Etosha National Park : อุทยานของนามิเบียที่สัตว์ป่าใช้ชีวิตได้อย่างสงบสุข

‘การที่คนและสัตว์จะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่เบียดเบียนกัน
ก็ต่อเมื่อทั้งคนและสัตว์ได้ประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด’

แนวคิดเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างคนและสัตว์นี้
เป็นแนวคิดที่แพร่หลายในประเทศนามิเบีย
และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นามิเบียประสบความสำเร็จต่างจากประเทศอื่นๆ
ในการดูแลและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธ์

ด้วยความชอบเดินทางไปประเทศแปลกๆ
ที่ไม่ค่อยมีใครไป และความชอบเรื่องราวของสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะสัตว์ป่าในซาฟารีที่อยู่แบบอิสระตามธรรมชาติ เราก็เลยได้วางแผนเดินทางไปเที่ยวประเทศนามิเบียนานกว่า 10 วัน

ประเทศนามิเบียอยู่ในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา
มีขนาดใหญ่กว่าไทย พื้นที่มากถึง 824,269 ตารางกิโลเมตร (พื้นที่ของไทยคือ
513,115 ตารางกิโลเมตร) ในขณะที่ประชากรของนามิเบียน้อยกว่าไทยมาก คือมีเพียง 2 ล้าน 3
แสนกว่าคน ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย กึ่งทะเลทราย และทุ่งสะวันนา เคยมีคนบอกว่า
ถ้าอยากรู้ว่าทัศนียภาพบนดาวอังคารหน้าตาเป็นยังไง ให้มาดูที่นามิเบีย
เพราะพื้นผิว ทัศนียภาพ แลนด์สเคปของนามิเบียนี่หน้าตาคล้ายดาวอังคารสุดๆ ตลอดเวลาที่นั่งรถอยู่ที่นามิเบีย จะเห็นพื้นที่ว่างเปล่า
กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา แต่ถนนหนทางที่นี่ดีมาก
ฝรั่งหลายคนที่มาเที่ยวก็ขับรถเที่ยวเอง และด้วยความที่ประชากรน้อย พื้นที่มาก
เลยอารมณ์ประมาณว่า หลังจากออกจากเมือง ต้องขับรถไปอีก 30 – 50 กิโลฯ กว่าจะเจอชุมชนที่มีคนอยู่อาศัย
ในขณะที่ระหว่างทางจะเป็นพื้นที่เวิ้งว้างกว้างใหญ่อยู่ยาวนานจนกว่าจะเจอเมือง
และตลอดการเดินทางในนามิเบียก็จะเป็นแบบนี้ คือ มีพื้นที่ที่ไม่มีคนอยู่
เวิ้งว้างกว้างไกลอยู่เยอะมาก

