Hamamatsu Festival : เทศกาลแข่งว่าวที่เหมือนกับยกสนามหลวงมาไว้ที่ญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเทศกาลประจำฤดูกาลต่างๆ มาช้านาน เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวที่เมือง Hamamatsu เมืองติดชายฝั่งทะเลที่อยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดชิสึโอกะ โดยจะอยู่กึ่งกลางระหว่างโตเกียวและโอซาก้า อุตสาหกรรมหลักของเมืองนี้คือเครื่องดนตรี และมีเทศกาลสำคัญที่จัดขึ้นช่วงวันที่ 3 – 5 พฤษภาคมของทุกปีซึ่งตรงกับช่วงโกลเด้นวีคของญี่ปุ่นพอดี นั่นคือ Hamamatsu Festival หรือที่คนญี่ปุ่นรู้จักกันดีในนาม Takoage-Gassen หรือเทศกาลแข่งว่าว

เทศกาลนี้มีมานานกว่า 430 ปีแล้ว โดยโชกุนของพระราชวัง Hamamatsu ได้จัดงานเฉลิมฉลองวันเกิดของลูกชายคนแรกของครอบครัวด้วยการเล่นว่าว ว่าวตัวแรกที่ทำขึ้นในโอกาสนี้จึงเป็นที่รู้จักในชื่อ Hatsudako (The First Kite) และการเฉลิมฉลองให้กับลูกชายคนแรกโดยการเล่นว่าวก็เป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน เทศกาลนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากกว่าปีละ 2 ล้านคนเลยทีเดียว

วันที่ผมไปถึงเมือง Hamamatsu นั้นเป็นวันแรกของงานเทศกาล สิ่งแรกที่ผมได้พบคือการต้อนรับจากชาวเมืองที่อบอุ่น มีป้ายบอกทางตลอดเพื่อไปยังสถานที่จัดการแข่งขันว่าวซึ่งอยู่ที่ Nakatajima Sand Dunes เป็นพื้นที่กว้างติดกับชายฝั่งทะเล ความคึกคักและครึกครื้นของผู้คนที่ทยอยกันเข้ามาชมงานก็สร้างสีสันให้กับงานเป็นอย่างมาก

เราสามารถเข้าชมงานได้เลยโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น ด้านหน้าทางเข้างานนั้น ชาวเมืองได้จัดซุ้มให้นักท่องเที่ยวได้สวมเสื้อที่มีลักษณะเหมือนชุดยูกาตะแต่ไม่ยาวเท่า คล้ายๆ เป็นเสื้อคลุมเรียกว่า ‘ฮัปบิ’ ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นเสื้อประจำทีมของแต่ละทีมที่ลงแข่งขันว่าว นักท่องเที่ยวต่างยืนต่อแถวเพื่อรอสวมเสื้อและบันทึกภาพของตัวเองไว้

ภายในงานมีเวทีการแสดงให้นักร้องมาขับกล่อมบทเพลงประจำเมืองและนักเต้นมาเต้นตามจังหวะของเพลง บริเวณรอบๆ มีร้านขายอาหาร ร้านขายขนม ร้านขายของที่ระลึก เช่น เสื้อ พวงกุญแจที่เป็นสัญลักษณ์ของเมือง นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นบ้างก็นั่งบ้างก็ยืนฟังบทเพลงอย่างสบายอารมณ์ พอเพลงจบ ผมก็เดินตามป้ายบอกทางเพื่อไปยังสถานที่ที่จะมีการแข่งว่าวกันเกิดขึ้น โดยระหว่างทางก็มีทางให้นักท่องเที่ยวเดินไปชมความงามของทะเลได้ด้วย

