Coober Pedy : ดินแดนใต้ดินแห่งความหวัง

สำหรับนักท่องโลกที่ไม่โหยหาความศิวิไลซ์
(ในความหมายของ ความเจริญ) เมือง Coober Pedy แห่งดินแดนจิงโจ้และโคอาล่า
มีเสน่ห์พอที่จะเป็นหนึ่งจุดหมายปลายทางที่ต้องปักหมุด เมืองเล็กๆ
แห่งนี้น่าสนใจตรงที่มีภูมิอากาศแบบทะเลทราย ภูมิประเทศกึ่งทะเลทราย
และผู้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ ‘ใต้’ ผืนแผ่นดินที่แห้งผาก คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าเลือกที่จะอยู่ที่นี่ด้วยความหวังว่าจะขุดพบสมบัติล้ำค่าที่อยู่ใต้พื้นดิน
ความหวังนั้นเป็นตัวขับเคลื่อนให้วันพรุ่งนี้ดำเนินต่อไป
ทัศนียภาพของที่นี่แปลกตายิ่งกว่าเมืองใดในโลก เป็นความสวยงามแบบหยาบ ดิบ
ที่ไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบ
บางทีก็รู้สึกเหมือนว่าเราเดินอยู่ท่ามกลางสมรภูมิรบแถบตะวันออกกลาง ไร้เงาผู้คน
และเนินเขาเหล่านั้นให้ความรู้สึกละม้ายบังเกอร์ในสนามรบ ระหว่างที่เดินชมเมืองไปทั่วๆ
โดยไม่ได้ระมัดระวังตัว เราถูกยิงเข้าให้จริงๆ สิ่งต่างๆ ที่เราพบเจอ
เปรียบเหมือนลูกกระสุนที่ยิงแม่นโดนเป้าประทับเข้าที่ใจของเราโดยไม่ทันได้ตั้งตัว

เมืองใต้ดินแห่งนี้เป็น Outback
หรือ ‘ดินแดนอันห่างไกลที่มีผู้คนอาศัยอย่างบางตา’ ออสเตรเลียมีภูมิประเทศแบบทะเลทรายถึง
18 เปอร์เซนต์ของพื้นที่ทั้งหมด ผู้มาใหม่หันหลังให้ทะเลทราย
มุ่งหน้าสู่ดินแดนชายฝั่งเพื่อก่อร่างสร้างเมืองใหม่
แต่ดินแดนทะเลทรายเหล่านี้กลับเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ แสนหวงแหนของชาวอะบอริจิน
เจ้าของแผ่นดินที่ใช้ชีวิตอยู่กันมานับหมื่นปี โดยไม่คิดจะละทิ้ง

เมื่อดูพิกัดของ Coober
Pedy ก็จะเข้าใจความหมายของ Outback มากขึ้น
เมืองหลักๆ ที่ใกล้ Coober Pedy ที่สุดคือ Alice
Springs ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางเหนือ 688
กิโลเมตร เมืองที่ใกล้อันดับต่อมาคือ Adelaide ห่างไปทางตอนใต้
845 กิโลเมตร นั่นหมายความว่า Coober Pedy อยู่ท่ามกลางความแห้งแล้งและความว่างเปล่าระหว่างสองเมืองใหญ่ ชนิดที่เรียกว่า ‘out of nowhere’ ด้วยประชากรที่มีไม่ถึงสามพันคน
อะไรถึงดึงดูดให้พวกเขาลงหลักปักฐานอยู่ที่นี่หลายสิบปี
ทำไมพวกเขาถึงเลือกใช้ชีวิตอยู่ใต้ดิน
ไม่มีวิธีการหาคำตอบใดดีไปกว่าการออกเดินทางอีกแล้ว

ย้อนกลับไปกว่า 4 หมื่นปีก่อน ชาวอะบอริจินรุ่นแล้วรุ่นเล่าใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนที่ปัจจุบันเรียกว่า
‘ออสเตรเลีย’ ก่อนคนหน้าขาวชนใดทั้งปวง
จนกระทั่งวันที่ 26 มกราคม 1788
เรือบรรทุกนักโทษชุดแรกจากเกาะอังกฤษได้ทอดสมอลงจอดเรือที่ Port Jackson ดินแดนแห่งนี้จึงเปลี่ยนโฉมไปตลอดกาล วันที่ 26
มกราคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันชาติ’ ของออสเตรเลีย มีพิธีเฉลิมฉลองใหญ่โตทุกปี แต่สำหรับชาวอะบอริจิน
วันนั้นคงเป็นวันที่พวกเขาถูกปลุกขึ้นจากความฝัน (Dreamtime – คือ ช่วงเวลาแห่งการสรรค์สร้างสรรพสิ่งในความเชื่อของชาวอะบอริจิน)

