Richhending Shari-Chiwog : หมู่บ้านในภูฏานที่นักท่องเที่ยวผู้ชอบวิถีชุมชนต้องหลงรัก

ชาวภูฏานมีความสุขอย่างที่เขาว่ากันจริงไหม?

โชคดีที่คำถามนี้ติดค้างอยู่ในใจผมมานานจนอดไม่ได้ที่จะเอ่ยปากถามชาวภูฏานเมื่อมีโอกาส
เพราะคำตอบที่ได้นั้นทำให้ผมต้องแอบอมยิ้มปนรู้สึกดีตามไปด้วยอย่างปิดไม่มิด

เราได้ยินกันมาตลอดว่าภูฏานวัดความเจริญของประเทศด้วยดัชนีความสุขมวลรวม
จึงไม่น่าแปลกใจที่ทุกครั้งเมื่อมีการจัดอันดับประเทศแห่งความสุข ต้องมีชื่อภูฏานปรากฏอยู่ในลำดับต้นๆ
เสมอ ด้วยเหตุผลเท่านี้ก็เพียงพอให้ผมตัดสินใจได้เมื่อได้รับโอกาสให้เดินทางไปทำภารกิจเล็กๆ
ในประเทศดังกล่าว ใครกันจะไม่อยากลองไปสำรวจพื้นที่แห่งความสุขบ้างล่ะ ว่าไหม?

ภารกิจเล็กๆ ที่ว่าของผมคือการเข้าร่วมการแข่งขันออกแบบภูมิทัศน์วัฒนธรรมระดับนานาชาติ (International Competition on
Cultural Landscape in Bhutan) ในเมืองพาโร (Paro) เมืองศูนย์กลางการคมนาคมซึ่งยังคงสภาพความเป็นชนบทอยู่ การท่องเที่ยวในครั้งนี้จึงดำเนินควบคู่ไปกับการถือสมุดดินสอร่วมกับอาจารย์และเพื่อนอีก 7 ชีวิต เพื่อวิเคราะห์แง่มุมการใช้พื้นที่และการใช้ชีวิตแบบชาวภูฏาน
โดยมีโจทย์ของการออกแบบเป็นหมู่บ้าน ‘Rinchhending Shari-Chiwog’ ชุมชน 17 ครัวเรือนที่แรกก้าวเข้ามาก็ได้แต่ทำให้เกิดคำถามในใจว่ายังต้องการให้เราออกแบบอะไรอีก? เพราะทัศนียภาพของทุ่งหญ้าสีเขียว
แซมด้วยบ้านเรือนแบบภูฏานหลังน้อยใหญ่ ล้อมรอบด้วยทิวเขาสุดลูกหูลูกตาเบื้องหน้านั้นสวยในระดับที่ผมพูดได้เต็มปากว่า
แทบหยุดหายใจ

แต่แล้วผมก็ได้ทราบเบื้องหลังจากทางรัฐบาลว่าความงดงามที่ว่านี้กำลังจะกลายเป็นเพียงความทรงจำในโปสการ์ด
เหตุเพราะปัญหาสามัญประจำชาวบ้านที่ต้องการย้ายถิ่นฐานออกจาก ‘บ้านนอก’ เพื่อเข้าสู่ ‘เมืองกรุง’ ด้วยหวังเพียงรายได้และคุณภาพชีวิตที่-คิดว่า-ดีกว่า สิ่งที่ตามมาคือ
เมื่อที่อยู่ไม่มีผู้อยู่ ที่อยู่จึงไม่ใช่ที่อยู่ นั่นหมายถึงกิจกรรม วัฒนธรรม
และภูมิทัศน์ชุมชนอันเป็นอัตลักษณ์ของที่นี่กำลังจะเริ่มเลือนหายไป

หลังรับรู้ที่มา เราจึงเริ่มมองหาที่ไปโดยการออกสำรวจหมู่บ้านดังกล่าว การสำรวจในที่นี้หมายถึงการไปยืนตากฝน
ไปเดินลุยโคลน ไปปีนหลังคาบ้าน เพื่อเข้าไปนั่งพูดคุยกับชาวบ้าน
และซึมซับความอบอุ่นที่แต่ละบ้านให้การต้อนรับเราเป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าหมู่บ้านนี้จะไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในไกด์บุ๊กเล่มไหนแต่เชื่อเถอะว่าที่นี่จะทำให้นักท่องเที่ยวผู้หลงใหลในวิถีชุมชนตาเป็นประกาย
ถ้าพูดให้เห็นภาพ ผมว่าที่นี่เป็นเสมือนหมู่บ้าน Harvest Moon ในโลกแห่งความจริง ที่แต่ละบ้านต่างมีความถนัดของตนบ้านละอย่างสองอย่าง
บ้านนี้เลี้ยงวัวเพื่อรีดนม บ้านนั้นปลูกแอปเปิ้ลสำหรับทำแยม บ้านนู้นเลี้ยงไก่เพื่อรอเก็บไข่
บ้านโน้นเป็นช่างไม้ยามใครต้องการซ่อมแซมบ้าน หรือบ้านโน้นที่อินดี้เป็นจิตรกรผู้ขึ้นชื่อเรื่องการเพนต์ลวดลายหัวเสา
ในสายตาผม ความน่ารักของหมู่บ้านนี้คือต่างบ้านต่างช่วยเหลือกันในสิ่งที่ตนทำได้
และน่ารักมากๆ ที่ลูกบ้านบางบ้านยังคงใช้ระบบแลกเปลี่ยนผลผลิตกันแทนการใช้เงินตรา