ไหนๆ มาญี่ปุ่นแล้วก็อยากเห็นทะเลญี่ปุ่นสักครั้ง ผมเดินไปชมทะเล ลมที่นี่แรงพอสมควรจึงเหมาะแก่การเล่นว่าว ระหว่างทางที่ลงไปเดินเป็นผืนทรายและกรวดหินเล็กๆ โดยผมสังเกตเห็นว่า ชาวญี่ปุ่นทำที่กั้นเป็นกำแพงไม้ขึ้นมาจำนวนมากเพื่อให้เต่าทะเลมาวางไข่นั่นเอง สะท้อนให้เห็นถึงการรักษาสมดุลธรรมชาติของชาวญี่ปุ่นอย่างเห็นได้ชัด ทะเลญี่ปุ่นบริเวณนี้ไม่สามารถลงไปเล่นน้ำได้ เนื่องจากน้ำเย็นและไม่ใสเหมือนทะเลบ้านเรา ผมเดินเลาะริมทะเลเพื่อไปยังสถานที่แข่งว่าว เสียงของเครื่องดนตรีลอยมาตามสายลม และผมเริ่มมองเห็นว่าวที่ลอยอยู่ไกลๆ บนท้องฟ้า มองจากริมทะเลตรงนี้ว่าวมีขนาดเล็กมาก

เสียงดนตรีดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผมเดินเข้าไปใกล้สถานที่แข่งมากขึ้น ซึ่งเป็นพื้นหญ้ากว้างขนาดประมาณ 4 สนามฟุตบอล ว่าวบางตัวถูกปล่อยขึ้นฟ้าไปแล้ว บางตัวกำลังรอเพื่อที่จะแข่งต่อไป นักท่องเที่ยวที่มาที่นี่มีทุกเพศทุกวัย ต่างก็สวมเสื้อคลุมทีมของตน บรรยากาศเทศกาลก็เหมือนงานวัดบ้านเราครับ แต่ผิดกันตรงที่เขาจัดการเป็นระเบียบ สะอาด แถมรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวช่วยกันเก็บขยะโดยให้รับถุงขยะกับคีมหนีบขยะจากด้านหน้างาน และตอนก่อนจะกลับบ้านก็ให้นำถุงขยะมาแลกรับของที่ระลึกกลับไป

ลงไปบริเวณที่ชาวเมืองกำลังเตรียมแข่งว่าวจะมีการแบ่งพื้นที่ของแต่ละทีมเพื่อฟอร์มทีมและเตรียมว่าวขึ้น เครื่องดนตรีที่ใช้มีกลองเล็กๆ และ Bugle ซึ่งมีลักษณะคล้ายทรัมเปตที่ให้สัญญาณเพื่อกำหนดจังหวะตอนดึงว่าว โดยใครที่มีลูกชายหรือลูกสาวนั้น คนเป็นพ่อจะอุ้มลูกขึ้นเหนือศีรษะ ส่วนแม่จะจับสายป่านไว้ จากนั้นคนในทีมจะร่วมกันเปล่งคำว่า ‘Oisho!, Oisho!’ ซึ่งคล้ายๆ กับบ้านเราที่บอกว่า ‘ฮุย! เล! ฮุย!’ โดยการปล่อยว่าวให้สูงขึ้นก็เปรียบเสมือนการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของเด็กนั่นเอง