นักโทษนับแสนคนเดินทางมารับโทษที่นี่ ถ้าใครประพฤติตัวดีจะได้ ‘ตั๋วแห่งอิสรภาพ’
(Ticket of Freedom) ได้รับอิสระเร็วกว่ากำหนด
สำหรับนักโทษคนอื่นที่รับโทษตามกำหนด (ส่วนใหญ่รับโทษไม่เกิน 7 ปี) ก็จะได้รับ ‘ประกาศนียบัตรแห่งอิสรภาพ’
(Certificate of Freedom) เพื่อรับรองความมีเสรีภาพ
บางคนเลือกที่จะเดินทางกลับแผ่นดินแม่ และอีกหลายคนเลือกตั้งรกรากที่นี่
เมืองใหม่ค่อยๆ ถูกสร้างขึ้นด้วยหยาดเหงื่อของอดีตนักโทษที่มาจากหลากหลายทักษะอาชีพ

มี ‘ทรัพย์ในดิน’
ในออสเตรเลียอีกมากมายที่ยังไม่ถูกค้นพบ
ทำให้มีการออกสำรวจกันอย่างต่อเนื่อง จนในปี 1915
คณะขุดทองได้ออกสำรวจเหมืองทองคำแห่งใหม่ทางตอนใต้ของเมือง หนุ่มน้อยนามว่า
วิลเลียม ฮัตชิสัน วัย 14 ปี ติดตามบิดาออกสำรวจพื้นที่
ด้วยความบังเอิญเขาเดินสะดุดเข้ากับอัญมณีที่ระยิบระยับอยู่บนพื้นพสุธา
หลังจากนั้นอีกเพียง 8 วัน ‘โอปอล’
ชิ้นแรกก็ถูกค้นพบภายใต้พื้นพิภพอันไกลโพ้นแห่งนี้
การค้นพบครั้งนั้นได้เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของพื้นที่แห่งนี้ไปตลอดกาล

เมื่อข่าวคราวการค้นพบโอปอลแพร่กระจายออกไปเรื่อยๆ
ผู้คนหลายเชื้อชาติจากทั่วสารทิศต่างตบเท้าเข้ามา
โดยเฉพาะชาวยุโรปที่อพยพเข้ามาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยความหวังว่าจะสร้างเนื้อสร้างตัวจากเจ้าอัญมณีล้ำค่าที่ซ่อนใต้ธรณีนับร้อยล้านปี
ทำให้ปัจจุบันเมือง Coober Pedy ที่มีประชากรเพียงหยิบมือแต่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากถึง 45 เชื้อชาติ
ส่วนปริมาณโอปอลที่ค้นพบนั้นมีสัดส่วนมากถึง 70 เปอร์เซนต์
ของโอปอลทั้งหมดที่ค้นพบบนโลก นั่นคือที่มาของสมญานาม ‘เมืองหลวงแห่งโอปอล’

‘คนขาวที่อยู่ในรู’ คือความหมายของ คำว่า ‘Kupa Piti’ ในภาษาของคนพื้นเมือง
หมายความว่า ชื่อของเมืองนี้ตั้งโดยชาวอะบอริจินในยุคที่ผู้มาเยือนเริ่มปฏิบัติการขุดเหมืองใต้ดินโดยถูกถอดเสียงออกมาเป็น ‘Coober Pedy’

ที่นี่เอง
ทำให้เราเข้าใจความหมายของการหยุด ‘พักร้อน’
อย่างแท้จริง พวกเราเดินทางมาถึงเมือง Coober Pedy ในวันท้ายๆ ของปีซึ่งเป็นฤดูร้อน ไม่มีการทำเหมืองใดๆ ชาวเหมืองและชาวเมืองต่างหยุด
‘พักร้อน’ อยู่ใต้ดิน
หรือไม่ก็ออกท่องเที่ยวเหมือนกับเราๆ พวกเขาจะกลับมาทำเหมืองอีกทีในเดือนมีนาคม เพราะอุณหภูมิในฤดูร้อนบางวันพุ่งสูงถึง
50 องศาเซลเซียส