เราเดินสำรวจไปจนถึงท้ายหมู่บ้านก่อนฟ้าจะเริ่มมืด
สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นตลอดทางคือที่นี่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์แทรกซึมอยู่ในทุกพื้นที่
ไม่ว่าจะเป็นกงล้อศักดิ์สิทธิ์หน้าหมู่บ้าน ธงมนตราแขวนเหนือหน้าต่าง
ซากปรักหักพังที่เชื่อว่าเป็นที่สถิตของสิ่งเหนือธรรมชาติตามแนวกำแพงหมู่บ้าน และที่ทำเอาผมขนลุกคือการไปเจอรอยนิ้วมือทั้งสิบปรากฏฝังบนพื้นไม้หน้าแท่นบูชาในบ้านหลังหนึ่ง
ร่องรอยที่เกิดจากการก้มกราบบูชาของคุณลุงเจ้าของบ้านทุกเช้า-เย็น

ความสวยงามของการใช้ชีวิตทั้งหมดนี้ทำให้ผมเกือบลืมไปว่ามันกำลังจะกลายเป็นเพียงอดีต
แล้วในฐานะนักออกแบบเราจะทำอย่างไรได้บ้าง? อาจารย์ทิ้งท้ายให้คิด ก่อนจะเป็นช่วงจังหวะพอดีที่เราเดินออกมาเห็นเด็กตัวเล็กๆ กำลังหมุนกงล้อศักดิ์สิทธิ์อย่างตั้งใจ
ภาพนั้นจุดประกายแนวคิดให้เราว่า ‘ทุกวันนี้เด็กชาวภูฏานยังคงเชื่อในการหมุนกงล้อศักดิ์สิทธิ์
แล้วทำไมจะทำให้เด็กชาวภูฏานเหล่านั้นเชื่อในการหมุนกลับมาใช้วิถีชีวิตดั้งเดิมของตนไม่ได้?’

นั่นทำให้เราย้อนกลับไปเห็นว่า ‘ความเชื่อ’ เป็นสิ่งพิเศษของที่นี่ ไม่ใช่แค่ความเชื่อในเรื่องศาสนา แต่ชาวบ้านแสดงให้พวกเรารู้สึกได้ว่าพวกเขาเชื่อในวิถีชีวิตของตนเอง
เชื่อในความผูกพันของครอบครัว เชื่อในความซื่อสัตย์ของเพื่อนบ้าน
หรือแม้แต่เชื่อในการบริหารประเทศของรัฐบาล เราจึงใช้แนวคิดนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบว่าหากสามารถทำให้เด็กรุ่นใหม่เชื่อในความงดงามของวิถีชีวิตบรรพบุรุษได้ก็น่าจะเป็นหนึ่งแรงสะกิดที่ทำให้ปัญหาการย้ายถิ่นฐานลดลงโดยสรุปแล้วเราเลือกเสนอแนวทางการปลูกฝังความเชื่อและความรักษ์ในวิถีชีวิตผ่านการออกแบบที่ว่างและสถาปัตยกรรม
โดยไม่คาดคิดว่าชาวภูฏานเองก็เชื่อในสิ่งที่เราเชื่อเช่นกัน ผลการประกวดจึงออกมาเป็นเรื่องที่น่ายินดี

จบจากการแข่งขัน ผมยังมีเวลาเหลือให้เดินทบทวนความคิดอยู่ในโลกความฝันอีกสองสามวัน
จากที่ผมเคยตั้งข้อสงสัยกับตัวเองว่าประเทศแห่งความสุขนั้นคนจะยิ้มกันทั้งวัน
หัวเราะกันทั้งคืนหรือเปล่า หมู่บ้านนี้ให้คำตอบกับผมสั้นๆว่า ‘ไม่’ ที่นี่ไม่จำเป็นต้องโอ้อวดว่าตนมีความสุข ไม่จำเป็นต้องโน้มน้าวใจใครผ่านสื่อให้ยิงฟันกว้างๆ

แต่ในความคิดของผม
ประเทศแห่งความสุขที่ใครๆ พูดถึง เขายิ้มกันอยู่ในใจเสียมากกว่า ไม่เชื่อให้ลองย้อนกลับมายังคำถามแรก

ชาวภูฏานมีความสุขอย่างที่เขาว่ากันจริงไหม?

‘Yes, of course.

We
lived happily here, we lived happily together.

And
because we don’t have, that’s why we won’t need.’

ชาวบ้านในบ้านไม้หลังเก่าเรือนหนึ่งตอบกับผมโดยปราศจากรอยยิ้มเปื้อนหน้า
แต่ผมคิดว่าผมได้คำตอบแล้วล่ะ ว่าความสุขของเขาเกิดจากอะไร

Richhending Shari-Chiwog

Address: Rinchhending Sharri Chiwog,
Dopshari, Paro, Bhutan

Hours: ชาวบ้านฝากมาบอกว่ายินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวตลอด
How to
get there:
ใช้บริการแท็กซี่จาก Main Bazaar ในเมืองพาโร หรือถ้าขยันหน่อยจะเดินขึ้นไปตามเขาแล้วถามทางจากชาวบ้านแถวนั้นก็ยังได้

ใครอยากส่งเรื่องที่น่าเที่ยวมาลงเว็บไซต์ a day online คลิกที่นี่เลย

AUTHOR