Imam Khomeini Mini Market โอเอซิสอาหารขนาดอบอุ่นใจกลางเปอร์เซีย

หลงเตหะราน คือคำนิยามสั้นๆ ที่เรามีต่อเช้าแรกในเมืองหลวงของอาณาจักรเปอร์เซียอันยิ่งใหญ่ เพราะมันเต็มไปด้วยความหลง

หลงที่หนึ่ง – หลงทาง

เราหิ้วท้องหิวตั้งใจบุกโจมตี Tehran Grand Bazaar ตลาดขนาดยักษ์ที่กินระยะกว่า 10 กิโลเมตร ด้วยภาพฝันถึงดินแดนที่เรียงรายด้วยเนื้อ หมู ไก่ เครื่องเทศ และชากลิ่นหอมอ่อนๆ แต่กลับงงเป็นไก่ตาแตกไปหลายชั่วโมง เมื่อภาพตรงหน้าคือเขาวงกตแห่งเสื้อผ้าและเครื่องหนัง ประหนึ่งสำเพ็ง พาหุรัด เวอร์ชันอิหร่าน แล้วถึงพบความจริงภายหลังว่าที่นี่มีการแบ่งเซกชันข้าวของที่ขายไม่ต่างจากตลาดนัดจตุจักร เพียงแต่เราเด๋อมาผิดโซนเอง

ไม่เป็นไร คิดกันใหม่เสียว่าในเมื่อหาอาหารปากไม่ได้ ก็ไปหาอาหารตาที่พระราชวัง Golestan แทนแล้วกัน ที่นี่อลังการด้วยงาน Persian miniature ลายสวยไม่ซ้ำแบบ และงานกระจกสุดหรูหราวับวาว จากความตั้งใจของราชวงศ์กาจาร์ที่ต้องการยกระดับความยิ่งใหญ่ของเตหะรานหลังประกาศให้เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่

หลงที่สอง – หลงรัก

หลังฝากชีวิตไว้คุณลุงแท็กซี่เอาแต่ใจ เขาก็พาพวกเรามาทิ้งไว้ระหว่างจัตุรัส Imam Khomeini และพระราชวัง Golestan ทำให้เราต้องเดินเท้าเข้าหาวัง แต่กลับหลงออกนอกเส้นทางมาเจอโอเอซิสอาหารขนาดย่อมๆ แบบไม่ตั้งใจใกล้สถานีรถไฟใต้ดิน Imam Khomeini

นี่คือตลาดขนาดกะทัดรัด คล้าย Tehran Grand Bazaar ย่อส่วน แบ่งพื้นที่เป็นตลาดในร่มยาวประมาณ 60 เมตร สถาปัตยกรรมยังคงไว้ซึ่งดีไซน์หลังคาทรงโดมที่มีช่องแสงเล็กๆ ด้านบนเพื่อให้แสงธรรมชาติลอดผ่าน แต่ไม่ร้อนอบอ้าว

ตามแบบฉบับตลาดเปอร์เซียในศตวรรษที่ 17 ของที่ขายมีทั้งเครื่องเทศ ของกิน ถ้วยชามเซรามิก miniature painting หรือศิลปะภาพเขียนลายขนาดเล็กจิ๋วที่ชาวเปอร์เซียรับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมจีนสมัยทายาทเจ็งกิสข่านเข้าปกครองเปอร์เชีย พวกเขาได้นำพาบรรดาศิลปินมองโกลมาสู่ดินแดนเปอร์เซียก่อนคนที่นี่จะค่อยๆ พัฒนาดีไซน์จนกลายเป็นงานฝีมือที่มีเอกลักษณ์ฉพาะตัว นอกจากนี้ยังมีเครื่องทองเหลืองที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากรัสเซียแล้วมาพัฒนาเข้ากับศิลปะมุสลิม ทำให้เกิดดีไซน์ที่สวยงามไม่ซ้ำใคร

โซนกลางแจ้งของตลาดเต็มไปด้วยรถเข็นอาหารเครื่องดื่ม มีซุ้มให้นั่งข้างๆ รถเข็นได้อารมณ์สภากาแฟบ้านเรา เจือกลิ่นหอมของชาดอกไม้ มองไปเห็นสีสันจัดจ้านของซุ้มไอศครีม รถเข็นผลไม้ขนาดน่ารัก คุณลุงผู้กำลังหยอดน้ำผึ้งลงสู่กระปุกแก้ว และกลุ่มพี่น้องชาวอิหร่านที่กำลังเอ็นจอยกับ Samosa หรืออาหารว่างของชาวมุสลิมสารพัดไส้ให้เลือกสรรยกเว้นไส้หมู

นี่มันโอเอซิสอาหารดีๆ นี่หน่า! กระเพาะอาหารส่งเสียงพูดคุยกับสมอง อย่า อย่ากระโจนเข้าไป เธอต้องไปดูพระรา… สมองพยายามให้เหตุผลต่อสู้ แต่ยังไม่ทันสิ้นประโยค เราพุ่งตัวเข้าใส่โอเอซิสอาหารตรงหน้าอย่างไร้การต่อกรใดๆ และไม่สนความอลังการงานสร้างใดๆ ของพระราชวังอีกแล้ว !