ฤดูกาลท่องเที่ยวของที่นี่เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงตุลาคม
ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากถึง 150,000 คน หลายคนมีงานหลักคือทำเหมืองและมีอาชีพเสริมเป็นไกด์นำนักท่องเที่ยวชมเมืองและชมเหมือง
บางรายเปิดร้านขายของที่ระลึก นั่นก็คือ ผลิตภัณฑ์โอปอลที่ตัวเองหาได้
(ในวัยหนุ่ม) ควบคู่กันไป

การมาเยือนในฤดูโลว์ของพวกเราทำให้เห็นเมืองใต้ดินในอีกโฉมหน้าหนึ่ง เราเดินไปตามท้องถนน กวาดสายตาไปรอบๆ
เพื่อสำรวจดูวิถีชีวิตของผู้คน แต่กลับไม่พบใครแม้แต่คนเดียวในระยะสายตามองเห็น
หรือนี่แหละคือวิถีของพวกเขา ‘วิถีใต้ดิน’ สำหรับเราแล้วช่างเป็นบรรยากาศการชมเมืองที่แปลกเหลือเกิน เหมือนว่าเราหลุดเข้าไปอยู่ในอีกโลกใบหนึ่ง

‘บ้านใต้ดิน’ คือวิถีชีวิตที่น่าสนใจที่ได้ลองแล้วจะติดใจ เราสุ่มเลือกที่พักชื่อ The
Underground Motel เพียงเพราะหลงใหลน้ำเสียงหวานๆ
เปี่ยมไมตรีของหญิงปลายสายเมื่อครั้งโทรศัพท์มาสอบถามเรื่องที่พัก
โมเตลนี้อยู่เลยไปทางตอนเหนือของเมือง ทันทีที่เราลงจากรถบัส ‘เมอร์ซี่’ หญิงสาวปลายสายคนนั้นเดินเข้ามาทักทายทันที
เธอไปรับเราถึงสถานีรถบัส เราไปถึงที่นั่นเย็นมากแล้ว ร้านอาหารปิดกันหมด
ด้วยความเอ็นดู เธอให้บะหมี่สำเร็จรูปแก่พวกเรา 1 แพ็ก
พร้อมกับแนะนำสถานที่และวางโปรแกรมให้เราในวันพรุ่งนี้ เธอคือ ‘เมอร์ซี่’
เธอมีเมตตาสมชื่อจริงๆ

‘Dugout’ คือคำที่ใช้เรียกที่อยู่ใต้ดินที่เกิดจากการขุด
เจาะให้เป็นหลุม เป็นถ้ำ ที่พักของเราเป็น Dugout ที่อยู่บนเนินสูง
ทำให้เห็นทัศนียภาพแห้งผากประดุจอยู่บนดาวอังคาร (คนช่างคิดเปรียบไว้แบบนั้น)
ภายในที่พักของเราตกแต่งได้อย่างอบอุ่น ดอกไม้ โคมไฟ แจกัน รูปภาพศิลปะอะบอริจิน
ถูกจัดวางอย่างลงตัวเพิ่มความอ่อนโยนให้กับโครงสร้างหินทรายที่แกร่งกระด้าง

คืนนี้เราจะนอนในห้องพักที่ล้อมรอบไปด้วยกำแพงหินทรายที่มีอายุกว่า
120 ล้านปี พื้นผิวผนังขรุขระที่เกิดจากเครื่องขุดอุโมงค์ (วิธีการสมัยใหม่)
ทิ้งร่องรอยหยาบดิบให้ปลายนิ้วของเราได้ลูบไล้สัมผัสเพลิน
ภายในห้องพักไม่มีร่องรอยของเศษหินทรายที่กะเทาะออกมาจากกำแพงหรือผนังเหมือนกับที่เราคิดเอาไว้
เพราะ Dugout สมัยใหม่นิยมเคลือบด้วย Bondcrete เพื่อพื้นผิวที่แลดูมันเงาและป้องกันการกะเทาะ ถ้าเคลือบดีๆ
ผนังและกำแพงของ Dugout ก็จะอยู่ในสภาพที่ดีไปอีกกว่า 30 ปี อุณหภูมิภายใน Dugout อยู่ระหว่าง 20 – 25 องศาเซลเซียส ไม่ว่าภายนอกจะร้อนระอุทะลุ 50
องศาก็ตามที