ไฮไลต์ของทริปนี้ก็คือ
ช่วงที่ไปเที่ยวซาฟารีที่อุทยานแห่งชาติอิโตชา (Etosha National Park) อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่า นามิเบียเป็นประเทศที่โดดเด่นมากในเรื่องการบริหารจัดการสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ไม่เพียงแต่รักษาจำนวนสัตว์ป่าประเภทที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในยุคที่มีการล่าสัตว์เพื่อเอาหัวเอางามาประดับบ้านเศรษฐีต่างๆ มากมาย
แต่จำนวนสัตว์ป่าของนามิเบียยังเพิ่มปริมาณขึ้นด้วย ในขณะที่ประเทศอื่นในแอฟริกา
โดยเฉพาะในแอฟริกาตะวันออก เช่น เคนย่า แทนซาเนีย จำนวนสัตว์ป่ากลับลดปริมาณลงมาก
ซึ่งการที่นามิเบียสามารถดูแลสัตว์ป่าได้อย่างดีเยี่ยมเนื่องจากมีความเชื่อเรื่อง ‘การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างคนและสัตว์ป่า’ โดยไม่เบียดเบียนกันและกัน
ให้สัตว์ป่าได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันกว้างใหญ่อย่างสงบสุข
มนุษย์ไม่มีสิทธิ์ไปเบียดเบียนหรือรบกวนความสงบสุขนั้นได้
ที่ทำได้คือเป็นผู้ชมอยู่ห่างๆ เท่านั้น นักท่องเที่ยวจะนั่งไปบนรถเปิดประทุน และใช้กล้องส่องทางไกลดูสัตว์
และถ่ายรูปจากระยะไกล แต่ไม่มีสิทธิ์ลงจากรถ หรือไปฆ่า
ไปทำลายสัตว์หรือธรรมชาติแถบนั้นได้ กิจกรรมส่อง (ดูสัตว์จากบนรถ) นี้
เรียกว่า Game
Drive ซึ่งสมัยก่อนที่มีฝรั่งเข้ามาล่าอาณานิคมและหาผลประโยชน์จากแอฟริกา
การล่าสัตว์สมัยนั้นคือการล่า ฆ่าสัตว์จริงๆ ในขณะที่สมัยนี้ ความหมายของการส่องสัตว์คือ
นั่งรถไปดูสัตว์และถ่ายภาพ

เพื่อให้ได้บรรยากาศ
และเข้าใจแนวคิดของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสัตว์ป่าในนามิเบีย
ขอแนะนำให้ดูคลิปวิดีโอนี้ก่อนไป

คลิปวิดีโอเรื่อง ‘How
poachers became caretakers’
หรือภาษาไทยคือ ‘คนส่องสัตว์กลายมาเป็นคนดูแลสัตว์ได้อย่างไร’ นาย John Kasaona ที่พูดในคลิปนี้ เป็นชนพื้นเมืองเผ่า Himba ของนามิเบีย เป็นลูกของคนล่าสัตว์
ซึ่งในภายหลังเปลี่ยนมาทำหน้าที่เป็นคนดูแลสัตว์ ประเด็นสำคัญของเรื่องคือ การที่คนและสัตว์จะอยู่ร่วมกันได้
โดยไม่เบียดเบียนกัน
ก็ต่อเมื่อทั้งคนและสัตว์ได้ประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด
ซึ่งเป็นเรื่องของการแบ่งปันผลประโยชน์ในทางเศรษฐศาสตร์
ตราบใดที่คนยังไม่มีอันจะกิน
คนก็ยังต้องใช้ประโยชน์จากการล่าสัตว์เพื่อแลกกับอาหารมาเลี้ยงปากท้อง
แต่เมื่อรัฐบาลจ้างให้คนที่เคยล่าสัตว์กลายมาเป็นคนดูแลสัตว์
และให้ค่าดูแลตอบแทนอย่างเหมาะสม คนเหล่านี้ก็จะทำประโยชน์ได้มาก
เพราะเป็นผู้ที่มีความรู้ดีเกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์อยู่แล้ว
ซึ่งกลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จมากในนามิเบีย

นักท่องเที่ยวหลายคนมาเที่ยวที่ Etosha National Park ของนามิเบียก็เพื่อมาศึกษาว่า
นามิเบียประสบความสำเร็จในเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่าได้อย่างไร ใช้วิธีการยังไงนั่นเอง

Etosha National
Park

hour: ทุกฤดูกาลตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก (เวลาเปิดปิดในแต่ละเดือนจะต่างกันเล็กน้อย
ขึ้นอยู่กับเวลาพระอาทิตย์ขึ้น-พระอาทิตย์ตก)
how to get there: ขับรถ 4 ชั่วโมงจากเมืองหลวงคือ Windhoek บนถนน
B1 ไปทาง Otjiwarongo และต่อด้วยถนน
C38 เข้าสู่อุทยานแห่งชาติอิโตชา
Map:

ใครอยากส่งเรื่องที่น่าเที่ยวมาลงเว็บไซต์ a day online คลิกที่นี่เลย

AUTHOR