบๆ ไม่ออก บนโต๊ะอาหารมีน้ำบ๊วย และขนมเล็กๆ เป็น welcome drink เรียกน้ำย่อย พี่กุ่ยบอกว่าต้องใช้เวลาอีกเล็กน้อยในการเตรียมอาหาร เดี๋ยวจะพาเดินดูรอบๆ บ้านก่อน

เราเดินต่อขึ้นไปบนเนินหลังห้องอาหาร ที่มีอาคารเก่าอยู่ 3 หลัง มองจากภายนอกให้ความรู้สึกของโบราณสถานมากกว่าบ้านคน โครงสร้างเรียบง่ายมีกลิ่นอายศิลปะล้านนาที่ถูกดัดแปลงตามความชอบของเจ้าของบ้าน พี่กุ่ยเล่าว่า ก่อนหน้านี้ที่นี่เป็นนาขั้นบันไดของชาวบ้าน เมื่อมาอยู่ที่นี่ก็เลยสร้างบ้านคร่อมนาขั้นบันไดไว้ บ้านเลยเหมือนต้องเล่นระดับไปในตัว ห้องแรกที่พี่กุ่ยเปิดให้ชมคือห้องหนังสือ มีนิตยสารและหนังสือเก่าๆ แน่นห้อง ส่วนอาคารถัดไปเป็นห้องพระที่เราแอบคิดในใจว่านี่จะเรียกว่าวิหารขนาดเล็กก็ได้ ภายในมีเพดานที่สูงโปร่ง มีระฆังแขวนอยู่เหนือซุ้มวางพระพุทธรูปที่เป็นศิลปะไม้แกะแบบเอเชียตะวันออก ถัดไปด้านในมีแสงลอดผ่านอุโมงค์เตี้ยๆ ออกมา เดินก้มหัวลอดผ่านเข้าไปยังห้องที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชา แสงสลัวและบรรยากาศชวนให้นึกถึงวัดอุโมงค์ ดูสงบและเย็นยะเยือก ก่อนจะเดินไปยังอาคารหลังสุดท้าย เราพบนกฟลามิงโก้สองตัวยืนอยู่ในสระน้ำ รู้สึกประหลาดใจที่อยู่ๆ ก็จะได้เจอนกชนิดนี้ในบ้านคน

อาคารหลังสุดท้ายเป็นที่เก็บของสะสม ส่วนมากเป็นงานศิลปะโบราณที่เจ้าของรัก ถึงจะเคยเป็นพ่อค้าของเก่ามาก่อน แต่พี่กุ่ยบอกว่าของในห้องนี้ทั้งหมดไม่คิดจะขาย ถือเป็นของสะสมมากกว่า

เราเหมือนกำลังเดินชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่อัดแน่นไปด้วยรสนิยมของเจ้าของไปในทุกอณูของบ้าน ไม่ว่าหันไปทางไหนก็ไม่อาจหาที่พักสายตาจากความสวยงามได้เลย

อาหารค่ำพร้อมแล้ว เราเดินกลับไปยังห้องอาหาร เมนูแรกที่ถูกเสิร์ฟคือ ยำส้มโอโบราณ เมี่ยงที่เสิร์ฟมาในกลีบบัวหลวง และเต้าหู้ทอดราดน้ำจิ้ม ซึ่งเป็นสิ่งพิเศษสิ่งแรกในเมนูคืนนี้ เต้าหู้ทอดที่นี่ใช้สูตรซึ่งสืบทอดกันมาร่วมร้อยปีจากหมู่บ้านชาวแต้จิ๋ว จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นบ้านเกิดพี่กุ่ย ตอนนี้ทำต่อเนื่องกันมาเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว เต้าหู้เนื้อบางเรียงเป็นชั้นละเอียด ราดน้ำจิ้มถั่วเปรี้ยวหวาน สัมผัสเนียนแบบละลายหายไปเมื่อส่งเข้าปาก