Dugout สมัยใหม่ใช้เครื่องขุดอุโมงค์เป็นเครื่องทุ่นแรง ทำให้สร้างได้สะดวกรวดเร็ว โดยจะเริ่มขุดจากด้านข้างของภูเขาหินทราย
โดยตัดด้านตีนภูเขาออกให้เป็นมุมฉากเพื่อเป็นหน้าบ้าน
แล้วเริ่มขุดเข้าไปจากด้านหน้า ทางเข้าบ้านจะอยู่ในระดับถนน ห้องต่างๆ
ก็จะถูกขุดให้ลึกเข้าไปและลึกลงไปในตัวภูเขา ห้องครัว และห้องน้ำจะอยู่ด้านหน้าสุดเพราะเป็นบริเวณเดียวที่ได้รับแสงธรรมชาติ และที่สำคัญ สามารถต่อระบบน้ำได้
เพราะส่วนที่ลึกเข้าไปจะไม่สามารถเดินระบบน้ำได้แล้ว

‘น้ำ’ เป็นทรัพยากรที่หายากกว่าโอปอลเสียอีก เพราะพื้นดินแถบนี้ขุดลงลึกแค่ไหนก็ไม่มีน้ำบาดาล
น้ำสำหรับอุปโภคบริโภคถูกขนถ่ายมาทางท่อใต้ดินจากบริเวณที่ห่างไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองถึง
25 กิโลเมตร ทำให้น้ำมีราคาสูงกว่าปกติ
และด้วยระบบกรองน้ำชั้นดี น้ำเลยมีมาตรฐานที่ดี เราจึงดื่มน้ำจากก๊อกได้เลย น้ำจาก
Coober Pedy รสชาติไม่เฝื่อนเหมือน Outback ย่านอื่นๆ ในเมื่อรู้ว่าน้ำหายากและราคาแพงแล้ว
ในฐานะนักท่องเที่ยวก็ควรใช้สอยทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าเพื่อลดภาระของชาวเมือง
เราได้สะดุดตากับเครื่องขายน้ำหยอดเหรียญที่ติดตั้งอยู่ข้างทางเข้า
โดยหยอดเหรียญเข้าไป 20 เซนต์ จะได้น้ำกลับมา 30 ลิตร

ในสมัยก่อนถ้าใครอยากสร้าง Dugout
สักแห่ง ก็ทำเรื่องขอซื้อภูเขาจากรัฐบาล แจ้งแผนการสร้างอย่างคร่าวๆ
ไม่เคร่งครัดเหมือนการสร้างบ้านแบบทั่วๆ ไป ไม่ต้องคำนวนตามหลักวิศวกรรม
เพราะโครงสร้างหินทรายที่แข็งแกร่งอยู่เป็นทุน เพียงทำเสารับน้ำหนักที่มีความหนาประมาณ
40 นิ้ว ก็เป็นอันมั่นคง
ปัจจุบันภูเขาหินทรายกลายเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลไปแล้ว

Dugout มีข้อดีหลายอย่างนอกจากการควบคุมอุณหภูมิแล้ว
หนึ่งในนั้นคืออยากจะต่อเติม เสริม ขยายบ้านเมื่อไหร่ก็ลงมือขุดได้ทันที
ตราบใดที่ไม่ขุดล้ำเข้าไปในอาณาเขตของเพื่อนบ้านแล้ว ‘จ๊ะเอ๋’
กันเข้า กรณีนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต
ต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันชนิดที่แพงกว่ามูลค่าบ้านเสียอีก ส่วนใครอยากจะมี Dugout
หลายชั้น ก็เพียงขุดลงไปใต้ดิน โดยขุดได้ลึกถึงสามชั้น
แต่มีคำเตือนอยู่ว่า ยิ่งลึกยิ่งหนาว ขุดไปถึงชั้นที่สาม อุณหภูมิจะเหลืออยู่แค่หลักสิบเท่านั้น