ตัวว่าวมีขนาดใหญ่มากคือ 2 – 10 jō แต่ขนาดของว่าวที่ดีจะอยู่ที่ประมาณ 4 – 6 jō ซึ่งหนึ่งหน่วย jō จะเท่ากับ 1.25 ตารางเมตรหรือเท่ากับกระดาษ Mino Washi ของญี่ปุ่น 12 แผ่น เชือกที่ใช้ผูกกับตัวว่าวเป็นเชือกสีน้ำตาลขนาดใหญ่และยาวมาก โดยใช้เชือกมัดไว้กับเครื่องม้วนเก็บเชือกที่เรียกว่า Itowaku ส่วน Tegi เป็นเครื่องมือคล้ายรอกผูกไว้กับสายหลักของว่าว วิธีการนำว่าวขึ้นท้องฟ้าจะใช้ผู้ชายร่างกายกำยำประมาณ 20 คน ผลัดกันวิ่งรอกเพื่อให้สามารถปล่อยเชือกขึ้นไปได้สูงขึ้น มีผู้ให้สัญญาณกลุ่มคนที่วิ่งรอกโดยการเป่านกหวีด โดยจะต้องเอาชนะว่าวฝ่ายตรงข้ามให้ได้ การแข่งขันจะเริ่มขึ้นเมื่อเชือกของแต่ละทีมพันกัน แต่ละฝ่ายจะทำเชือกป่านให้หนาประมาณ 5 มิลลิเมตรและทำให้ว่าวของคู่ต่อสู้หล่นจากฟ้าโดยอาศัยแรงเสียดทานทำให้เกิดการไหม้ของสายว่าว ต่างฝ่ายต่างก็ส่งเสียงเชียร์กันดังลั่นสนาม นักท่องเที่ยวและผู้เข้าชมงานต่างก็ตื่นเต้นกับการแข่งขัน จริงๆ แล้ววัตถุประสงค์ของการจัดงานเทศกาลนี้ก็คือต้องการกระชับความสัมพันธ์ของคนในเมืองนั่นเอง

การประลองว่าวจะเริ่มประมาณช่วงสายจนถึงบ่ายของแต่ละวัน ส่วนในยามค่ำคืนก็จะมีขบวนพาเหรดรถ การแสดงพื้นบ้านของภูมิภาค วงโยธวาทิต และการประกวด Miss Hamamatsu Festival จัดที่บริเวณสถานี Hamamatsu ซึ่งเราต้องนั่งรถบัสกลับมา ผมใช้เวลาต่อคิวเพื่อขึ้นรสบัสเกือบ 2 ชั่วโมง ถ้าจะให้ดีเราควรออกจากงานให้เร็วกว่าเพื่อจะได้ไม่ต้องรอคิว

พอมาถึงสถานีแล้วก็รองท้องก่อน โดยภายในสถานีจะมีร้านอาหารให้เลือกมากมาย จากนั้นช่วงประมาณ 5 โมงเย็นจะเริ่มเห็นผู้คนทยอยกันไปจับจองที่นั่งและที่ยืนริมถนนเพื่อรอชมขบวนพาเหรดรถ ตอนนี้ฟ้าก็เริ่มมืดแล้ว ทีแรกผมแปลกใจว่าทำไมตามถนนหนทางถึงยังไม่ค่อยจะเปิดไฟกันเลย แต่ก็เข้าใจทันทีเมื่อขบวนรถที่ถูกแกะสลักและประดับโคมไฟอย่างสวยงามโดดเด่นค่อยๆ ผ่านเข้ามาโดยมีเด็กๆ และผู้ใหญ่ลากมา ว่ากันว่าเป็นการเตรียมต้อนรับชายหนุ่มผู้กลับมาจากการแข่งว่าว ภายในขบวนรถจะมีเด็กๆ สวมใส่เสื้อผ้าสวยงาม เล่นเครื่องดนตรีอยู่บนรถ สร้างความประทับใจได้สมกับการรอคอยเลยล่ะครับ

Hamamatsu Festival

Address: Nakatajima Dunes, Hamamatsu, Shizuoka Prefecture, Japan
Hours: จัดขึ้นช่วงวันที่ 3 – 5 พฤษภาคมของทุกปี
How to get there: เดินทางจากโตเกียวโดยรถไฟชินกันเซนสาย Hikari หรือรถไฟท้องถิ่น JR Tokaido Honsen มาลงยังสถานี Hamamatsu ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง จากนั้นนั่งรถบัสต่อจากสถานีไปยังสถานที่จัดงาน ค่าโดยสารผู้ใหญ่ 250 เยน เด็ก 130 เยน ใช้เวลาประมาณ 15 นาที

Maps:

ใครอยากส่งเรื่องที่น่าเที่ยวมาลงเว็บไซต์ a day online คลิกที่นี่เลย

AUTHOR