เมนูถัดไปเป็นฮ่อยจ๊อปูผสมกับเนื้อหมู แต่แยกแห้วออกมาทั้งลูกวางข้างกัน ตามด้วยแครกเกอร์ปาดด้วยฟักทองผัดโหระพาเนื้อเนียน โรยด้วยเกลือที่ใช้หมักดอกซากุระที่เพิ่งได้มาจากตอนที่พี่กุ่ยไปเยือนเกียวโต

ถัดมาเป็น signature dish ของหุบเขาคนโฉด เมนู น้อยไจยา ที่มีชื่อจากบทละครซอของล้านนา และเป็นเพลงคำเมืองที่คุ้นหูจากท่อนเปิดที่พูดถึงดอกไม้หลายชนิดที่เบ่งบาน เมนูนี้ส่วนประกอบหลักก็เลยเป็นดอกไม้กว่า 20 ชนิด อาทิ กุหลาบมอญ คอสมอส ดาวกระจาย กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค สะระแหน่ ผักชีลาว ทานตะวัน อัญชัน ดอกเข็ม ดอกเรดาร์ เฟิร์นก้านดำ ฯลฯ ที่ถูกห่อด้วยแป้งเวียดนาม แต่งด้วยดอกบัวตองญี่ปุ่น ก่อนทานให้บีบส้มลงไปก่อน

เมนูถัดไปคือตำกระเจี๊ยบ สตอร์เบอรี่ เกรฟกูสเบอรี่ เสิร์ฟคู่ข้าวจี่ หมูหมักทอด และออร์เดิฟเมืองอย่างไส้อั่วและหมูยอ ต่อด้วยกระเพาะปลาสูตรแต้จิ๋วใส่เนื้อปู เสิร์ฟคู่กับหมี่เบญจรงค์ และเทมปุระดอกโสน

ปิดท้ายเมนูของคาวด้วย ปลานิลนึ่งบ๊วย ซึ่งใช้บ๊วยดองที่ชาวบ้านละแวกนั้นทำกันเอง เสิร์ฟคู่กับข้าวโปะมิโสะสาหร่าย แล้วล้างปากด้วยของหวานอย่างข้าวหมาก

เมนูของหวานท้ายสุดถูกยกมาเสิร์ฟโดยพี่ยศ พ่อครัวเอกผู้ปรุงและตกแต่งอาหารทั้งหมดในมื้อค่ำนี้ พี่ยศออกมาพูดคุยพร้อมแนะนำเมนูของหวาน เป็นวุ้นรูปกระต่ายในน้ำกะทิสดจากอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ใส่น้ำตาลมะพร้าว กับไอติมวานิลลา โรยข้าวตอก เมื่อกินทุกอย่างรวมกันทำให้กลิ่นกะทิคลุ้งไปทั่วทั้งปาก เป็นการปิดท้ายมื้อนี้อย่างสมบูรณ์แบบทั้งความอร่อย รูปลักษณ์อาหาร รวมถึงบรรยากาศที่สร้างรสชาติให้เต็มทั้งสายตาและจินตนาการ

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เรานั่งพูดคุยกันอีกเล็กน้อย ก่อนจะร่ำลากันเมื่อเวลาล่วงเลยไปเกือบเที่ยงคืน ระหว่างทางกลับ ผมขับฝ่าความมืดที่แทบมองไม่เห็นอะไรรอบๆ ตัวออกมาจากหุบเขาก่อนจะเจอกับแสงไฟจากตัวเมืองเมื่อเข้าสู่เขตเมืองเชียงใหม่ ตัดความรู้สึกและจินตนาการหลายชั่วโมงก่อนหน้านี้ให้กลับมาสู่ความปกติที่แตกต่างกันราวออกมาจากอีกโลกนึง

หุบเขาคนโฉด

Address: อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
How to get there : ขับรถจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปยัง อ.แม่ริม ใช้เส้นทางเดียวกับไปวัดพระพุทธบาทสี่รอย ก่อนจะเลี้ยวเข้าทางขึ้นน้ำตกตาดหลวง (จองทานอาหาร สอบถามรายละเอียดที่ 06-2474-1656 / คุณกุ่ย)

ใครอยากส่งเรื่องที่น่าเที่ยวมาลงเว็บไซต์ a day online คลิกที่นี่เลย

 

 

 

AUTHOR