ส่วนข้อเสียของการอยู่ใต้ดินก็คือ ‘ร่างกายขาดวิตามินดีที่ได้รับจากแสงอาทิตย์’ เพราะวิถีชีวิตของชาวเมืองส่วนใหญ่หลบร้อนอยู่ใต้ดิน
หรือไม่ก็อยู่ในเหมือง ไม่ค่อยได้พาร่างกายมาเจอแสงแดดอย่างเพียงพอ
ชาวเมืองเลยต้องมีการตรวจวัดระดับวิตามินดีอยู่เป็นระยะ

ผลพลอย (โอปอล) ได้อีกจากการขุด Dugout
ที่นอกจากจะได้ที่อยู่อาศัยแล้ว ดีไม่ดีจะได้โอปอลติดมือมาด้วย
กลายเป็นมหาเศรษฐีไปโดยปริยาย มีเรื่องเล่าอยู่ว่าชายคนหนึ่งต้องการทำขั้นบันไดเพิ่มใน
Dugout ของตัวเอง เพื่อความสะดวกของแม่ยายที่จะมาเยือน
ขุดไปขุดมาก็โป๊ะเช๊ะ ป๊ะกับโอปอลหายากสีเขียวมูลค่า 1.2
ล้านเหรียญเข้า!!!!

พอพูดถึงคำว่าใต้ดิน หรือ ถ้ำ มักจะมาพร้อมความรู้สึกอึดอัด
หายใจไม่ออก แต่สำหรับ Dugout แล้ว
มีระบบระบายอากาศที่ขจัดปัญหานี้ออกไปได้ โดยการเจาะท่อระบายอากาศทะลุผ่านภูเขาขึ้นไป
ที่เรียกว่า Natural Air Shaft ถ้าสังเกตบนภูเขาหินทรายที่ทำหน้าที่เป็นหลังคาบ้าน
จะเห็นปล่องระบายอากาศ จานดาวเทียม หรือแผงโซลาเซลล์ ติดตั้งอยู่

Dugout ที่พูดถึงมานี้ เป็น
Dugout ยุคใหม่ เดิมที Dugout คือผลพวงมาจากการทำเหมืองโอปอล
ธรรมชาติของการทำเหมืองคือต้องขุดลงไปใต้ดินหลายสิบฟุต
ยิ่งต้องการขยายพื้นที่เหมืองเท่าใด ก็ต้องขุดให้ลึก ให้กว้างขึ้นไปเรื่อยๆ
จนกว้างพอจะดัดแปลงมาเป็นที่อยู่อาศัย ประกอบกับอุณหภูมิที่ร้อนฉ่า
การอาศัยอยู่ในเหมืองเลยเป็นทางเลือกของชาวเหมืองในสมัยนั้น เป็นการหลบร้อนได้อย่างลงตัว
นี่เอง คือต้นกำเนิดของการอาศัยอยู่ใต้ดินในยุคแรกๆ

ลักษณะทางธรณีวิทยาของเมือง Coober
Pedy เป็นหินทราย มีคุณสมบัติขุดเจาะง่ายแต่ทนทานมาก
ประกอบกับช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
เหล่าทหารกล้าที่อพยพเข้ามาต่างนำวิชาการขุดอุโมงค์ที่ได้มาจากสมรภูมิรบติดตัวมาด้วย
เลยทำให้ชาวเมือง Coober Pedy มีทักษะการขุดเจาะที่ยอดเยี่ยมเป็นทุน

พิพิธภัณฑ์ Old
Timers Mine พาเราย้อนเวลากลับไปดูการทำเหมืองในยุคแรกๆ
ที่เครื่องทุ่นแรงยังไม่ถูกแนะนำให้รู้จัก
ป้ายอธิบายพร้อมภาพประกอบภายในเหมืองถูกจัดวางเรียงลำดับขั้นตอนอย่างเป็นระเบียบ
เราได้เรียนรู้บทเรียนใหม่เกี่ยวกับวิชาทำเหมือง
ควบคู่ไปกับความเข้าใจถึงความพยายามของมนุษย์ในยุคนั้น
ไม่ว่าจะยากลำบากและต้องอดทนสักแค่ไหน แต่ด้วยหัวใจที่เต็มไปด้วยความหวัง
ทำให้เขาตั้งหน้าตั้งตาค้นหาโอปอลกันต่อไป การทำเหมืองจึงไม่ต่างจากการเดิมพัน
ถ้าโชคดีก็จะค้นพบโอปอลน้ำดี ทำให้สุขสบายไปทั้งชีวิต ส่วนผู้ที่แพ้เดิมพัน
ทุ่มทุนชนิดเทหน้าตัก แต่สุดท้ายก็เป็นเพียงแค่ความหวังที่ยังไม่เป็นจริง