แล้วก็ไม่ผิดหวัง ของกินที่นี่อร่อย เพี้ยน และสนุก จนต้องร้อง เฮ้ย! ออกมาทุกคำที่กินเข้าไป ตั้งแต่ Samosa ไส้ไก่ผสมมันฝรั่งอุ่นๆ จากเตาถ่าน น้ำเลม่อนหอมหวานชื่นใจเหมาะกับอากาศแห้งๆ ร้อนๆ ตอนกลางวันของอิหร่าน แถมยังไม่เปรี้ยวบาดคอ

ไอศครีมอิหร่านรสเปรี้ยวปรี๊ดที่ไม่ได้เสิร์ฟเป็นก้อน แต่มาเป็นเส้น วิธีการกินคือให้ใช้ส้อมเกี่ยวเส้นเข้าปาก

ชาร้อนที่นี่รสเข้มเพี้ยนแปลก พอกับคาแรกเตอร์จัดๆ ของคนที่นี่ ที่มีความเพี้ยนสนุกในตัว ไม่ได้จิบแล้วลุ่มลึกแบบชาญี่ปุ่น หรือละมุนเหมือนชาอังกฤษ แต่ที่ต้องยกให้เป็น Drink of the day ก็คือ โยเกิร์ตน้ำดอกไม้ ผลลัพธ์สุดประทับจิตจากการมิกซ์เอาดอกไม้นานาพรรณมาเคล้ารวมกับนมเปรี้ยวที่หมักจนได้รสชีสแบบเต็มๆ เป็นอะไรที่เปิดโลกมาก

สำหรับคนแปลกหน้าต่างเมืองที่พูดฟาร์ซีไม่ได้ วิธีการซื้อเมนูนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนแค่เดินไปหยิบแก้ว แล้วยื่นให้คุณป้าคนขายด้วยรอยยิ้มพิมพ์ใจ ขั้นตอนต่อมาป้าแกจะถามเป็นภาษาฟาร์ซีชุดใหญ่ว่าอะไรไม่รู้ แต่เดาว่าใส่แตงกวาเพิ่มไหม เพราะป้าทำท่าจะคว้าแตงกวาใส่ไป แต่ใจไม่กล้าพอเลยขอผ่าน ส่วนราคานั้นจำไม่ได้ เพราะตอนจ่ายเงินลูกค้าอิหร่านที่รอคิวใกล้ๆ น้ำใจงามช่วยเราหยิบแบงก์ส่งให้ป้าแบบไม่ต้องเอ่ยปากร้องขอ หลังจากนั้นทุกคนก็พากันไปเลือกที่นั่งตามอัธยาศัย แต่ไม่ว่าจะนั่งตรงไหน คนที่นี่ก็จะเข้ามาส่งยิ้ม ทักทายต้อนรับเป็นภาษาจีนใส่ว่าหนีห่าว… ก่อนเราจะสวัสดีสวนกลับไปเป็นภาษาฟาร์ซีงูๆ ปลาๆ ว่า Salam

เราจิบโยเกิร์ตน้ำดอกไม้อึกใหญ่ด้วยความซาบซึ้งในรสมหัศจรรย์ครั้งแรก และครั้งเดียวในชีวิต นั่งมองดูผู้คน สูดกลิ่นเครื่องเทศ ฟังสำเนียงฟาร์ซีเพราะๆ จากมุมเล็กๆ ของตลาดขนาดอบอุ่นที่เราเดินหลงมาเจอช่วงสั้นๆ แต่กลับหลงติดอยู่ในความทรงจำยาวนาน และชัดเจนกว่าพระราชวัง หรือมัสยิดไหนๆ ในอิหร่านไกด์บุ๊ก

เล็กๆ น้อยๆ ก่อนเดินตลาดอิหร่าน

หน่วยเงินที่นี่ใช้เป็นเงินเรียลก็จริง แต่เวลาเราเดินตลาดซื้อของเขาจะคิดกันเป็นโตมาน เช่น น้ำเลม่อนแก้วละ 20,000 เรียล หรือประมาณ 20 บาท แต่หน้างานจริงเขาจะบอกว่า 2,000 ซึ่งนั่นคือหน่วยโตมาน ดังนั้นอย่าลืมเติม 0 อีกตัวในใจก่อนควักเงินจ่ายให้ถูกต้อง

ไปอย่างไร

TEHRAN URBAN METRO สายสีแดง ลงสถานี Imam Khomeini เจอเลย

เล็กๆ น้อยๆ ก่อนใช้รถไฟใต้ดินอิหร่าน

เรื่องการใช้รถไฟใต้ดินไม่มีอะไรเข้าใจยาก แถมยังดีกว่าบ้านเราหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางที่ครอบคลุม บัตรที่เป็นกระดาษ QR Code เล็กๆ ใช้งานง่าย และราคาแสนประหยัดเพราะราคาเดียวตลอดสายจ่ายไม่เกิน 10 บาท แต่ที่อยากให้ระวังก็คือ ที่นี่เขาไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปในสถานี เพราะคราวก่อนโดนสตรีอิหร่านกระชากมือถือจากมือที่สถานีนี้ตอนกำลังถ่ายรูปอยู่นั่นเอง…

AUTHOR