ที่นี่เองเราได้สัมผัสกับ Dugout
ในยุคแรกที่เกิดจากการทำเหมืองโอปอล ครอบครัวของคุณ Ron
Gough ใช้ชีวิตอยู่ในนั้นนานถึง 33 ปี
ห้องต่างๆ แบ่งออกเป็นสัดเป็นส่วน ห้องนอน ห้องรับแขก ห้องครัว
จำลองภาพการใช้ชีวิตของครอบครัว Gough ชวนให้เราจินตนาการไปถึงความมีชีวิตชีวาของสถานที่แห่งนี้ในยามที่มีคนอาศัยอยู่

ใน Coober Pedy ไม่มีระบบรถโดยสารสาธารณะ (ไม่มีไฟแดงด้วย) เราใช้บริการทัวร์ครึ่งวันเพื่อชมเมืองและชมเหมืองที่อยู่ไกลออกไป
ทำให้ได้เห็นทัศนียภาพแปลกตาและได้ยินเรื่องเล่าแปลกหูจากคุณลุงชาวเหมืองที่ตอนนี้ผันตัวมาเป็นไกด์นำเที่ยว คุณลุงพาเราไปดูสนามกอล์ฟ 18 หลุม ที่ได้รับการโหวตให้เป็นหนึ่งในสนามกอล์ฟสุดแปลกของโลก
เป็นสนามกอล์ฟที่ไม่มีหญ้าสีเขียวให้เห็น ป้าย ‘Keep off grass’ คืออารมณ์ขันสไตล์ชาวคูเบอร์
เช่นเดียวกับป้ายเตือนผู้ที่สัญจรผ่านสนามกอล์ฟว่าให้ระวัง ‘Flying
Objects’ ที่พานให้นึกถึงจานบินจากต่างดาว และที่แปลกไปกว่านั้นก็คือ
กลางวันแสกๆ แบบนี้ย่อมไม่เห็นนักกอล์ฟเป็นแน่ พวกเขาจะออกรอบกันตอนดึกๆ
เพราะหลีกเลี่ยงแดดที่ร้อนผ่าว คำถามคือ
เขาจะมองหาลูกกอล์ฟกันเจอได้อย่างไรในความมืด

คำตอบก็คือ เขาใช้ ‘ลูกกอล์ฟสะท้อนแสง’ ยังไงเล่า

ถ้อยคำ 2,999 คำ นี้ ถูกใช้ถ่ายทอดเรื่องราวประทับใจส่วนบุคคล
คงต้องใช้ตัวหนังสืออีกหลายหมื่นตัวเพื่อบรรยายทุกสิ่งที่เราพบเจอในสถานที่นั้น
และไม่รู้ต้องใช้ตัวอักษรอีกกี่พันคำเพื่อบรรยายความรู้สึกที่เรามีต่อการเดินทางครั้งนี้ เราหวังเพียงว่าตัวหนังสือทั้ง 2,999 ตัว จะทำให้ใครคนหนึ่งได้ ‘999’ ออกไปเพื่อค้นพบเรื่องราวที่ยังไม่เคยถูกบันทึกขึ้นมาก่อนและได้สัมผัสความรู้สึกใหม่ๆ ในแบบฉบับของตัวเอง

Coober Pedy

Address: Coober Pedy รัฐ South
Australia

Hours:
ตลอดเวลา แต่ไม่ควรถึงที่หมายค่ำนัก

How to get there:
– เครื่องบินสายการบิน Regional
Express Airlines จาก Adelaide

– รถโค้ชเกรย์ฮาวนด์ จาก Alice
Springs หรือจาก Adelaide

– รถไฟสาย The Ghan จาก Adelaide ไปยัง Alice Springs ลงที่สถานี Manguri ห่างจาก Coober Pedy 47 ก.ม. แต่ต้องติดต่อรถมารับ
– เช่ารถขับรถจาก Adelaide
845 ก.ม. จาก Alice Springs 688

Map

ใครอยากส่งเรื่องที่น่าเที่ยวมาลงเว็บไซต์ a day online คลิกที่นี่เลย

AUTHOR